เครื่องบินอันเป็นที่สุดในโลก - เครื่องบินอันเป็นที่สุดในโลก นิยาย เครื่องบินอันเป็นที่สุดในโลก : Dek-D.com - Writer

    เครื่องบินอันเป็นที่สุดในโลก

    เครื่องบินที่เป็นที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาด ความเร็ว อายุการใช้งานและจุดเด่นอื่นๆ [Update เพิ่มรูป]

    ผู้เข้าชมรวม

    31,377

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    31.37K

    ความคิดเห็น


    89

    คนติดตาม


    11
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  21 พ.ค. 51 / 02:04 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      เครื่องบินที่เก่าแก่ที่สุด
                ไรต์ ฟลายเออร์ 1 ของวิลเบอร์และออร์วิล ไรต์ สัญชาติอเมริกัน เที่ยวบินแรกมีขึ้นในปี 1904

      Wright Flyer I (จำลอง)

      เครื่องบินที่พังเร็วที่สุด
                Bachem Ba-39 "Natter" เป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์จรวดของฝ่ายเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง หลักการก็แสนง่าย กล่าวคือยิงมันขึ้นไปบนท้องฟ้าและสาดกระสุนใส่เครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรให้มากที่สุด ก่อนจะถอดหัวและกลับลงพื้นด้วยร่มชูชีพเนื่องจากไม่มีล้อเพราะสร้างไม่ทัน (จะแพ้สงครามอยู่แล้ว)

                การทดสอบด้วยเครื่องควบคุมภาคพื้นดินเป็นไปได้ด้วยดี แต่เพียงขึ้นทดสอบด้วยนักบินครั้งแรกก็ตูม เนื่องจากฝาครอบห้องนักบินล็อกไม่สนิท เมื่อขึ้นไปกลางอากาศเกิดแรงต้านจึงร่วงวูบ นักบินช็อกจากแรงปะทะของอากาศและหมดสติขณะเครื่องโหม่โลก อาเมน.....

      เครื่องบินโดยสารไอพ่นรุ่นแรกสุด
                เดอ ฮาวิลแลนด์ โคเมต ของอังกฤษ ใช้เครื่องยนต์เดอ ฮาวิลแลนด์ โกสต์ 4 เครื่อง
                ตอนแรกดูเหมือนจะไปได้ด้วยดี แต่ในที่สุดก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นติดๆกัน จากการสอบสวนพบว่าขอบหน้าต่างสี่เหลี่ยมเกิดร้าวเนื่องจากการรับการเปลี่ยนแรงกดดันเมื่อลงจอดและอยู่ในระดับบินซึ่งค่อนข้างสูง ในที่สุดเมื่อบ่อยครั้งเข้าเครื่องทั้งเครื่องก็ฉีกออกเป็นชิ้นๆด้วยแรงดันอากาศ เครื่องทั้งหมดถูกสั่งห้ามบิน และกว่าจะได้บินอีกครั้งก็ถูกโบอิ้ง 707 และดักลาส DC-8 ของอเมริกันแย่งตลาดไปหม่ำเรียบร้อยโรงเรียนจีน ขายไม่ออก เจ๊งครับ.....

      De Havilland D.H.146 Comet ทะเบียน G-BDIT สายการบิน Dan Air London ท่าอากาศยานดึซเซลดอร์ฟ เยอรมนี

      เครื่องบินที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์นานที่สุด
                ดักลาส DC-3 ผลิตโดยดักลาส สัญชาติอเมริกัน ใช้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จนบัดนี้ยังคงใช้อยู่บ้างในบางสายการบินโดยเฉพาะในแอฟริกาและอเมริกาใต้ รวมทั้งกองทัพอากาศไทยก็มี DC-3 สำหรับใช้ขนส่งทางทหาร (ชื่อเรียก Dakota) อยู่ด้วย

      Douglas DC-3 ทะเบียน HB-ISC สายการบินสวิสแอร์

      เครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ที่ขายดีที่สุด
                โบอิ้ง 737 ตั้งแต่รุ่น 100 ที่อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกเมื่อทศวรรษ 1960 จนถึงรุ่น -600/-700/-800/-900/BBJ ที่อยู่ในตลาดทุกวันนี้รวมกันได้มากกว่าห้าพันลำ กินขาดโบอิ้ง 707 และ 727 สบายๆ

      Boeing 737-4D7 ทะเบียน HS-TDG การบินไทย เหนือกรุงเทพมหานคร

      เครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่บินได้ไกลที่สุด (ในการปฏิบัติการปกติ)
                แอร์บัส เอ340-500 โดยแอร์บัส SAS ของฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สเปนและเนเธอร์แลนด์ บินได้ไกลประมาณ 16,000 กิโลเมตร

      Airbus A340-541 ทะเบียน HS-TL? การบินไทย ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ (ดอนเมือง) ของเรานั่นเอง

      เครื่องบินไอพ่น 2 เครื่องยนต์ที่บินได้ไกลที่สุด
                โบอิ้ง 777-200LR แน่นอนว่าโดยโบอิ้ง บินได้ไกล 17,000 กิโลเมตร ออกโชว์ครั้งแรกในงานปารีสแอร์โชว์ 2005 ที่ท่าอากาศยานเลอเบอร์เก้ ปารีส ฝรั่งเศส

      Boeing 777-240LR ที่ท่าอากาศยาเลอเบอร์เก้ (Le Bourget) ปารีส ฝรั่งเศส

      เครื่องบินทิ้งระเบิดไอพ่นที่ใช้งานนานที่สุด
                โบอิ้ง B-52 สตราโตฟอร์เทรส ใช้มาตั้งแต่ปี 1952 บัดนี้มีตั้งแต่รุ่น B-52A ถึง B-52H มีคำกล่าวว่ามีอย่างน้อยหนึ่งครอบครัวในสหรัฐฯ ที่ทั้งปู่ พ่อและลูกชายต่างก็เป็นนักบิน B-52 ทั้งสามรุ่น แต่ตอนนี้เริ่มปลดประจำการไปเรื่อยๆ และถูกแทนที่ด้วย นอร์ทรอป B-2 (สเตลธ์) และร็อคเวลล์ B-1

      Boeing B-52 Stratofortress ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

      เครื่องบินที่ถูกนับว่าปลอดภัยที่สุด
                 อิลยุชชิน IL-96 ของอิลยุชชิน รัสเซีย บินครั้งแรกในปี 1986 ยังไม่เคยประสบอุบัติเหตุร้ายแรงเลยสักลำ ยกเว้นการเสียเล็กเสียน้อย อาจเป็นเพราะว่ามันผลิตออกมาแค่น้อยลำ (เท่าที่มีข้อมูลไม่เกิน 30 ลำ)

      Ilyushin IL-96-300 ทะเบียน RA-96010 สายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot Russian International airlines - ARIA) ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ

      เครื่องบินที่ใหญ่ที่สุด และมีน้ำหนักบินขึ้น (Max Takeoff Weight) มากที่สุด
                แอนโตนอฟ An-225 Mriya (Dream) โดยแอนโตนอฟ รัสเซีย น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด (Max Takeoff Weight - MTOW) ประมาณ 1,250,000 ปอนด์ เป็นเครื่องบินลำแรกที่มีน้ำหนักบินขึ้นสูงสุดเกินหนึ่งล้านปอนด์ และสามารถบรรทุกสินค้าได้สูงสุดกว่า 500,000 ปอนด์ ความกว้างปลายปีกถึงปลายปีก 85 เมตร ใช้ในการขนส่งต่างๆทั่วโลก และบางครั้งสหประชาชาติหรือสหรัฐฯ ก็ยังจ้างเครื่องบินลำนี้เพื่อขนส่งกำลังบำรุงด้วย รัสเซียคงสะใจไม่น้อย (โดยปกติแล้วน้ำหนักบินขึ้นถือเป็นเกณฑ์วัด "ความใหญ่" ของเครื่องบิน)

      Antonov An-225 Mriya ทะเบียน UR-82060 ของบริษัท Antonov Design Bureau ให้บริการขนส่งสินค้าทั่วโลก (ตามแต่คนจ้าง.....) ท่าอากาศยานนานาชาติเอเลฟเทริออส เวนิเซลอส (Eleftherios Venizelos) กรุงเอเธนส์

      เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุด (ที่ใช้งานแล้วในปัจจุบัน)
                โบอิ้ง 747-400 (หากจะนับน้ำหนักบินขึ้นมากที่สุดก็คือรุ่น 747-400D ซึ่งเพิ่มความสามารถในการบรรทุกแต่ลดพิสัยบินลง สามารถจุคนได้กว่า 550 คน)
                (หมายเหตุ ขณะนี้ 22 พฤศจิกายน โบอิ้ง 747-400 ไม่ถือว่าเป็นเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เข้าประจำการในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากแอร์บัส เอ380-800 เข้าประจำการกับสิงคโปร์แอร์ไลน์สในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 แต่ผมยังคงรุ่นนี้เอาไว้เพื่อให้มีเครื่องบินรุ่นนี้ให้ท่านผู้อ่านชมครับ)

      Boeing 747-4D7 ทะเบียน HS-TG? การบินไทย ท่าอากาศยานฟรานซ์ โยเซฟ สเตราส์ มืนเชน (มิวนิค) มิวนิค เยอรมนี


      Boeing 747-4D7 ทะเบียน HS-TGJ การบินไทย

      เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุด
                แอร์บัส เอ380-800 นั่งได้ 555 คนในการจัดที่นั่งแบบ 3 ชั้น (ตามที่แอร์บัสเคลมเอาไว้) ส่งมอบให้กับสิงคโปร์แอร์ไลน์สในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 หลังจากการล่าช้าเกือบปีจนถูกปรับกระจุยกระจาย ซึ่งสิงคโปร์แอร์ไลน์สใช้บินในเส้นทางซิดนีย์ และจะใช้มันบิน "เส้นทางจิงโจ้ (Kangaroo Route หรือลอนดอน - สิงคโปร์ - ซิดนีย์) เมื่อได้เครื่องมากพอแล้ว การบินไทยสั่งจอง 6 ลำ กว่าจะได้ก็ปี 2553 โน่นแหละครับ

      Airbus A380-841 ทะเบียน F-WWOW ลำต้นแบบของบริษัทแอร์บัสอินดัสตรีส์ ที่ท่าอากาศยานบลายัค (Blagnac) ตูลูส ฝรั่งเศส

      เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย
                อิลยุชชิน IL-96 ของอิลยุชชิน รัสเซีย นั่งได้ประมาณ 300 คน ขนาดพอๆกับโบอิ้ง 767-200ER อิลยุชชินหมดตังค์เลยไม่ได้พัฒนาต่อ ถ้าพัฒนาต่อมันจะใหญ่พอๆกับโบอิ้ง 777 หรือแอร์บัส เอ340-300 และคงขายได้เยอะเพราะถูกกว่าบริษัทคู่แข่งทั้งสอง

      Ilyushin IL-96-300 ทะเบียน RA-96008 สายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot Russian Airlines) ท่าอากาศยานนานาชาติเชเรเมติเยโว II (Sheremetyevo II) มอสโก รัสเซีย
       
      เครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่บินเร็วที่สุด
                ตูโปเลฟ Tu-144 ของตูโปเลฟ รัสเซีย ชื่อเรียกของ NATO เรียกว่า Charger หรือ Concordski (นัยว่าเป็นคองคอร์ดสัญชาติรัสเซีย) ความเร็วสูงสุด มัค 2.5 ซึ่งเร็วกว่าคองคอร์ดที่บินได้เพียงมัค 2.0-2.2 เท่านั้น

      Tupolev Tu-144 (Nato Reporting Name "Charger" หรือ "Concordesky") ทะเบียน CCCP-77112 สายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot Soviet Airlines) ปลดระวางแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์อากาศยาน เยอรมนี

      เครื่องบินทางทหารที่บินได้เร็วที่สุด
                เครื่องบินสอดแนมระดับสูงล็อกฮีด SR-71 แบล็กเบิร์ด ของล็อกฮีด สหรัฐอเมริกา บินได้เร็วมัค 3.3 ปัจจุบันตกงานเนื่องจากดาวเทียมสะดวกกว่า บ๊ายบาย แบล็กเบิร์ด.....

      Lockheed SR-71 Blackbird ของกองทัพอากาศสหรัฐ ที่ฐานทัพอากาศเนลลิส - ลาสเวกัส

      เครื่องบินคนบังคับที่บินได้เร็วที่สุด
                นอร์ท อเมริกัน X-15 ซึ่งเป็นเครื่องบินวิจัยการบินด้วยความเร็วเหนือเสียงระดับสูง (Hypersonic) บินได้เร็ว 6.5มัคซึ่งถือเป็นความเร็วสูงสุดที่เครื่องบินที่มีมนุษย์ควบคุมทำได้ ที่เร็วกว่านั้นจะเป้นบังคับจากภาคพื้นดินทั้งหมด

      North American X-15 ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ (NASA)

      เครื่องบินใช้ใบพัดที่บินเร็วที่สุด
                เครื่องบินทิ้งระเบิดตูโปเลฟ Tu-95 ของรัสเซีย บินได้เร็ว 575 นอต ซึ่งเทียบเท่าความเร็วของเครื่องบินไอพ่นระดับ B-52 เลยทีเดียว ที่แรงดีขนาดนี้ก็เพราะใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังมากที่สุดในโลกคือ Kuznetsov NK-12MV Turboprop ซึ่งให้กำลัง 59,180 แรงม้า 4 เครื่อง และขับเคลื่อนใบพัดเครื่องละสองใบหมุนในทิศตรงข้ามกัน ซึ่งยังผลให้เสริมแรงซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ความเร็วและแรงม้าระดับนี้ขึ้นมา

      Tupolev Tu-95 (NATO Reporting Name "Bear") ของกองทัพอากาศโซเวียต

      เครื่องบินที่ถูกสร้างขึ้นมามากรุ่นที่สุด
                ดักลาส DC-8 ของดักลาส สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่บินครั้งแรกในปี 1958 ในรหัสรุ่น DC-8-10 ก็มีรุ่นต่อมาเรื่อยๆ จนเลิกผลิตที่ DC-8-62 แต่ยังคงมีคนดัดแปลงโดยการติดตั้งเครื่องยนต์ใหม่และให้ชื่อรุ่นว่า DC-8-72 และ -73

      Douglas DC-8-62 ทะเบียน HS-??? การบินไทยของเรานั่นเอง ที่ท่าอากาศยานไกตั๊ก (Kai Tak) ฮ่องกง

      แอร์ ฟอร์ซ วัน ลำประจำ(สหรัฐฯ)
                โบอิ้ง VC-25A (747-2G4B หรือ 747-200B นั่นเอง)
                จริงๆแล้ว แอร์ ฟอร์ซ วัน หมายถึงเครื่องบินทุกลำที่ประธานาธิบดีของสหรัฐนั่งนะครับ เมื่อไหร่ขึ้นเครื่องปุ๊บ ลำนั้นเรียกแอร์ ฟอร์ซ วัน ทันที แต่ลำขาประจำก็ลำนี้ล่ะครับ

      Boeing VC-25A (Boeing 747-2G4B) "แอร์ ฟอร์ซ วัน" ที่ท่าอากาศยานเฟริเฮกี (Ferihegy) บูดาเปสต์

      เครื่องบินโดยสารในปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นที่มีแรงขับดันน้อยที่สุด
                แยคคอฟเลฟ Yak-40 ของรัสเซีย ใช้เครื่องยนต์ Ivchenko Turbofan แรงขับดัน 3,100 ปอนด์ 3 เครื่อง

      Yakovlev Yak-40 ทะเบียน RA-88240 เครื่องบินส่วนตัว

      เครื่องบินโดยสารในปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นที่มีแรงขับดันมากที่สุด
                โบอิ้ง 777 ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney PW4000 series/GE GE90 series/Rolls Royce Trent 800 series ซึ่งมีแรงขับดันระหว่าง 76,000-115,000 ปอนด์)

      Boeing 777-3D7 ทะเบียน HS-TKC การบินไทย ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ

      เครื่องบินไอพ่นที่ใช้เครื่องยนต์มากที่สุด
                โบอิ้ง B-52 Stratofortress ใช้เครื่องยนต์ TF-33-P-3/103 Turbofan ทั้งหมด 8 เครื่อง แต่แรงขับดันรวมเพียง 605 กิโลนิวตัน (ประมาณ 136,000 ปอนด์) ซึ่งน้อยกว่าโบอิ้ง 777 หรือแอร์บัส เอ330 เสียอีก

      Boeing B-52 Stratofortress ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

      เครื่องบินที่มีแรงขับดันรวมของเครื่องยนต์มากที่สุด
                แอนโตนอฟ AN-225 Mriya เจ้าเก่า ใช้เครื่องยนต์ ZMKB-Lotarev D-18T Turbofan  6 เครื่อง เครื่องละ 226kN รวมเป็น 1,326 kN

      Antonov An-225 Mriya ทะเบียน UR-82060 เจ้าเก่า ท่าอากาศยานนานาชาติเอเลฟเทริออส เวนิเซลอส (Eleftherios Venizelos) กรุงเอเธนส์

      สายการบินที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการ
                เอเวียนคา โคลัมเบีย ตั้งขึ้นในปี 1918

      Boeing 767-284ER ทะเบียน N988AN สายการบินเอเวียนคา โคลัมเบีย ท่าอากาศยานกัวรูลฮอส (Aeroporto Internacional Guarulhos) เซาเปาโล บราซิล

      สายการบินที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงใช้ชื่อเดิมตั้งแต่ก่อตั้งไม่เคยเปลี่ยน
                Koninklijke Luchivaart Maatschappij NV หรือที่รู้จักกันทุกวันนี้ว่า KLM โรยัล ดัตช์ แอร์ไลน์ ตั้งในปี 1919 ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่ และคงจะใช้ต่อไปอีกนาน

      Mcdonnell Douglas (ตอนนี้เป็นโบอิ้ง) MD-11 ทะเบียน PH-KCE ท่าอากาศยานสคิฟฮอล (Schiphol) อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

      เครื่องบินลำแรกสุดที่ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ
                แอร์บัส A340-600 ทะเบียน HS-TNA "วัฒนานคร" (ลำที่สองเป็นโบอิ้ง 747-4D7 (747-400))

      Airbus A340-642 ทะเบียน HS-TNA การบินไทย ที่ท่าอากาศยานเคลอเตน (Kloten) ซูริค สวิตเซอร์แลนด์

      เครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุดของโลก
                ล็อกฮีด YF-35 ของสหรัฐฯ
                มิโกยัน Mig-144 (ชื่อไม่เป็นทางการ) ของรัสเซีย
                ซุคฮอย Su-37 เบอร์คุต (อินทรีทอง) รัสเซียเช่นกัน
                ยูโรไฟท์เตอร์ 2000 (ยูโรไฟท์เตอร์ ไต้ฝุ่น) โดยความร่วมมือระหว่างประเทศในยุโรป

      เครื่องบินที่ไม่มีหางลำแรกของโลก
                นอร์ธรอป YB-49 ของนอร์ทรอป แต่กองทัพสหรัญไม่สั่ง เนื่องจากปัญหาด้านเครื่องยนต์ที่ซ่อมยาก การควบคุมที่ไม่ดีและอุบัติเหตุหลายครั้งหลายครา จนในที่สุดโครงการก็มีอันต้องพับฐานไป และแจ็ค นอร์ธรอป (ผู้เสนอไอเดีย) ก็ฝันค้าง....

      เครื่องบินไม่มีหางที่ใช้งานจริงได้ลำแรกของโลก
                นอร์ธรอป-กรัมแมน B-2 สร้างห่างจาก YB-49 ถึงเกือบ 40 ปี โดย B-2 ใช้ระบบ "Fly-by-wire" หรือการใช้ไฟฟ้าควบคุมอุปกรณ์และระบบบังคับต่างๆ รวมทั้งนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ช่วยในการควบคุม ทำให้ความฝันของนอร์ทรอปเป็นจริงขึ้นมาจนได้..... (คลาสสิก)

      Northrop-Grumman B-2 Spirit ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
      ลายเรือพระที่นั่ง 3 ลำของการบินไทย
                โบอิ้ง 747-4D7 HS-TGJ นามพระราชทาน หริภุญชัย (ลายสุพรรณหงส์)
                โบอิ้ง 747-4D7 HS-TGO นามพระราชทาน บวรรังสี (ลายสุพรรณหงส์เช่นเดียวกัน)
                แอร์บัส A330-322 HS-TEK นามพระราชทาน ศรีจุฬาลักษณ์ (ลายนารายณ์ทรงสุบรรณ)
                (โบอิ้ง 747-400 ทั้งสองลำถูกนำไปทำสีใหม่ (ลายหางม่วง) เรียบร้อยแล้ว น่าเสียดาย.....)

      Boeing 747-4D7 ทะเบียน HS-TGO การบินไทย ท่าอากาศยานเคลอเตน ซูริค สวิตเซอร์แลนด์

      Airbus A330-322 ทะเบียน HS-TEK การบินไทย ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ

      เครื่องบินโดยสารที่กำลังอยู่ภายใต้การพัฒนาของบริษัทเครื่องบินทั่วโลก
           แอร์บัส

                A350XWB (ย่อมาจาก Extra Wide Body) เครื่องบินโดยสารขนาดกลาง-ใหญ่ นั่งได้ประมาณ 350-400 คน ใช้เครื่องยนต์กังหันไอพ่น (Turbofan) 2 เครื่องยนต์ (เท่าที่มีการประกาศตอนนี้คือโรลส์รอยซ์ เทรนต์ XWB) ขนาดเทียบเท่าโบอิ้ง 767 หรือ 777-200 และ 787-8 และ 787-9 กำหนดบินเที่ยวแรกในปี 2555

           โบอิ้ง
                787 เครื่องบินโดยสารขนาดกลางระยะบินไกล นั่งได้ประมาณ 250-350 คน ใช้เครื่องยนต์กังหันไอพ่น 2 เครื่อง (เท่าที่มีการประกาศคือ โรลส์รอยซ์ เทรนต์ 1000 และ Engine Alliance (ความร่วมมือระหว่างแพรตต์แอนด์วิตนีย์ กับเจเนอรัล อิเล็กทริก) ลำแรกเสร็จแล้ว แต่ยังไม่บินเที่ยวแรก เนื่องจากเกิดความล่าช้าเล็กน้อย กำหนดบินเที่ยวแรกกลางปีนี้

                747-8 รุ่นพัฒนาของ 747 เพื่อมาฟาดกับ A380 ซึ่งเริ่มบินแล้ว จะมีความยาวมากขึ้น เพิ่มพิสัยบินและประหยัดมากขึ้น

           ซูคฮอย (รัสเซีย)
                ซูคฮอย ซูเปอร์เจ็ต เครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก (Regional Jet) ซึ่งจะมีความทันสมัยเทียบเท่ากับคู่แข่งทางตะวันตกทั้งหลาย (ซึ่งโดยปกติเครื่องรัสเซียจะค่อนข้างล้าสมัย ยกเว้น IL-96 และ Tu-204 ซึ่งรุ่นแรกได้กล่าวถึงด้านบนแล้ว) แต่กำหนดเสร็จยังไม่แน่นอน

      ***รูปทั้งหมดจาก http://www.planepictures.net

      ***อยากให้มีข้อมูลของรุ่นไหน บอกได้นะครับ จะพยายามไปหามาให้

      ***หากผิดพลาดรุ่นไหนหรือมีอะไรท้วงติง/เพิ่มเติมก็บอกมานะครับ ผมอาศัยข้อมูลจากไม่กี่แหล่งอาจผิดพลาดได้
      ***รูปเครื่องบินและข้อมูล หากใครต้องการศึกษานะครับ
                http://www.planepictures.net (มีแต่รูป แต่รูปเยอะมากและใช้ง่าย มีภาคภาษาเยอรมันสำหรับคนต้องการลองภูมิด้วย 555+)
                http://www.airliners.net (มีข้อมูล แต่ส่วนรูปใช้ยากกว่าและดูรกตากว่า บางส่วนต้องสมัครสมาชิกถึงเข้าไปดูได้)
                http://www.thaiflight.com (สำหรับคนที่สนใจด้านเครื่องบินและเล่นเกม Flight Simulator ครับ ภาษาไทยทั้งนั้น มีรูปสวยๆให้ด้วย)

      แหล่งข้อมูล :
               
      Modern Commercial Aircraft; Gunter Endres, 1998 Salamander Book.
                AIRCRAFT; Christopher Chant
                www.planepictures.net
                www.airliners.net
                www.boeing.com
                www.airbus.com
                www.ilyushin.org
                www.thaiair.com
                www.google.co.th
                www.aerospaceweb.org/aircraft

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×