ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานเทพนิยาย

    ลำดับตอนที่ #1 : กำเนิดตำนาน เทพนิยายกรีก

    • อัปเดตล่าสุด 17 ต.ค. 49


    ปฐมเหตุแห่งอุบัติของโลกนั้นปรากฏตามบทกวีของฮีสิออดกล่าวว่า ในกาลครั้งอดีตก่อนทวยเทพอุบัตินับยุคไม่ถ้วนมาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายยังรวมอยู่ในกำพืดอันเดียว ซึ่งเป็นความว่างเปล่าอันปราศจากรูปเท่านั้น เรียกว่า เคออส (Chaos) เป็นความเวิ้งว้างมหึมาหาขอบเขตมิได้ ต่อมาอีกนับกัปป์ไม่ถ้วน โลกพิภพจึงผุดขึ้นเป็นประดุจฐานอันกว้างใหญ่ไพศาลเพื่อเป็นจอมมารดาของสิ่งทั้งมวล เรียกว่า จีอา (Gaea) หรือ จี (GE) ในภาษากรีก เทลลัส (Tellus) ในภาษาโรมัน มีสวรรค์ดาษดาด้วยดาวพราวแพรวล้อมรอบ ซึ่งจะเป็นที่สถิตจีรังกาลของทวยเทพสืบไป สวรรค์นึ้ตามภาษากรีกเรียกว่า อูรานอส (Ouranos) ส่วนโรมันเรียกว่า ยูเรนัส (Uranus) ถือกันวาเป็นจอมบิดาคู่กันกับจีจอมมารดร จอมบิดาและมารดานี้ประกอบด้วยทิพยภาพก็จริง แต่ก็หาสมมติขึ้นเป็นองค์เทพไม่ คงปรากฏแต่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดแผ่นดินไหว ลมพายุและภูเขาไฟระเบิดได้

    สถานที่สำคัญและเขาโอลิมปัส



    ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า โลกที่สร้างขึ้นตามทำนองดังกล่าวนี้มีสัณฐานแบนกลม มีประเทศของตนอยู่กลาง โดยมีห้วงสมุทรเมดิเตอร์เรเนียนแบ่งแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน และทะเลนี้ต่อไปออก ทะเลดำ ซึ่งสมัยโน้น เรียกว่าทะเล ยูซินี (Euxine) 2 ทะเลนี้เท่านั้นที่เป็นทะเลที่ชาวกรีกสมัยโบราณรู้จัก ภาคเหนือสุดของพื้นพิภพนั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นภูมิลำเนาของชนชาติที่ผาสุขชาติหนึ่ง เรียกว่า ชาติไฮเพอร์โบเรียน (Hyperborean) อาศัยอยู่ในถิ่น ลับแล ซึ่งจะไปทางบกหรือทางทะเลก็ไม่ถึงทั้งสิ้นอยู่พ้น เทือกเขาสูงขึ้นไปทางทิศเหนือของดินแดน เฮลลัส (Hellas) ซึ่งเป็นชื่อของประเทศกรีซสมัยโน้น ว่ากันว่าดินแดน ของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนเป็นดินแดนที่สงบสันติสุข มีแต่ความสบายด้วยประการทั้งปวง ส่วนทางใต้ของพิภพใกล้ กับทางไหลของมหาสมุทร ก็มีชนชาติที่ผาสุขและมี คุณธรรมเช่นเดียวกับไฮเพอร์โบเรียนอาศัยอยู่อีกชาติหนึ่ง เรียกว่า อีธิโอเพียน (Ethiopion) เป็นที่โปรดปรานของเหล่าเทพยิ่งนัก ถึงแก่เหล่าเทพเคยไปร่วมพิธี พลีกรรมและงาน มหกรรมสมโภชของชนชาตินั้นเนือง ๆ

    ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ทางฟากตะวันตกของโลกริมมหาสมุทรเรียกว่า ทุ่งอีลิเชียน (The Elysian Fields) เป็นที่ซึ่งพวกมนุษย์ที่เหล่าเทพโปรดจะได้ไปอยู่ เขาถือว่า ผู้ใดดำเนินวิถีชีวิต ด้วยคุณความดีจะได้รับกรุณาโดยเหล่าเทพพาไปให้ได้เสพอมฤตภาพ คืออยู่ค้ำฟ้าเป็นสุขตลอดกาลในที่ นั้นส่วนดินแดนใกล้เคียงแถบตะวันออก และตามริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น เป็นที่อยู่ของชนชาติ ต่าง ๆ ที่ชาวกรีกรู้จัก พ้นจากดินแดนเหล่านี้ไปในทะเลตะวันตกล้วนเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์อมนุษย์ และแม่มด ทั้งสิ้นในประเทศกรีซมีภูเขาสูงอยู่หลายลูก ที่มียอดสูงสุดได้แก่ ขุนเขาโอลิมปัส อยู่ในแถบเทสซาลี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกรีซ มียอดสูงสุดเกือบ 2 ไมล์ หรือประมาณ 9,800 ฟุต ดู ตระหง่านเยี่ยมเทียมฟ้า ชาวกรีกโบราณถือว่ายอดเขาโอลิมปัสนี้พุ่งขึ้นไปจรดสวรรค์ทีเดียว

    กำเนิดเทพกับการแย่งอำนาจ



    จีกับอูรานอสเถลิงอำนาจอยู่ ณ เทือกเขาโอลิมปัส ต่อมาไม่นานก็ให้กำเนิดเทพบุตรและเทพธิดา 12 องค์ 6 องค์เป็นเทพบุตร ทรงนามตามลำดับว่า โอเซึยนัส , ซีอัส , ครีอัส , ไอเพอร์เรียน , ไอแอพิทัส และโครนัส อีก 6 องค์เป็นเทพธิดา ทรงนามว่า อิเลีย , รีอา , ธีมิส , ธีทิส , เนโมซินี และฟีบี เทพและเทวีทั้ง 12 องค์นี้รวมกัน เป็นคณะ เรียกว่า ไทแทน (Titan) หรือเรียกอีกอย่างว่า ไจแกนทีส (Gigantes) ซึ่งเป็นต้นศัพท์คำว่า ไจแอนท์ แต่ละองค์ มีกายใหญ่มหึมา อูรานอสแสนจะเกรง กลัวในความมีกายใหญ่ยิ่ง และทรงพลังของเทพบุตรและเทพธิดาคณะนี้ จึงจับ ทั้งหมดโยนลงในเหวลึกใต้บาดาลมืดสนิท เรียกว่า ตรุทาร์ทะรัส (Tartarus) และจองจำ ไว้มั่นคง เพื่อป้องกันมิให้ เทพกุมารองค์ใดใช้พลังเป็นปฏิปักษ์กับไท้เธอได้
    - เมื่ออูรานอสจองจำเทพทั้ง 12 องค์ไว้ ก็ตายใจว่าคงไม่มีองค์ใดหลุดหนีขึ้นมาได้ แต่เหตุจะให้คณะไทแทน ไม่ต้องถูก จองจำอยู่นานอุบัติขึ้น เนื่องจากอูรานอสกับจีให้กำเนิดเทพบุตรอีก 3 องค์เป็นเทพบุตรยักษ์ตาเดียว เรียกว่า ไซคลอปส์ (Cyclops) มีนามตามลำดับว่า บรอนทีส , สเทอโรพีส และ อาจีส อูรานอสจับเทพบุตรทั้ง 3 โยนลงขัง ไว้ในตรุทาร์ทะรัส อีก บรอนทีสนั้นคือฟ้าลั่น สเทอโรพีสคือ ฟ้าแลบ ส่วนอาจีสคือแสงสว่างวาบ เมื่อลงไปถึงที่คุมขังจึง ทำให้เกิดแสงสว่างไปทั่วทั้ง บาดาล ช่วยให้คณะเทพไทแทนเกิดความกล้าที่จะแสวงความเป็นไท และต่อมาก็มี เทพบุตรของอูรานอสถูกโยนลงไปสมทบอีก 3 นามว่า คอตทัส , เบรียรูส และไกจีส แต่ละองค์มีมือตั้งร้อย

    เจ้าแม่จีไม่พอใจที่อูรานอสปฏิบัติกับลูก ๆ ดังนั้น แต่ห้ามเท่าใดอูรานอสก็ไม่ฟัง เจ้าแม่โกรธนักจึงลงไปใต้บาดาล ยุยงลูก ๆ ในคณะไทแทนให้ร่วมคิดกันแย่งอำนาจ บิดาให้จงได้ ในบรรดาเทพไทแทนนี้มีโครนัสน้องสุดท้องคนเดียวที่กล้าจะ ทำตาม เจ้าแม่จึงปล่อยให้หลุดจากพันธนาการ มอบเคียวเป็นอาวุธ พร้อมทั้งอวยพรให้เธอมีชัย โครนัสถืออาวุธคู่มือเข้าโจมจับบิดาโดยไม่ให้รู้ตัว แล้วขึ้นครองบัลลังก์หมายจะเป็นใหญ่ในจักรวาลชั่วนิรันดร ฝ่ายอูรานอสบันดาลโทสะกล้า จึงสาปแช่งโครนัสให้ถูก ลูก ๆ ของตัวเอง แย่งอำนาจในกาลภายหน้าเช่นกัน โครนัสไม่แยแสใน คำสาปของบิดา จัดแจงปล่อยเทพภราดรและภคินีให้เป็นไททั้งหมด ทุกองค์แสนจะปิติและรู้คุณ โครนัสในการที่หลุดพ้นจากการ จองจำได้เป็นไท จึงพร้อมใจกันยอมยกให้โครนัสเป็นใหญ่ปกครองตน โครนัสเลือกเทพภคินีองค์หนึ่งคือ รีอา เป็นคู่ครอง และปันส่วนอื่น ๆ ให้เทพภราดรภคินีปกครองโดยทั่วถึงกัน

    โครนัสถูกโค่นเทพบัลลังก



    โครนัส (Cronus) หรือภาษาโรมันเรียกว่า แซ็ทเทิร์น ดำรงความเป็นใหญ่ในเหล่าเทพทั้งปวงอยู่ ณ เทือกเขาโอลิมปัสเป็นสุขสงบมาจนกระทั่งถึงกาล วันหนึ่ง มีเทวบุตรองค์หนึ่งเกิดแก่ไท้เธอ คำสาปของอูรานอสผุดขึ้น ในความทรงจำทันที ไท้เธอจึงรีบไปหาเจ้าแม่รีอาและจับกุมารนั้นกลืนกินเสีย ต่อมาถึงโอรสจะเกิดอีกสักกี่องค์ โครนัส ก็จับกินสิ้นทุกองค์ แม้เจ้าแม่รีอาจะวอนขอให้งดเว้น ไท้เธอก็ไม่ยอมฟัง ในที่สุดเจ้าแม่รีอาจึงตั้งปณิธานว่าจะเอาชนะ ไท้เธอด้วยอุบายให้จงได้ ดังนั้นพอประสูตร โอรสองค์ใหม่คือ ซูส (Zeus) หรือ ยูปิเตอร์ (Jupiter) ตามภาษาโรมัน เจ้าแม่เธอก็ซ่อนไว้เสีย

    - โครนัสได้ข่าวเทพกุมารองค์ใหม่เกิด จึงรีบมาหมายจะจับกินเสีย เจ้าแม่รีอาแสร้งทำเป็นวอนขอพอเป็นพิธี แต่ในที่สุดก็ทำเป็น โอนอ่อนผ่อนตาม เอาก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งห่อผ้าอ้อมเตรียมไว้แล้วส่งให้ พลางทำเป็นเศร้า โศกนักหนา โครนัสไม่ทันดู รับก้อนหิน สำคัญว่าเป็นบุตร จึงกลืนกินแล้วก็กลับไป เจ้าแม่รีอาจัดแจงฝากฝังเทพทารกให้อยู่ในความทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงของนางอัปสรนีเรียด นางอัปสรจึงพา ซูสไปไว้ในถ้ำบน ยอดเขา ไอคา ณ ที่นั้น นางแอมัลเธีย (Amalthea) บุตรสาวของ มิลิสซัส เจ้าครองเกาะครีต ได้รับธุระ อนุบาลซูสด้วยนมแพะ นาง แอลมัลเธียนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นนางแพะ และว่าภายหลังซูสได้ประสิทธิ์ประสาทให้ เป็นดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในสวรรค์ เป็นการตอบ แทนคุณความดีของนางที่มีแด่ไท้เธอ และประทานเขาข้างหนึ่งให้แก่ นางอัปสรที่โอบอุ้มทะนุถนอมไท้เธอมาแต่น้อย เป็นเขาสารพัดนึก ซึ่งนางอัปสรจะนึกเอาอะไรก็ได้ดังประสงค์ รูปเขา บรรจุแพะของมองมูน จึงถือกันเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง เรียกว่า เขาแห่งความมากมูน (the horn of plenty) มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

    - อนึ่ง เพื่อป้องกันเสียงร้องของเทพกุมารซูส มิให้ดังขึ้นไปถึงโครนัส พวก คิวรีทิส สาวกของเจ้าแม่รีอาซึ่งรับ หน้าที่เป็นอาจารย์ ของซูส ยังคิดแบบกระบวนเต้นรำแบบหนึ่งประกอบด้วยเสียงประติรพเซ็งแซ่ และเสียงประสาน อาวุธสนั่นอึกทึกกลบเสียงของซูสไว้ด้วย ฝ่ายโครนัสสำคัญว่าคำสาปของบิดาไม่เป็นผลแล้วก็สิ้นวิตก มิได้แยแสกับ เสียงเอ็ดอึงของคิวรีทิส กว่าจะรู้ว่าเป็นเสียงลวงไท้เธอมิให้รู้ ว่าซูสยังดำรงชนม์อยู่ก็สายไปเสียแล้ว

    - ซูสและบิดาประจัญกันอย่างดุร้าย ไม่นานโครนัสก็เป็นฝ่ายปราชัย ซูสจึงเข้ายึดอำนาจไพบูลย์ไว้ และหารือเจ้าแม่รีอา ตกลงกันเอาน้ำสำรอกที่นาง มีทิส (Metis) ธิดาของโอเชียนัสประกอบขึ้น บังคับให้โครนัสดื่มสำรอกกุมารที่กลีนเข้าไปออกมาหมด ทุกองค์ คือ โปซิดอน , ฮาเดส , เฮสเทีย , ดีมิเตอร์ และ ฮีรา (Poseidon, Hades, Hestia, Demeter, Hera) ตาม ลำดับ ส่วนก้อนหินที่โครนัสถูกหลอกให้กลืนก็สำรอกออกมาด้วย หินก้อนนี้ภายหลังได้เอาไปเก็บรักษาไว้เป็นที่เคารพบูชาแทนองค์ซูส ณ วิหารเดลฟี ( Delphi )


    เมื่อยึดอำนาจสูงสุดสำเร็จ ซูสก็เลือกฮีราเทวีภคินีองค์หนึ่งเป็นคู่ครอง และแบ่งสันปันส่วนอาณาเขตให้เทพภราดรปกครองทั่วทุกองค์ ส่วนเทพและเทพีที่เฉลียว ฉลาดที่สุดในเหล่าเทพไทแทน คือ เนโมซินี , โอเชียนัส และไฮเพอร์เรียน ต่างองค์ต่างก็ยอมอยู่ในอำนาจของซูสโดยดุษณี แต่เทพไทแทนองค์อื่น ๆ ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดศึกใหญ่ขึ้นขับเขี้ยวพันตูกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

    ศึกยักษ์



    ซูสอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส เห็นฝ่ายปัจจามิตรมีจำนวนมากกว่า แต่ละองค์ล้วนทรงพลังน่าเกรงขาม จอมทัพที่เป็นขุนพลใหญ่ของเหล่าเทพไทแทนในขณะนั้นคือ แอตลาส (Atlas) จึงเป็นเหตุให้ไท้เธอหันไปผูกสัมพันธไมตรีกับพวกไซคลอปส์ ยักษ์ตาเดียว ซึ่งยังถูกขังอยู่ในตรุทาร์ทะรัสใต้บาดาล ให้ยักษ์เหล่านี้ประกอบอสนีบาต สำหรับไท้เธอใช้เป็นอาวุธ แลกกับความเป็นไทในการที่จะได้ปลดปล่อยจากตรุที่คุมขัง อาวุธใหม่นี้มีอานุภาพร้ายกาจก่อความตระหนกและสยบสยอนให้เกิดแก่เหล่าเทพ ไทแทนขัาศึกอย่างใหญ่หลวง ถึงจะรวมกันสู้รบอย่างหักหาญสักเพียงใดก็ไม่อาจเอาชนะซูสได้ รบกันอยู่ 10 ปี ในที่สุดพวกไทแทนจึงยอมศิโรราบ รับรองความเป็นใหญ่ของซูส เทพไทแทนที่ยอมแพ้บางองค์ก็ถูกทุ่มทิ้งลงจำขังไว้ในตรุทาร์ทะรัสอีกวาระหนึ่ง และตัวแอตลาสเองเมื่อพ่ายแพ้ให้แก่ซูส ก็ถูกลงโทษให้แบกสวรรค์อยู่ตลอดเวลา ส่วน โครนัสหนีเตลิดไปตั้งหลักแหล่งในต่างแดนแคว้นเฮสเพอเรีย คือ อิตาลี เดี๋ยวนี้ และครองความเป็นใหญ่ในประเทศนั้นเป็นสุขสงบสืบมาอีกช้านาน ชาวกรีกโบราณเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะว่า บริเวณที่เทพทั้ง 2 ฝ่ายกระทำมหายุทธการครั้งนั้น อยู่ในแคว้นเทสซาลีตรงที่มีภูมิประเทศขรุขระลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาก ซึ่งเขาว่า เป็นไปด้วยฤทธิ์อำนาจของพวกเทวดาทุ่มก้อนหินประหัตประหารกันบ้าง ก่อภูเขาขึ้นจะให้ถึงที่ประทับของซูสเพื่อชิงอสนีบาตบ้าง เป็นต้น

    เมื่อซูสได้เถลิงอำนาจสูงสุดเป็นเทพบดี ณ ยอดเขาโอลิมปัส และเพิกถอนอำนาจของเทพไทแทนหมดแล้ว ก็นึก กระหยิ่มว่า จะได้ครองไอศวรรย์แห่งทวยเทพอันช่วงชิงไว้ได้โดยมิชอบด้วยความสงบราบคาบสิ้นเสี้ยนหนาม ที่ไหนได้ เจ้าแม่ จีปฐพีเทวียังคุมแค้นหมายจะลงทัณฑ์ซูสที่ล่วงสิทธิโดยชอบธรรมของเทพไทแทน โอรสของเจ้าแม่ ให้สาสมกับความแค้นจึง เนรมิตอสูรขึ้นตนหนึ่ง เรียกว่า ไทฟอน (Typhon) เป็นยักษ์ดุร้ายมีกายประกอบด้วย หัวมังกรนับร้อย มีเปลวไฟพวยพุ่งออกจากดวงตา จมูกและปาก แผดเสียงก้องกัมปนาทอยู่เนืองนิตย์ ยังความ สยบสยอน ให้บังเกิดแก่ทวยเทพ ถึงแก่หนีเตลิด จากเขาโอลิมปัสไปหลบซ่อนในอียิปต์ตามกัน มิหนำซ้ำอารามที่กลัว จัดเกรงอสูรมหาวินาศจะตามไป เทพเหล่านั้นยังจำแลงองค์ เป็นสัตว์นานาชนิด ด้วยเพื่อมิให้อสูรจำได้ ซูสจำแลง เป็นแกะ ส่วนฮีราจำแลงเป็นโค ถึงอย่างไรก็ดี ในไม่ช้าราชาแห่ง ทวยเทพก็เกิดความละอายในการหลบหนีอย่าง ขลาดกลัวของไท้เธอ ซูสจึงกลับคืนสู่เขาโอลิมปัสด้วยความมั่นหมายจะฆ่ายักษ์ ไทฟอนด้วยอสนีบาตให้จงได้ การสู้รบ ดำเนินไปเป็นเวลานาน ในที่สุดซูสก็ประหารศัตรูลงได้ แต่ไม่นานก็มียักษ์อีกตนหนึ่ง อุบัติขึ้นโดยการเนรมิตของ เจ้าแม่จี ชื่อว่า เอนเซลาดัส (Enceladus) เข้าต่อรบกับซูสเพื่อแก้แค้นแทนไทฟอน ซูสจับ เอนเซลาดัสได้ล่ามโซ่ แน่นหนาขึงพืดตรึงไว้ใต้ภูเขาเอตนา แต่กว่าจะสงบเงียบ เอนเซลาดีสก็คำรนคำรามแผดเสียงกึกก้อง กระเหี้ยน กระหือรือ และครวญครางพิลึกพิลั่นอยู่ช้านาน บางทีก็พ่นไฟขึ้นหวังจะทำอันตรายเทพบดีผู้พิชิตตนอีกด้วย ต่อมากาล ผ่านไปเอนเซลาดัสจึงหยุดสำแดงฤทธิ์อาละวาด เพียงแต่ขยับตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นครั้งคราวเท่านั้น นิยายอิทธิฤทธิ์ตอนนี้เป็นตอนที่คนโบราณผูกขึ้นอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิด และแผ่นดิน ไหว นั่นเอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×