ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แนะแนวอาชีพ

    ลำดับตอนที่ #9 : ที่ปรึกษาทางกฏหมาย

    • อัปเดตล่าสุด 16 ก.ค. 53


    ที่ปรึกษาทางกฎหมาย Legal Adviser

     เจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย Legal Officer

     

    นิยามอาชีพ

    ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ ผู้ให้บริการทางกฎหมาย ร่างกฎหมาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายแก่องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฏหมายและให้บริการทางกฎหมายอื่นๆ

    ลักษณะของงานที่ทำ

    1. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงาน หรือองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของเอกชนในด้านกฎหมาย
    2. ให้คำแนะนำ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติ คำสั่ง กฎ ระเบียบข้อบังคับ และเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ
    3. ร่างพระราชบัญญัติ และเอกสารทางกฎหมายตามที่องค์กร หรือหน่วยงานต้องการ
    4. ตีความเรื่องสิทธิ หน้าที่ และข้อผูกพันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสถานประกอบการให้ฝ่ายจัดการระดับสูงสุดทราบ
    5. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ทนายความประจำสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับการว่าความคดีต่างๆ ในศาล

    สภาพการจ้างงาน

    ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงาน เนื่องจากผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้จะต้องมีประสบการณ์ในงานทนายความ หรืองานที่เกี่ยวกับงานตุลาการ จึงสามารถทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ ดังนั้นค่าตอบแทนจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว ที่ปรึกษาทางกฎหมายอาจทำงานเฉพาะเรื่องที่ได้รับการ ว่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงานเป็นไปตามข้อตกลง  ที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง เช่น การทำสัญญา ที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเฉพาะเรื่องที่ชำนาญการ และได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกัน
              ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ถ้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐจะมีกำหนดเวลาทำงานตามระเบียบของทางราชการ คือวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบของทางราชการ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้ว อาจได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัสพิเศษ หรือให้บริการรถและพนักงานขับรถประจำตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับประเภทของสถานประกอบกิจการนั้นๆ
                  ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ มีชั่วโมงทำงานไม่แน่นอน อาจจะปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ ในสัญญาการจ้างงาน ซึ่งอาจจะเป็นการจัดจ้างผู้ชำนาญการจากบริษัทที่ปรึกษา หรืออาจจะเป็นการจัดจ้างกลุ่มข้าราชการตุลาการที่เกษียณอายุ แต่ยังมีความสามารถและความชำนาญในเรื่องกฎหมาย

    สภาพการทำงาน

    ทำงานในสำนักงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไปมีอุปกรณ์ช่วยในการจัดการงานเอกสาร เช่น เครื่องพิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ บางครั้งต้องออกไปติดต่อประสานงานนอกสำนักงาน เช่น ศาล สถานที่อื่นๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ได้รับมอบหมาย

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

    ที่ปรึกษาทางกฎหมายจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
    1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจาก ต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
    2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องในศิลธรรมอันดี และไม่เป็นผู้ได้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
    3. มีประสบการณ์ในงานตุลาการทางกฎหมาย ในระดับที่อาจจะเรียกได้ว่าผู้เชี่ยวชาญหรือ ผู้ชำนาญการ และสามารถให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้อย่างดี
    4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
    5. ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
    6. ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม
    7. ไม่เป็นผู้มีกายพิการ หรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพ
    8. ต้องซื่อตรงต่อผู้ว่าจ้าง ผู้ร่วมงานอำนวยการความยุติธรรม ชุมชน ผู้ร่วมสำนักงาน มีความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย

    ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้

    เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า แล้วสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาคณะนิติศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี จากมหาวิทยาลัย จากนั้น จะต้องสมัครเข้ารับการ ฝึกอบรม และสอบขอรับใบอนุญาตว่าความทั่วราชอาณาจักร การแสวงหาประสบการณ์ในคดีความต่างๆหรือการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตทางกฏหมายจะช่วยให้มีความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายมากขึ้นจนสามารถประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้าน กฎหมายได้ดี

    โอกาสในการมีงานทำ

    ที่ปรึกษาทางกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ผ่านการทำงานทางด้านกฎหมายมานานพอที่จะให้ คำปรึกษาทางกฎหมายในหน่วยงานนั้นๆ ได้ หรืออาจจะเป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ที่สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่มีความชำนาญ หรือมีชื่อเสียง หรืออาจจะเป็นคณะผู้ชำนาญทางกฎหมายร่วมก่อตั้งสถานประกอบกิจการในลักษณะบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย การบัญชี และภาษีอากร หรือบริษัททนายความ บุคลากรดังกล่าวนี้ เป็นที่ต้องการของหน่วยงานทั่วไปทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งค่าตอบแทนจะค่อนข้างสูง เนื่องจากส่วนมากจะเป็นการจัดจ้างในลักษณะผู้ชำนาญการพิเศษ นอกเหนือจากการจัดงานบุคลากรทางด้านกฎหมายทั่วไปที่ปฏิบัติงานประจำ

    โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

    อาชีพนี้จัดได้ว่าเป็นจุดเป้าหมายสูงสุดของผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย เช่น ทนายความ เนื่องจากการได้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย จัดได้ว่าต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการไว้วางใจ และเชื่อถือจากหน่วยงานนั้นๆและส่วนมากที่ปรึกษาทางกฎหมายมักจะเป็นผู้ที่มีอาวุโสทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของสังคมอยู่แล้ว

    อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

               ทนายความ นักกฎหมาย อาจารย์

    แหล่งข้อมูลอื่น ๆ

               สภาทนายความ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

    ที่มา http://www.jobnorththailand.com/learning/100work/presentworkg5.html

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×