Caesare Borgia : เจ้าผู้ปกครองมองผ่านการ์ตูน
มองเจ้าผู้ปกครองผ่านมุมการ์ตูนตาหวาน
ผู้เข้าชมรวม
2,719
ผู้เข้าชมเดือนนี้
16
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ภาพเหมือนของนิคโคโล มาเคียเวลลี
Niccolo Machiavelli เขียน The Prince ขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ ลอเรนโซ่ เดอ เมดิซี เจ้าผู้ครองแคว้นฟีเรนเซ่(ฟลอเรนซ์) ขณะนั้น เป็นหนังสือว่าด้วยรัฐอันมีเจ้าปกครองซึ่งได้จัดจำแนกชนิดของรัฐอันมีเจ้าปกครอง เล่าถึงการกำเนิดและการล่มสลาย เจ้าผู้ปกครองผู้ทรงคุณสมบัติดีเลิศ สร้างรัฐขึ้นมาด้วยกำลังของตนเองและเจ้าผู้ปกครองผู้ได้รัฐมาโดยโชคชะตา โดยในบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐที่ มาเคียเวลลีกล่าวถึงนั้น ผู้ที่โดดเด่นและได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของเจ้าผู้ปกครอง ที่สามารถกระทำการนอกบัญญัติศีลธรรมจรรยาได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติ3 มากที่สุด คือ เชซาเร่ บอร์เจีย ดยุค วาเลนติโน(1475-1507)
ภาพเหมือนของเซซาเร่ บอร์เจีย
เซซาเร่ บอร์เจีย ผู้เป็นบุตรลับของพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 อาศัยอิทธิพลของพระสันตะปาปาผู้บิดาคอยหนุนกองทัพศาสนจักร ใช้กลอุบายทั้งสุจริตและทุจริต สร้างและหักหลังพันธมิตร สร้างสันติภาพและก่อสงคราม รบซึ่งหน้าและลอบสังหารเพื่อขึ้นครองอำนาจเหนือคาบสมุทรอิตาลี เขาทำได้แม้แต่สังหารน้องชายขณะที่ดำรงศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัล หรือส่งน้องสาวของตนเองไปสมรสกับผู้ครองแคว้นอื่น ก่อนที่จะกรีธาทัพไปโจมตีแคว้นนั้นแล้วส่งน้องสาวของตนไปสมรสอีกหลายครั้ง
ชีวิตของเจ้าผู้ปกครองผู้นี้จึงเป็นชีวิตที่มีสีสันต้องตาต้องใจนักเขียนการ์ตูนสาวๆของญี่ปุ่นจนมีการตีความ ผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆมากมายแต่เรื่องที่น่าสนใจทั้งงานภาพ และการดำเนินเรื่องนั้น อาจยกออกมาเป็นพิเศษได้ ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ “คุณหญิงมงกุฎดอกไม้” (Kakan no Madonna) ผลงานชิ้นโบแดงต้นทศวรรษที่ 90 ของ อ. ไซโต จิโฮ และอีกเรื่องหนึ่งคือ คันตาเรลลา (Cantarella) ของ อ. ยู ฮิกุริ
ในคุณหญิงมงกุฎดอกไม้, เซซาเร่ บอร์เจีย อยู่ในฐานะตัวร้ายที่เป็นศูนย์กลางการกระทำที่ส่งอิทธิพลต่อเนื้อเรื่องทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การแย่งชิงเลดี้เลโอโนร่า หญิงสาวในภาพที่ลีโอนาร์โด ดา วินชี่ วาดภาพจินตนาการไว้ จากเจ้าผู้ครองแคว้นปาดัว แล้ววางแผนใช้นางตามตำนานดาบราชสีห์มรกต เพื่อรวบรวมแผ่นดินอิตาลี ต่อมาเซซาเร่ได้ร่วมมือกับลีโอนาร์โด ดา วินชี่ ผลิตยาพิษจากผลึกมรกตแล้วใช้บอลลูนลมร้อนโปรยยาพิษโจมตีนครรัฐที่กระด้างกระเดื่องต่อกองทัพศาสนจักร บงการพรากเจ้าชายฟัลโกแห่งนาโปลีจากเลดี้เลโอโนร่า แต่ด้วยโชคชะตาที่ไม่เข้าข้างตามที่มาเคียเวลลี่เขียนถึง พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 สวรรคตก่อนที่เซซาเร่จะรวมแคว้นให้เป็นรัฐชาติหนึ่งเดียว อีกทั้งตนเองก็ล้มป่วยลงด้วยโรคระบาดจนสูญเสียแคว้นในอาณัติศาสนจักร(Papal State) ไปเกือบหมด และสุดท้ายก็ต้องสิ้นชีพลงอย่างเดียวดายกลางสนามรบ
แตกต่างจากในเรื่องคันตาเรลล่า ที่อ.ยู ฮิกุริให้ภาพของเซซาเร่ บอร์เจียในภาวะผู้ถูกกระทำ นับแต่การเกิดมาที่ถูกคาร์ดินัลโรดริโกสังเวยวิญญาณแลกกับมารขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ถูกพี่ชายกดขี่รังแก ทำให้เซซาเร่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้เข้าใจ จนมารเกือบครอบงำได้ หากยังมีผู้มาช่วยเหลือไว้ได้ทัน คือ เคียโรมิตรสนิท แต่ต่อมาเขาก็กลายเป็นนักฆ่าผู้โหดเหี้ยมใต้คำสั่งของเซซาเร่ ฉายา ดอน มิเคล็อตโต ในเรื่องคันตาเรลล่าแทนที่จะแสดงถึงการต่อสู้ของเซซาเร่กับอำนาจจากทั้งศาสนจักรและการเมืองที่บีบคั้นเขาเพียงด้านเดียว ยังมีด้านที่เซซาเร่ต้องต่อสู้กับด้านมืดของ “มาร” ในจิตใจเขาเองอีกด้วย
จุดร่วมของทั้งสองเรื่องนอกจากจะเป็นการ์ตูนผู้หญิง(Shoujo Manga) ที่ใช้ลายเส้นพลิ้วไหวงดงาม ดวงตากลมโต แทรกจุดสนใจนอกเหนือจากเนื้อเรื่องทางประวัติศาสตร์ปกติเช่น คุณหญิงมงกุฎดอกไม้มีตำนานหญิงผมเงินและดาบราชสีห์มรกต ส่วนคันตาเรลล่ายิ่งพิสดารพันลึกไปถึงขั้นการต่อสู้กับวิญญาณปีศาจและมนตร์มายาแล้ว ทั้งสองเรื่องยังแสดงปมความโดดเดี่ยวของการเป็น “เจ้าผู้ปกครอง” หรือเพียงแค่ความทะยานอยากจะเป็นเจ้าผู้ปกครองออกมาเหมือนกัน ความเหงาของผู้ทรยศหักหลังผู้อื่น ไม่มีความจริงใจกับใครแม้แต่คนที่ตนรัก เมื่อถึงเวลาสิ้นยศศักดิ์อำนาจแล้วก็ไม่เหลือแม้แต่คนเคียงข้าง เพราะระแวงว่าผู้อื่นจะหักหลังตนเองดังเช่นตนเองหักหลังผู้อื่นอยู่ร่ำไป
ทั้งสองเรื่องนี้มีงานภาพและแสดงรายละเอียดของวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมอิตาลีตามยุคสมัยได้อย่างถี่ถ้วน รวมถึงการอิงประวัติศาสตร์ได้กลมกลืนและเพิ่มความน่าสนใจด้วยเรื่องแฟนตาซี แต่ผู้อ่านควรมีวิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะอย่างไรการ์ตูนคือเรื่องแต่งเท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริง
อนึ่ง ทั้งสองเรื่องถูกประเมินค่าไว้ที่ Rate R เนื่องจากมีฉากความรุนแรง ฆาตกรรมโชกเลือด และความสัมพันธ์ทางเพศพอสมควร ผู้อ่านพึงระวังมิให้เด็กเล็กในครอบครัวหยิบไปอ่านเล่นด้วย
*****************************************************
หมายเหตุเพิ่มเติม
1. มาเคียเวลลี่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองอีกเล่มหนึ่งขึ้นมาก่อนแล้ว คือ The Discourse of First Ten Book of Titus Livy ว่าด้วยมหาชนรัฐแต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่า The Prince
2. มาเคียเวลลี่อุทิศหนังสือให้ลอเรนโซผู้หลานของลอเรนโซ อิล แม็กนิฟิโก หรือลอเรนโซผู้ประเสริฐซึ่งมีนามเดียวกับหลานและเป็นนายจ้างของเลโอนาร์โด ดา วินชี่ ขณะที่เขาพักอยู่ ณ นครฟิเรนเซ่
3. นักคิดบางคนเช่น วอลแตร์ เห็นค้านกับแนวคิดที่ว่ามาเคียเวลลี่นิยมลัทธิเผด็จการอำนาจนิยม โดยมองว่า มาเคียเวลลี่มอบบทเรียนให้แก่เจ้าผู้ปกครองทรราช แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มอบบทเรียนแก่ผู้นิยมมหาชนรัฐพร้อมกันไปด้วย
4. เซซาเร่ได้บรรดาศักดิ์ดยุควาเลนติโน (Duke Valentinoise) ครองแคว้นบาเลนเซีย(Valencia) มาจากการสมรสกับธิดาของกษัตริย์สเปน โดยมิได้เข้าไปปกครอง ณ แคว้นจริง คล้ายกับเจ้าทรงกรมของไทย
5. อ.ไซโต จิโฮ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 80-90 งานที่มีชื่อเสียง เช่น ตำนานรักห้องสมุด ฉันจะเต้นรำกับเธอในชุดขาว คุณหญิงมงกุฎดอกไม้ นักรบสาวอูเทน่า เป็นต้น เคยมาแจกลายเซ็นในเมืองไทยหลายครั้งโดย บ. สยามอินเตอร์คอมิคส์เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ทั้งหมดในไทย
6. อ.ฮิกุริ ยู เป็นนักเขียนการ์ตูนที่โด่งดังจากการเขียนการ์ตูนแนว Shonen-ai (Boy’s Love) ผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น Zeus Seimaden Cantarella (ยังไม่จบ) ลิขสิทธิ์โดน สนพ.วิบูลย์กิจ
ผลงานอื่นๆ ของ เทราสเฟียร์ เอล เซราฟีเตอร์ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ เทราสเฟียร์ เอล เซราฟีเตอร์
ความคิดเห็น