สภาพและปัญหาในสังคมไทย - สภาพและปัญหาในสังคมไทย นิยาย สภาพและปัญหาในสังคมไทย : Dek-D.com - Writer

    สภาพและปัญหาในสังคมไทย

    สังคมเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

    ผู้เข้าชมรวม

    36

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    36

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  23 พ.ค. 63 / 12:53 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

    สภาพปัญหาสังคม 

    จากความสำเร็จของการพัฒนาในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมาครั้นถึงพ.ศ. ๒๕๔๐ สิ่งที่ควบคู่มา กับความสำเร็จกลับกลายเป็นปัญหาที่สะสมพอกพูนตามมาและ เพิ่มมากยิ่งขึ้น
    ขณะนี้กลายเป็นปัญหาอันใหญ่ของสังคมไทยยุคโลกภิวัตน์ ปัญหาอันยิ่งใหญ่ตาม คือ ปัญหาด้านสังคม จนอาจสรุปเป็นข้อความสั้น ๆ แต่น่าคิดอย่างยิ่งว่า
    "เศรษฐกิจก้าวหน้า สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน"


    ยิ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ามากเท่าใด และความเจริญด้านวัตถุมีมากเท่าใดสภาพด้านจิตใจกลับเสื่อมลง จิตใจคนสับสน ว้าเหว่ คนขาดที่พึ่งทางใจครอบครัวที่เคยเข้มแข็งกลับอ่อนแอ แตกแยก ชุมชน หมู่บ้าน ที่เคยเข้มแข็งก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน


    ประเด็นปัญหาสังคมที่สำคัญสรุปสั้น ๆ ดังนี้

    ๑. ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านวัตถุ แต่เกิดความเสื่อมทางด้านจิตใจ ค่านิยมและสังคมคนไทยประพฤติปฏิบัติที่แสดงถึงความเสื่อมทางจิตใจอย่างเห็นได้ชัดเจนหลายประการ เช่น นิยมวัตถุ นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย ยกย่องคนรวย โดยไม่คำนึงถึงว่าจะร่ำรวยมาได้โดยวิธีใด เกิดการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบ ไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม การเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบนี้นอกจากจะเบียดเบียนกันเองแล้ว ยังเบียดเบียนรุกรานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ สภาพธรรมชาติ ถูกรุกราน ยึดครอง ถูกทำลาย สภาพน้ำเน่าเสีย สภาพคนจนอยู่ใน สลัมท่ามกลางตึกสูงอันหรูหราใหญ่โต สภาพความยากจนแร้นแค้นของคนในชนบท และสภาพเสื่อมโทรมทางสังคม อันเกิดจากความเสื่อมทางจิตใจมีมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากปัญหายาเสพติด โสเภณี โรคเอดส์และปัญหาอื่น ๆรวมถึงการละเลยด้านศาสนา และประเพณีเป็นต้น
    ๒. ปัญหาอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากความเสื่อมทางด้านจิตใจและค่านิยม คือ

    ๒.๑ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างมากและอย่างรวดเร็ว
    ๒.๒ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนมีมากยิ่งขึ้น คนรวยมีเพียงจำนวนเล็กน้อย แต่เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติมากมาย ทำให้คนจนส่วนใหญ่ที่จนอยู่แล้วกลับยิ่งยากจนลงไปกว่าเดิมอีก
    ๒.๓ ความเจริญกระจุกอยู่แต่ในเมืองไม่ได้กระจายออกไป ทำให้คนชนบทอพยพเข้าสู่เมืองเกิดปัญหาตามมาทั้งในชนบทและในเมือง
    ๒.๔ระบบราชการขาดประสิทธิภาพ เพราะปรับสภาพไม่ทันกับปัญหาสังคมที่ซับซ้อนในเมืองหลวงและในชนบท
    ๒.๕คนไทยส่วนใหญ่พื้นฐานการศึกษายังน้อย ปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์เป็นต้น
    ๓.วิกฤตการณ์ทางการเมือง หมายถึง ระบบการเมืองของ ไทยอันเป็นแบบแผน ของสังคมในการปกครองประเทศ และดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ขณะนี้การเมืองไทยมีปัญหาถึง ๘ ประการ คือ

    ๓.๑ ใช้เงินเป็นใหญ่
    ๓.๒มีการผูกขาดการเมืองโดยคนจำนวนน้อย
    ๓.๓ คนดีมีความสามารถเข้าไปสู่การเมืองได้ยาก
    ๓.๔ การทุจริตประพฤติมิชอบมีอยู่ในทุกระดับ
    ๓.๕ การเผด็จการโดยระบอบรัฐสภา
    ๓.๖ การต่อสู้ขัดแย้งเรื้อรังและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
    ๓.๗ การขาดประสิทธิภาพทางการบริหารและนิติบัญญัติ
    ๓.๘ การขาดสภาวะผู้นำทางการเมือง

    ๔. วิกฤตการณ์ในระบบราชการ หมายถึง ระบบราชการอันเป็นเครื่องมือปัญหาสังคมไทยกลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง เช่น ปัญหาความเสื่อมศักดิ์ศรีของระบบราชการ ทำให้คนดีคนเก่งหนีระบบราชการ ปัญหาคอรัปชั่นในวงราชการปัญหาคุณธรรม เป็นต้น
    ๕.วิกฤตการณ์ของการศึกษา หมายถึง การศึกษาของไทยอัน เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของสังคมไทยกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง เช่นการเรียนแบบท่องจำเนื้อหาไม่ทันต่อความรู้ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ปัญหาการแก่งแย่งแข่งขัน ปัญหาระบบการศึกษา การบริหาร การกระจายโอกาสการศึกษา รวมถึงการศึกษาของสงฆ์ก็มีปัญหาด้วยประมวลสรุป

    สภาพปัญหาของเยาวชนไทยถ้ามองถึงปัญหาของเยาวชนไทยจะต้องยอมรับเสียก่อนว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดี เป็นพลเมืองดีของชาติ แต่ผู้ใหญ่คาดหวังจะให้เขาเป็นคนดียิ่งขึ้นไปอีกและมีเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งมีปัญหา ซึ่งคำว่าจำนวนหนึ่งนี้เมื่อเทียบกับเยาวชนทั้งประเทศ เยาวชนที่มีปัญหาก็นับจำนวนเป็นล้านทีเดียว
    จากลักษณะของเยาวชนไทยที่มีจำนวนมากเช่นนี้ หากจะทำความเข้าใจและให้ความสนใจเยาวชน ก็ควรเข้าใจว่าเยาวชนแยกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งแบ่งแยกตามลักษณะสังคมอยู่แล้ว คือ
    ๑. กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในสถานศึกษา โรงเรียนเริ่มตั้งแ ต่นักเรียนชั้นมัธยมเรื่อยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนดี ใฝ่ศึกษาหาความรู้ มีความรู้ สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัวและสนใจเรื่องราวทั้งที่อยู่ใกล้ตัว ไกลตัว รวมไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรรมและความสนใจหลากหลาย

    ๒. กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในชุมชน ในหมู่บ้านหนึ่งหรือชุมชนหนึ่ง จะมีเยาวชนอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว เยาวชนเหล่านี้จะมีลักษณะที่หลากหลายปะปนกัน เยาวชนจำนวนหนึ่งออกไปทำงานนอกบ้านแล้วกลับมาตอนเย็น บางกลุ่มทำงานช่วยพ่อแม่อยู่บ้าน บางกลุ่มอยู่บ้านเฉย ๆ บางกลุ่มก็เข้ามาอยู่ในชุมชนอย่างแอบแฝง ดังนั้นเยาวชนกลุ่มนี้จึงมีลักษณะหลากหลาย มีตั้งแต่เยาวชนผู้นำรวมกลุ่มทำกิจกรรมให้แก่สังคมอย่างเข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้านรองจากผู้ใหญ่รวมไปถึง พวกอยู่เฉย ๆ กินเหล้าเมายา ลักเล็กขโมยน้อย รวมไปถึงติดยาเสพติด และเรื่องอื่น ๆ ด้วย

    ๓. กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในสถานประกอบการ เยาวชนกลุ่มนี้มีตั้งแต่เด็กที่เพิ่งจบชั้นประถมปีที่ ๖ แล้วก็ เข้าไปรับจ้างขายแรงงาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนวัยกำลังหนุ่มสาว อายุระหว่าง ๑๘ ปี ไปจนถึง ๒๕ ปี ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนเต็มตัว คนวัยหนุ่มสาวนี้จะไปทำงานรวมตัวกันอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพ ฯ ระยอง อยุธยา นครราชสีมา เป็นต้น เยาวชนดังกล่าวพื้นฐานความรู้ส่วนใหญ่จบแค่ ป. ๖ ต้องจากบ้านที่คุ้นเคยกับชีวิตชนบท แบบชาวไร่ชาวนามาใช้ชีวิตแบบอุตสาหกรรม ต้องทำงานตรงตามเวลาเข้าทำงาน เวลาเลิกงาน ได้ค่าจ้างที่ไม่มากทำงานหนัก ต้องทำงานนอกเวลาเพิ่มเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น อาหารการกินจำกัด ที่อยู่คับแคบ เวลาพักผ่อนน้อย ว่างเพียงวันอาทิตย์วันเดียว จะรีบออกไปเที่ยวพักผ่อนตามศูนย์การค้าหรือสวนสาธารณะ มีปัญหาทางจิตใจ ปัญหาทางเพศ จับคู่อยู่กันแบบผัวเมียเร็ว มีลูก เกิดปัญหา เกิดการแตกแยก รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด เป็นต้น

    ๔. เยาวชนในวัด กลุ่มนี้มีทั้งสามเณร รวมไปถึงเด็กวัดและคนอาศัยวัดอยู่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน บวชเณรเพื่อหนีความยากจนและเบื่อเรียนหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนผู้ใฝ่ดี แต่ขาดแคลนทุกอย่าง มีความเหงาว้าเหว่ทางใจ โดยเฉพาะเด็กวัด การขาดหรือความไม่เท่าเทียมคนอื่นทำให้ขาด ความมั่นใจ หรือมิฉะนั้นก็จะหันไปในทางที่ผิด
    ปัญหาเยาวชนแยกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ
    ๑. ปัญหาร่วม หมายถึง ปัญหาที่มีอยู่แล้ว สังคมสร้างปัญหา ผู้ใหญ่สร้างปัญหาเยาวชนอยู่ในสังคมก็ได้รับปัญหานั้น ซึ่งจะโทษเยาวชนคงไม่ได้ ปัญหาร่วมที่สำคัญจะยกตัวอย่างให้เห็น ดังนี้
    ๑.๑ ปัญหาเรื่องบุหรี่ เหล้า การพนัน การกินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมาทำขึ้นมา และผู้ใหญ่ก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว เยาวชนเห็นตัวอย่างก็กิน สูบและเสพเหมือนผู้ใหญ่
    ๑.๒ ปัญหาแหล่งบันเทิง ผับ บาร์ ดิสโก้เธค สถานอาบ อบ นวด ซ่อง สิ่งเหล่านี้มีทั่วไปในสังคมไทย แม้บางอย่างกฎหมายกำหนดไว้ในทางปฏิบัติก็มีการปล่อยให้เยาวชนเข้าเสพได้อย่างเสรี
    ๑.๓ ปัญหาเรื่องภาพยนต์โป๊ หนังสือโป๊ หรือเรื่องโป๊เปลือยร่างกาย เรื่องทางเพศดังกล่าว เยาวชนเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
    ๑.๔ ปัญหายาเสพติด ยาบ้า ยาอี เฮโรอีน และอื่น ๆ สิ่งเสพติดดังกล่าวมีอยู่แล้วในสังคมและผู้ใหญ่ก็เสพอยู่แล้ว เยาวชนก็ทำได้เช่นกัน
    ๑.๕ ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ การโกงกิน คอรัปชั่นของนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ รวมไปถึงเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบสังคม สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ทั่วไป เยาวชนย่อมทำตามและสร้างปัญหาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
    ๒. ปัญหาเฉพาะของเยาวชน ปัญหาเฉพาะดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ แก่เยาวชนอีกมาก ลักษณะของปัญหาเกิดจากลักษณะเฉพาะของความเป็นเยาวชนนั่นเอง ซึ่งกล่าวแต่เพียงประเด็นสำคัญพอเป็น แนวพิจารณา ดังนี้
    ๒.๑ ปัญหาเฉพาะของเยาวชนอันเกิดจากความอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง ปัญหาอยากต่าง ๆ ที่กล่าวนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ เช่น อยากทดลองเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ทดลองเป็นคู่นอนกัน ทดลองขับรถแข่งกัน ยังมีการอยากทดลองขับแข่งรถ ยังมีการอยากการทดลองอย่างอื่นอีกมาก ล้วนให้เกิดปัญหาตามมาทั้งสิ้น
    ๒.๒ ปัญหาตามเพื่อนหรือปัญหาติดกลุ่ม ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ทำตามเพื่อนเป็นใหญ่จึงเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น เพื่อนเข้าบาร์ก็เข้าด้วย เพื่อนใส่กระโปรงสั้นก็ใส่ด้วย เพื่อนร้องเพลงฝรั่งก็ร้องด้วยเพื่อนกินไก่เค้นตักกี้ กินพิซ่า ก็ทำตามด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อน ๆ ไม่เข้าวัดก็ไม่เข้าด้วย
    ๒.๓ ปัญหาความว้าเหว่ ความเหงา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัยรุ่น เหงาเพราะขาดเพื่อนไม่ได้ มีอะไรไม่เท่าเพื่อน ทำให้ไม่พอใจในฐานะตัวเอง เกลียดพ่อแม่พาลหนีออกจากบ้านไปเข้ากลุ่มเพื่อน เหงาหรือว้าเหว่เพราะไม่มั่นใจในตัวเองก็ออกแสวงหาความมั่นใจทั้งในทางที่ถูกและทางที่ผิด ใครห้ามก็ไม่ฟังทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย
    ๒.๔ ปัญหาการขาดการอบรมกล่อมเกลาขาดความใกล้ชิดสนิทสนม ทั้งจากครอบครัวทั้งจากสังคมแวดล้อม จากสังคม เช่น สนามกีฬาที่ออกกำลังกายไม่มี ที่พักผ่อนหย่อนใจไม่มี ที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจไม่มี โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆไม่มีสิ่งเหล่านี้
    ด้านครอบครัวเช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่เคยใกล้ชิดลูก ไม่เคยแนะนำกล่อมเกลาหรือเป็นตัวอย่างที่ดี เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการขาดความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการสืบทอดความคิด ความเชื่อ ประเพณี แนวปฏิบัติต่อตนเองและสังคม การขาดทั้งสองเรื่องดังกล่าวทำให้เยาวชนสร้างปัญหาให้ตัวเองและสังคม เพราะเยาวชนเป็นวัยที่กำลังใฝ่หาแบบอย่างจากผู้ใหญ่และจากสังคม
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×