ลำดับตอนที่ #7
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : ToShi สุนัขจอมกัด : How to Train a Puppy Not to Bite people
เห็นหน้าตาซื่อ น่ารักน่าเอ็นดูแบบนี้.... จริงๆเป็นสุนัขเอาแต่ใจและดื้อมากครับ เวลาผมไปทำงานทั้งวันแล้วกลับบ้านมาตอนเย็น มันจะดีใจตื่นเต้นมากที่ได้เจอผม
โทชิจะกระดิกหาง ตื่นเต้นมาก วิ่งเข้าใส่ทันทีที่ผมกลับถึงบ้าน ดีใจวิ่งมาหาอย่างเดียวผมไม่ว่าอะไรหรอกครับ แต่...มันทั้งกระโจนใส่ ทั้งกัดมือ กันแขน จนเนื้อตัวผมลายพร้อยไปหมด
นี่คือร่องรอยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เจ็บเลือดออกซิบๆเลยทีเดียว
ผมคิดว่าหลายท่านอาจกำลังเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ ลูกสุนัขวัยน่ารักน่าชัง ชอบแทะมือเท้าของคุณ ประหนึ่งเป็นสแน็คอันโอชะ ครั้นจะฟาดแรงๆก็อดสงสารไม่ได้โดยเฉพาะแววตาที่เว้าวอนจึงต้องปล่อยเลยตามเลย คราวนี้เจ้าตัวแสบยิ่งได้ใจ ทั้งกัดทั้งแทะมากกว่าเดิม ลูกสุนัขมีความสุข แต่ทุกข์ใจผู้เป็นเจ้าของ
เข้าใจว่าลูกสุนัขเป็นวัยที่ชอบกัดแทะ และพลังงานสูง พอไม่เจอหน้าเจ้าของนานๆ ไม่มีใครเล่นด้วยมาทั้งวัน พอเจอหน้าเจ้าของก็จะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ทั้งวันออกมา แต่หากเรายอมมันตลอดก็จะสร้างพฤติกรรมที่ไม่เคารพและนิสัยไม่ดีให้สุนัขของเราในอนาคต
วันนี้ผมจึงมาแชร์ประสบการณ์และวิธีการต่างๆที่ได้ลองไป
วิธีแรก “ว่าและทำเสียงแข็งใส่”
เวลาลูกสุนัขจะเข้ามากัด ให้เราใช้เสียงปรามว่า “ไม่” , “หยุด”โดยใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น มั่นคงมีสมาธิ สบตา อย่าพูดออกมาลอยๆ เพราะสุนัขจะฟังผ่านไป ไม่ก็จะรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าเดิม วิธีนี้เหมาะกันสุนัขหัวอ่อนครับ ซึ่งวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผลกับโทชิเลย
วิธีที่สอง “วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ”
หันเหความสนใจให้ลูกสุนัขจอมซนของคุณให้หันไปสนุกกับกิจกรรมอื่นๆแทน เช่น ใช้ขนม หรือของเล้นที่ลูกสุนัขชอบเป็นตัวช่วยในการเบี่ยงเบนความสนใจให้เป็นเป้าหมายแทนมือของคุณ แต่วิธีนี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลกับโทชิ มันไม่สนใจขนมเลย สนใจที่จะเล่นโดยการงับมือของผมเพียงอย่างเดียว....วิธีนี้จึงตกไป
วิธีที่สาม “วิธีการฉก”
เขาว่าวิธีการนี้มักจะได้ผล เพราะ การฉกเป็นการเลียนการกัดเตือนแบบธรรมชาติของสุนัขจ่าฝูงที่จะตักเตือนลูกฝูง วิธีนี้ทำโดย...เมื่อสุนัขกระโจนใส่เรา ให้เราฉกไปที่ข้างลำคอหรือสีข้างสุนัขทันที ตักเตือนทุกครั้งที่เขากระโดดใส่จนกว่าเขาจะหยุด ถ้าเขานิ่งแล้วมองเราแสดงว่าการฉกนั้นได้ผล
แต่สำหรับโทชิ ผมยิ่งฉก โทชิมันยิ่งคึกแถมกัดมือของผมที่กำลังฉกมันจนสถานการณ์มันแย่กว่าเดิม ผมว่าปัญหานั้นเกิดจาก การฉกของผมผิดวิธี
การฉกให้ถูกวิธีต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง
1.พลังจิตใจขณะฉก ต้องมั่นคง สุขุมแน่วแน่ คิดเสมือนว่าเราเป็นจ่าฝูงจริงๆ อารมณ์ของผู้ฉกต้องนิ่งครับ
2.จังหวะ Timing ในการฉก ต้องฉกทันทีในขณะที่สุนัขทำพฤติกรรมนั้นๆ อย่าปล่อยไว้นานแล้วค่อยฉก ไม่งั้นสุนัขจะเชื่อมโยงพฤติกรรมที่เราต้องการตักเตือนไม่ได้ และขณะฉกต้องทำให้สุนัขเซอร์ไพร์สคือต้องไว ถ้ามัวแต่ตั้งท่าสุนัขสุนัขจะหลบมือเรา ไม่ก็เตรียมใจได้ทำให้การฉกนั้นไม่ได้ผล
3.ตำแหน่ง ตำแหน่งที่เหมาะสมคือสีข้าง หรือข้างคอสุนัข
4.แรงฉก ต้องฉกด้วยความแรงที่เหมาะสม ไม่งั้นหากเบาไปก็เหมือนจะเล่น สะกิดมันเฉยๆ
ซึ่งผมคิดว่าการฉกของผมนั้นล้มเหลวเพราะฉกผิดวิธี
วิธีที่สุดท้าย “ไม่ให้ความสนใจ”
ไม่ว่าน้องหมาจะดีใจ หรือตื่นเต้นมากขนาดไหน ไม่ควรสนองตอบอารมณ์ของเขา ณ ขณะนั้นครับ ควรเดินผ่านสุนัขไปทำธุระอื่นๆ ไม่ต้องให้ความสนใจหรือร้องทัก รอจนกระทั่งน้องหมาหายตื่นเต้นดีใจ จึงค่อยทักทายพวกเขา แล้วถ้าเราทักทายไปก็กลับมาตื่นเต้นอีก ก็ให้เดินไปที่อื่นอย่าสนใจ จากนั้นเขาจะเรียนรู้และจดจำว่า เมื่ออยู่นิ่งสงบถึงได้รับความสนใจครับ
วิธีนี้ใช้ได้ผลกับโทชิครับ ผมกลับมาบ้านโทชิกระโดดใส่ ผมก็ทำไม่สนใจ ไม่เรียกชื่อ เดินไปเก็บของ เข้าห้องน้ำ ทำโน้นทำนี่ จากที่มันกระโจนใส่ก็กลายมาเป็นแค่เดินตาม จากนั้นก็สงบนิ่งนั่งรอ ทำแบบนี้ติดต่อกัน สามถึงสี่วัน มันก็จดจำได้ครับ คราวนี้เปิดประตูมาโทชิก็นั่งจ้องตาแป้วๆ คอยอย่างสงบจะเข้ามาก็ต่อเมื่อผมเรียกชื่อมันครับ
วิธีนี้ได้ผลแต่ยอมรับว่าทำใจลำบาก ลองคิดดูกลับมาบ้านคิดถึงหมาใจจะขาด แต่จะเล่นแตะตัวมันไม่ได้ ไม่งั้นมันจะคึก ผมเกือบจะใจอ่อนเล่นกับมันไปหลายที 555
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น