ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์
ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้จัดให้มีการแสดงโขน และละครประเภทต่างๆ ให้ประชาชนชมเป็นประจำ ณ โรงละครกรมศิลปากร ซึ่งการแสดงโขนละครแต่ละเรื่องแต่ละตอนจะต้องมีนักร้องทั้งชายและหญิงร่วมร้องเพลงด้วยเสมอ และท่านผู้หนึ่งในจำนวนนักร้องสตรีของกรมศิลปากร ผู้ซึ่งมีกระแสเสียงไพเราะ กังวาน ทั้งยังสามารถขับร้องเพลงไทยได้ทุกเพลง จนได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงเป็นต้นเสียงในการขับร้องอยู่เสมอ ก็คือครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์
ครูแช่มช้อย เดิมชื่อ นางสาวแช่ม ดุริยประณีต (เหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็นแช่มช้อย เพราะว่าในสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีนโยบายให้คนไทยมีชื่อที่ไพเราะและเหมาะสม) เป็นบุตรของ ครูศุข ดุริยประณีต นักดนตรีผู้มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าของวงดุริยประณีต กับคุณแม่แถม (สกุลเดิม “เชยเกษ”) ผู้มีความสามารถในการขับร้องและแสดงละคร ครูแช่มช้อยเกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ บ้านเลขที่ ๑๐๐ ถนนลำพู หลังวัดสังเวชวิศยาราม ตำบลบางลำพู อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๒ คน โดยพี่น้องของท่านที่เป็นนักดนตรีและนักร้องที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ครูโชติ ดุริยประณีต ครูชื้น ดุริยประณีต ครูชั้น ดุริยประณีต ครูสุดา เขียววิจิตร ครูชม รุ่งเรือง ครูทัศนีย์ พิณพาทย์ ครูสุดจิตต์ อนันตกุล และครูสืบสุด ดุริยประณีต |
|
ก่อนที่ครูแช่มช้อยจะเกิดนั้น มารดาของท่านมีบุตรถึง ๕ คนแล้ว เป็นชาย ๓ คนและหญิง ๒ คน มีความสามารถบรรเลงดนตรีไทยได้ ๔ คน และเป็นนักร้อง ๑ คน คือ ครูสุดา เขียววิจิตร และด้วยเหตุที่คุณแม่แถมผู้เป็นมารดาต้องการให้บุตรของท่านเป็นนักร้องหลายๆ คน ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้บุตรที่จะเกิดต่อไปได้เป็นนักร้อง ซึ่งคำอธิษฐานนั้นก็เป็นความจริง เพราะหลังจากคุณแม่แถมได้ให้กำเนิดครูแช่มช้อย และน้องๆ รองลงไปอีก ๓ คน ซึ่งเป็นผู้หญิงนั้น ก็ปรากฏว่าบุตรหญิงทั้ง ๔ คนได้เป็นนักร้องหมดทุกคน |
|
ในวัยเยาว์นั้น ครูแช่มช้อยได้เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมกับครูแนบที่โรงเรียนแนบวิทยา บางลำพู และในระหว่างกำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษานั้น คุณแม่แถมผู้เป็นมารดาก็สอนในครูแช่มช้อยหัดขับร้องเพลงไทย แต่ครูแช่มช้อยไม่ชอบต่อเพลงกับมารดา มารดาจึงนำไปฝากกับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ผู้ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานวิชาการขับร้องและปรับปรุงวิธีขับร้องที่ทำให้ลีลาการขับร้องเปลี่ยนแนวไปจากการขับร้องแบบโบราณ มาเป็นทางที่ละเมียดละไมกว่านักร้องรุ่นก่อน ดังนั้น ครูแช่มช้อยจึงพลอยได้รับความรู้และความสามารถในการขับร้องเพลงไทยตามแบบของพระยาเสนาะดุริยางค์ และได้สนิทสนมรักนับถือกันกับครูเจริญใจ สุนทรวาทิน (ศิลปินแห่งชาติ) มาตั้งแต่นั้น |
|
นอกจากครูแช่มช้อยจะได้รับการสั่งสอนทางด้านการขับร้องเพลงไทยจากมารดาและพระยาเสนาะดุริยางค์ดังกล่าวแล้ว ท่านยังฝึกหัดดนตรีไทยจากครูศุข ผู้เป็นบิดา จนมีความรู้ความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง เป็นต้น |
|
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสนาะดุริยางค์ จัดตั้งวงมโหรีหลวงขึ้นวงหนึ่ง เรียกว่ามโหรีข้าหลวง ผู้บรรเลงเป็นข้าในพระองค์โดยเฉพาะและเป็นสตรีล้วน มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เดิมนักดนตรีเหล่านี้มีหน้าที่บรรเลงมโหรีถวายเป็นการส่วนพระองค์ แต่ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมหน้าที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น จึงต้องหานักดนตรีที่มีอายุน้อยๆ ถัดลงมาเพื่อบรรจุเพิ่มเติมให้มากพอที่จะบรรเลงและแสดงละครได้ ซึ่งโอกาสนี้เอง ที่ครูแช่มช้อยได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่บรรเลงมโหรีหลวงรุ่นต่อมา โดยทำหน้าที่ตีระนาดทุ้มบ้าง ตีฆ้องวงบ้าง และขับร้องสลับผลัดเปลี่ยนกันไป ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับร้องอยู่ในวงมโหรีหลวงนี้ ครูแช่มช้อยได้เรียนรู้การขับร้องเพลงไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก ต่อมาเมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วงมโหรีหลวงก็สลายไป ครูแช่มช้อยจึงย้ายไปสังกัดกรมศิลปากรเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะนั้นครูมีอายุได้ ๑๔ ปี ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้ท่านได้มีโอกาสเรียนขับร้องเพลงเพิ่มขึ้นจากหลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ซึ่งท่านได้ต่อเพลงไทยทั้งประเภทเพลงสามชั้น เพลงตับ เพลงเถา รวมทั้งการขับเสภาไทย เสภามอญ และการขับร้องประกอบการแสดงโขน ละคร |
|
นอกจากจะต่อเพลงจากหลวงเสียงเสนาะกรรณแล้ว ครูแช่มช้อยยังได้ต่อเพลงจากหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และครูมนตรี ตราโมทอีกด้วย และบางครั้งก็ยังได้ต่อเพลงเพิ่มเติมจากหม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา และหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ ซึ่งชำนาญการขับร้องเพลงในละครพันทางเรื่องพระลอ |
|
ตลอดเวลาที่ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์รับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับร้องในเวลาแสดงโขน ละคร ณ โรงละครศิลปากร และงานทั่วไปทั้งของรัฐบาลและเอกชน นอกจากจะทำหน้าที่ขับร้องเพลงไทยแล้ว ครูแช่มช้อยยังทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาขับร้องและขับเสภาให้แก่นักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ด้วย |
|
ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ กรมศิลปากรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุนจัดพิมพ์หนังสือโน้ตเพลงไทยเล่ม ๑ อันประกอบด้วยเพลงบรรเลงและเพลงขับร้อง ในการนี้ มีบทเพลงไม่น้อยที่ต้องบันทึกทางขับร้องออกมาเป็นโน้ตสากล ซึ่งครูแช่มช้อยก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้บอกทางขับร้องเพลงในครั้งนั้น โดยร้องให้คุณพิษณุ แช่มบาง ฟังทีละตอนสั้นๆ แล้วเขียนแยกออกมาเป็นตัวโน้ตสากล นับเป็นงานที่ครูภาคภูมิใจมากที่ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ |
|
ต่อมา กรมศิลปากร มีนโยบายที่จะบันทึกเสียงการขับร้องและการบรรเลงเพลงไทยเพื่อบันทึกเป็นแผ่นเสียงออกจำหน่าย นางแช่มช้อยก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ขับร้องเพลงไทยหลายเพลง เช่น เพลงเขมรไทรโยค เพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงนเรศวรชนช้าง เพลงทองย่อน เพลงแขกพราหมณ์จากเรื่องเงาะป่า และเพลงแอ่วเคล้าซอ เป็นต้น |
|
นอกจากการเป็นนักร้องสังกัดกรมศิลปากรแล้ว ครูแช่มช้อยยังเป็นนักร้องประจำวงดุริยประณีตของบิดา ได้สอนขับร้องแก่ศิษย์ไว้มาก ที่มีชื่อเสียง เช่น ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ครูกัญญา โรหิตาจล ครูพัฒนี พร้อมสมบัติ ครูมัณฑนา เพิ่มสิน ครูศิริ วิชเวช และนายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว เป็นต้น |
|
ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูแช่มช้อยได้สมรสกับ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ นักร้องชายผู้มีชื่อเสียงของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ มีบุตรธิดารวม ๖ คน โดยบุตรธิดาที่มีชื่อเสียงทางด้านการขับร้อง ได้แก่ ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ ครูดวงเนตร ดุริยพันธุ์ และครูนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ โดยครูแช่มช้อยเคยเล่าว่าไม่อยากให้ลูกทุกคนต้องมีอาชีพขับร้อง แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็นึกเสียดายวิชาการในเรื่องเพลงเพราะได้เรียนมามาก เมื่อลูกๆ สนใจในดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทยได้ดีก็ชื่นใจ |
|
ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ได้เคยเล่าถึงครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ไว้ว่า ท่านเป็นผู้มีกระแสเสียงที่ไพเราะ กับทั้งยังมีลีลาการขับร้องที่อ่อนหวาน นุ่มนวล เรียบร้อย และประณีตเป็นอย่างมาก โดยในการร้องเพลง ครูแช่มช้อยจะร้องเพลงอย่างละเอียดพิถีพิถัน ใส่ใจในการผันคำและการใส่อารมณ์ตามบทร้องและทำนองของเพลงเพื่อให้บทเพลงที่ขับร้องนั้นมีความไพเราะและสามารถสร้างมโนภาพให้แก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ตัวอย่างหนึ่งที่ครูสุรางค์ได้เล่าให้ฟังก็คือในการร้องเพลงโสมส่องแสงที่มีบทร้องตอนหนึ่งว่า “....ทรงกลดโรจน์รุ่งพร้อย งามหยดย้อยลอยดวงเด่น...” นั้น ครูแช่มช้อยจะหยุดวรรคหลังคำว่า “หยด” ครู่หนึ่ง เพื่อให้ได้มโนภาพของคำว่าหยด แล้วจึงร้องผันคำที่คำว่า “ย้อย” อย่างอ่อนหวานเพื่อให้ได้มโนภาพของคำว่าย้อย เป็นต้น |
|
ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ รับราชการในกรมศิลปากรจนมีอายุถึง ๕๘ ปี เกิดมีโรคภัยเบียดเบียนหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องได้รับการฉีดยาทุกวันในตอนเช้า บางครั้งมีอาการป่วยมากต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีอาการทรงตัวไม่ได้ตามปกติและอ่อนแอลง แต่ความทรงจำยังดี สามารถต่อเพลงให้ศิษย์ได้ บางครั้งก็เกิดอาการมึนงงเนื่องจากเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่พอ บางคราวก็มีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเดินไม่ถนัด อาการเช่นนี้เป็นมาตลอดจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ |
|
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ประมาณเที่ยงคืน ครูแช่มช้อยมีอาการอ่อนเพลียมาก หลังจากเข้าห้องน้ำและเป็นลม ลูกหลานช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อไปถึงโรงพยาบาลนั้น หัวใจหยุดเต้นแล้ว แพทย์ต้องเยียวยาจนหัวใจกลับเต้นและความดันโลหิตเป็นปกติ แต่ไม่สามารถพูดได้ ครั้นถึงเวลา ๐๕.๐๐ น. ของวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ครูแช่มช้อยก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ ๖๔ ปี |
|
ในการบำเพ็ญกุศลศพครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ณ วัดตรีทศเทพนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหน้าศพ และในวันพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร ๕ ไตร ทอดถวายพระสงฆ์บังสุกุลในการพระราชทานเพลิงศพด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ |
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th/.
ความคิดเห็น