ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #189 : [การแสดงในพระราชพิธี และพิธีไหว้ครู] พระราชพิธีพระราชทานครอบครู โขน ละคร

    • อัปเดตล่าสุด 23 ต.ค. 50







    พิธีไหว้ครูโขน ละคร พิธีครอบ และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้เป็นศิลปิน กล่าวคือพิธีไหว้ครูเป็นการแสดงคารวะกรรมต่อครูผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการให้ ส่วนพิธีครอบหมายความว่าผู้รับครอบได้เริ่มความเป็นศิลปินโดยสมบูรณ์ ส่วนพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุด และศักดิ์สิทธิ์นั้น จะต้องมีพิธีมอบให้เฉพาะแก่ศิลปินที่ได้เลือกสรรแล้ว

              พิธีครอบมี 3 ระดับคือ รับครอบเข้าเป็นเครือของศิลปิน และรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัว รับครอบเพื่อประสิทธิ์ประสาทความเป็นครูแก่ผู้ที่จะนำวิชาการไปสั่งสอนศิษย์ และรับครอบให้เป็นผู้ทำพิธีครอบสืบต่อไป ผู้ที่ได้รับครอบให้ทำพิธีครอบสืบต่อไปนั้น เปรียบเสมือนได้เป็นสมมติเทพผู้จะประกอบพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้ศึกษาวิชานาฏศิลป และดุริยางคศิลปนั่นเอง
    ผู้ที่จะประกอบพิธีครอบโขน ละครได้มี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครอบพระราชทาน ด้วยประเพณีไทยถือเป็นหลักสืบมาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครอุปถัมภ์ของศิลปนานาชนิด เมื่อไม่มีตัวครูในสาขานั้นๆแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหรือครอบพระราชทานผู้ใดให้ปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบแล้วสามารถทำพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้ ส่วนประเภทที่ 2 คือผู้ที่ได้รับประสิทธิ์ประสาทจากครูผู้ประกอบพิธีครอบเดิม โดยจะต้องเป็นศิลปินชาย และเป็นผู้แสดงเป็นตัวพระ อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เคยบวชเรียนมาแล้ว มีความประพฤติดีอยู่ในศีลธรรม เป็นที่เคารพนับถือของศิษย์ทั้งปวง ผู้ประกอบพิธีครอบโขน ละคร ที่สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์มีอยู่ 4 ท่าน คือ
              1. ครูเกษ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4
              2. ครูแผน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5
              3. พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6
              4. หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฎ) ในสมัยรัชกาลที่ 8 ถึงรัชกาลปัจจุบัน
              5. นายอาคม สายาคม ในรัชกาลปัจจุบัน

              สำหรับการต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ผู้เป็นอสูรเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ซึ่งศิลปินโขน ละครไทยเคารพสักการะในฐานะเป็นบรมครูในวิชานาฏยศาสตร์ เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพถือเป็นหน้าพาทย์ที่สูงสุด และศักดิ์สิทธิ์ ในการต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพจะต้องมีพิธีมอบให้แก่ศิลปินที่ได้เลือกสรรแล้ว คือต้องเป็นศิลปินอาวุโสที่ได้รับการฝึกหัด และมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปิน พระราชพิธีพระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากครูผู้ได้รับพระราชทานครอบ และต่อท่ารำองค์พระพิราพไว้ เมื่อพุทธศักราช 2506 คือ นายอาคม สายาคม นายอร่าม อินทรนัฎ นายยอแสง ภักดีเทวา และนายหยัด ช้างทอง ได้ถึงแก่กรรมไปเหลือเพียงนายหยัด ช้างทอง เพียงท่านเดียว โดยเฉพาะครูผู้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละครนั้น หลังจากมรณกรรมของนายอาคม สายาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2525 เป็นต้นมา กรมศิลปากรก็ว่างตัวครูผู้เป็นประธานประกอบพิธี เนื่องจากนายอาคมถึงแก่กรรมโดยปัจจุบัน ยังมิได้มอบหมายหน้าที่ประธานในพิธีไหว้ครูให้กับผู้ใดไว้ ตามประเพณีแต่ดั้งเดิมนั้น หากครูเดิมมิได้มีการมอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งรับรับหน้าที่เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร แล้ว ก็จะต้องขอรับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานประกอบพิธีไหว้ครูเสียก่อน จากนั้นจะพระราชทานครอบประธานฯ บุคคลดังกล่าวจึงจะสามารถประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละครได้ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรดำเนินการคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย ก่อนที่จะประกอบพระราชพิธีพระราชทานครอบให้ต่อไป ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2526 คุณหญิงอารี กุลตัณฑ์ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้นได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ที่เหมาะสม โดยพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติด้วยหลักเกณฑ์ตามคตินิยมแต่โบราณ คือ
              1. เป็นบุรุษ
              2. เป็นผู้มีภูมิความรู้ทางวิชานาฏศิลปทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ
              3. เคยผ่านการแสดงเป็นตัวนายโรงในการแสดงโขน คือ ตัวพระรามหรือพระลักษณ์ มีชื่อเสียงในการแสดงโขน ละคร จนคนทั่วไปยกย่องเป็นครูอาจารย์
              4. เป็นผู้มีบุคลิกภาพ จริยาวัตร อุปนิสัยใจคอ มนุษยสัมพันธ์ และคุณธรรมเป็นที่เคารพยกย่องศรัทธาเชื่อถือของสังคมผู้เข้าร่วมในพิธีไหว้ครูนั้นๆ และต้องบวชเรียนแล้ว
              5. เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายสิทธิ และหน้าที่ให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโดยพระบรมราชโองการ หรือจากการประสิทธิ์ประสาทจากครูผู้เคยเป็นประธานประกอบพิธีมาแล้วให้เป็นผู้สืบทอด โดยได้รับมอบตำราไหว้ครู (สมุดข่อย) เครื่องโรง และได้รับการครอบครูนาฏศิลปจากครูผู้ใหญ่
     
              คณะกรรมการฯ คัดเลือกศิลปินผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ 6 คน คือนายธีรยุทธ ยวงศรี นายราฆพ โพธิเวส นายธงไชย โพธยารมย์ นายทองสุก ทองหลิม นายอุดม อังศุธร และนายสมบัติ แก้วสุจริต ต่อมานายราฆพ โพธิเวส ได้ขอถอนตัวจากการรับครอบเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร โดยขอเป็นผู้รับครอบองค์พระพิราพเพียงอย่างเดียว คงเหลือผู้รับครอบเป็นประธานเพียง 5 คน คณะกรรมการฯได้ทำหนังสือถึงศิลปินทั้งห้าเพื่อสอบถามความสมัครใจ แล้วจึงนำรายชื่อพร้อมประวัติ และผลงานขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละครให้ตามที่กราบบังคมทูล ทั้งยังทรงมีพระราชกระแสเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสมควรจะจัดเป็นพิธี เพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักฐานปรากฏ โดยควรที่จะมีศิลปินโขน ละครผู้เฒ่าผู้ใหญ่ที่เคยเป็นโขน ละครหลวงหรือศิลปินภายนอกผู้ที่ศิลปินด้วยกันยกย่องนับถือ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้วย ทั้งนี้ให้กรมศิลปากรกับสำนัพระราชวังร่วมปรึกษาดำเนินงานให้รอบคอบถ้วนถี่

              ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นสมควรให้มีการต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ และรับพระราชทานครอบองค์พระพิราพเสียพร้อมกันในพระราชพิธีนี้ด้วย เนื่องจากศิลปินผู้ได้รับครอบ และรับมอบท่ารำจากนายรงภักดีเมื่อพุทธศักราช 2506 จำนวน 4 คน คือ นายอาคม สายาคม นายอร่าม อินทรนัฎ นายหยัด ช้างทอง และนายยอแสง ภักดีเทวา นั้น ปัจจุบันคงเหลือแต่นายหยัด ช้างทอง นอกนั้นได้ถึงแก่กรรมไปหมดดังกล่าวแล้ว ทั้งนายรงภักดีก็มีอายุมากถึง 86 ปีในขณะนั้น สมควรที่จะได้ต่อท่ารำให้แก่ศิลปินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อไป คณะกรรมการฯจึงมอบหมายให้นายราฆพ โพธเวส ไปพบนายรงภักดี เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า จะต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแล้ว จะต้องต่อท่ารำก่อน 2 ครั้ง แล้วจึงทำพิธีมอบในวันพระราชพิธี

              คณะกรรมการฯจึงร่วมกันพิจารณารายชื่อศิลปินฝ่ายยักษ์ ซึ่งมีคุณวุฒิ และวัยวุฒิเหมาะสม รวม 7 คน คือ นายราฆพ โพธิเวส นายไชยยศ คุ้มมณี นายจตุพร รัตนวราหะ นายจุมพล โชติทัตต์ นายสุดจิตต์ พันธ์สังข์ นายศิริพันธ์ อัฎฎะวัชระ และนายสมศักดิ์ ทัดติ เมื่อสอบถามความสมัครใจแล้ว คณะกรรมการฯได้นำรายชื่อศิลปินกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย พร้อมทั้งขอพระราชทานครอบองค์พระพิราพในโอกาสเดียวกันกับการรับพระราชทานครอบประธานไหว้ครูด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรเกล้าฯ ตามที่ขอไปทุกประการ และทรงกำหนอวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2527 เป็นวันประกอบพระราชพิธี

              คณะกรรมการฯได้เชิญนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ให้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่นาฏศิลปินทั้ง 7 และเชิญนายหยัด ช้างทอง ครูอาวุโส ผู้เคยรับมอบท่ารำในพระราชพิธีครั้งก่อนมาเป็นผู้ฝึกซ้อมรำนำแทนนายรงคภักดี ซึ่งอายุมากแล้วไม่สามารถทรงตัวยืนรำได้เต็มที่ ส่วนท่ารำนั้นให้ศึกษาจากภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไว้เมื่อครั้งพุทธศักราช 2506 ประกอบคำอธิบายของนายรงภักดี การฝึกซ้อมท่ารำได้กระทำ ณ พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส รวม 6 ครั้ง การกำหนดรายละเอียดของพระราชพิธี ในครั้งแรกที่ประชุมร่วมระหว่างกรมศิลปากรกับสำนักพระราชวัง เสนอให้ให้ทำพิธีในแบบที่เคยปฏิบัติมาเมื่อ พุทธศักราช 2506 คือมีการบำเพ็ญกุศลทางพุทธศาสนา พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ในตอนเย็น แล้วถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันประกอบพระราชพิธีครอบฯ สถานที่ประกอบพิธีคือ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ครั้นเมื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ทรงมีพระกระแสรับว่า พิธีสงฆ์ควรเป็นเรื่องภายในของกรมศิลปากร คณะกรรมการฯจึงมีมติให้จัดพิธีสงฆ์ในวันพุธที่ 24 ตุลาคม พุทธสักราช 2527 พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส โดยให้กองการสังคีต และกองศิลปศึกษาร่วมกันดำเนินงาน ส่วนการพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ ศาลาดุสิดาลัย กรมศิลปากร และสำนักพระราชวังร่วมกันจัดเตรียม อนึ่ง ในการพระราชพิธีครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้มีการบันทึกเหตุการณ์ถ่ายภาพ และถ่ายภาพยนตร์ไว้เป็นหลักฐานเพื่อศึกษาต่อไป โดยให้งานบันทึกเหตุการณ์ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ งานวัฒนธรรมและจารีตประเพณี กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และงานเผยแพร่ สำนักงานเลขานุการ กรมศิลปากร ร่วมกันดำเนินการ นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อสมท. ได้ร่วมถ่ายภาพยนตร์ เพื่อจัดทำเป็นข่าวเผยแพร่ต่อไปด้วย


    http://www.anurakthai.com/
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×