ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อารยธรรมอินเดีย

    ลำดับตอนที่ #3 : อารยธรรมสมัยคุปตะ

    • อัปเดตล่าสุด 7 พ.ย. 50


    อารยธรรมสมัยคุปตะ (320-186 ปีก่อนค.ศ.)

     

    พระเจ้าจันทรคุปต์ ทรงตั้งราชวงศ์โมริยะ ที่ ปรึกษาของพระองค์เป็นพราหมณ์ ชื่อ โคทิลยะ หรืออีกชื่อ คือ ชนกิยะ เป็นผู้มีความรู้ในด้านการปกครอง การบริหาร และการเศรษฐกิจ และใช้ความรู้จากคัมภีร์อรรถศาสตร์มาบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในด้าน เศรษฐกิจของประเทศในสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ มีนักปราชญ์ชาว กรีก ชื่อ Megasthenes มาอยู่ในราชสำนักด้วย ทำให้เราทราบว่ามีการ แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างอินเดียและกรีก พระเจ้าจันทรคุปต์ทรงขยายอาณาเขตมาทางตะวันตกจนถึงเขตแดนของอาณาจักรเซเลอคุสของกรีก ทรงทำสงครามชนะพระเจ้า Nicator แห่งเซเลอคุส พระธิดาของพระเจ้า Nicator ถูกส่งมาเป็นมเหสีของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่เมืองปัตลีบุตร ทรงผูกสัมพันธไมตรีกับกรีก ดินแดนประเทศอินเดียสมัยนี้มีแคว้นมคธ แคว้นมาลวะ แคว้นกุจราช แคว้นเบงกอล อาฟกานิสถาน คือ ตีดินแดนกลับคืนมาจากกรีกทั้งหมด Megathenes บันทึกไว้ว่า พระราชวังที่กรุงปัตลีบุตรงดงามมาก พระเจ้าจันทรคุปต์ทรงแบ่งอาณาจักรอินเดียเป็น 3 ภาค แต่ละภาคมีข้าหลวงปกครอง ข้าหลวงเหล่านี้ขึ้นโดยตรงกับพระองค์ ตำแหน่งข้าหลวงมักเป็นการสืบทอดในตระกูล ทรงจัดระบบการปกครองตนเองในชนบท กษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดิน ผลิตผลที่ได้หนึ่งในสี่ต้องเข้าท้องพระคลัง รัฐบาลดูแลเรื่องการทดน้ำ มีการสำรวจสัมโนครัว มีการใช้ใบผ่านทางสำหรับคนต่างชาติ มีหน่วยสืบราชการลับดังเช่นประเทศตะวันออกทั้งหลายในสมัยนั้น ทางด้านวิทยาการ ทรงให้สร้างมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยตักศิลา อันเป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ของตะวันออก

                        

    พระเจ้าอโศก (271-231 ปีก่อนค.ศ.)

    ผู้เป็นพระนัดดาขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของอินเดียที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่ เพราะทรงทำสงครามขยายดินแดนอยู่เสมอ เมื่อคราวที่ทรงยกทัพไปตีเมืองกาลิงกะ ทรงทอดพระเนตรเห็นคนตายและคนทรมานจากสงครามจำนวนมาก ทำ ให้สลดพระทัย จึงทรงยุติการทำสงคราม หันมาใฝ่พระทัยในทางศาสนาแทน ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธ แต่ทรงสนับสนุนศาสนาอื่นให้เท่าเทียมกันด้วย ทรงโปรดให้สลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบนแท่งหินไว้ตามที่ต่างๆ ทั่วอาณาจักรของพระองค์ ทรงให้เขียนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาบาลี แทนที่จะเป็นภาษาสันสกฤต ทั้งนี้เพื่อให้ คนธรรมดาอ่านได้ ทรงส่งคนไปเผยแพร่ศาสนาพุทธถึงต่างแดน กษัตริย์ของศรีลังกาก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธด้วย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอินเดียสมัยนี้ เป็นช่วงที่รุ่งเรืองการแบ่งชั้นวรรณะในสังคมมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนลงบ้าง มีการแต่งงานกับคนต่างชาติ ต่างเผ่าพันธุ์และคัมภีร์อรรถศาสตร์อนุญาตให้มีการหย่าร้างได้ และหญิงม่ายแต่งงานใหม่ได้ ศาสนาทุกศาสนาได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าและช่างฝีมือ ศาสนาส่วนใหญ่สอนเรื่องอหิงสา และเรียกร้องให้คนทานแต่ผัก (มังสวิรัติ) ในกองทัพยังใช้เทคนิคอยู่เช่นเดิม คือ มี ช้าง ม้า รถรบ และพลเดินเท้า ผู้ที่จะมาบริหารเรื่องการเมือง-เศรษฐกิจต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี การคมนาคมติดต่อเพิ่มขึ้นมากและสามารถติดต่อกันได้กับเมืองหลวง คือ ปัตลีบุตร ใช้แรงงานคนถางป่าเพื่อทำประโยชน์จากที่ดิน มีการขุดเกลือทำเหมืองเหล็กและแร่ธาตุอื่นๆ พวกวรรณะศูทรทำงานกับพ่อค้าและในโรงงาน นับว่าอิสระขึ้น พระเจ้าอโศกทรงใช้ธรรมะมาปกครองบ้านเมือง ไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทรงสร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ด้วย ทรงให้ปลูกไม้ผลไว้ตามทางเพื่อให้คนเดินทางได้รับประทานและได้อาศัยร่มเงาพักเหนื่อย ทรงสร้างบ้านพักคนเดินทางไว้ทั่วไปด้วย  

    สมัยราชวงศ์โมริยะ เริ่มต้นงานประติมากรรมสลักหินและงานสถาปัตยกรรม ทำเสาอาคารด้วยหินทราย สลักด้วยลายสัตว์พร้อมคำจารึก เจดีย์ของศาสนาพุทธมีขนาด ใหญ่ขึ้นและตกแต่งมากขึ้น ประติมากรสลักงานชิ้นใหญ่ขึ้น ถ้ำ ตามภูเขาได้รับการตกแต่งใหม่ด้วยงานทางศิลปะ ทางด้านวิชาการตื่นตัวมาก เมืองโบราณอย่างตักศิลารุ่งเรืองขึ้นมาก เพราะเป็นเมืองที่สำคัญทาง วิชาการและการทหาร มีนักศึกษาจากทั่วทุกทิศมาเรียนวิชาแขนงต่างๆ ราชวงศ์โมริยะได้สิ้นสุดลงราว 186 ปีก่อนค.ศ. ตรงกับที่อาณา จักรกรีกเกิดขึ้นมากมายทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและบัคเทรีย กษัตริย์องค์หนึ่งของกรีก คือ พระเจ้ามีนันเดอร์ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธ คนกรีกส่วนใหญ่สมรสกับคนพื้นเมือง คนกรีกและคนเผ่าต่างๆ เหล่านี้เราเรียกว่า ยาวานา (โยนาเป็นภาษาปรากริต หมายความถึง พวกไอโอเนียน, โรมัน, กรีก และชาวตะวันตกอื่นๆ) พวกกรีกนี้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความคิดทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ระหว่างอินเดียและยุโรป ในขณะเดียวกันก็รับอารยธรรมอินเดียด้วย แต่ในไม่ช้าพวก สากะ (Sakas หรือ Scythians) จากเอเซียกลางได้โจมตีอาณาจักรกรีกจนหมดไป การที่พวกสากะเข้ามาหาแหล่งที่อยู่ทางเหนือของอินเดียนั้น เป็นเพราะโดนจีนซึ่งกำลังขยายเขตแดนไล่มา เผ่าสเตปผู้เร่ร่อนหลายเผ่า เช่น เหยอ-ชิ กุชาน อพยพหนีมาอยู่ที่เอเซียกลาง มาทำสงครามชิงที่อยู่กับพวกที่อยู่ก่อน ในที่สุดเผ่ากุชานได้รับชัยชนะแต่ผู้เดียว ได้ครองดินแดนจากซามาร์คานในเอเซียกลางจนถึงเมืองพาราณสีในลุ่มแม่น้ำคงคา กษัตริย์กุชานองค์ที่ 3 คือ พระเจ้ากนิษกะ เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกกุชาน ทรงครองราชย์ค.ศ. 78 ตรงกับระบบปฏิทิน Sakabda ของอินเดีย พระเจ้ากนิษกะ ทรงนับถือพุทธนิกายมหายาน ทรงโปรด ให้มีการประชุมสงฆ์เป็นครั้งที่ 4 โดยมีพระองค์และพระอาจารย์ คือ วสุมิตร เป็นประธาน โปรดให้จารึกคำสอนของพระพุทธองค์ลงบน แผ่นทองแดง นิกายมหายานเจริญมากในระยะนี้ ทั้งยังทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นด้วย ทรงใช้เงินมหาศาลในการเผยแพร่มหายาน สร้างงานศิลป กรรมและสถาปัตยกรรมแบบพุทธ อาณาเขตของพระองค์ทางตะวันตกจากเมืองโบฆาราจดตะวันออกที่เมืองปัตนา และทางเหนือจากปามีร์จดตอนกลางของประเทศอินเดียลงมาทางใต้ เมืองหลวง คือ เปชวาร์ หลวงจีนที่เดินทางมาแสวงบุญเขียนเล่าไว้ว่า มีเจดีย์ของพระเจ้ากนิษกะสูงถึง 150 ฟุต ตกแต่งด้วยไม้สูง 50 ฟุต มีร่มทองแดงสูง 88 ฟุต

    พวกกุชานครอบครองเส้นทางสายไหมระหว่างจีนถึงอินเดีย            สินค้าประเภทฝ้ายจากเบงกอลและกุจราช ขนสัตว์จากทางเหนือของอินเดีย หินมีค่าจากทางใต้ เป็นที่ต้องการของคนต่างชาติ การติดต่อทางการค้าทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่อินเดีย ดาราศาสตร์ของอินเดียไปสู่โลกตะวันตก คือ กรีกและโรมันเช่นกัน ศิลปะกรีกและโรมันผสมกับศิลปพื้นเมืองของอินเดีย กลายเป็นศิลปะแบบคันธาราษฏร์ นักสอนศาสนาคริสต์เดินทางมาอินเดีย และพระนิกายมหายานเดินทางไปเอเซียกลาง จีน ญี่ปุ่น ส่วนศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้าไปที่ศรีลังกา และต่อมาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

    เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 อาณาจักรโรมันกำลังรุ่งเรือง คนโรมันนิยมของหรูและแปลกตาจึงทำการค้ากับตะวันออก และจ่ายค่าสินค้าด้วยเงินและทองทำให้อินเดียร่ำรวย แต่อินเดียไม่ต้องการสินค้าจากโรมัน   ดินแดนทางใต้ของอินเดีย เป็นที่อยู่ของพวกดราวิเดียน ชนพื้นเมืองเดิม มี ผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพวกที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำสินธุมาก่อน แล้วถูกพวกอารยันบุก รุกหนีลงมาทางใต้ พวกที่ยอมอ่อนน้อมต่ออารยันจะกลายเป็นพวกที่อยู่ในวรรณะศูทรไป มีการจารึกภาษาทมิฬทางใต้ อย่างไรก็ตาม พวกดราวิเดียนก็ได้รับวัฒนธรรมและภาษาของพวกอินโด-อารยันไว้ด้วย ในงานวรรณคดีภาษาทมิฬ กล่าวถึงการค้ากับพวกชนต่างชาติ อาณาจักรสำคัญทางใต้มีเกราลา โชลา ปันดีย์

    ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ตั้งราชวงศ์คุปตะที่เมืองปัตลีบุตร โอรสของพระองค์ ชื่อ พระเจ้าสมุทรคุปต์ ทรงขยายดินแดนออกไปกว้างไกล ทรงทำเหรียญทองสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ แล้วนำไปไว้ที่เสาหินของพระเจ้าอโศก ราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ ที่ 2 (ค.ศ.376-415) เพราะนอกจากจะชนะพวกสากะแล้ว ทรงรวมดินแดนตะวันออกและทางเหนือไว้ในอำนาจ ให้เมืองอุจเจนเป็นเมืองหลวง อารยธรรมอินเดียเจริญสูงสุด พระราชาทรงสนับสนุนศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี ทรงดูแลกวีและนักดนตรีด้วยพระองค์เอง กวีที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือ กลิทัษ การปกครองสมัยคุปตะเป็นแบบกระจายอำนาจไปตามท้องถิ่น การค้าเจริญขึ้นมาก มีการค้าขายมากขึ้นกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และประเทศไทย พ่อค้าที่ร่ำรวยนิยมบริจาคเงินเพื่อสร้างงานสำคัญทางศาสนา เช่น สถูปที่สัญจี อมาราวาตี ฯลฯ วัดพุทธกลายเป็นเจ้าของที่ดินมากมายเช่นเดียวกับพราหมณ์ วัดฮินดูขนาดเล็กก็มีผู้สร้างขึ้นเช่นกัน มีการฟื้นฟูวรรณคดี มหากาพย์รามายนะและมหาภารตะได้รับการรวมรวบและเรียบเรียงใหม่ ภาษาสันสกฤตกลายเป็นภาษาของผู้รู้หนังสือและเป็นภาษาที่ใช้ในราชการ มีหนังสือกามสูตรเกิดขึ้น เป็นหนังสือที่ชี้ถึงความสำคัญของชีวิตคู่และเพศสัมพันธ์ ด้านวิชาการสมัยคุปตะ ตามบันทึกของภิกษุจีนฟาเหียนที่เดินทางมาอินเดียเล่าว่า อินเดียมีโรงพยาบาลมากมาย ผู้คนมีความสุขสมบูรณ์ คุณภาพของการศึกษาดีมาก คนนิยมเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยและที่วัด มหาวิทยาลัยที่สำคัญอยู่ที่พาราณสี ตักศิลา วิดาร์ภา อจันตะ อุจเจน และนาลันทะ คนสามารถเลือกเรียนได้ทุกแขนงวิชา มหาวิทยาลัยอจันตะเก่งทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยนาลันทะมีนักศึกษา 10,000 คน มีห้องบรรยาย 100 ห้อง และห้องสมุดใหญ่หลายห้อง มหาวิทยาลัยมีหอพักให้นักศึกษาจากต่างถิ่นด้วย เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วโลกว่าอินเดียสมัยนั้นเป็นเลิศในเรื่องคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ การแพทย์ และศาสตร์เหล่านี้อินเดียได้ถ่ายทอดไปสู่โลกอื่นต่อมา ความรุ่งเรืองของราชวงศ์คุปตะสิ้นสุดลงในสมัยพระเจ้ากุมารคุปต์ ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 เมื่อพวกเร่ร่อนจากเอเซียกลาง คือ พวกฮั่น หรือ เฮฟตาไลท์ เข้าครองแดนบัคเทรีย และประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกเชื้อสายเตอร์ก-มองโกลเหล่านี้เข้ามาโจมตีจักรวรรดิของคุปตะ ในที่สุดราชวงศ์คุปตะก็สลายไปราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ตั้งแต่ค.ศ. 700 เป็นต้นมาศาสนาพุทธค่อยๆ หายไปจากอินเดีย ศาสนาฮินดูเข้ามาแทนที่ ต่อจากนั้นอินเดียถูกอาหรับรุกราน

                                            




    ข้อมูลจาก : http://www.baanjomyut.com/library/2548/india/03.html

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×