ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    A Tranquilizer for your Christmas Eve : ยากล่อมใจในคืนฝัน

    ลำดับตอนที่ #107 : จิตติกับทัตตวา, และคำถามที่ยากจะตอบ The Boy With The Thorn In His Side 心に茨を持つ少年

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 200
      1
      6 ก.พ. 58

    จิตติหยิบกุญแจขึ้นมา ห้องอพาร์ทเมนต์ของเขาเปิดไฟสว่างอยู่ คงไม่มีหัวขโมยที่ไหนจะแอบเข้ามาตั้งแต่ทุ่มหนึ่ง ดังนั้นคนที่เป็นไปได้ก็มีอยู่เพียงแค่คนเดียว คนเดียวที่ดูเหมือนจะไม่น่าสบอารมณ์นัก จิตติเปิดกลอนประตู เครื่องปรับอากาศตัวใหญ่ในห้องเปิดอยู่ ทัตตวานั่งเขียนอะไรในสมุดอยู่ที่โต๊ะกินข้าว จิตติดูนาฬิกาที่ข้อมืออีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าวันนี้เป็นวันพฤหัสบดีจริงๆ

    “วันนี้กลับบ้านเร็วนะ” เขากำลังประชด ทัตตวามักจะกลับถึงบ้านตอนสองถึงสามทุ่มในวันพฤหัส

    แต่ตอนนี้ ทัตตวายังสวมชุดนอนแบบเดียวกับเมื่อเช้า ผมฟูยุ่งเหยิง จิตติมักจะขับรถไปส่งที่ท่ารถตู้ถ้าเวรของเขาว่าง เช้านี้เขาไม่ได้ทำแบบนั้นและออกจากบ้านก่อนเธอจะตื่นนอน จิตติไม่ได้เป็นพวกเข้มงวดเรื่องการเข้าเรียนแม้ว่าเขาดูเหมือนจะเป็นพวกอย่างนั้นก็ตาม บางครั้งเขาก็โดดเรียนถ้ามีเหตุจำเป็น ดังนั้นก่อนที่เขาจะโกรธที่โดนหลอก เหมือนพ่อแม่ที่ลูกโดดเรียนพิเศษไปเล่นร้านเกม เขาจะถามเหตุผลที่เธอไม่ไปเรียนเสียก่อน

    “ฉันมีคาบเรียนหลักวิชาชีพวันพฤหัสที่แล้ว นักศึกษาทุกคนต้องออกไปแนะนำตัวเป็นกลุ่ม ...” ทัตตวาพูดได้นานขึ้นแม้ว่าเธอยังต้องยังต้องใช้เวลาคิดและค่อยๆ เรียงคำให้เป็นประโยค “...พวกเขาถามฉันว่า “พ่อแม่ฉันทำงานอะไร” “มีพี่น้องรึเปล่า” “ จิตติคิดๆ ดูแล้วก็เห็นว่า คำถามที่เธอเล่ามานั้นทำให้ทัตตวารู้สึกไม่สบายใจ

    “บอกไปสิว่าพ่อแม่เธอเสียไปแล้ว และเธอก็เป็นลูกคนเดียว”

    “ถ้าอย่างนั้นทุกคนก็จะสงสารฉัน และบรรยากาศก็จะเสีย”

    “ก็ปล่อยไป ไม่ใช่ความผิดของเธอสักหน่อยนะ”

    “พวกเขาถามอีกว่า ฉันเรียนมัธยมต้นที่ไหน”

    “ทำไมพวกเขาถามอย่างนั้นล่ะ”

    “ก็ไม่รู้ คงแค่ถามไปเรื่อยๆ”

    “แล้วทำไมเธอไม่บอกผม เราอาจจะช่วยกันหาคำตอบที่ดีๆ ด้วยกันได้”

    ทัตตวานิ่งเงียบ ก้มหน้าลงมองโต๊ะอย่างเศร้าสร้อย จิตติไม่ได้เตรียมตัวรับเรื่องนี้ไว้เลย เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของทัตตวา เป็นเวลาสองปีแล้วที่เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์เข้าถึงที่ไม่จำเป็นเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าเธอมีเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่ทัตตวาก็ไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเองเกินไปกว่าโรงเรียนมัธยมปลายและเรื่องที่เธอเป็นคนกรุงเทพ คำตอบของคำถามพวกนั้นเป็นช่องว่าง ทัตตวาไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์ใดจนกระทั่งเข้าวัยรุ่น ต่อไปในอนาคตยิ่งจะมีคำถามพวกนี้ไม่รู้จบเมื่อเธอพบคนใหม่ๆ ชอบอาหารอะไร? มาจากโรงเรียนไหน? เกิดที่ไหน? ตอนนี้พักอยู่กับใคร? เมื่อลองคิดว่าเธอต้องเว้นเรื่องพวกนี้ว่างไว้ในประวัติส่วนตัวเมื่อเรียนจบแล้วล่ะก็...

    “แล้วเธอทำยังไงล่ะ” จิตติถามขึ้น

    “โกหก”

    จิตติเงียบ เขาคิดหนทางที่ดีกว่านี้ไม่ได้ “ก็นะ ฉันไม่ได้ไปโรงเรียนเลยเพราะแม่ขังฉันไว้ในห้องมาเป็นสิบปี” ใครมันจะบ้าไปตอบแบบนี้ได้ เธอคือเรคต์ เขาเชื่อความสามารถในการแต่งเรื่องของเธอเพื่อจะหลีกหนี แต่อย่างไรก็เถอะ ก็เป็นเพียงชนวนที่รอเวลาระเบิดออกมา เธออาจจะโกหกได้ดีมาตลอด 2-3 ปีโดยไม่บอกเขา แต่เรื่องก็เริ่มจะแดงขึ้นเหมือนที่เรคต์จับโกหกมายด์ได้ เขาเสียใจที่ไม่ทันสังเกตเห็นก่อน แต่เขาจะรู้ได้ยังไงถ้าเอาแต่เงียบอยู่อย่างนั้น? จิตติปล่อยให้ทัตตวาหยุดพักผ่อนในวันศุกร์ แต่ให้เธอสัญญาว่าอาทิตย์หน้าจะไปเข้าเรียน ไม่ว่าต้องโกหกหรือพูดอะไรแปลกๆ ออกไป เพราะว่านั่นเป็นทางเดียวที่ทำได้

    สายโทรศัพท์ไม่พึงประสงค์ดังขึ้นที่มือถือของจิตติก่อนเที่ยงวันของวันถัดมา ยายของทัตตวานั่นเอง หญิงชรามีพลังพิเสษบางประเภทที่จะโทรศัพท์มาทันทีที่จิตติกับทัตตวามีปัญหา  นางพุ่งประเด็นไปที่จุดประสงค์หลักทันทีที่เขารับสาย

    “น้องอีฟเป็นอย่างไรบ้างคะ”

    “สบายดีครับ”

    “เธอไปเรียนทุกวันหรือเปล่า มหาวิทยาลัยนั้นน่ะมีชื่อไม่ค่อยดีนักเลยนะคะเรื่องระเบียบวินัยหย่อนยาน ดิฉันหวังว่าเธอคงจะไม่ไปคบเพื่อนเหลวไหลทำตัวผิดๆ” (“ไม่สวมแม้แต่เครื่องแบบไปเรียน พุทโธ่เอ๋ย!” นางเคยบ่นมาครั้งหนึ่ง) จิตติชะงักอยู่ครู่หนึ่งก่อนตัดสินใจตอบว่าใช่ออกไปแล้วถอนหายใจที่โกหก จากนั้นจึงรายงานหญิงชราไปตามปกติ (ทัตตวาก็ดูว่าจะสนุกดีกับมหาวิทยาลัยนะครับ ตั้งใจเรียน คุณยายน่าจะภูมิใจในตัวหลานได้” นางบอกว่าจะโอนค่าใช้จ่ายมาให้ทัตตวาก่อนสิ้นเดือนแม้ว่าจิตติจะเพียรพยายามปฏิเสธทุกครั้งที่นางเอ่ยปากก็ตาม

    “ดิฉันจะบอกให้เธอกลับบ้านนะคะ ถ้าคุณหมอรู้สึกไม่สะดวกใจ” หญิงชรากล่าวต่อ

    “ไม่เป็นไรครับคุณยาย ผมว่าเธอกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ คิดถึงทัตตวาหรือครับ หรือผมจะพาเธอกลับบ้านไปหาคุณยายตอนเสาร์อาทิตย์ดี”

    “พูดก็พูดเถอะค่ะ คุณหมอคงจะถึงเวลาแต่งงานสักวัน มีครอบครัว มีลูก อายุก็ถึงขนาดนี้แล้วนะคะ จะมาดูแลเธอไปตลอดคงไม่ได้ไม่ใช่หรือคะคุณหมอ”

    “ไม่หรอกครับ ผมไม่ได้กำลังวางแผนจะแต่งงานเลย ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้วครับ” นางยังคงคิดว่าพวกเขาอยู่ด้วยกันในฐานะที่จิตติเป็นผู้ปกครองของทัตตวา คุณหมอจิตติยังมีคู่รักอยู่ และมีโอกาสเป็นอย่างยิ่งว่าหมอจิตติจะตั้งต้นครอบครัว และแน่นอนว่าทัตตวาจะกลายเป็นอุปสรรคชิ้นโตของการสมรส

    แต่ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ หญิงชราไม่ได้ซื่อบื้อเกินไปจนมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจิตติและทัตตวาเป็นเพียงความผูกพันฉันมิตรโดยแท้ไปเสียหมด ผู้เฒ่าที่ซุกลูกสาวใกล้ตายไว้บนชั้นสองของคฤหาสน์ไม่ใช่นางเอกโง่เง่าที่เห็นกันบ่อยๆ ตามละครน้ำเน่าหรอก บางครั้งนางก็เตือนอ้อมๆ ไม่ให้จิตติ “ฉวยโอกาส”กับหลานสาวของนางเช่นกัน นางรู้ว่าเป็นเรื่องไม่สุภาพที่พูดออกมาเช่นนั้น จิตติเอาคำของนางมาใส่ใจ เขาทราบดีพอว่าควรจะระงับตนเองอย่างไรแล้วขีดเส้นไว้คั่นกลางแม้ว่าหลายครั้งเขาอยากจะสารภาพความสัมพันธ์ระหว่างเขากับทัตตวาไปไม่ว่ามันจะดูแปลกแค่ไหน แต่เขาก็ไม่กล้าพอที่จะทำเช่นนั้น  ผู้เป็นยายเพียงเชื่อว่าจิตใจของทัตตวาเบี้ยวบิดไปจนไม่สามารถจะรักใครได้เกินกว่าความรักตามสัญชาตญาณของเด็กทารก เธอกุมมือจิตติไว้เพื่อความสบายใจ เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อความรู้สึกรักใคร่ชอบพอ นางมีเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่จะเชื่อแบบนั้น นางพบหลานสาวถูกล่ามโซ่ นอนกลางรังหนูกองขยะ ไม่มีผู้ใดจะหยั่งทราบหัวใจของคนที่ถูกทรมานอย่างไร้ความเป็นมนุษย์ขนาดนั้นได้ หญิงชราไม่สนทนาต่อ กล่าวลาแล้วบอกแค่ว่านางจะโทรมาใหม่ จิตติรู้ว่าเขาหมดคำจะอ้างและรู้สึกผิดเหลือเกินถ้านางโทรมาอีกครั้งก่อนที่ทัตตวาจะกลับไปเข้าเรียน

    จิตติกลับมาถึงบ้านราวหกโมงเย็น อุ่นข้าวจากเตาไมโครเวฟแล้วจัดโต๊ะอาหาร ทัตตวาเก็บอุปกรณ์การเรียนจากบนโต๊ะเข้าไปในห้องถึงจิตติจะไม่สนใจเรื่องนี้เลยก็ตาม เขาต้องการให้เธอเลิกทำเหมือนว่าเขากำลังกดดันเธออยู่ เหมือนกับว่าที่เธออยู่นั้นทำให้เขารำคาญ เขาอยากบอกเธอแม้จะรู้ว่าไม่มีผล ทัตตวากลัวไปทุกสิ่ง เป็นอย่างที่เธอเคยเป็นมา

    หลังอาหารเย็น จิตติดูข่าวภาคค่ำเฉพาะหัวข้อข่าวหลักก่อนจะเปลี่ยนไปชมบีบีซีเวิร์ลด์ เขาเหนื่อยหน่ายมามากพอแล้วกับวันนี้จนไม่อยากจะรู้เรื่องในประเทศแม้จะเป็นแค่ข่าวโทรทัศน์ก็ตาม ทัตตวาเอาหนังสือเรียนออกมาจากห้องแล้วนั่งฝั่งตรงข้าม ที่ประจำของเธอ จิตติซื้อโต๊ะอ่านหนังสือไปตั้งไว้ในห้องแต่ทัตตวาไม่ใช้เพราะเสียงโทรทัศน์ช่วยให้เธอตั้งสมาธิได้ง่ายกว่า และไม่เปลืองแอร์ด้วย ซึ่งเป็นความกังวลไม่เข้าท่าที่เขาหวังว่าเธอจะไม่คิดมากไปกว่านี้ ทัตตวานั่งชันเข่า เสื้อบอลตัวเก่าครอบไปถึงนิ้วหัวแม่เท้า ขบปลายหัวปากกาแล้วจรดลงเขียนบนสมุด ก่อนจะยกประมวลแพ่งจากพื้นมาบันทึกยุกยิกด้วยปากกาแดง

    “นี่ วันเกิดน่ะ อยากทำอะไรมั้ย” จิตติเริ่มคุยด้วยวิธีแสนซ้ำซาก วันเกิดของทัตตวากำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้า เธอไม่ได้ดูโทรทัศน์และเขาก็ไม่แน่ใจว่าเธอยังฟังเขาอยู่

    “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” คำตอบกลับมาอย่างช้าๆ

    “เราไปไหนกันสักที่ ทำอะไรสักอย่างก็ได้ หรือให้ผมไปซื้อของขวัญด้วยกัน” ความจริงที่ว่าพวกเขาแทบไม่ได้คุยกันจริงๆ จังๆ ยาวๆ นั้นดีสำหรับจิตติเนื่องจากความบกพร่องทางการพูดของทัตตวา แต่ความจริงที่ทั้งสองแทบไม่ทำอะไรร่วมกันเลยให้ความรู้สึกห่างไกลแบบแปลกประหลาด เขาหลงงงงันในความสัมพันธ์ผิดธรรมดาที่เป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกปลอดภัย เพราะเขารู้ว่าทุกอย่างควบคุมได้และพวกเขาไม่ได้หนีจากกันไปไหน ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง

    “ผมหมายถึงว่า เธอไม่ต้องเกรงใจผมเลยนะ ไม่ใช่แขกแปลกหน้าสักหน่อย บอกมาเถอะว่าอยากทำอะไร และอยากให้ผมซื้ออะไรให้เป็นของขวัญวันเกิด”

    “ไปดูหนังก็ดี”

    “อะไรอย่างอื่นเป็นพิเศษล่ะ”

    “อะไรก็ได้” ทัตตวาไม่พูดอะไรต่อ กลับเข้าสู่โลกส่วนตัวของเธอเหมือนที่เคยเป็นทุกครั้ง ไม่มีใครหยั่งลึกลงไปในจิตใจทุกข์ทนทรมานนั้นได้ แม้กระทั่งตัวเขาเอง

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×