ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #8 : [นาฏศิลป์] ตำนานการฟ้อนรำ

    • อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 50



    ตำนานการฟ้อนรำ

                ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมาก ยุคนี้พระอิศวรทรงเป็นนาฎราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในเมืองสวรรค์ และเมืองมนุษย์ โดยมีเรื่องเล่าขานไว้ว่า ฤาษีพวกหนึ่งประพฤติอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญชา พระอิศวรทรงขัดเคืองจึงทรงชวนพระนารายณ์เสด็จมายังโลกมนุษย์ เพื่อทรมานฤาษีพวกนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นพระฤาษีสิ้นฤทธิ์ จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์ขึ้น ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อ "มุยะกะละ (บางตำราเรียกว่า มุยะละคะ หรืออสูรมูลาคนี) มาช่วยพวกฤาษี พระอิศวรจึงทรงเอาพระบาทเหยียบยักษ์ค่อมนั้นไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจนหมด กระบวนท่าซึ่งร่ายรำในครั้งนี้ทำให้เกิดเทวรูปที่เรียกว่า "ปางนาฏราช" หรือ "ศิวะนาฏราช (Cosmic Dance)" บางทีก็เรียกว่า "ปางปราบอสูรมูลาคนี" เมื่อพระอิศวรทรงทรมานพวกฤาษีจนสิ้นทิฐิ ยอมขอขมาต่อพระเป็นเจ้าทั้งสองแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับเขาไกรลาศ ส่วนพระนารายณ์ก็เสด็จกลับยังเกษียรสมุทร ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ 1 ของพระอิศวร

                ต่อมาพระยาอนันตนาคราชซึ่งได้ติดตามพระเป็นเจ้าทั้งสองเมื่อครั้งไปปราบพวกฤาษี ได้เห็นพระอิศวรฟ้อนรำเป็นที่งดงาม จึงใคร่อยากชมพระอิศวรฟ้อนรำอีก พระนารายณ์จึงแนะนำให้ไปบำเพ็ญตบะบูชาพระอิศวรที่เชิงเขาไกรลาศ เพื่อให้พระอิศวรทรงเมตตาประทานพรจึงทูลขอพรให้ได้ดูพระอิศวรทรงฟ้อนรำตามประสงค์ ครั้นเมื่อพระยาอนันตนาคราชบำเพ็ญตบะ จนพระอิศวรเสด็จมาประทานพรที่จะฟ้อนรำให้ดู โดยตรัสว่าจะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดูในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดรัมบรัม หรือ จิทัมพรัม ซึ่งอยูทางตอนใต้ของอินเดีย เพราะเห็นว่าเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของมนุษยโลก พระอิศวรแสดงการฟ้อนรำให้ประชาชนชมถึง 108 ท่าด้วยกัน ประชาชนจึงสร้างเทวาลัยขึ้นที่เมืองนี้ เพื่อเป็นที่เคารพบูชาแทนองค์พระอิศวร ภายในเทวาลัยนี้แบ่งออกเป็น 108 ช่อง เพื่อแกะสลักท่าร่ายรำของพระอิศวรไว้จนครบ 108 ท่า การร่ายรำครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ 2 ของพระอิศวร

               ในสมัยต่อมาพระอิศวรจะทรงแสดงฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบังลังก์ ให้พระสรัสวดีดีดพิณ ให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน แล้วพระอิศวรก็ทรงฟ้อนรำให้เทพยดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ และนาคทั้งหลายที่ขึ้นไปเฝ้าได้ชมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการร่ายรำครั้งที่ 3 ของพระอิศวร โดยในครั้งนี้พระองค์ทรงให้พระนารทฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำ แล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์


    ตำรารำของไทย

              ตำรานาฏยศาสตร์ ที่พวกพราหมณ์นำเข้ามาสอนในประเทศไทยนั้น ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ให้รู้ได้ เข้าใจว่าคงจะได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ อาจจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แล้วบอกเล่าสั่งสอนกันต่อๆมาเท่าที่รู้ได้ เพราะมีท่ารำของไทยที่ลักษณะ และชื่อท่ารำคล้ายคลึงกับในตำรานาฏยศาสตร์ ที่แปลงชื่อเป็นภาษาไทยก็มีแต่ต้นฉบับก็่สูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนมาก ที่คงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้มีตำราท่ารำต่างๆเขียนรูประบายสีปิดทอง 1 เล่ม เหลืออยู่เฉพาะตอนต้นเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ตำราท่ารำเหมือนกับเล่มแรก แต่เขียนฝุ่นเป็นลายเส้น ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3 มีภาพรำบริบูรณ์ถึง 66 ท่า ได้มาจากพระราชวังบวร ท่ารำ และการเรียงลำดับท่าเหมือนเล่มแรก เข้าใจว่าจะเป็นสำเนาคัดจากเล่มสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นเอง

              เข้าใจว่าตำราเช่นนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตร) ช่างในกรมศิลปากรกับขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ช่วยกันเขียนภาพใหม่ตามแบบท่ารำในตำราเดิม นำมาพิมพ์ไว้ใน "ตำราฟ้อนรำ" เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ

    ชื่อท่ารำต่างๆในตำราของไทยเรานั้นปะปนกันอยู่ดังนี้
              1. ชื่อท่ารำที่แปลจากตำราอินเดียโดยตรง
              2. ชื่อท่ารำที่คลาดเคลื่อนจากตำราเดิม เพราะบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายต่อ
              3. ชื่อท่ารำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นในภายหลัง

     
    คำกลอนของเก่าที่ว่าด้วยตำราท่ารำ มีอยู่ 3 บท คือ...  


              1. กลอนตำรารำเป็นกลอนสุภาพ มีมาแต่โบราณ

    กลอนตำรารำ
              เทพประนมปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาช้านางนอน
    ผาลาเพียงไหล่พิสมัยเรียงหมอน กังหันร่อนแขกเต้าเข้ารัง
    กระต่ายชมจันทร์จันทร์ทรงกลด พระรถโยนสารมารกลับหลัง
    เยื้องกรายฉุยฉายเข้าวัง มังกรเลียบถ้ำมุจลินทร์
    กินนรรำซ้ำช้างประสานงา ท่าพระรามาก่งศิลป์
    ภมรเคล้ามัจฉาชมวาริน หลงใหลได้สิ้นหงส์ลินลา
    ท่าโตเล่นหางนางกล่อมตัว รำยั่วชักแป้งผัดหน้า
    ลมพัดยอดตองบังพระสุริยา เหราเล่นน้ำบัวชูฝัก
    นาคาม้วนหางกวางเดินดง พระนารายณ์ฤทธิรงค์ขว้างจักร
    ช้างหว่านหญ้าหนุมานผลาญยักษ์ พระลักษณ์แผลงอิทธิฤทธี
    กินนรฟ้อนฝูงยูงฟ้อนหาง ขัดจางนางท่านายสารถี
    ตระเวนเวหาขี่ม้าตีคลี ตีโทนโยนทับงูขว้างค้อน
    รำกระบี่สี่ท่าจีนสาวไส้ ท่าชะนีร่ายไม้ทิ้งขอน
    เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร กินนรเลียบถ้ำหนังหน้าไฟ
    ท่าเสือทำลายห้างช้างทำลายโรง โจงกระเบนตีเหล็กแทงวิไสย
    กรดสุเมรุเครือวัลย์พันไม้ ประไลยวาตคิดประดิษฐ์ทำ
    กระหวัดเกล้าขี่ม้าเลียบค่าย กระต่ายต้องแร้วแคล้วถ้ำ
    ชักซอสามสายย้ายลำนำ เป็นแบบรำแต่ก่อนที่มีมา


               2. บทนางนารายณ์ในบทละครเรื่อง "รามเกียรติ์" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ตอนนารายณ์ปราบนนทุก
    บทนางนารายณ์
              เทพประนมปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
    ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ
    อีกช้านางนอนภมรเคล้า แขกเต้าผาลาเพียงไหล่
    เมขลาโยนแก้วแววไว มยุเรศฟ้อนในอัมพร
    ลมพัดยอดตองพรหมนิมิต ทั้งพิสมัยเรียงหมอน
    ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์
    ฝ่ายว่านนทุกก็รำตาม ด้วยความพิสมัยใหลหลง
    ถึงท่านาคาม้วนหางลง ก็ชี้ลงถุกเพลาเข้าทันใด

              

               3. กลอนไหว้ครูละครชาตรี (โนห์รา เมืองนครศรีธรรมราช)
    กลอนไหว้ครูละครชาตรี
              สอนเอยสอนรำ ครูให้ข้ารำเทียมบ่า
    ปลดปลงลงมา แล้วให้ข้ารำเพียงพก
    วาดไว้ปลายอก เรียกแม่ลายกนกผาลา
    ซัดสูงขึ้นเพียงหน้า เรียกช่อระย้าดอกไม้
    ปลดปลงลงมาใต้ ครูให้ข้ารำโคใเวียน
    นี่เรียกรูปวาด ไว้วงให้เหมือนรูปเขียน
    ท่านี้คงเรียน ท่าจ่าเทียนพาดตาล
    ฉันนี้เหวยนุช พระพุทธเจ้าท่านห้ามมาร

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×