ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #4 : [สาระ] การจัดพิธีไหว้ครู

    • อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 50


              การจัดพิธีไหว้ครูนั้น มักนิยมจัดกันในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันครูอันเกี่ยวข้องกับตำนานเทพเจ้าพระพฤหัสบดี ในปัจจุบันบางครั้งก็นิยมจัดกันในวันอาทิตย์ได้อีก 1 วัน แต่ไม่ว่าจะจัดวันพฤหัสบดีหรือวันอาทิตย์ จะต้องไม่ตรงกับวันพระเพราะถือว่าครูจะไม่ลงมา และหาซื้อเครื่องสังเวยลำบาก เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครูตามแบบโบราณนั้น นิยมประกอบพิธีในเดือนที่เป็นเลขคู่ ยกเว้นเดือน 9 เดือนเดียวที่อนุโลม เพราะถือเป็นเคล็ดว่าเป็นเลขที่ดีก้าวหน้า และมักทำกันในวันข้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวันฟู ข้างแรมอันถือว่าเป็นวันจมไม่นิยมประกอบพิธีกัน

    ลักษณะพิธีต่างๆของการไหว้ครู


    ตอนที่ 1 พิธีสวดมนต์เย็น
             หมายถึง พิธีสงฆ์ที่มักนิยมทำกันก่อนวันไหว้ครู 1 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยในวันนี้จะต้องจะเตรียมสถานที่ และสิ่งต่างๆที่จำเป็นให้เรียบร้อย แล้วจึงนิมนต์พระ 9 รูป มาทำพิธีสวดมนต์เย็นในโรงพิธีดังกล่าวก่อนเริ่มวันไหว้ครู

    ตอนที่ 2 พิธีไหว้ครู
             หมายถึง การสำรวมใจรำลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพตามครูผู้กระทำพิธีขณะอ่านโองการ


    ตอนที่ 3 พิธีครอบครู
             เป็นพิธีที่นิยมกันมาช้านาน หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (เพื่อรับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนท่ารำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ พิธีครอบครูนั้นนับว่าเป็นการทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจว่าครูจะคุ้มครองรักษา ครูจะช่วยเหลือแม้จะรำผิดพลาดไปบ้าง จะทำให้ผู้เรียนไม่ตระหนกตกใจจนเกินไป เพราะมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้ทำพิธีครอบครูแล้ว ครูคงให้อภัยในความผิดพลาด อีกประการหนึ่งพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฏศิลป์ทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้


    ตอนที่ 4 พิธีมอบ
             พิธีนี้เป็นขั้นตอนที่สูงที่สุด หมายถึง การได้รับการมอบความรู้ความเป็นครู ผู้สืบทอดการอบรมสั่งสอนในสมัยที่ยังไม่มีปริญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดความรู้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์จะพิจารณาว่า ศิษย์คนใดมีความรู้ในวิชานาฏศิลป์มีฝีมือในการรำยอดเยี่ยม จนถือเป็นแบบแผนที่ดีได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นครูสืบทอดความเป็นผู้รู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป การมอบนั้น ครูผู้กระทำพิธีจะรวบรวมบรรดาอาวุธทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขน-ละคร เช่น พระขรรค์ ดาบ หอก ธนู รวมทั้งบทละคร มัดรวมไว้ และครูจะภาวนาคาถาประสิทธิ์ประสาทความเป็นผู้รู้ และส่งมัดอาวุธให้ศิษย์ได้น้อมรับ ก็เป็นอันว่าศิษย์นั้นได้เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้

    http://www.anurakthai.com/

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×