ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กว่าจะเป็นหนังสือ

    ลำดับตอนที่ #9 : โกสต์ไรเตอร์ วิญญาณนักเขียนในเงามืด

    • อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 54


     ก็มาพบกันเป็นระยะๆครับ สำหรับบทความแนวตีแผ่วงการหนังสือ คิดว่าอีกไม่นานผมอาจจะถูกสำนักพิมพ์ทั้งหลายขึ้นบัญชีดำฐานสาวไส้ให้กากินล่ะมั้ง (ฮา)

    หนังสือที่ขายดิบขายดีเป็นเบสต์เซลเลอร์ขึ้นหิ้งตามร้านหนังสือต่างๆ ในสิบอันดับแรก เว้นเสียจากแนวธรรมะของพระเกจิอาจารย์ หรือรักหวานแหววแจ่มใสเสียแล้ว ก็ไม่พ้นหนังสือที่ "คนดัง" หรือ "ดารา" ขึ้นหน้าปกเล่าประวัติชีวิตตัวเอง หรือสารพัดจะแนะนำวิธีใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์แบบเซเล็บทั้งหลาย ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเท่าพิมพ์ซ้ำเป็นสิบๆ รอบ ยิ่งได้แรงหนุนจากรายการโทรทัศน์ ที่มักเชิญดาราคนดังผู้เขียนหนังสือไปโฆษณาขายของกันทุกราย ก็ยิ่งขายดีไปกันใหญ่ เป็นข้อพิสูจน์ว่า คนส่วนมากซื้อหนังสือเพราะได้อิทธิพลจากสื่อทางอื่น ไม่ใช่ซื้อเพราะเลือกซื้อหนังสือเอง

    แล้วคุณคิดว่า ดาราหรือคนดังทั้งหลายเค้ามีความสามารถเขียนหนังสือให้สละสลวยสวยเก๋ มีปรัชญงปรัชญาชีวิต เล่าเรื่องการตกระกำลำบากเป็นดราม่าได้ขนาดนั้นจริงๆหรือ?

    ร้อยคนจะมีสักคนยังยากล่ะครับ 
    ต่อให้คนดังเขียนได้จริง เวลาจะมานั่งเขียนก็แทบจะไม่มีกันหรอก

    ตรงจุดนี้เองจึงเป็นกำเนิดของอาชีพนักเขียนผี Ghost Writer.



    ไม่ใช่คนนี้นะ คนนี้ โกสต์ ไรเดอร์

    ในเมื่อคนดังอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง และนักเขียนก็พร้อมจะถ่ายทอดชีวิตของคนดังออกมาให้โดยปิดบังชื่อเสียงเรียงนามของตนให้ไปอยู่เป็นชื่อเล็กๆ ในหน้าข้อมูลทางบรรณานุกรม อย่างมากก็บีบตัวเล็กให้เห็นติดปลายติ่งว่าเป็น "ผู้เรียบเรียง" มิใช่ชื่อโดดเด่นบนปก อุปสงค์และอุปทานก็ตกลงตรงกันที่จุดสมดุลพอดี



    หม่ำไม่ได้เขียนเอง ถึงจะเป็นมุกแป้กๆ ของหม่ำเองก็เถอะ


    โกสต์ไรเตอร์เป็นสาขาหนึ่งของนักเขียนที่ขาดแคลนอยู่พอสมควร เนื่องจากผู้ที่มีฝีมือ รักจะเขียนหนังสือ คงไม่มีใครอยากจะกินน้ำใต้ศอกหลอกว่าตัวเองไม่ได้เขียน ยกหน้าตาผลประโยชน์ชื่อเสียงไปให้คนอื่นแล้วตัวเองชอกช้ำระกำใจตอนเห็นหนังสือขายดีติดเบสต์เซลเลอร์กันเท่าไร อย่างไรก็ตามโกสต์ไรเตอร์เองก็เป็นอาชีพที่รายได้งามพอสมควร อีกทั้งมีโอกาสได้สัมภาษณ์ สนทนาใกล้ชิดกับเซเล็บคนดังมหาเศรษฐีทั้งหลาย ชนิดที่นอนเตียงเดียวกันได้ก็ต้องนอนเพื่อให้ได้ข้อมูลมาเขียนเหมือนถ่ายถอดออกจากใจของคนดังเหล่านั้นเอง แทบไม่ต่างจากนักเขียนสารคดีชีวประวัติสักเท่าไร เพราะขืนนั่งเขียนเขียนสุ่มสี่สุ่มห้า นอกจากสำนักพิมพ์จะไม่พอใจแล้ว คนดังที่รู้ว่าเขียนหนังสือของตัวเองมาเป็นคนละเรื่องกับชีวิต(ที่ต้องการพรีเซนต์) ก็อาจฟ้องร้องคนเขียนเละเทะได้

    โกสต์ไรเตอร์อาจแบ่งกลุ่มได้คร่าวๆ ดังนี้

    1. โกสต์ไรเตอร์ในกองบรรณาธิการ
    ถ้าเห็นหนังสือขึ้นชื่อว่า "กองบรรณาธิการ" เป็นคนเขียนล่ะก็ ให้เข้าใจว่า เหล่า บก. นั่นแหละเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นมา ขายดีก็ได้แค่เงินเดือน ไม่ได้โบหนอกโบนัสค่าเปอร์เซ็นต์แบบนักเขียนเซ็นสัญญากันหรอกครับ 

    2. โกสต์ไรเตอร์อาชีพ
    รวย รวย รวย. ถ้ายึดอาชีพโกสต์ไรเตอร์ โดยไม่สนใจหน้าตาชื่อเสียงในฉากหน้า แต่เป็นที่เลื่องลือกันในวงการเบื้องหลังล่ะก็ ลองหางานด้านนี้ทำได้เลยครับ ส่วนใหญ่สัญญาเขียนแบบโกสต์นั้น จะเป็นสัญญาจ้างทำของแบบเหมาจ่าย แต่ก็จ้างกันไม่ถูกเลยนะครับ ดีไม่ดีจะแพงกว่าค่า % ด้วยซ้ำไป เบาะๆ ก็เล่มละหมื่นห้าขึ้น แพงที่สุดถึงเลขหกหลักยังมีมาแล้ว โกสต์ไรเตอร์ชื่อดัง อย่างคุณหริ่น เนตรนภา แก้วแสงธรรม ยาเนซโกวา ที่เขียนเป็นโกสต์ให้ค่ายเวิร์กพอยนต์หลายต่อหลายเล่ม 

    *ขอแก้ไขนะครับ เนื่องจากคุณเนตรนภาติดต่อมา และให้ข้อมูลใหม่ว่า ขณะทำงานอยู่ที่เวิร์กพอยนท์ รับเงินเดือนเป็นกองบรรณาธิการในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารครับ ไม่ได้รับเงินเป็นเล่มเป็น % ต้องขออภัยทั้งคุณหริ่นและท่านผู้อ่านด้วยครับ


    คุณหริ่น โกสต์ไรเตอร์มือทอง เขียนทีเลขหกหลัก

    สนใจก็ลองสมัครอบรมการเป็นโกสต์ไรเตอร์กับสนพ. เวิร์กพอยนต์พับลิชชิ่ง ดู

    3. โกสต์ไรเตอร์ของนักเขียนชื่อดัง

    เคยสงสัยกันไหมครับ ว่านักเขียนชื่อดังทั้งหลายทำไมเขียนนิยายลงนิตยสารหกเจ็ดปกได้พร้อมๆกัน ส่วนใหญ่นักเขียนมือทองระดับนั้นจะมีความสามารถปั่นนิยายไวปานสายฟ้า แต่ว่าทุกคนก็มีช่วงตันบ้าง เบื่อบ้าง ตรงนี้แลที่เป็นจุดมืดซอกหลืบของวงการนักเขียนนิยายอยู่

    แม้จะเป็นเพียงเสียงร่ำลือ แต่ไม่มีไฟไฉนจะมีควัน นักเขียนใหญ่บางท่าน ใช้ลูกมือหรือรุ่นน้อง เด็กฝีกงาน นักเขียนน้อยๆ ในสังกัดที่ชื่นชม คอยป้อนพล็อต หรือวิธีเขียน ให้เป็นเรื่องราว หรือแม้กระทั่งให้เขียนแทนเป็นตอนๆ ไป สลับส่งลงในหน้านิตยสารรายปักษ์รายเดือนสลับกันเพื่อให้ทันส่งต้นฉบับเส้นตาย โดยตัวเองคอยดูแลตรวจสอบแก้สำนวนนิดๆหน่อย ถ้าคุณอ่านนิยายของนักเขียนดังๆ ท่านไหน แล้วรู้สึกว่าสำนวนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นั่นแหละครับ คุณกำลังอ่านฝีมือของนักเขียนผีอยู่

    โกสต์ไรเตอร์ในสาขานี้พบมากในงานหนังสือแปล จะเรียกว่าโกสต์ทรานสเลเตอร์ก็ได้ เพราะงานต้องการความรีบเร่งเพื่อพิมพ์ออกมาตามกระแส โดยเฉพาะหนังสือแปลที่มีภาพยนตร์กำลังฉาย หลายๆคนคงจะสำนวนเจ็ดส่วนไม่เหมือนกันของแฮร์รี่พ็อตเตอร์เล่มห้าฉบับแปลครั้งแรกได้ ไหนจะบทซับไตเติลหนังที่แปะชื่อนักแปลมือฉมัง แต่งานแปลออกมาราวกับแปลด้วยกูเกิลทรานสเลตอีกนั่นแหละ

    รางวัลด้านการเขียนบางรางวัล ก็จัดขึ้นมาเพื่อหาโกสต์ไรเตอร์ให้นักเขียนดังๆ ก็เคยปรากฏมีมาแล้ว ทั้งไทยและต่างประเทศ.

    ไม่มีภาพตัวอย่างนะครับ กลัวถูกฟ้อง(ฮา)

    ตัวผมเองก็เคยเป็นทั้งโกสต์ในแบบที่ 1 และแบบที่ 3 มาก่อน แต่ด้วยจรรยาบรรณ ไม่ขอเอ่ยนามหนังสือ/ผู้เขียนนะครับ ลองพลิกหาดูแถวๆ หลังปกหนังสือเล่มไหนสักเล่มละกัน.

    อย่างไรก็ดี ดาราคนดังหลายท่าน ก็มีความสามารถทางด้านการเขียน การแปล มิใช่น้อย และผลิตผลงานวรรณกรรมดีๆ ออกมาด้วยตนเอง ไม่ใช่จะพึ่งโกสต์ไรเตอร์ไปเสียหมดครับ แต่ตราบใดที่คนดังอยากมีหนังสือ และคนอ่านชอบอ่านหนังสือที่คนดังเขียน อาชีพโกสต์ไรเตอร์ก็ไม่มีวันล้มหายตายจากไปจากบรรณพิภพแน่นอน

    แนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ครับ
    The Ghost Writer กำกับโดย โรมัน โปลันสกี้

    โกสต์ไรเตอร์อย่ารู้มากไปครับ เดี๋ยวถูกเก็บ.
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×