คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : มหาเทพ ซูส หรือ ซีอุส (Zeus)
หลังจากปราบยักษ์เสร็จปราศจากเสี้ยนหนามใด ๆ แล้ว ซูสก็ขึ้นครองบัลลังก์รั้งอำนาจเต็มตลอด 3 ภพ คือสวรรค์ พิภพและบาดาล แต่ไท้เธอตระหนักดีว่า การที่จะปกครองทั้ง 3 ภพและทะเลให้ทั่วถึงมิใช่เรื่องง่าย หาใช่ภาระเล็กน้อยไม่ เพื่อป้องกันการแก่งแย่งและกระด้างกระเดื่อง ไท้เธอจึงจัดสรรอำนาจยอมยกให้เทพภราดรมีเอกสิทธิในการปกครองอาณาเขตดังนี้
- เนปจูน หรือ โปเซดอน ได้ครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแม่น้ำทั้งปวง พลูโต หรือ ฮาเดส เป็นเจ้าแห่งตรุทาร์ทะรัส และแดนบาดาลทั้งหมดอันรัศมีของแสงอาทิตย์ไม่เคยส่องลอดไปถึงเลย ส่วน ยูปิเตอร ์ หรือตัว ซูส เองปกครองทั้งสวรรค์และพิภพ แต่ก็มีอำนาจที่จะสอดส่องดูแลกิจการทั่วไปในเขตแดนของเทพภราดรทั้งสองได้บ้าง
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ความสงบราบคาบบังเกิดขึ้นตลอดสวรรค์และพิภพเทพทั้งหลายก็ประนังประนอมกันดี ธรรมชาติทั้งมวลก็ประกอบพร้อมแล้ว แม้แต่สถานที่ซึ่งชีวิตฝ่ายกุศลและอกุศลจะพึงดลเมื่อล่วงลับแล้ว ก็จัดไว้พร้อมสรรพ
- หากกล่าวถึงบทบาทของไท้เทพซูสแล้วต้องยอมรับว่า ไท้เธอมีบทบาทขัดแย้งในองค์เองมากที่สุดในบรรดาเทวานุเทวะ ด้วยกันเนื่องจากทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีผู้เคารพนับถือโดยทั่วไปเป็นที่ยำเกรงของสามโลก ทรงไว้ซึ่งฤทธิ์อำนาจ ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แต่กลับทรงมีอุปนิสัยเหมือนบุรุษหนุ่มธรรมดา ๆ บางคน นั่นคือ ความเกรงใจที่มอบให้แก่มหาเทวี ฮีร่า ชายาของ ไท้เธออย่างมาก หากพูดกันตามประสา ก็คือ " กลัวเมีย " และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ความเจ้าชู้ที่มีอยู่ในตัวมหาเทพซูสนั่นเอง
ความขัดแย้งอีกประการหนึ่งที่มีอยู่ในตัวมหาเทพองค์นี้ คือ แม้ว่าไท้เธอจะมีอำนาจสูงสุดทั่วสามภพ แต่ไม่อาจใช้อำนาจของ ตนไปแตะต้องเทพองค์หนึ่งได้ ทั้ง ๆ ที่เทพองค์นั้นก็เป็นเพียงเทวะชั้นรอง และไม่สามารถมาประชันขันแข่งกับซูสเทพบดีได้ เทพ องค์นั้นมีนามว่า ชะตาเทพ (Fate) แสดงว่าไม่มีผู้ใดเลย แม้แต่เหล่าทวยเทพจะหาญสู้ หลีกเลี่ยง หรือก้าวก่ายกับชะตาชีวิตได้
- ด้วยเหคุนี้การที่มหาเทพซูสมีอะไรแย้ง ๆ กันในองค์เอง อาจเป็นเพราะชาวกรีกโบราณที่สร้าง เหล่าทวยเทพขึ้นนับถือ มีความเป็นนักปรัชญาอยู่เต็มตัว เขาจึงสร้างทวยเทพของเขาให้ละม้ายแม้นกับ มนุษย์ปุถุชน มีทั้งข้อดีและจุดบกพร่อง คุณงามความดีอันสำคัญของมหาเทพซูสเป็นอีกอย่างหนึ่งที่บ่ง บอกว่า ผู้ที่เคารพนับถือไท้เธอเป็นนักปราชญ์มากกว่านักสงคราม ก็คือ ซูสทรงรักสัจจะและความเป็น ธรรมอย่างที่สุด ทรงเกลียดชังคนโกงและคนโกหกอย่างที่สุด การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพื่อถวายแด่ พระองค์นักกีฬาจึงต้องแข่งกันอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
รูปสลักของซูสเทพบดีมีลักษณะเป็นบุรุษสูงวัย ล่ำสันแข็งแรง พักตร์มีสง่าราศี กอปรด้วยเครายาวและเกศาหยิกสลวย ไท้เธอมี อสนีบาต (Thunder bolt) เป็นอาวุธประจำกาย ทรงเกราะทองประกายวาววับ ซึ่งเกราะทองนี้ไม่มีมนุษย์สามัญจะทน มองได้ แม้แต่ทวยเทพด้วยกันเอง หากไปเพ่งมองแสงเจิดจ้าของเกราะทองเข้าก็ย่ำแย่เช่นกัน ทรงมีพญานกอินทรีเป็นนกเลี้ยง ต้นโอ๊คเป็นพฤกษาประจำองค์ มีมหาวิหารและศูนย์กลางศรัทธาในตัวพระองค์อยู่ที่เมืองโอลิมเปีย
ดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า ซูสเป็นมหาเทพที่เจ้าชู้ที่สุดองค์หนึ่งในวงศ์โอลิมเปี้ยน เรื่องราวความรักของไท้เธอมีมากหลาย เรื่องเป็นตำนานเล่าสืบทอดกันมากมาย
ซูสเทพบดีออกจะถนัดถนี่ในการล่อลวงสตรีสาวสวยยิ่งกว่า เหล่าเทพองค์ใด ๆ เท่าที่เคยมีมา ทรงปลอมเป็นวัวสีขาวสง่างาม ไปหลอกโฉมงามนาง ยูโรปาไปเชยชมที่เกาะครีต นอกจากนี้ ยังทรงแปลงเป็นหงส์ไปก้อร่อก้อติกสาวงามนาม ลีดา (Leda) จน อนงค์นางตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นไข่ ครั้นไข่แตกออก แทนที่จะเป็นตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งหงส์โผล่ออกมาอย่างตำนานทั่วไป กลับกลายเป็นฝาแฝดชายคู่หนึ่ง ได้แก่ คัสเตอร์ (Castor) กับ โพลิดียูซิส (Polydeuses) หรือ พอลลักซ์ (Pallux ) ในภาษา โรมัน สิ่งที่ทำให้ทารกคู่นี้เป็นพยานความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์คือ คนหนึ่งมีกายเป็นอมตะดั่งเทพ แต่อีกคนหนึ่งตายได้ อย่างมนุษย์สามัญธรรมดา นอกจาก ฝาแฝดชายคู่นี้แล้ว ลีดายังมีแฝดหญิงอีกคู่หนึ่ง ซึ่งกระเดื่องเลื่องชื่อที่สุดในตำนานกรีกโบราณ หนึ่งนั้นนามว่า เฮเลน เดอะบิวติฟุล ต้นเหตุของมหาสงครามกรุงทรอย อีก หนึ่งคือ ไคลเตมเนสตร้า (Clytemnestra) ซึ่งต่อมาได้เป็นมเหสีของ อกาเมมนอนแห่งไมซีนี่ ( ความสัมพันธ์สวาทของนางลีดากับพญาหงส์ปลอมที่มหาเทพซูสทรง จำแลงมานั้น เป็นไปอย่างซ่อนเร้น เพราะลีดาเป็นมเหสีของท้าว ทินดาริอุส (Tindarius) แห่งสปาร์ต้า เมื่อลีดาให้กำเนิดเฮเลนและ ไคลเตมเนสตร้า ทินดาริอุสก็นึก ว่าเป็นธิดาของพระองค์
ยังมีเรื่องพิศวาสระหว่างซูสกับนวลอนงค์อื่น ๆ อีกมาก อาทิสัมพันธ์รักกับนางไอโอ ที่เป็นยายของ วีรบุรุษ เฮอร์คิวลิส รักกับ ไดโอนีและมีธิดา นามว่า อโฟรไดท์ พิสมัยกับ ไมอา และมีโอรสนามว่า เฮอร์มิส ฯลฯ
ความคิดเห็น