ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณกรรมวิจารณ์ของเทราสเฟียร์

    ลำดับตอนที่ #9 : ลบตายสายใยสังหาร : ตัดบัวยังเหลือใย ตัดใจขออ่านต่อ

    • อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 54


     ลบตายสายใยสังหาร (The Relation : Code Erase) เป็นหนึ่งในนิยายชุด Sataporn New Blood Fantasia เขียนโดย Vermouth ซึ่งจะนำมาวิจารณ์เป็นเล่มแรกของชุด บทวิจารณ์นี้จะเปิดเผยเนื้อเรื่องทั้งหมดของเล่ม 1 หากผู้ใดยังไม่อ่านตัวเรื่อง และไม่อยากทราบรายละเอียดก่อน ไม่ควรอ่านบทวิจารณ์นี้ต่อ

     

    ลาบิรินธ์แห่งจิตใจ : กลวิธีการเล่าในเขาวงกต 

     

    ลบตายสายใยยังหาร (ต่อจากนี้จะเรียกย่อๆ ว่ารีเลชัน) ใช้มุมมองการดำเนินเรื่องแบบบุคคลที่สาม โดยเน้นจุดไปที่ตัวละครเอกคือไรอัน ซึ่งวิธีการเล่าดังกล่าวยังปรับช่วงเวลาและสถานที่สลับกันไปมาเพื่อสร้างความรู้สึกสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้อ่าน และผู้อ่านจะได้รับรู้ความนึกคิดในแบบเดียวกันกับตัวละครเอก คือถูกสลับสถานที่ระหว่างโลกของความเป็นจริงกับมิติแห่งความทรงจำที่เรียกว่า ลาบิรินธ์แห่งจิตใจ 

     

    ไรอันได้เข้าไปสู่ลาบิรินธ์แห่งจิตใจของหลายคน หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของแลนดิสคู่หูซึ่งอาจารย์แอ็คเซลได้มอบหมายภารกิจให้เขา นำไปสู่ความกดดันในจิตใจของไรอันเองที่ต้องสังหารและลบตัวตน อีเรสแลนดิสออกตามคำสั่ง ซึ่งฉากความลังเลดังกล่าวได้ถูกนำมาเปิดเรื่องตั้งแต่หน้าแรก ซึ่งผู้เขียนตั้งใจเอาแก่นสำคัญของทั้งเล่มมาดึงดูดไว้ในตอนนำเรื่อง

     

    น่าเสียดายที่ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถเค้นให้ถึงที่สุด เนื่องจากเขาวงกตของจิตใจดังกล่าว การเล่าสลับไปมาตัดตอนหลายครั้ง ส่งผลให้อารมณ์การเล่าเนื้อเรื่องว่างโหวงเป็นเป็นช่วงๆ เช่น ระหว่างที่ไรอันอยู่ในลาบิรินธ์ของแลนดิสเพื่อเผาหนังสืออันเป็นรีเลชันแรกที่เขาทำลาย ก็ซ้อนทับด้วยเรื่องในอดีตระหว่างแลนดิสกับไรอันไปอีกที (หน้า 127-133) และในช่วงสุดท้ายของเรื่องที่ไรอันจะสังหารแลนดิสจริงๆ ซึ่งสลับกันไปมาระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างการก่อรัฐประหารจับกุมราชาเอริค การเล่าเรื่องส่วนนี้ยังเว้นช่องว่างน้อยเกินไปจนอาจทำให้ผู้อ่านสับสนยิ่งกว่าตัวไรอันเอง

     

    อีเรส : เผด็จการความทรงจำ

     

    วิธีการเล่าข้างต้นแม้จะทำให้ผู้อ่านสับสนอยู่บ้าง แต่ก็เหมาะสมกันดีกับแกนหลักของเรื่องคือความทรงจำ และการลบล้างความทรงจำที่เกี่ยวกับบุคคล ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หนึ่งขององค์กรอีเรส ดังปรากฏในคำพูดของแอ็คเซลว่า การกำจัดความชั่วร้ายต้องกำจัดที่ต้นเหตุ ลบร่องรอยทั้งหมดให้หายไปจากโลก (หน้า 67 ) และแนวคิดของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้อื่นตามตำนานนักบวชสองคน (หน้า 135-136) 

     

    แนวคิดการลบตัวตนของผู้คนและลบความทรงจำนั้นไปด้วย ค่อนข้างเป็นความคิดเชิงเผด็จการ ดังเคยปรากฏในนิยายแนว Dystopia ของ George Orwell เรื่อง 1984 ซึ่งกระทรวงแห่งความจริง (Minitru : Minister of Truth) จะทำการแก้ไขข่าวและข้อมูลเพื่อลบตัวตนของประชาชนที่เห็นขัดแย้งต่อ Big Brother และรัฐบาล Oceania ออกไปอย่างสมบูรณ์ หรือในโดราเอมอนตอน "สวิตช์เผด็จการ" ที่โนบิตะสามารถกดลบตัวตนของเพื่อนๆ ที่ไม่พอใจออกจากโลกได้โดยสมบูรณ์ ก่อนที่โดราเอมอนจะมาเฉลยในตอนจบว่า สวิตช์เผด็จการเอาไว้ใช้สั่งสอนผู้มีอำนาจ

     

    ขอคาดเดาว่า เล่มต่อๆ ไปของ The relation จะเป็นการตั้งคำถามต่อองค์กรอีเรสและวิธีการปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว อาจถึงขั้นการล้มล้างองค์กรอีเรสในที่สุด

     

    เซเฟียร์ ฮาเลย์ สไกล์ : นามนั้นสำคัญไฉน

     

    เรื่องที่อ่านแล้วยังสะดุดอยู่ในรีเลชั่นคือ ชื่อของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเรื่อง ที่แต่งชื่อขึ้นใหม่เพื่อให้ดูแฟนตาซีมากขึ้น เช่น เซเฟียร์สัตว์พาหนะ สไกล์นกส่งสาร ข้าวฮาเลย์ หรือลัวร์ที่มีบทมากที่สุด ในช่วงที่ไรอันต้องลบรีเลชันลัวร์ในลาบิรินธ์ของแลนดิส

     

    ผู้วิจารณ์ไม่เห็นความสำคัญในการตั้งชื่อต่างๆ ขึ้นมาใหม่ดังกล่าว ในเมื่อสิ่งต่างๆ ที่ใช้ชื่อนั้น ต่างก็มีหน้าที่และลักษณะไม่แตกต่างจากของปกติที่มีอยู่ทั่วไปในโลกธรรมดา เซนเฟียร์ที่ออกมาครั้งเดียวก็เหมือนยูนิคอร์น สไกล์ไม่ต่างอะไรจากเหยี่ยวส่งสาร ข้าวฮาเลย์กับข้าวสาลีก็เหมือนกัน แม้แต่ลัวร์ก็อาจแทนที่ด้วยหนูตะเภาหรือกระต่ายสักตัว

     

    การขนานนามขึ้นใหม่อาจจะมีประโยชน์ หากนามนั้นมีสิ่งแตกต่างในสาระสำคัญจนเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป แต่เหล่านามที่ตั้งขึ้นใหม่ในรีเลชัน กลับมีสภาพเหมือนเดิมจนไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อใหม่ ดอกไวโอเล็ตก็ยังเป็นดอกไวโอเล็ตได้เหมือนเดิม

     

    รวมถึงสำนวนแปลกๆ ที่ปรากฏในเรื่อง เช่น "เหมือนกันราวกับพิมพ์" (หน้า 62) เส้นเอ็นเขียวๆ (หน้า 108 และ 120) ที่น่าจะเป็น "ราวกับถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน" หรือ "เล้นเลือดปูดเขียว" มากกว่า

     

    ฟิลาเดอเฟีย : ราชอาณาจักรที่วุ่นวาย

     

    พล็อตรองในเล่มแรกของรีเลชัน คือความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอาณาจักรฟิลาเดอเฟีย ซึ่งเมื่อเล่าต่อไปแล้วกลับเด่นขึ้นจนเกือบจะกลบประเด็นพล็อตหลักไปด้วย อาจจะเป็นเพราะจำนวนหน้าที่น้อยจนต้องอัดเนื้อเรื่องที่มีหลายปมหลายประเด็นให้ขมวดเข้ารวดเร็วที่สุด ถ้าจำนวนหน้าได้มากกว่านี้ หนากว่านี้สัก 50 หน้า อาจจะขยายเรื่องหลายเรื่องให้เข้าถึงมากขึ้น และปรับสมดุลระหว่างพล็อตหลัก (การอีเรสแลนดิส) ไปพร้อมกับพล้อตรอง (ปัญหาภายในอาณาจักร) ได้ลงตัวกว่านี้

     

    เรื่องราวของกษัตริย์ผู้เยาว์เอริค แม่ทัพดันแคน และแผนยึดอำนาจของเสนาบดีฝ่ายซ้าย แทบจะสามารถแยกออกมาเขียนเป็นนิยายใหม่ได้อีกหนึ่งเล่ม เพราะมีเบื้องลึกเบื้องหลังและเรื่องเล่าซ้อนเข้าอยู่ในนั้นมากมาย รวมถึงแนวคิดปรัชญาการปกครองของเอริค กับการวางแผนยึดอำนาจของดันแคนก่อนที่จะเข้าสวามิภักดิ์ ความลึกลับเกี่ยวกับการตายของเจ้าเมือง และอนาคตการปกครองหลังเสนาบดีปราบดาภิเษกแล้ว

     

    อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเล่มต่อๆ ไปของรีเลชัน จะนำพาเอริคกลับมาทวงบัลลังก์อีกหน แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เอริคอาจจะเด่นกว่าไรอันและแลนดิสเสียอีก

     

    รีเลชัน : สายสัมพันธ์ที่ยังไม่เข้มแข็งพอ

     

    ความผูกพันและเกลียดชังระหว่างแลนดิสและไรอัน เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสองสามวันที่ได้รับใช้ใกล้ชิด ออกจะเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดและรวดเร็วมากหากจะคิดว่าทำให้เด็กผู้ชายสองคนฝังใจกันมากขนาดนี้  ซึ่งถ้าขยายเวลาที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเพิ่มเป็นสองสามเดือน ก็ไม่เห็นจะแตกต่างอะไรมาก และยิ่งทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเด็กชายทั้งสองดูผูกพันในกรอบเวลาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

     

    เช่นเดียวกับการลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับแลนดิสของคนในคฤหาสน์ พ่อผู้เป็นเจ้าเมือง และโนอาร์ ฮันลาลาน ซึ่งยังเป็นปริศนาอยู่ว่า หากแลนดิสได้เข้าร่วมองค์กรอีเรสมาสองปี ได้ปฏิบัติการสังหารและเผาหมู่บ้านของไรอันแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมาลบความทรงจำของเจ้าเมืองและคนในจวนทิ้งไปตอนนี้ อีกทั้งปริศนาเรื่องน้องสาวซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ตายในสองปีด้วย

     

    ปมเรื่องดังกล่าวมีมากมายซึ่งยังไม่เฉลย และยังไม่เห็นเบาะแส

     

    ในตัวเรื่องเอง สามารถเคลียร์พล็อตหลักได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น เรื่องการซ้อนทับกันของลาบิรินธ์ซึ่งทำให้รีเลชันถ่ายโอนสลับกัน เช่นกรณีที่มีแอ็กเซลสองคนสังหารกันเองตอนพบกันครั้งที่สอง (หน้า 62) หรือการที่ลัวร์กัดไรอัน เนื่องจากจำเขาไม่ได้เพราะได้ลบรีเลชันไปเสียแล้ว (หน้า 175)

     

    เมื่อปิดด้วยการหักมุมให้แลนดิสไม่ตาย และไรอันกลับเป็นคนตายและลบความทรงจำของคนอื่นที่เกี่ยวกับตัวเองเสียเอง จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ว่าตกลงไรอันจะสามารถฟื้นกลับมามีบทบาทได้อีกหรือไม่ และเรื่องจะดำเนินไปอย่างไรหลังจากตัวเอกตาย ซึ่งยังต้องติดตามต่อในเล่มต่อไป แต่บางครั้งปมปริศนาที่ไม่ค่อยเคลียร์ก็ทำให้ความน่าติดตามอ่านลดลงไปได้เช่นกัน

     

    ลบตายสายใยสังหาร : ตัดบัวยังเหลือใย ตัดใจขออ่านต่อ

     

    เนื่องจากเหตุผลข้างต้นทั้งหมดที่กล่าวมา การวิเคราะห์เรื่อง ลบตายสายใยสังหาร จึงไม่อาจพิจารณาได้อย่างถี่ถ้วนกว่านี้ ตราบที่เรื่องยังไม่จบสมบูรณ์ 

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×