คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ดอกไม้ 2
กุหลาบมอญ
ดอกเกลื่อนดกกลาดหนักหนา
กาหลงกุหลาบกระดังงา
การะเกดกรรณิการ์ลำดวน
"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Rosa damascema, Mill.
ชื่อสามัญ : Damask Rose,
ชื่อวงศ์ : Rosaceae
กุหลาบมอญเป็นไม้ดอกประเภทไม้พุ่มผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมีหนาม พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร อายุยืน แข็งแรง เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง จึงควรปลูกในที่โล่งแจ้งแต่ควรเป็นที่อับลม ขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอ ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขัง ดินจึงต้องระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศร้อนในตอนกลางวัน และอากาศเย็นในตอนกลางคืน กุหลาบมอญนี้ถือได้ว่าเป็นกุหลาบพื้นเมืองของไทย ใบเป็นใบประกอบชนิดขนนก มีหูใบ ๑ คู่ มีใบย่อย ๓ - ๕ ใบ ในก้านช่อใบหนึ่ง ๆ ใบจัดเรียงแบบสลับ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน มีรอยย่นเล็กน้อย ขอบใบเป็นจักละเอียด เส้นกลางใบด้านท้องใบมีหนามห่าง ๆ ดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม กลับดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น วนออกนอกเป็นรัศมีโดยรอบ ดอกมีสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม ดอกมักออกเป็นช่อ ทางปลายกิ่ง กลีบดอกมีลักษณะปลายแหลมเรียว การขยายพันธ์ใช้วิธีตอนกิ่ง
กระถิน
กระทุ่มกระถินกลิ่นเร้า รื่นข้างทางจร
"
วรรณคดี : "นิราศสุพรรณ"
ผู้ประพันธ์ : สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Leucaena glauca, Benth.
ชื่อสามัญ : Lead Tree, Horse Tamarind
ชื่อวงศ์ : Leguminosae
ชื่ออื่น ๆ : ตอเบา
กระถินเป็นไม้พุ่ม ขึ้นได้ในดินทั่วไป นิยมปลูกกันเป็นแนวรั้วบ้าน ยอดอ่อนและฝัก ใช้รับประทานเป็นผักสด มีกลิ่นคล้ายชะอม ใบใช้ป่นเป็นอาหารสัตว์ได้ ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อยเล็กละเอียดลักษณะคล้ายใบมะขาม ดอกเป็นดอกรวม กลมโตเท่าผลมะไฟ ลักษณะเป็นฝอยฟูสีขาวคล้ายดอกกระทุ่ม ฝักมีลักษณะแบน ยาว ผักยาวประมาณ ๔ นิ้ว กว้างประมาน ครึ่งนิ้ว ภายในมีเมล็ดลักษณะแบนคล้ายเมล็ดแตงกวา เรียงอยู่ข้างในฝัก ตามยาว การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดปลูก สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้แก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด
ซ่อนกลิ่น
ตาดว่าตาดพัสตรา หนุ่มเหน้า
สลาสิงเล่ห์ ซรองสลา นุชเทียบ ถวายฤๅ
สวาดิดังเรียมสวาดิเจ้า จากแล้วหลงครวญ ฯ
"
วรรณคดี : "ลิลิตตะเลงพ่าย"
ผู้ประพันธ์ : สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Polisanthes tuberosa, L.
ชื่อสามัญ : Tuberose
ชื่อวงศ์ : Amaryllidaceae
ชื่ออื่น ๆ : ซ่อนชู้
ซ่อนกลิ่นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีหัวอยู่ในดิน ใบสีเขียวสดเรียวยาวมีหน่อออกกลายเป็นหัว เป็นไม้ตัดดอกที่ใช้กันมากในทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์ และกลิ่นหอมเย็น ไม่นิยมนำมาจัดแจกันดอกไม้ นอกจากใช้บูชาพระ ใช้ใส่แจกันหน้าแท่นบูชาศพ ซ่อนกลิ่นขึ้นได้ดีในดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุมาก ถ้าดินเหนียวแข็ง หรือดินน้ำท่วม ต้นจะแคระแกรนไม่แตกกอ ใบเล็กผอมยาว ช่อดอกเล็กผอมสั้น การขยายพันธุ์ ใช้วิธีแยกหัวปลูก
ดองดึง
สุพรรณิกากากระทึง ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร ฯ
"
วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง " นิราศธารทองแดง"
ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ "เจ้าฟ้ากุ้ง"
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Gloriosa superba, L.
ชื่อสามัญ : Glory Lily, Climbing Lily, Superd Lily, Turk's Cap
ชื่อวงศ์ : Liliaceae
ชื่ออื่น ๆ : ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู หัวขวาน พันมหา บ้องขวาน ผะขาโก้ง คมขวาน
ดองดึงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเดียวกับเหง้ากระชาย สีขาวครีม รูปร่างคล้ายหัวขวาน ส่วนที่เป็นหัวหรือไหลเป็นสีขาวนมสด ชอบดินร่วนปนทราย เจริญเติบโตได้ในที่มีแสงแดดจัดและแดดร่มรำไร ดองดึงเป็นพืชเถาเลื้อย ก้านใบที่โผล่ขึ้นเหนือดิน ลักษณะเป็นเถากลมขนาดเล็ก แต่เหนียวเลื้อยเกาะได้สูง ๑ - ๓ เมตร เถาเป็นข้อปล้องเห็นได้ชัด เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นรูปกระสวย ๓ เส้า ติดกันหมด ลักษณะและขนาดคล้ายผลตะลิงปลิง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซ.ม. มีสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ดเรียงอยู่ภายใน เส้าละ ๒ แถว แถวละ ๕ - ๘ เมล็ด มีขนาดและสีคล้ายเมล็ดข้าวโพด การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด
ดาวเรื่อง
กุหลาบกนาบทั้งสองทาง
เบงระมาดยี่สุ่นกาง
กลีบบานเพราเหล่าดาวเรือง ฯ
"
วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง " นิราศธารทองแดง"
ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ "เจ้าฟ้ากุ้ง"
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Tagetes spp.
ชื่อสามัญ : Marigolds
ชื่อวงศ์ : Compositae
ชื่ออื่น ๆ : คำปู้จู้
ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นทรงพุ่มสูงประมาณ ๔ ฟุต ปลูกง่ายขึ้นในดินเกือบทุกชนิด ทนทานต่อความแห้งแล้ง ใบเป็นฝอย มีกลิ่นหอมฉุน ดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันมี ๕ ชนิด คือ ๑. Tagetes erecta เป็นดาวเรืองชนิดต้นสูง ดอกใหญ่ ซ้อน ทรงดอกกลมโต พันธุ์ที่นิยมกันคือ เทตรา เบอร์พี พริมโรส เลมอนบอล ๒. Tagetes patula ลำต้นเตี้ย มีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อน พันธุ์ที่นิยม คือ นอติมาเรียตตา บัฟเฟิลด์เรด ๓. Triploid marigolds เป็นลูกผสมระหว่าง ๒ ชนิดแรก ได้แก่พันธุ์นักเกท ๔. Tagetes tenuifolia pumila เป็นดาวเรืองชนิดพุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๗ - ๑๐ นิ้ว ดอกกลีบชั้นเดียว มีขนาดเล็ก นิยมปลูกตามขอบแปลง หรือสวนหิน ๕. Tagets\es filifolia pumila เป็นดาวเรืองที่มีใบสวยงาม พุ่มต้นแน่นเหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ดแล้วย้ายปลูก สรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้ดอกผสมกับข่าและสะค้าน รับประทานแก้ฝีลมที่มีอาการปวดในท้อง ต้นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุดเสียดและปวดท้อง
แค
เกล็ดแก้วกันตราไตรตร่าง
ตะเคียนแคข่อยขานาง
ขวิดขวาดปริงปรางประยงค์
"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Sesbania grandiflora, (L.) Poir.
ชื่อสามัญ : Sesban
ชื่อวงศ์ : Leguminosae
แคเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นเป็นพุ่ม ขึ้นได้ในดินทุกชนิดไม่ชอบน้ำขัง และปลูกได้ทุกฤดู เจริญเติบโตได้ดี โดยไม่ต้องการบำรุงรักษาแต่อย่างใดแต่ควรเอาใจใส่ระยะแรกปลูก ใบเป็นใบประกอบ แตกจากลำต้นเป็นแบบสลับ ประกอบด้วยใบย่อย ๑๐ - ๓๐ คู่ ใบย่อยแต่ละใบยาวไม่เท่ากัน มีขนาดยาวประมาณ ๓ - ๕ ซ.ม. กว้าง ๑๔ ม.ม. ตัวใบรูปขอบขนานเรียว ปลายใบมนหรือเว้ามีติ่งเล็กน้อย ผิวใบมีขนเล็กน้อย ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ๒ - ๓ ดอก มีทั้งชนิดสีขาว และสีแดง แต่ละดอกยาวประมาณ ๔ - ๘ ซ.ม. ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม ยาวประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซ.ม. กว้าง ๔ - ๙ ม.ม. ภายในมีเมล็ด ๑๕ - ๕๐ เมล็ด การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดปลูก สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้เปลือกปิ้งไฟต้มกับน้ำปูนใส หรือน้ำดื่มแก้อาการท้องเดิน ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใบแก้ไข้เปลี่ยนฤดู
พิกุล
ร่มหูกวางกวางเฝือฝูงกวางป่า
อ้อยช้างช้างน้าวเป็นราวมา
สาลิกาจับกิ่งพิกุลกิน
"
วรรณคดี : "ขุนช้างขุนแผน"
ผู้ประพันธ์ : สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Mimusope elengi, L.
ชื่อสามัญ : Bullet Wood
ชื่อวงศ์ : Sapotaceae
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้ แบน คล้ายต้นหว้า มีพุ่มใบแน่น เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย ดอกมีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ปลายแหลมมน มีขนาดใบกว้างประมาณ ๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน ก้านใบยาวประมาณ ๓ ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๑ ซ.ม. กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกสีแดงแสด ใช้รับประทานได้ รสฝาดหวานมัน การขยายพันธ์ ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อย ปวดฟัน ฟันโยกคลอน เหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน เมล็ดตำละเอียดปั้นเป็นยาเม็ดสวนทวาร
ความคิดเห็น