ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #186 : [เสภา] เสภารำ

    • อัปเดตล่าสุด 23 ต.ค. 50



    เสภาเรื่อง"ขุนช้างขุนแผน"ได้เค้าเรื่องจากนิยายอิงพงศาวดารมาแต่งเป็นกลอนขึ้น ใช้ขับเป็นทำนองฟังกันเล่นแทนเล่านิทานตั้งแต่ราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถึงรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้แทรกการร้องส่งมีปี่พาทย์รับ และบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบตามท้องเรื่องอย่างละคร เพลงที่ร้องส่งเป็นเพลง 2 ชั้น และชั้นเดียวทั้งสิ้น
            ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ศิลปทางดุริยางค์ขยายตัวขึ้นโดยนิยมเพลงที่มีอัตรา 3 ชั้นกันทั่วไป เพลงที่ร้องส่งในการประกอบเสภาก็กลายเป็นเพลง 3 ชั้นไปด้วย และเพลงหน้าพาทย์ประกอบเรื่องก็เลิกใช้กันตั้งแต่นั้น ต่อมาเมื่อนักขับเสภาเห็นว่า การขับเสภาแล้วร้องส่งแทรกเพลงเท่านั้น มีรสชาติแต่การฟังอย่างเดียว ใคร่จะให้ผู้ชมได้ออกรสชาติในทางดูขึ้นอีก จึงคิดเพิ่มเติมหาศิลปินทางนาฏศิลปมาทำบทบาทตามท้องเรื่องที่ขับ และรำตามจังหวะเพลงปี่พาทย์ ในขั้นนี้การร้องส่ง และการบรรจุหน้าพาทย์กลับไปเข้าแนวที่ปรับปรุงขึ้นในรัชกาลที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้รำ
              วิธีขับเสภาประกอบด้วยการร้องส่งที่มีปี่พาทย์บรรเลง และมีตัวละครเป็นผู้รำตามบทและเพลงนี้ เรียกว่า "เสภารำ" แต่เสภารำในตอนนี้เป็นเสภารำชนิดเรียบร้อย ผู้ขับก็ขับไปตามบทที่ร้อยกรองขึ้นอย่างเคร่งครัด ผู้รำก็รำอย่างงดงามตามแบบแผน อันบทเสภาที่ใช้ขับนั้น มีอยู่หลายสำนวน ทั้งนี้ก็เพราะนอกจากจะประกวดประขันกันในเชิงขับแล้ว ยังประกวดประขันในเชิงถ้อยคำสำนวนด้วย เพียงแต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีนักแต่งกลอนเสภาอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้นบทเสภาในตอนเดียวกันจึงมีได้หลายสำนวน ส่วนบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่หอพระสมุดฯพิมพ์นั้น ได้คัดเลือกมาจากหลายสำนวนด้วยกัน แล้วปรับปรุงให้สุภาพ และได้เนื้อถ้อยกระทงความขึ้น
    เสภารำที่รู้จักในสมัยหลังเป็นเสภารำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต่างกับเสภารำที่กล่าวมา เสภารำที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเสภารำชนิดสุภาพ เมื่อมีมากขึ้นก็ทำให้รู้สึกเนือยไป ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง จึงมีนักขับเสภาที่แต่งกลอนเองได้ คิดแต่งกลอนสำหรับใช้ขับประกอบตัวแสดงขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยเดินเรื่องตามเค้าเดิม แต่ให้มีบทตลกขบขันแทรกอยู่ตลอด ดังนั้นบางท่านจึงเรียกเสภาชนิดนี้ว่า "เสภาตลก" ผู้แต่งคนแรก กล่าวกันว่าชื่อ "ขุนราม (โพ)" แต่ขุนราม (โพ)นี้ น่าจะเป็นขุนพลสงคราม (โพ) กำนันตำบลบ้านสาย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเล่าลือกันว่าขับเสภาดีนัก เสภารำแบบตลกนี้ ท่านผู้แต่งได้เลือกเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยา มาเป็นเนื้อเรื่อง ความสนุกขบขันอันเกี่ยวกับบทเสภาตอนนี้อยู่ที่ถ้อยคำพลิกแพลง และการแสดงของผู้ขับกับผู้รำ
    วิธีการแสดงเสภารำแบบตลกนี้ คนขับเท่ากับเป็นตัวแม่คู่ของสวดคฤหัสถ์หรือจำอวด ใช้ถ้อยคำในบทขับ และเจรจาด้วยปฏิภาณ ทำให้เกิดความสนุกสนานขบขันไปในตัว มีการลำเอียงเข้าข้างตัวนายโรง (ขุนแผน) แกล้งตัวตลก (ม้า) และบางทีก็เกี้ยวพาราสีตัวนาง (แก้วกิริยา) จึงนับว่าคนขับเป็นคนสำคัญที่สุดในชุดเสภารำแบบนี้ เนื่องจากเสภารำแบบตลกชุดเข้าห้องนางแก้วกิริยานี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ในสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ขุนสำเนียงวิเวกวอน (น่วม บุญเกียรติ) จึงร่วมกับนายเกริ่น และนายพัน คิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่ง เลียนแบบขุนช้างขุนแผนตอนนี้ โดยนำเอาเรื่อง "พระรถ" ตอนฤาษีแปลงสารมาปรับปรุง แต่ครั้นนำออกแสดงได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องเลิกล้มไป เพราะสู้ขุนช้างขุนแผน ตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยาไม่ได้ จะเห็นได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีถึงขนาดแล้ว จะนำสิ่งอื่นขึ้นเทียมโดยยืมวิธีการของเขาไปใช้นั้น ย่อมได้ไม่ดีเท่ากับของเดิมเขาเป็นแน่แท้
    เสภารำแบบตลกยังมีอีกตอนหนึ่งที่ชอบแสดงกัน คือ ตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทอง ซึ่งต่อจากตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยา แต่ถึงแม้เนื้อเรื่องที่แสดงเป็นตอนต่อจากกันก็จริง ถ้าหากพินิจพิจารณาถ้อยคำสำนวนตลอดวิธีการแสดงแล้ว จะเห็นว่าเป็นคนละสำนวน และคนละวิธีกับตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา จึงน่าสันนิษฐานว่าผู้แต่ง และปรับปรุงตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทองนี้ ไม่ใช่คนเดียวกันกับผู้แต่งตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา
    วิธีแสดงในตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยานั้น คนขับทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่คู่ของสวดคฤหัสถ์หรือจำอวด ใช้ชั้นเชิงในคำขับเสภาเข้าข้างตัวนายโรง (ขุนแผน) และแกล้งตัวตลก (ม้า) เปิดช่องให้ตัวตลกขอเปลี่ยนตัวทำหน้าที่นายโรงบ้าง ซึ่งล้วนแต่หาเชิงขบขันไปในเนื้อเสภาจริงๆ และถ้อยคำที่ขบขันก็ไม่หยาบโลนหรือสองง่ามมากนัก ส่วนตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทอง  จะดำเนินวิธีแสดงห่างจากวงการของเสภาออกไปมาก จนกล่าวได้ว่าใกล้ไปทางละครนอกหรือจำอวดมากกว่า เพราะหน้าที่ของคนขับเสภา นอกจากในตอนต้นประเดิมเรื่องเล็กน้อยแล้ว ต่อไปก็เกือบจะไม่มีหน้าที่เข้าประกอบการแสดงทีเดียว จะมีอยู่บ้างก็เพียงขับเชื่อเรื่องให้ดำเนินติดต่อกันเท่านั้น และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความขบขันนั้น มักใช้ถ้อยคำที่เป็นสองง่าม ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังผู้ดูมีใจเอนเอียงคิดว่าหยาบโลนอยู่ตลอด
    สิ่งสำคัญที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ การดำเนินเรื่องของเสภารำในบทขับสามัญนั้น เมื่อขุนแผนออกจากห้องนางแก้วกิริยา และนางแก้วกิริยาชี้ห้องนางวันทองให้รู้จักแล้ว ขุนแผนก็้เข้าห้องนางวันทอง ชมม่านที่นางวันทองปักแล้วก็ฟันม่าน ต่อจากนั้นก็แกล้งกระทำต่อขุนช้างต่างๆนานา เช่น โกนหัว มอมหน้า เหล่านี้เป็นต้น แล้วจึงปลุกนางวันทองและพาไป แต่การแสดงเสภารำแบบตลกนี้ มิได้ดำเนินเรื่องเช่นนั้น เมื่อขุนแผนออกจากห้องนางแก้วกิริยา และนางแก้วกิริยาชี้ห้องนางวันทองให้แล้ว ขุนแผนก็เดินไปเข้าห้องนางวันทอง โดยการแสดงเสภาจะตั้งต้นย้อนเวลาไปใหม่ สมมติว่าเป็นเวลากลางวัน ในวันเดียวกับที่ขุนแผนมาจากกาญจนบุรี ยังไม่ถึงบ้านขุนช้าง ในเวลากลางวันนี้ขุนช้างเกิดอยากดื่มสุราขึ้นมา จึงชวนบ่าวไพร่ให้เลี้ยงสุรากัน การที่ให้ขุนช้างคิดเลี้ยงสุรากันขึ้นแต่ตอนกลางวัน ก็เพื่อเป็นเหตุสนับสนุนให้ขุนช้างเมามาย และหลับไม่สมประดี จนขุนแผนจะทำอะไรก็ไม่ตื่น เรื่องต่อจากนี้ขุนแผนก็เข้าห้องแล้วแกล้งทำแก่ขุนช้างต่างๆนานาเหมือนบทเสภาสามัญโดยตลอด

    http://www.anurakthai.com/
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×