คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : จิตแพทย์
จิตแพทย์ Psychiatrist
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ได้แก่ผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยโรค สั่งยา และให้การรักษาความผิดปกติทางร่างกาย และจิตใจของมนุษย์ ทำการวิจัยปัญหาทางแพทย์และปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรค การสั่งยา รักษาอาการผิดปกติต่างๆ อาจทำงานเฉพาะการให้คำแนะนำและรักษาทางยา ตรวจค้นโรคและความผิดปกติต่างๆ ของมนุษย์ เพื่อให้ทราบลักษณะ แก่นแท้ของสมมุติฐาน อาการ ผลของโรค และความผิดปกติสำหรับช่วยกำหนดวิธีการรักษา
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ตรวจร่างกาย วินิจฉัยอาการทางจิต สั่งยา รักษาอาการผิดปกติของผู้ป่วย โดยการใช้เครื่องมือทดสอบที่เป็นมาตรฐาน ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ และแปรผลการทดสอบ
2. ตรวจผู้ป่วยและตรวจหรือสั่งตรวจทางเอ็กซเรย์ หรือการทดสอบพิเศษ ถ้าต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม
3. พิจารณาผลการตรวจและผลการทดสอบ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์อื่นตามความ จำเป็น และวินิจฉัยความผิดปกติ
4. บำบัดรักษาอาการความผิดปกติทางจิตโดยสั่งยา หรือการรักษาอย่างอื่น และแนะนำผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในเรื่องการปฏิบัติตนที่จำเป็นสำหรับรักษาตนให้พ้นจากการป่วยไข้
5. เก็บรักษาบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้ตรวจโรคที่เป็นและการรักษาที่ได้ให้หรือสั่ง
6. อาจรับผิดชอบและสั่งงานสำหรับพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถาบันอื่น
สภาพการจ้างงาน
ผู้ประกอบอาชีพนี้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจต้องมาทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด อาจจะต้องมีการจัดเวรอยู่ประจำโรงพยาบาล นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้ว ในภาครัฐ และภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาจิตแพทย์สามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานพิเศษนอกเวลาทำงานประจำ โดยรายได้ที่ได้รับขึ้นอยู่กับความสามารถและความอุตสาหะ
สภาพการทำงาน
ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล โดยตรวจคนไข้ในที่อยู่ในความรับผิดชอบทุกวันและ ต้องตรวจคนไข้นอกที่เข้ามารับการรักษา ผู้ที่เป็นจิตแพทย์อาจถูกเรียกตัวได้ทุกเวลาเพื่อทำการรักษาคนไข้ให้ทันท่วงที และต้องพร้อมเสมอที่จะสละเวลาเพื่อรักษาคนไข้ ในสถานที่ทำงานจะต้องพบเห็น คนเจ็บ คนป่วย และอาจจะต้องเผชิญหน้ากับผู้ป่วยที่กำลังคลุ้มคลั่ง ดังนั้นในห้องตรวจผู้ป่วยจะต้องมีพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลที่แข็งแรงและพร้อมที่จะจัดการผู้ป่วยที่เกิดอาการดังกล่าวได้ จิตแพทย์จึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน อดกลั้น เพราะหากมีจิตใจที่อ่อนไหวต่อสิ่งที่ได้ พบเห็นและไม่สามารถระงับอารมณ์ จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้
อาชีพจิตแพทย์มักจะไม่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานในตัวเมืองที่มีความเจริญ หรือในสถานบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต อาจจะเพราะในที่มีความเจริญมีงานที่ต้องแข่งขันกันสูงทำให้คนมีความเครียดและอาจจะเกิดความผิดปกติทางจิตซึ่งเป็นไปได้สูงกว่าในชนบท และสำหรับในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ หากมีผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการรุนแรง มักถูกส่งมารับการรักษาในสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิตในตัวเมือง
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
1. สำเร็จการศึกษาทางวิชาจิตแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์
2. ขยันสนใจในการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
3. มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่พิการหรือทุพพลภาพ ปราศจากโรค
4. สามารถอุทิศตนยอมเสียสละเวลา และความสุขส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนจาก การเจ็บป่วย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วย มีความเมตตา และมีความรัก ในเพื่อนมนุษย์ มีความเสียสละที่จะเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ
5. มีมารยาทดี สามารถเข้ากับบุคคลอื่นได้ทุกระดับ มีความอดทน อดกลั้น และมีความกล้าหาญ
6. มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตนมีคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ ไม่ใช้ ความรู้ทางวิชาการของตนไปหลอกลวงหรือทำลายผู้อื่น
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้
ผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และสามารถสอบผ่านวิชาต่างๆ ในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการสอบสัมภาษณ์ และการตรวจร่างกาย จึงมีสิทธิเข้าศึกษาแพทย์ ผู้ที่จะเรียนแพทย์จะต้องมีฐานะทางการเงินดีพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนวิชาแพทย์ค่อนข้างสูงและใช้เวลานานกว่าการเรียนวิชาชีพอื่นๆ โดยต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา ค่าตำราวิชาการแพทย์ และค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ
หลักสูตรวิชาการแพทย์ระดับปริญญาตรีตามปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี ในสองปีหลักสูตรการเรียนจะเน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อจากนั้นจึงเรียนต่อวิชาการแพทย์ โดยเฉพาะอีก 4 ปี เมื่อสำเร็จได้รับใบอนุญาตประกอบเวชกรรมของแพทยสภามีสิทธิประกอบอาชีพแพทย์ได้ตามกฎหมาย
โอกาสในการมีงานทำ
อาชีพจิตแพทย์ สามารถรับราชการโดยทำงานในโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานีอนามัยหรือหน่วยงานการแพทย์ของกระทรวง ทบวง กรม ที่จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชน และเจ้าหน้าที่ หรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังสามารถทำรายได้พิเศษด้วยการเปิดคลีนิคส่วนตัวเพื่อรับรักษาคนไข้นอกเวลาทำงานประจำได้อีก แนวโน้มของตลาดแรงงานสำหรับอาชีพนี้ยังคงมีอยู่ เนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากและมีความรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ ทำให้เกิดสภาพบีบคั้นทั้งเศรษฐกิจและสังคม จึงมีผลให้เกิดความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่สามารถ แก้ปัญหาด้วยตนเองได้ จึงเกิดสถิติของผู้ป่วยเป็นโรคจิต และการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นรัฐบาลได้ตระหนักถึงสถานการณ์นี้ จึงได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลป้องกัน และบำบัดรักษา คือจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือบริการบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองขึ้นที่ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ รวมทั้งการติดตั้งโทรศัพท์สายด่วน สุขภาพจิต ตลอดจนจัดตั้งเว็บไซต์ เพื่อบริการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้แนวทางแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่าความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ยังมีอีกมากในยุคปัจจุบัน
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพนี้ ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์ จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจนถึงระดับ ผู้บริหาร หากมีความสามารถในการบริหาร หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยเปิดคลินิกรับให้คำปรึกษาต่อผู้ที่มีปัญหาทางจิตทั่วไป นอกเวลาทำงานเป็นรายได้พิเศษ สำหรับผู้ที่มีความชำนาญและมีทีมงานที่มีความสามารถ รวมทั้งมีเงินทุนจำนวนมากก็สามารถเปิดโรงพยาบาล หรือสถานพักฟื้นในการบำบัดรักษา ผู้ป่วยทางจิตได้ ในประเทศไทยผู้ที่ป่วยทางจิตมักไม่ค่อยนิยมที่จะพบจิตแพทย์โดยตรง แต่อาจจะจัดจ้าง จิตแพทย์ทำงานในลักษณะที่ปรึกษา
จิตแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอาจได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลหลายแห่ง ทำให้ได้รับรายได้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนทางจิตวิทยาหรือทางจิตแพทย์
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ นักพยาธิวิทยา แพทย์ด้านนิติเวช สูตินารีแพทย์
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
แพทยสภา, สมาคมจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์สุขวิทยาจิต , กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (Child Mental Health Center) การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)
ความคิดเห็น