จางวางทั่ว พาทยโกศล
จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นนักดนตรีที่มีความรู้ความสามารถ และมีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งในยุครัชกาลที่ ๕ และ ๖ ท่านได้มีผลงานการบรรเลง การบันทึกแผ่นเสียง รวมทั้งผลงานการประพันธ์เพลงมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ตกทอดมายังวงการดนตรีไทยในสมัยปัจจุบัน วันนี้ เราจะมาทราบถึงประวัติ และผลงานของท่านกันนะครับ
จางวางทั่ว พาทยโกศล เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๔ เวลาเช้า ณ บ้านตระกูลพาทยโกศล หลังวัดกัลยาณมิตร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ ๑๒ ของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) มารดาของท่านคือนางแสง พาทยโกศล |
|
เนื่องจากครอบครัวของท่านเป็นนักดนตรี ท่านจึงเริ่มได้ศึกษาดนตรีไทยจากครอบครัวคือ ปู่ทองดี (น้าของบิดา) และบิดา ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปี่พาทย์ประจำวงของเจ้าคุณประภากรวงศ์ และเป็นคนซอสามสายที่มีชื่อเสียงมาก ส่วนมารดาของท่านนั้นได้รับยกย่องเป็นผู้ดีดจะเข้ฝีมือชั้นเอก และเป็นครูดนตรีที่ถวายการสอนแด่เจ้านายฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้เรียนดนตรีเบื้องต้นจากปู่ บิดา และมารดา นอกจากนี้ ท่านก็ได้ศึกษากับครูคนอื่นๆ เพิ่มเติมโดยบิดาได้ส่งท่านไปเรียนดนตรีกับครูรอด ซึ่งเป็นศิษย์พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ท่านได้เรียนการบรรเลงปี่พาทย์โดยเฉพาะการบรรเลงฆ้องวง จนมีความเชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในบรรดาศิษย์ของครูรอดที่เรียนในรุ่นเดียวกัน |
|
เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี จางวางทั่ว พาทยโกศลได้เข้าอุปสมบท ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณราชวรารามเป็นพระอุปชฌายะ พระปัญญาคัมภีร์เถระ (พุ่ม) วัดอรุณ กับพระสมุทรสมาจารย์ (พรหม) วัดกัลยาณมิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชอยู่พรรษาเดียวก็ลาสิกขาบทมาศึกษาดนตรีต่อไป |
|
จางวางทั่ว พาทยโกศล ได้ศึกษาดนตรีกับครูหลายคนเช่น เจ้าคุณประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ครูช้อย สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นบิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูทั่ง และครูต่วน (สองคนหลังนี้เป็นครูดนตรีที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ซึ่งยังมีประวัติไม่แน่ชัด) |
|
แต่เดิม นายทั่วได้รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ของเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ขอตัวท่านมาอยู่ประจำวง "ปี่พาทย์วงวังบางขุนพรหม" ในระหว่างนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระพี่นางเธอในกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็น "จางวาง" ในพระองค์ท่าน คนทั่วไปจึงเรียกว่า จางวางทั่ว |
|
เมื่อมาอยู่กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น จางวางทั่วก็ได้ศึกษาการดนตรีกับพระองค์เพิ่มเติม สมเด็จฯ ได้ให้ความรู้เรื่องการประสานเสียงแบบดนตรีตะวันตก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีกับจางวางทั่ว ในการนำวิชาการที่พระองค์ทรงสอนมาใช้เป็นประโยชน์ในด้านการประพันธ์เพลงในสมัยต่อมา และในด้านการประพันธ์เพลงนั้น ก็เล่ากันว่าบางครั้งสมเด็จฯ ทรงนิพนธ์และทรงประทานให้จางวางทั่ว พาทยโกศล มาคิดประดิษฐ์ทางในการบรรเลงปี่พาทย์ แต่ก็มีบ้างบางเพลงที่จางวางทั่วได้ประพันธ์เพลงทางปี่พาทย์ และสมเด็จฯ ทรงนำเอาไปปรับปรุงเป็นทางแตรวง |
|
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตนับเป็นเจ้านายโดยตรงของจางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้อุปถัมภ์ครอบครัวของจางวางทั่วเป็นเวลายาวนานถึง ๓๐ ปี และท่านได้ประทานนามสกุล พาทยโกศล ให้แก่นายทั่ว เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐
|
ลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมบริพัตร ประทานนามสกุลแก่จางวางทั่ว
ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ท่านได้รับรางวัล"ชั้นหนึ่ง" ในการแข่งขันแสดงฝีมือตีฆ้องวง หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาโปรดเกล้าฯ เป็นบำเหน็จ เป็นครั้งแรก ให้ร่วมวงกับนักดนตรีที่ชนะเลิศเครื่องมือต่างๆ ในครั้งนั้นรวม ๘ คน ตั้งวงปี่พาทย์เครื่อง ๕ ส่วนพระองค์และพระราชทานชื่อว่า "ปี่พาทย์ฤาษี" ประกอบด้วย |
|
เป่าปี่ |
- พระยาประสานดุริยศัพท์ |
|
ตีระนาดเอก |
- หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) |
|
ตีระนาดทุ้ม |
- นายเหลือ (วัฒน์วาทิน) |
|
ตีฆ้องใหญ่ |
- นายโถ |
|
ตีฆ้องเล็ก |
- จางวางทั่ว พาทยโกศล |
|
กลองสองหน้า |
- นายเนตร |
|
|
|
|
ในการนี้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิเงิน เป็นบำเหน็จ เป็น ครั้งแรก |
|
|
|
พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงจัดให้มีการประชันปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม มีวงปี่พาทย์เข้าแข่งขันสามวงคือ วงพระยาเสนาะดุริยางค์ วงหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และวงจางวางทั่ว พาทยโกศล ผลการแข่งขันปรากฎว่าวงจางวางทั่ว พาทยโกศล ชนะเลิศ ส่วนการแข่งขันบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ปรากฎว่าชนะเสิศปี่ในคือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ชนะเลิศระดนาดเอก คือ นายทรัพย์ เซ็นพานิช ชนะเลิศฆ้องใหญ่ คือ นายช่อ สุนทรวาทิน ชนะเสิศฆ้องเล็ก คือ นายสาลี่ มาลัยมาลย์ นักดนตรีดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นนักดนตรีของจางวางทั่ว พาทยโกศล ทุกคน |
|
|
|
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จางวางทั่วได้รับหน้าที่เป็นครูสอนเพลงไทย ประจำกองแตรวงทหารเรือ ต่อมาเป็นครูสอนประจำกองแตรวงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ลาออก |
|
อีกสองปีต่อมา ท่านได้แต่งเพลงชาติเป็นทำนองแบบไทย โดยได้ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงหน้าพาทย์สำคัญของไทยที่มีชื่อว่าเพลง "ตระนิมิตร" ให้สามารถบรรเลงเป็นทางสากลได้ ซึ่งเพลง "ตระนิมิตร"นี้เป็นเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงครู นักดนตรีจะใช้บรรเลงในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น งานไหว้ครู บรรเลงเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นจึงมีความหมายอันควรแก่การเคารพนับถือ เป็นสิริมงคลเหมาะสมที่จะใช้เป็นเพลงชาติไทยได้ เพลงชาติฉบับนี้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้ใช้เป็นเพลงชาติ บรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการอย่างเป็นทางการอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาภายหลังมิได้ใช้ เพราะไปใช้ทำนองสากลแทน (รายละเอียดเรื่องเพลงชาตินี้ อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องประวัติเพลงชาติไทย ในหมวดเนื้อร้องทำนองได้ครับ ) |
|
นอกจากฝีมือการเล่นดนตรีอันเป็นเอกของท่านแล้ว ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นนักแต่งเพลงที่มีความสามารถมากอีกท่านหนึ่ง โดยได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก เพลงเถาเพลงแรก ที่ท่านแต่งคือคือ เพลงหกบท (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๕๕) ส่วนเพลงเถาอื่นๆ ได้แก่ เขมรปากท่อ เถา, เขมรเขียว เถา, แขกสาหร่าย เถา, ดอกไม้ร่วง เถา, โอ้ลาว เถา, เขมรเหลือง เถา, เขมรครวญ เถา, เขมรน้อย เถา, พม่าห้าท่อน เถา, บังใบ เถา, พม่า เถา, สี่บท เถา, แปดบท เถา, กลยาแย้มบท เถา, เขมรเอวบาง เถา, เขมรพวง เถา, เขมรชมจันทร์ เถา, แขกมอญบางช้างเถา และเสภานอก เถา เป็นต้น |
|
ส่วนประเภทเพลงตับ ได้แก่ ตับลาวเจริญศรี (เป็นผู้เรียบเรียงนำมาขับร้องบรรจุเพลงเป็นคนแรก), ตับชุดแขกไทร, ตับนกสีชมพู เป็นต้น |
|
นอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานในการประพันธ์เพลงประเภทเพลงเดี่ยว ได้แก่ เพลงอาเฮียทางเดี่ยว (ทางเดี่ยวแต่ละเครื่องมือสำหรับปี่พาทย์ทั้งวง ใช้แสดงในงานฉลองพระชันษาครบสี่รอบ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เพลงหกบท เถา ทางเดี่ยว (สำหรับทุกเครื่องมือ) พญาโศก สามชั้น ทางเดี่ยว (ระนาดและฆ้องใหญ่) เพลงทะแยเถา ทางเดี่ยว (ทุกเครื่องมือ) เพลงลาวแพน (ทางระนาดเอก ฆ้องใหญ่ จะเข้) เป็นต้น |
|
จางวางทั่ว เป็นผู้มีอุปนิสัยโอบอ้อมอารี จึงมีศิษย์มาฝากตัวศึกษาวิชาดนตรีไทยจำนวนมาก ศิษย์เอกที่มีฝีมือสูงและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ นายทรัพย์ เซ็นพานิช (ระนาดเอก), นายเตือน พาทยกุล, นายฉัตร สุนทรวาทิน (ระนาดทุ้ม), นายช่อ สุนทรวาทิน (ฆ้องใหญ่), นายฉ่ำ เกิดใจตรง, นายเจียน มาลัยมาลย์, นายสาลี่ มาลัยมาลย์ (ฆ้องเล็ก,ปี่ใน),นายปูน คงศรีวิไล (ปี่), นายยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ, นายอาจ สุนทร, นายพันตรี หลวงประสานดุริยศัพท์ ผู้บังคับแตรวงทหารบก, นายร้อยตรีแจ้ง วิเศษฤทธิ ผู้บังคับหมวดกองแตรวงทหารบก กองพันทหารบกที่ ๓ เป็นต้น |
|
จางวางทั่วถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๑ รวมอายุ ๕๗ ปี ท่านมีทายาทผู้สืบเชื้อสายทางดนตรีที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อาจารย์เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ |
บรรณานุกรม |
๑. ศิลปากร,กรม. ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หัตถศิลป์, ๒๕๒๙. ๑๘๘ หน้า. |
๒. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๑ . กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๑. ๒๔๙ หน้า. |
๓. http://music.bsru.ac.th/jangwang.html |
๔. http://www.talkingmachine.org/siamesepatheads.html |
|
หมายเหตุ |
ผู้ที่สนใจฟังผลงานการบรรเลงบันทึกแผ่นเสียงของจางวางทั่ว พาทยโกศล สามารถเข้ารับฟังได้ที่ http://www.talkingmachine.org/siamesepatheads.html |
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th/ |
ความคิดเห็น