คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : ความหลากหลายของอาชีพวิศวกร
ความหลากหลายของอาชีพวิศวกร
วิศวกรรมการบินและอากาศยาน (Aerospace Engineering)
จุดเริ่มต้นของวิศวกรรมการบินและอากาศยาน เริ่มจากสองพี่น้องตระกูลไรท์ ที่ทำการคิดค้นเครื่องบินลำแรกของโลก ที่มลรัฐนอร์ทแคโนไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา งานของวิศวกรการบินและอากาศยาน คือ การออกแบบและพัฒนา เริ่มตั้งแต่ เครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินที่ใช้ในการทหาร ไปจนถึงกล้องโทรทัศน์ที่ติดตั้งในอวกาศ ความรู้ทางวิศวกรรมการบินและอากาศยาน ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางอากาศพลศาสตร์อีกด้วย เช่น การออกแบบรถยนต์ในสนามแข่งขัน หรือแม้กระทั่งการออกแบบลูกกอล์ฟ เป็นต้น
วิศวกรรมการเกษตร (Agricultural Engineering)
วิศวกรรมการเกษตร มีการพัฒนาเริ่มตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มอาศัยรวมเป็นชุมชน งานของวิศวกรรมเกษตร คือ การออกแบบระบบฟาร์ม เครื่องมือที่ใช้ผลิตอาหาร สถานที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืช รวมไปถึงการออกแบบและการจัดการ ระบบของโรงเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นวิศวกรรมเษตรยังสามารถทำงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการพัฒนาเทคนิคในการเพาะพันธุ์พืช เช่น การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics)
วิศวพันธุกรรมและวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Bio/Biomedical Engineering)
วิศวพันธุกรรม เป็นศาสตร์ที่รวมเอาความรู้ทางด้านชีววิทยา และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน บ่อยครั้งที่พบนักวิศวพันธุกรรม ทำงานร่วมกับนักชีววิทยาและนักเภสัชศาสตร์ เพื่อพัฒนา ครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้วัดทางการแพทย์ อวัยวะเทียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการศัลยกรรม ความรู้ทางวิศวกรรมการแพทย์ ยังสามารถใช้เพื่อการศึกษา และวิจัยในด้านที่มีความเกี่ยวพันระหว่างเทคโนโลยีกับชีวิตมนุษย์ เช่น ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน มีผลย่าไรต่อสุขภาพ เป็นต้น
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)
วิศวกรสิ่งแวดล้อม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบระบบจำหน่ายน้ำประปา ระบบการนำน้ำเสียมาบำบัดและนำกลับมาใช้งาน การควบคุมและป้องกันมลพิษทางน้ำ ทางเสีย และทางอากาศ วิศวกรสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ค้นหาหนทางใหม่ ๆ ในการลดและควบคุมมลภาวะ
วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)
งานทางวิศวกรรมเคมี คือ การนำวัสดุตั้งต้นมาผ่านกระบวนการทางเคมี ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นสารที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม วิศวกรเคมี คือ หัวใจหลักในกระบวนการผลิตสารเคมี ที่อาจอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เวชภัณฑ์ เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอาง ในขณะเดียวกันวิศวกรเคมียังเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ ในกระบวนการผลิต ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และพลาสติก นอกจากนี้วิศวกรเคมียังเกี่ยวข้องกับขบวนการบางส่วนของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขบวนการควบคุมมลพิษ
วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
ในแง่ของจำนวนวิศวกรแล้ว วิศวกรรมไฟฟ้าเป็นสาขาที่มีมากที่สุด ความรู้ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าครอบคลุมตั้งแต่ อุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบและการผลิต และใช้งานพลังงานไฟฟ้า ตัวอย่างของงานวิศวกรไฟฟ้า คือ การควบคุมโรงไฟฟ้าระบบคอมพิวเตอร์ และการออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ ไปจนถึงระบบการทำงานของอวัยวะเทียมที่ฝังในร่างกายมนุษย์
วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)
วิศวกรรมโยธา เป็นสาขาที่กว้างขวาง และมีบทบาทต่อสังคมมากที่สุดสาขาหนึ่งของวิศวกรรมศาสตร์ งานของวิศวกรรมโยธา เกี่ยวพันกับการก่อสร้างอาคาร สะพาน เขื่อน ถนน และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ อีกมากมาย วิศวกรโยธามีหน้าที่ วางแผน ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างตั้งแต่งานขนาดเล็ก ไปจนการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ตึกระฟ้า ท่าอากาศยาน ศูนย์การผลิตและควบคุมบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้วิศวกรโยธายังมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาระบบขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคในอนาคต เช่น การออกแบบระบบรถไฟในอนาคต ซึ่งใช้แรงแม่เหล็กเพื่อออกแรงยกตัว และเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (Magnetic levitation trains)
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ (Computer/Software Engineering)
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่เกี่ยวข้องในทุกแง่ทุกมุมของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การออกแบบ การติดตั้งและควบคุมการทำงาน บางส่วนของวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ต้องทำงานกับระบบดิจิตอล ระบบปฏิบัติการ ระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ เพื่อทำงานร่วมกับวิศวกรในสาขาอื่น ๆ เช่น การออกแบบซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจำลองแบบ เพื่อทดสอบตำแหน่งต่าง ๆ ของสะพาน ก่อนที่จะเริ่มสร้างจริง
วิศวกรรมอุตสาหกรรม (Industrial Engineering)
งานของวิศวกรอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดการระบบข้อมูล การควบคุมการใช้พลังงาน ขบวนการผลิต วัสดุ และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต วิศวกรอุตสาหการต้องคำนึงถึงการออกแบบโรงงาน ปัจจัยของมนุษย์ที่มีผลต่อขบวนการผลิต การบริหารและควบคุมคุณภาพของผลผลิต ไปจนถึงการวางแผนเพื่อให้ได้สถานที่ตั้งโรงงานใหม่ที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ปัจจัยการผลิต การขนส่ง และแรงงาน เป็นต้น
วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
งานของวิศวกรเครื่องกล เกี่ยวพันกับกลไกของเครื่องจักรกลและเชื้อเพลิง เช่น เครื่องยนต์ของรถยนต์ หรือแม้กระทั่งเครื่องยนต์ไอพ่นของครื่องบิน นอกจากนั้นวิศวกรรมเครื่องกลยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบระบบปรับอากาศ ระบบทำความเย็น การออกแบบยานยนต์ ระบบเครื่องจักร และหุ่นยนต์ในขบวนการผลิต
วิศวกรรมโลหะและวัสดุ (Metallurgy and materials Engineering)
วิศวกรโลหะและวัสดุ มีหน้าที่ในการสังเคราะห์ สร้างขบวนการผลิต การกลั่น หรือทำให้บริสุทธิ์ และการประดิษฐ์คิดค้นวัสดุใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง และทนทานต่อการผุกร่อนที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในงานที่โดดเด่นของวิศวกรโลหะและวัสดุ คือ การสร้างเครื่องบิน “ล่องหน” ซึ่งสามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ โดยการออกแบบให้วัสดุมีการซึมซาบให้มาก และสะท้อนกลับให้น้อยที่สุด
วิศวกรรมหมืองแร่ (Mineral and Mining Engineering)
งานของวิศวกรเหมืองแร่ ได้แก่ การสำรวจ ขุดเจาะและประเมินค่าแร่ธาตุที่พบบนพื้นโลก วิศวกรเหมืองแร่ต้องทำหน้าที่วางแผนการขุดเจาะ และควบคุมการก่อสร้างงานในเหมือง ออกแบบการขนส่งแร่ที่พบ และการคืนสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบบริเวณเหมือง ให้กลับสู่สภาพเดิมที่มีอยู่ก่อนการขุดเจาะ สิ่งนี้เองที่ทำให้วิศวกรเหมืองแร่ จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคการขุดเจาะ เพื่อให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบน้อยที่สุด
วิศวกรรมระบบขนส่ง (Transportation Engineering)
หน้าที่ของวิศวกรระบบขนส่ง ได้แก่ การออกแบบถนน ทางด่วน และระบบการขนส่งเดินทางขนาดใหญ่ สำหรับประชาชนและสินค้า โดยมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างงานของวิศวกรระบบขนส่ง เช่น ก่อนที่จะมีการก่อสร้างสนามบิน และสนามกีฬาขนาดใหญ่ ผู้รับผิดชอบในการอนุมัติการก่อสร้าง ซึ่งได้แก่ รัฐบาล ท้องถิ้น ต้องได้รับความเห็นชอบ โดยพิจารณาร่วมจากวิศวกรระบบขนส่ง เพื่อป้องกันปัญหาจราจร ที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากไม่มีการวางแผนที่ดี
วิศวกรรมนิวเคลียร์ (Nuclear Engineering)
วิศวกรนิวเคลียร์ มีหน้าที่ในการออกแบบ พัฒนาและควบคุมโรงงานที่ใช้ในการผลิตนิวเคลียร์ ที่ใช้เป็นทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และการใช้งานเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ บางส่วนของวิศวกรนิวเคลียร์ทำงานในการพัฒนากระสวยอวกาศ ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อน เพื่อเดินทางสำรวจอวกาศ
เรียบเรียงจาก หนังสือ เรียนรู้ก่อนเลือกเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ความคิดเห็น