คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : The SeekerS : การค้นหาที่ยังไม่สิ้นสุด
กระแสนิยมนิยายแฟนตาซีในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาลงเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสี่ห้าปีก่อน ทำให้นิยายแนวผจญภัยแฟนตาซีออกมาให้เห็นในท้องตลาดน้อยลง และที่มีอยู่ก็เป็นนิยายแปลหรือนิยายแฟนตาซีภาคต่อของนักเขียนที่มีประสบการณ์อยู่แล้วมากกว่าจะเป็นผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ การที่ The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ ผลงานแรกของ ”สัจนา” หรือ Caje ได้ตีพิมพ์ออกมากับสนพ. โอทูเลิฟ นั้นคงเป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพได้ระดับหนึ่ง ส่วนเนื้อหาข้างในก็คงยังต้องติดตามประเมินค่าต่อไป เพราะดูเหมือนว่า The Seekers จะยังอยู่ให้เราลุ้นเรื่องราวได้อีกหลายเล่มเหมือนกัน
โลกไร้ผู้คน : บทนำที่มีผู้คน จุดเริ่มต้นของเรื่องราว
บทนำเรื่อง “โลกไร้ผู้คน” เป็นบทเปิดที่สัจนานำเสนอและเล่าเรื่องราวของเรื่อง ค่อยๆเปิดเผยที่มาและความเป็นไปของตัวละครเอก “ไมอา” ออกมาอย่างดี โดยไม่ต้องพร่ำพรรณนาบุคลิกลักษณะและคุณสมบัติให้ยืดยาวเป็นย่อหน้า หากแต่ใช้สถานการณ์เล็กๆเป็นกลวิธีเล่าแทน ทั้งเรื่องของสาเหตุที่ไมอาต้องเดินทาง วิธีการใช้ของวิเศษเข็มทิศค้นหาสิ่งที่ต้องการ นอกจากนั้นยังมีจุดเล็กๆที่จะเชื่อมเนื้อเรื่องของบทเปิดไปใช้ในเนื้อเรื่องต่อไปได้ อย่าง “กระจกย้ายเงา” ถือว่าเป็นแนวคิดที่ประยุกต์จากเรื่องแฟนตาซีอื่นๆมาใช้ได้อย่างกลมกลืนทีเดียว
กฎแห่งการเดินทาง : บทสนทนาที่ชาญฉลาด
The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ มีจุดเด่นที่น่าประทับใจ คือการเลือกใช้บทสนทนาที่ชาญฉลาด เล่าเรื่องออกมาผ่านการโต้ตอบของตัวละคร รวมถึงสื่อ “สาร” ผู้ผู้เขียนต้องการส่งออกมาโดยใช้บุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่การสักแต่ว่ายัดเอาคำพูดสวยๆเท่ๆ ใส่ปากตัวละครให้เทศนาสั่งสอนสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกจนน่าเบื่อ เราลองมาดูตัวอย่างสักหนึ่งบท เช่น บทสนทนาระหว่างไมอากับโคเซฟ ในบทที่ 3 หน้า 60-61 ที่สื่อถึงเส้นทางการเลือกของการดำเนินชีวิตที่โคเซฟตัดสินใจออกมาได้โดยผู้เล่า(Narrator) ที่อยู่เป็นบุคคลที่ 3 ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาในบทบรรยาย อีกจุดหนึ่งคือบทสนทนาเรื่องการสอนเวทมนตร์ ในบทที่ 8 หน้า 148-150 ที่อธิบายความสำคัญและลักษณะการฝึกเวทมนตร์ผ่านการโต้ตอบได้อย่างน่าสนุก และบทโกหกหน้าตายของไมอาต่อพระราชาแห่งรูลน์ ในหน้า 103 - 104 จุดนี้เองที่เปลี่ยนThe Seekers ให้ดูน่าสนใจแตกต่างจากนิยายแฟนตาซีดาดๆ ที่ให้ผู้บรรยายเล่าเรื่องและรายละเอียดของตนเองยาวยืดเป็นหน้าๆ
กระจกสีชา : เหตุผลของเวทมนตร์
ในราชอาณาจักรรูลน์ สถาปัตยกรรมอันเป็นจุดเด่น น่าสังเกตที่สัจนาสร้างขึ้นมา คือ กระจกประดับสีชา ซึ่งเกี่ยวร้อยกับเหตุผลของอุปกรณ์เคมีและยาเวทมนตร์ ในแง่การกรองแสงสว่าง แสดงให้เห็นว่าสัจนาเองมีหลักการของเหตุผลและใช้หลักการนั้นอธิบายรายละเอียดต่างๆของโลกแฟนตาซีให้สมเหตุสมผลได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “เครื่องแปลภาษา” ที่อยู่ในกระเป๋าเป้เวทมนตร์สี่มิติที่คงไม่เกี่ยวกับหุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคต ซึ่งทำให้ไมอาพูดจากับมนุษย์ในแต่ละมิติที่ตนเองเดินทางไปได้เข้าใจ แม้ว่าจะมีปัญหาที่แปลบทเพลง กวี ติดขัด(หน้า 59) หรือไม่สามารถแปลอักขระโบราณได้(หน้า 111)และเรื่องการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของชุดสารพัดนึก(หน้า 82) แม้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่า “โลกแฟนตาซี” นั้นเป็นโลกแห่งจินตนาการ จะอยู่เหนือความจริงอย่างไรก็ได้ แต่การที่โลกแห่งแฟนตาซีนั้นสมเหตุสมผล มีที่มาที่ไป ย่อมชักชวนให้ผู้อ่านหลงเชื่อและกลืนตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกแฟนตาซีนั้นได้ง่ายกว่า
ปรัชญาแห่งการฝึกฝน : ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือผู้กล้า ย่อมต้องฝ่าฟัน
บทที่จับใจและเขียนได้ดีที่สุดของ The Seekers ในทัศนะของผู้วิจารณ์ เห็นทีจะหนีไม่พ้นบทที่ 7 “การฝึกวิชา” ซึ่งเนื้อหาในบทนี้อาจจะสะท้อนใจผู้อ่านหลายคนที่ยังอยู่ในวัยเรียน วัยแสวงหา และมีความฝันมากมายเข้ามาเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต แต่ก็ยังหาไม่พบ อาจเป็นเพราะว่า “สัจนา” เขียนนิยายเรื่องนี้ในขณะที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีพลัง ผู้กล้าโคเซฟเองไม่ได้วชาญหรือถนัดอะไรมากเป็นพิเศษต่างจากผู้กล้าในเรื่องแฟนตาซีอื่นๆที่มีอาวุธวิเศษในตำนานไม่ว่าจะเป็นดาบเทพหรือไม้เท้า แหวน มงกุฎ ชุดครบเซ็ต เป็นภาคบังคับให้ใช้ โคเซฟเองเป็นผู้กล้าที่ต้องผ่านการเรียนรู้อย่างเข้มข้นเป็นเวลาสองปี ฝึกฝนจนรอบด้านทุกศิลปะการต่อสู้ ประสบความลังเลสงสัยว่าตนเองจะเอาดีทางใด จะใช้อะไรไปสู้กับจอมมาร จนสรุปได้ว่าต้องเอาทุกอย่างไปต่อสู้พร้อมๆกันนี่แหละ ชวนให้คิดถึงการสอบแอ็ดมิชชันของเหล่านักเรียนที่ยังไม่ตกลงปลงใจจะเลือกสอบตรงทางไหน ได้แต่แบกอาวุธคือความรู้ใส่สมองทั้งเจ็ดวิชาสิบวิชาไปสอบ GAT PAT O-net A-net ตามคำบัญชาของพระราชาและพระราชินีประจำอาณาจักรที่ชื่อว่าบ้านและครอบครัวฉันใดก็ฉันนั้น อีกจุดหนึ่งที่สัจนาถ่ายทอดออกมาได้ดีผ่านบทสนทนาที่ชาญฉลาดคือ ภาวการณ์ชะงักนิ่ง ที่เห็นว่าการเรียนและกิจการที่ทำทุกอย่างย่อมมีช่วงเวลาของความหยุดชะงัก ถ้าหากขยันหมั่นเพียรและใช้ความตั้งใจจริงฟันฝ่าไป ก็จะพบกับความสำเร็จที่เหนือขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง(หน้า 130) กลวิธีการเล่าก็ดี น้ำเสียงของตัวละครที่ส่งออกมาก็ดี พอมองออกได้ว่าผู้เขียนเองได้ผ่านขั้นตอนความยากลำบากดังกล่าวมาแล้วและอยากจะถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านได้กำลังใจไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน งานเขียน หรือผู้กล้าในโลกแฟนตาซี การฝึกฝนและอดทนที่จะฟันผ่าขีดจำกัดนั้นไปย่อมจะนำพาความสำเร็จมาสู่ผู้ฝึกฝนได้อย่างแน่นอน
หอคอยฟ้าทมิฬ : จุดมืดมิดและรูรั่วที่รอการเติมเต็ม
ไม่ใช่ The Seekers จะมีแต่จุดดีน่าชมไปเสียทุกอย่าง จุดบกพร่องที่เห็นได้เด่นชัดของ The Seekers กลับมาปรากฏในช่วงท้ายก่อนจะจบนี่เอง การฟันผ่าอุปสรรคในหอคอยฟ้าทมิฬที่ตัดสลับกับตำนานผู้กล้า ถือว่าเป็นกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ และอาจจะทำได้ดีกว่านี้หากเพิ่มเติมส่วนของการต่อสู้ หรือปัญหาที่โคเซฟพบเจอในแต่ละชั้นๆ ให้ละเอียดขึ้นสมกับที่อุตส่าห์ฝึกฝนทั้งร่างกาย จิตใจ อาวุธ และเวทมนตร์ มาตลอดสองปี แต่กลับเป็นว่าสัจนาเทน้ำหนักให้เรื่องของฝั่งผู้กล้าในอดีตมากกว่าจนทิ้งความตื่นเต้นเร้าใจในส่วนของโคเซฟไปเสียมาก
หากจะเพิ่มเติมเข้าไป เช่น บรรยายฉากการแก้ไขต่อสู้โดยใช้เวทมนตร์ในหอคอยชั้นที่ 3 บรรยายความปวดร้าวและสับสนในจิตใจของโคเซฟเมื่อพบกับภาพลวงตาตัวปลอมของคนใกล้ชิดในชั้นสุดท้าย ซึ่งอาจเรียงลำดับจากคนสำคัญน้อย (พระราชา อาวีเนียส ธาสก้า) คนสำคัญมาก (ครอบครัว) และคนสำคัญที่สุดตามเนื้อเรื่อง (ไมอา) ที่กว่าจะตัดใจเข้าต่อสู้ได้ ต้องถูกภาพลวงตาเหล่านั้นทำร้าย หรือบาดเจ็บโชกเลือดมากกว่านี้สักหน่อยคงจะดีขึ้น หรืออาจจะเพิ่มเติมการต่อสู้กับจอมมารตัวร้ายหลักไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้กล้าในอดีตหรือฝั่งโคเซฟ อย่างไรก็ตามการตัดสินประเมินค่าในขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปหากมองว่า เรื่อง The Seekers นี่จะมีต่ออีกถึง 3 เล่ม ซึ่งเนื้อเรื่องตรงนี้อาจจะถูกเก็บงำเอาไว้เพื่อไปเปิดเผยในเล่มหลังๆก็ได้ อีกจุดบกพร่องหนึ่งที่เห็นมากในช่วงแรก แต่ลดลงในบทหลังๆคือ การใช้คำฟุ่มเฟือย คำผิดประเภท ที่ดูหรูหราแต่ไม่มีความหมาย เช่น “เอ่ยเอื้อนออกมา” (หน้า 20) “เคลื่อนคล้อยมองถัดไป” (หน้า 22) “รัฐบุรุษของรูลน์” (หน้า 94) ซึ่งความคลี่คลายของความคิดและเนื้อเรื่องคงจะทำให้ภาษาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต
ตำนานวีรบุรุษ : วาทกรรมของนิทาน การค้นหาที่ยังไม่สิ้นสุด
(ส่วนนี้อาจจะทำให้เสียอรรถรสของเนื้อเรื่อง กรุณาลากคร่อมหากต้องการอ่าน)
บทจบของเล่มแรกนี้ชวนให้พิศวงว่า “สัจนา” กล้าหาญในการนำเสนอจุดจบของนิยายแฟนตาซีที่ไม่ใช่เรื่อง Happy Ending ยังไม่พอ ยังท้าทายความคิดและความเชื่อของ “ตำนานวีรบุรุษ” ด้วยว่า เรื่องราวใดๆก็ตามอาจจะถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของผู้เล่า เข้าตำรา “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” มากกว่าจะเป็นความจริงของผู้กล้าที่ประสบความสำเร็จในการปราบจอมมารร้าย อาจเรียกได้ว่าบทจบนี้เป็นนิยายแฟนตาซีที่เข้าข่ายถอดรื้อนิยม(Deconstructionism) ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม บทต่อสู้ของ The Seekers ไม่ได้ดึงดูดอารมณ์ให้ตื่นเต้นเท่าที่ควรก่อนหน้า เมื่อมาหักมุมเสียก่อนว่าผู้กล้าพบความพ่ายแพ้และต้องค้นหาความจริงในเล่มต่อไป ทำให้ไม่เกิดอารมณ์ความรู้สึกเสียดาย หรือขัดแย้ง ชวนคิดต่อมากนัก อีกทั้งดูเหมือนว่าเป็นตอนจบที่ห้วนไปนิดหน่อย หวังว่าเล่มต่อไป “สัจนา” จะสามารถหาจุดลงตัวระหว่างบทสนทนาและฉากตื่นเต้นได้ดียิ่งขึ้นเพื่อจุดจบที่ลงตัว
(จบส่วนที่ทำให้เสียอรรถรส)
The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ ถือได้ว่าเป็นนิยายแฟนตาซีซีรีส์หน้าใหม่ ที่มีคุณภาพไม่แพ้นิยายรุ่นพี่ แม้เรื่องราวจะยังสะดุดชะงัก ไม่เข้มข้นถึงอกถึงใจนักอ่านที่ต้องการความตื่นเต้น แต่ปรัชญา แนวคิด ภาษา ก็ส่งผ่านออกมาได้อย่างละเอียดลออ ลุ่มลึกและมีมิติ รวมถึงสาระแนวคิดที่ซ่อนอยู่ก็เหมาะกับการอ่านทบทวน และสามารถอ่านซ้ำไปมาเพื่อตีความต่อได้เรื่อยๆ อีกทั้งคุณภาพการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งการพิสูจน์อักษรที่หาที่ผิดไม่ได้เลยภาพสี ภาพประกอบ ปก บทสนทนาเล็กๆน้อยๆกับผู้เขียน และการ์ตูนแถม ในราคา 185 บาทนั้นถือว่าคุ้มค่าควรแก่การซื้อเก็บ และติดตามรอเล่มต่อๆไปในอนาคต
ความคิดเห็น