ลำดับตอนที่ #2
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : [สาระ] พิธีไหว้ครู
พิธีไหว้ครู
ไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 2 ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตากรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอกออกผลอย่างงดงาม ในความสำคัญของการไหว้ครูมีผู้กล่าวไว้ดังนี้
"ประเพณีการไหว้ครูมีมาแต่โบราณ คนไทยเป็นคนที่มีกตัญญูอย่างแรงกล้า และได้รับการอบรมต่อๆกันมาให้เป็นผู้มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใดๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามาก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิด หรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครูถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนศิลปการดนตรี และนาฏศิลป เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ"
"โขน และละครรำเป็นศิลปะที่ถือเอากระบวนการเต้นกระบวนการรำเป็นสำคัญ เพราะการเล่นโขนเล่นละครเป็นศิลปะที่ประณีตมาก จะต้องฝึกหัดกันนานๆ จึงจะเล่นเป็นตัวดีได้ บรรดาศิษย์ที่เข้ารับการฝึกได้จึงหัดกันมาแต่เด็กๆ เมื่อหัดรำเพลงช้า และเพลงเร็วได้แล้วก็นับว่ารำเป็น พอจะออกเล่นออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงจะกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครู ถ้าหัดปี่พาทย์เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบก็นับว่าตีเป็นพอที่จะออกงาน เช่น บรรเลงในการสวดมนต์เย็น หรือฉันเช้าได้ก็ให้ไหว้ครูเช่นกัน และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นเต้นรำทำเพลงได้ดีแล้ว ครูจึง "ครอบ" ให้ เท่ากับอนุญาตให้เป็นโขนละครได้ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนศิษย์นั้นๆได้ประกาศนียบัตรประกาศความเป็นโขนละคอนแล้ว นี้เป็นแบบแผนที่มีมาแต่โบราณ"
"พิธีไหว้ครูที่ปฏิบัติกันเคร่งครัด ได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลง และท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู และพิธีครอบเสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนกล้าหัดให้ศิษย์ ด้วยเชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอน และแก่ศิษย์เองด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นก็จะกล่าวกันว่า "ครูแรง" เหตุนี้โรงเรียนนาฏศิลป ของกรมศิลปากรจึงได้กำหนดงานพิธีไหว้ครู และพิธีครอบขึ้นเป็นประจำปีละครั้งในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นวันครูในตอนต้นภาคเรียนแรกแต่ละปีการศึกษา ทำนองเดียวกับโรงเรียนต่างๆ เพียงแต่มีพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์เพิ่มจากไหว้ครูธรรมดา และมีพิธีครอบประกอบด้วย เพื่อครู ศิษย์ และนักเรียนจะได้เริ่มสอนเริ่มเรียนกันไปอย่างเรียบร้อย และสบายใจ"
http://www.anurakthai.com/
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น