ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พี่หมอ มศว เล่าเรื่อง (Ultimate Version)

    ลำดับตอนที่ #51 : พี่หมอเล่าเรื่อง ตอน เมื่อต้องตัดสินใจครั้งใหญ่+โรคตับแข็งเป็นอย่างไรมาดูกัน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 882
      1
      16 พ.ค. 55

    คุณเคยตัดสินใจครั้งสำคัญบ้างไหม
    หากคุณคิดว่าการตัดสินใจเรื่องการเรียนต่อ
    การตัดสินใจเรื่องการลงทุนทำธุรกิจเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่
    การตัดสินใจเหล่านั้นอาจธรรมดาไปเลย 
    เมื่อเทียบกับการตัดสินใจครั้งนี้
    เพราะนี้เป็นการตัดสินเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลที่เรารัก


            เหตุการณ์ที่หมอแบงค์กำลังจะเล่าต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหมอแบงค์ได้ประสบพบเจอมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่แค่หมอแบงค์เท่านั้นที่ได้พบเหตุการณ์เหล่านี้ แพทย์คนอื่นที่ยังปฏิบัติหน้าที่รักษาคนไข้ก็ล้วนได้พบเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นน้องๆหรือใครก็ตามที่ต้องการจะเป็นแพทย์ก็ควรรู้เอาไว้


             ลุงเอ(นามสมมติ) อายุ 55 ปี โรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง มาโรงพยาบาลวชิรด้วยอาการพิษสุราเรื้อรังเป็นประจำ แพทย์พยายามให้ลุงเอเลิกเหล้า แต่ลุงเอก็ไม่สามารถทำได้ หมอแบงค์พยายามเต็มที่ที่จะช่วยเหลือลุง แต่ความพยายามนั้นล้วนไร้ผล ไม่ว่าหมอแบงค์แนะนำอย่างไรลุงแกก็ไม่สามารถเลิกเหล้าได้ ขนาดภรรยาของลุงเอคือป้าเบญและลูกๆหลานๆขอร้อง ลุงเอได้แต่ออกปากรับคำ แต่ท้ายที่สุดลุงแกก็กลับมากินเหล้าอีกแถมยังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ


             หมอแบงค์พบลุงเอตั้งแต่ยังเป็นEXTERNหรือนักศึกษาแพทย์ปีหก จนกระทั้งเรียนจบหมอทั่วไปมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินก็ยังคงพบลุงมาด้วยอาการเดิมคือพิษจากสุรา


            ตามที่หมอแบงค์คาดการณ์เอาไว้ในที่สุดลุงเอก็มี ภาวะตับแข็งในที่สุด โดยปกติตับเปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ที่คอยจัดการกับสารอาหารต่างๆ เมื่อคนเรากินเข้าไป ตับจะสลายและสร้างสารตัวใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ขณะเดียวกันสารต่างๆ ที่ร่างกายใช้ไปแล้ว จะกลับมาเผาผลาญที่ตับ เพื่อขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย ตับยังทำหน้าที่อย่างดีเพื่อดูแลสุขภาพของเรา เช่น ขจัดสารพิษหรือเชื้อโรคออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ทำหน้าที่สร้างน้ำดี ซึ่งมีบทบาทในการดูดซึม ไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมันให้กับร่างกาย ลองนึกดูสิครับว่าถ้าอวัยวะชิ้นสำคัญนี้ทำงานบกพร่องเหรอหยุดการทำงานลงจะเกิดอะไรขึ้น

             โรคตับแข็ง(Cirrhosis)เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ โดยปกติเนื้อตับจะนุ่ม แต่ถ้ามีอาการ อักเสบหรืออันตรายต่อตับ เนื้อตับจะถูกทำลายกลายเป็นพังผืดลักษณะคล้ายแผล ซึ่งจะทำให้ไปเบียดเนื้อ ตับที่ดี และทำให้เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง ถ้ามีการทำลาย เซลล์ตับอย่างเรื้อรังจนมีพังผืดเกิดขึ้นมาก เนื้อตับที่เคยนุ่มจะค่อยๆ แข็งขึ้น จนกลายเป็น ตับแข็ง ในที่สุด ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลง ซึ่งนำมาสู่สุขภาพร่างกายแย่ลงด้วย
             โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ 2-5  ปี  แถมช่วงสองปีสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่จะเป็นช่วงที่แสนทรมานสุดๆ
    อาการต่างๆของคนมีภาวะตับแข็ง
    ตับแข็ง
    ภาวะดีซ่าน
    ภาวะท้องมาน
              โดยปกติตับเป็นอวัยวะที่อึดมาก เซลล์ตับนั้นมีการแบ่งตัวและซ่อมแซมทดแทนเซลล์ที่ถูกทำลายอยู่เสมอ ขนาดคนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุตับฉีกมีเลือดออกมากจนต้องตัดตับบางส่วนทิ้ง ตับส่วนที่เหลือยังสามารถแบ่งตัวทดแทนส่วนที่ถูกทำลายจนกลับมาทำงานเป็นปกติได้

            ตับเป็นอวัยวะที่อึดขนาดนี้แต่ตับของลุงเอก็แข็งไปแล้ว แสดงว่าตับต้องถูกทำลายไปมากจริงๆ ถึงกระนั้นลุงเอก็ยังไม่เลิกกินเหล้า

            ลุงแกให้เหตุผลว่า ไหนๆก็ต้องตายอยู่แล้วจะกลัวไปทำไม ใช้ชีวิตให้มันเต็มที่สิ

            หมอแบงค์ได้ยินแล้วรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ถึงแม้ลุงแกจะไม่สนชิวิตตัวเอง อย่างน้อยก็น่าจะสนความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้างบ้าง ยังมีป้าเบญภรรยาคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมามากกว่าสี่สิบปี ที่คอยเป็นห่วง ดูแลอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังมีลูกๆหลานๆที่เป็นกังวลใจทุกครั้งที่อาการของลุงทรุดลง

           ระยะหลังลุงเอก็เริ่มมาโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ซึ่งนี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย ขณะนี้ลุงเอมีอาการตับแข็งระยะสุดท้ายครบทุกอาการ มีภาวะดีซ่านตาของลุงตอนนี้เหลืองยิ่งกว่าน้ำผึ้ง ท้องของลุงเอป่องออกมาเหมือนคนท้องเนื่องจากมีภาวะท้องมาน แถมหลอดเลือดดำที่ท้องก็ปูดโปนออกมาจากความดันในหลอดเลือดดำที่สูงขึ้น การหายใจของลุงก็ติดขัดเนื่องจากน้ำในท้องมีปริมาณมากจนดันให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ขณะหายใจเข้า



             หมอแบงค์ต้องช่วยลุงเอโดยการเจาะน้ำในท้อง(Abdominal paracentesis)เพื่อเป็นการระบายน้ำในช่องท้องออก และเพื่อเป็นการเอาน้ำไปตรวจด้วยว่ามีการติดเชื้อในช่องท้องหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะต้องถูกเข็มเบอร์ใหญ่จิ้มเข้าไปในท้อง หมอแบงค์ของบอกเลยว่ามันไม่ได้เจ็บธรรมดา มันเจ็บมากครับลองนึกสภาพเปลี่ยนหัวเข็มฉีดยาปกติที่มีขนาดเท่าปลายดินสอมาเป็นขนาดเท่าหลอดดูดน้ำดูสิครับ มันจะเจ็บขนาดไหน แต่การเจาะน้ำออกนี่ไม่ใช่การรักษาที่หายขาด เป็นเพียงการบรรเทาอาการและแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น ต้นเหตุคือตับที่ถูกทำลายก็ยังคงอยู่ ซักวันน้ำก็ต้องกลับมาอีก



    ตัวอย่างการเจาะน้ำในช่องท้อง
               ลุงเอทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก นอกจากอาการท้องมานและลุงเอยังมีอาการอ่อนเพลียคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้เลย ร่างกายผอมลงเป็นอย่างมาก ร่างกายเหลือเป็นเพียงหนังหุ้มกระดูก หมอแบงค์สามารถใช่มือเพียงข้างเดียวก็กำแขนของลุงได้รอบแล้ว สภาพไม่ต่างอะไรจากซากศพ


             “ลุงน่าจะเชื่อหมอ เลิกเหล้าตั้งแต่แรก…” ลุงเอ่ยขึ้นมาลอยๆให้หมอแบงค์ได้ยิน ในที่สุดลุงเอก็คิดได้แต่อาการของลุงนั้นเป็นมากเกินจะเยียวยาเสียแล้ว ได้แต่รอวันที่จะละสังขารเท่านั้น


           เวลาผ่านไปอาการของลุงเอค่อยๆทรุดลงเรื่อยๆ จากที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อเจาะน้ำในท้องทุกสองเดือน ก็ต้องมาถี่ขึ้นเป็นเดือนละครั้ง สองอาทิตย์ครั้ง มาทุกอาทิตย์ และสุดท้ายก็คือวันนี้

            อาการของลุงเอคราวนี้หนักมาก ลุงเอนอนไม่ได้สติอยู่ในภาวะช๊อค ความดันเลือดลดต่ำมาก หายใจ Air Hunger มีไข้สูง ท้องป่องขึ้นเหมือนลูกโป่งที่ใกล้ปริแตกออกมาได้ทุกเมื่อ 


    เกร็ดความรู้: Air Hunger เป็นคำที่แพทย์ใช้เรียกลักษณะการหายใจของคนไข้ที่ค่อนข้างแย่แล้ว โดยคนไข้จะหายใจฮุบเอาอากาศเป็นคำๆ หากนึกไม่ออกลองนึกถึงปลาเวลาใกล้ตายนอนพังงาบ ปากฮุบอากาศนั้นล่ะใช่เลยครับ ถ้าจะแปลตรงๆ Air Hunger ก็แปลว่าหิวกระหายอากาศนั้นเอง >_<

           หมอแบงค์เพึ่งทราบมาภายหลังว่านอกจากลุงเอจะเป็นภาวะตับแข็งแล้ว ลุงแกยังเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายด้วย และมะเร็งเจ้าเนื้อร้ายได้ลุกลามไปปอดและกระดูกของลุงเอหมดแล้ว ซึ่งมะเร็งตับและตับแข็งมักจะมาคู่กันเสมอ 

            โดยปกติถ้าคนไข้มาด้วยภาวะช๊อคและหายใจแบบนี้ หมอแบงค์จะต้องรีบทำการช่วยชีวิตโดยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยากระตุ้นความดันและการเต้นของหัวใจ รวมถึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจเนื่องจากคนไข้หายใจเองไม่ไหวแล้ว แต่กรณีของลุงเอนั้นต่างออกไป อาการของลุงเอถือว่าเข้าได้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย คราวนี้ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้นที่ต้องตัดสินใจ คราวนี้ญาติและคนใกล้ชิดต้องร่วมตัดสินใจด้วยว่าอยากให้แพทย์รักษาไปในแนวทางไหน

            คราวนี้ไม่ใช่การตัดสินใจธรรมดาๆ เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลที่เรารัก คำตอบที่ญาติมักเลือกคือคำตอบดังต่อไปนี้

           คำตอบแรก หมอยังไงก็ต้องช่วยชีวิตของคนไข้ให้ได้นะ ให้รักษาเต็มที่แบบว่าเป็นไงเป็นกัน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยากระตุ้นความดันและการเต้นของหัวใจ รวมถึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และหากหัวใจของลุงหยุดเต้นเมื่อไรหมอก็ต้องปั้มหัวใจให้กลับมาเต้นให้ได้

         จากการที่หมอแบงค์ทำงานรักษาคนไข้มานาน ญาติที่เลือกคำตอบนี้มักจะรักคนไข้เป็นอย่างมาก และทำใจไม่ได้ที่จะต้องสูญเสียเขาไป

          บางครั้งการยื้อชีวิตนั้นอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด การยืดชีวิตนั้นอาจทำให้ลุงนั้นตายช้าลงอีกสองวัน สองชั่วโมง หรืออาจจะสิบนาทีไม่มีใครบอกได้ขึ้นอยู่กับผลบุญกุศลที่คนไข้ทำมาและสภาพของคนไข้ว่าไหวแค่ไหน ในความเห็นของหมอแบงค์การยืดชีวิตของลุงต่อไปอาจเป็นการทำให้ลุงทรมานมากขึ้น บ่วงกรรมของลุงกำลังจะหมดไป ก็ให้ลุงเขาไปสบายเถอะ หมอแบงค์เคยเห็นคนไข้ที่ญาติเลือกแนวทางนี้ หมอแบงค์ก็ช่วยคนไข้จนหัวใจกลับมาเต้นได้แต่คนไข้ไม่ตื่น เนื่องจากสมองขาดเลือดไปนานในช่วงที่หัวใจหยุดเต้น และต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายต่อ มีการติดเชื้อซ้ำซ้อนสุดท้ายก็เสียชีวิตในที่สุด

          คำตอบที่สอง คุณหมอค่ะ คุณพ่อทนทุกทรมานมามากแล้ว การให้สารน้ำ ใส่ท่อช่วยหายใจ และการกดปั้มหัวใจนั้นเป็นการยื้อชีวิตเขาไว้ อยากให้หมอทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้คุณพ่อไม่ทนทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้

         หากญาติเลือกคำตอบนี้ หมอแบงค์ก็จะเสนอตัวเลือกคือให้ยา Morphine กับคนไข้ Morphineนั้นนอกจากจะเป็นยาเสพย์ติดแล้ว ในทางการแพทย์ยังเป็นยาแก้ปวดขนานเอก ฤทธิ์ยาแก้ปวดนั้นมีมาก อาการเจ็บปวดของคนไข้จะหายไป แต่ผลข้างเคียงของยาคือกดการหายใจ หายให้เป็นระยะเวลานานคนไข้จะหายใจช้าลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็เสียชีวิต อันนี้เป็นตัวเลือกที่ดีหรือไม่….ไม่มีใครบอกได้

           คำตอบที่สาม ผมไม่อนุญาตให้หมอเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงไม่อนุญาติให้หมอให้ยาใดๆทั้งสิ้น คุณพ่อเจ็บมามากแล้ว ผมไม่อยากให้คุณพ่อเจ็บเนื่องจากเครื่องมือของหมออีก

           หากเจอคำตอบนี้หมอแบงค์จะรู้สึกแย่มาก เพราะไม่อนุญาตให้หมอทำการรักษาใดๆเลย แบบนี้จะมาโรงพยาบาลทำไม สู้ให้คนไข้จบชีวิตที่บ้านตัวเอง บ้านที่ผู้ป่วยมีความผูกพันตั้งแต่วัยเยาว์ บ้านซึ่งพร้อมหน้าด้วยญาติและมิตรสหายอันเป็นที่รัก ไม่ดีกว่าเหรอ

           คำตอบที่ป้าเบญและลูกๆหลานๆเลือกคือคำตอบข้อสอง คือให้หมอแบงค์ให้ยามอร์ฟีนแก่คนไข้ เพื่อให้ความเจ็บปวดของลงทุเลาลง ซึ่งหลังจากได้ยาไปอาการหายใจหอบเหนื่อยจนน่ากลัวของลุงเอนั้นดีขึ้น แต่อัตราการหายใจของลุงเอก็ค่อยๆช้าลงเรื่อยๆ จนหยุดหายใจในที่สุด

           “ลุงแกไปสบายแล้ว เขาทนทรมานกับอาการดังกล่าวมาหลายปี ในที่สุดเขาก็พ้นจากบ่วงกรรมสักที ขอบคุณคุณหมอมากค่ะที่ช่วยดูแลมาตลอด นี่คือคำพูดของป้าเบญก่อนจากกัน  เป็นน้องๆจะเลือกคำตอบไหนครับ

           นี่คือประสบการณ์ตรงที่หมอแบงค์ต้องการมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านฟัง นี่เป็นเหตุการณ์ที่คนที่ตัดสินใจมาเรียนแพทย์จะต้องเจออย่างแน่นอน ทุกข์ชีวิตมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นของคู่กัน เราควรใช้ทุกวันนี้ให้ดีที่สุด หมั่นสร้างบุญกุศลไว้ให้มาก
    อ่านพี่หมอเล่าเรื่อง ตอน เมื่อต้องตัดสินใจครั้งใหญ่+โรคตับแข็งเป็นอย่างไรมาดูกัน ฉบับเต็มคลิ๊กที่นี่เลยครับ                                                              
                                     
      เรื่องโดย ~หมูสนาม~
    พี่หมอ
    คำเตือน
    บทความนี้ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วหากผู้ใดคัดลอกโดยไม่อ้างอิงที่มา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ทางปัญญา
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×