ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #171 : [นักดนตรีไทย] พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)

    • อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 50



    พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)



    ราชทินนาม “ประดิษฐ์ไพเราะ” เป็นราชทินนามเก่าที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่โปรดพระราชทานแต่งตั้งให้แก่ครูดนตรีไทย ผู้ที่มีความสามารถในกระบวนเพลง ทั้งการเล่นและการแต่งเพลง ให้เป็นที่นิยมได้อย่างเยี่ยมยอด ผู้ที่ได้รับราชทินนามนี้ จึงเท่ากับเป็นการสานต่อชีวิตให้แก่ดนตรีไทยอย่างแท้จริง ครูดนตรีไทยท่านแรกที่ได้รับราชทินนามนี้คือ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)

    พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก (ไม่ทราบปีที่เกิดและปีที่ถึงแก่กรรม แต่พอประมาณได้ว่า ท่านเกิดราวปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่กรรมประมาณต้นรัชกาลที่ ๕) เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
     
    ตามประวัติว่ากันว่า เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ (ท่านเกิดแถวบริเวณสุเหร่าเหนือวัดอรุณราชวราราม) ท่านมีสิ่งขาวๆคล้ายกระเพาะครอบศีรษะออกมาด้วย ดูเหมือนกับหมวกแขกจึงได้รับสมญานามว่า "แขก" ตั้งแต่เล็ก (แต่บางท่านก็ว่าครูมีผู้นี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายแขก จึงได้ชื่อว่าครูมีแขก เช่นนี้ก็มี)
     
    ท่านสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ที่ได้รับยกย่องเป็นพิเศษคือ ปี่ ถึงกับมีกล่าวไว้ในกลอนเสภาว่า “ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทะยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” (เพลงทะยอยที่กล่าวถึงนี้คือ เพลงทะยอยเดี่ยว ซึ่งครูมีแขกท่านได้ประดิษฐ์ทางขึ้นไว้สำหรับเดี่ยวปี่) นอกจากนี้ท่านยังมีฝีมือในการบรรเลงซอสามสายได้เป็นอย่างดี
     
    ท่านเป็นต้นตำรับการแต่งเพลงที่มีลูกล้อลูกขัดหรือประเภทเพลงทยอย ได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก ประเภทเพลงสองชั้น เช่น เพลงเชิดจีน (พ.ศ. ๒๓๙๖) เพลงจีนแส เพลงอาเฮีย เพลงชมสวนสวรรค์ เพลงแป๊ะ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ประเภทเพลงสามชั้น เช่น เพลงทยอยนอก เพลงทยอยเขมร เพลงจีนขิมเล็ก เพลงจีนขิมใหญ่ เพลงแขกมอญ กำสรวลสุรางค์ ประเภทเพลงเถา เช่น เพลงแขกบรเทศ เถา เพลงตวงพระธาตุ เถา ประเภทเพลงโหมโรง เช่น โหมโรงขวัญเมือง เป็นต้น
     
    เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ครูมีแขกซึ่งขณะนั้นเป็นครูปี่พาทย์ประจำวังหน้า ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พอพระทัยยกย่องอยู่เสมอ และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๖ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้กำกับกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระราชวังบวร ดังข้อความต่อไปนี้


    และระหว่างเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคมปีนั้นเอง ครูมีแขกได้แต่งเพลง “ เชิดจีน ” ขึ้น แล้วนำขึ้น น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพอพระทัยมาก โปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๙๖ ดังข้อความต่อไปนี้
     



    ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) ได้เป็นครูมโหรีของหัวหน้าวงปี่พาทย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น นายสิน ศิลปบรรเลง นายรอด พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) นายต้ม พาทยกุล นายแดง พาทยกุล
     
    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาส์นสมเด็จฯ เล่มที่ ๒๓ ว่าดังนี้
    “ครูมีแขกนั้น หม่อมฉันรู้จักแต่เมื่อหม่อมฉันไว้ผมจุกไปเรียนภาษาอังกฤษ ที่สมเด็จพระราชปิตุลาประทับ ณ หอนิเพทพิทยา เห็นแกเดินผ่านไปหัดมโหรีทูลกระหม่อมปราสาทที่มุขกระสัน พระมหาปราสาททุกวัน เวลานั้นแกแก่มากอายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว มีบ่าวแบกซอสามสายตามหลังเสมอ วันหนึ่ง กรมหลวงประจักษ์ตรัสเรียกให้แกแวะที่หน้าหอ แล้วยืมซอสามสายแกมาสี แกฉุนออกปากว่า “ถ้าทรงสีอย่างนั้นก็ไฟลุก” จำได้เท่านั้น”
     
    ครูมีแขกเป็นต้นสกุลของดุริยางกูร บุตรหลานของท่านได้เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดนตรีและอุปกรณ์อยู่ที่ร้าน ดุริยบรรณมาจนถึงทุกวันนี้
     
    บรรณานุกรม
    ๑. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน , ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒
    ๒. บทความเรื่อง “เพลงเชิดจีน” ของครูเงิน, หนังสือที่ระลึกมหกรรมดนตรีมัธยมศึกษา ครั้งที่ ๑๖ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓๖ พรรษา, ๒๕๓๔

    http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×