คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #8 : ทูตแห่งเซนทาเรีย : แฟนตาซี กับการเมืองเรื่องรวมชาติ
สมาคมปราชญ์แห่งเซนทาเรีย : อำนาจของการเรียบเรียงเล่าเรื่อง
"ทูตแห่งเซนทาเรีย" มีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างไปจากคู่มือการเป็นราชาปีศาจ(ฉบับที่เขาว่ามาว่ามัน)สมบูรณ์ และ Goddess Eye โดย "ทูตแห่งเซนทาเรีย" (ซึ่งต่อไปจะเรียกย่อๆว่า เซนทาเรีย) ใช้วิธีการเล่าผ่านปากของบุคคลที่สามที่อ้างตัวว่าเป็นปราชญ์ ผ่านการค้นคว้า สอบถาม จากบันทึกเอกสารชั้นต้น แล้วจึงมาเรียบเรียงเป็นบันทึกชีวประวัติกึ่งเรื่องเล่าของเลโอ เดอ ดานาโร ทูตแห่งเซนทาเรีย โดยยืนยันว่าการเล่าของตนเองนั้นเป็นเรื่องจริง ดังปรากฏในบทนำ "ด้วยเกียรติของสมาคมปราชญ์แห่งเซนทาเรีย ข้าสาบานว่าเรื่องเหล่านี้จะมีเพียงความจริง" (8:2) วิธีเล่าแบบนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมากในนิยายแฟนตาซีฉากอิงประวัติศาสตร์ หรือนิยายประวัติศาสตร์ เช่นเรื่องสมัญญาแห่งดอกกุหลาบของอุมแบร์โต เอโก ทำให้เราเห็นภาพเหมือนมีนักปราชญ์ยกหนังสือขึ้นเปิดอ่านให้ฟังซ้อนทับไปในภาพของเรื่องราวอีกที เซนทาเรียใช้วิธีการเล่าแบบปลอมประวัติศาสตร์ โดยมีบางช่วงแทรกน้ำเสียงของผู้เล่าเข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่องเหมือนแทรกเชิงอรรถอธิบาย เช่น ผู้เล่าได้เล่าย้อนประวัติของเรย์ หัวขโมยแห่งบรูกซ์ เข้าไปหลังเหตุการณ์ที่เรย์และเลโอพบกันก่อนจะเดินเรื่องต่อ (หน้า 18) หรือระหว่างศึกเรือเหาะกลางฟ้า ผู้เล่าก็ได้แทรกตัวเองลงไปว่าได้ค้นคว้าหาแผนผังประกอบกลยุทธ์การรบของเรือเหาะมาจากบันทึกของลูกา ซึ่งคัดลอกมาจากบันทึกของมาวผู้เป็นแมวเลขานุการทูตอีกที (หน้า 95) ประโยชน์ของการเล่าแบบนี้คือ สามารถสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ เข้าไปในเนื้อเรื่องได้โดยสะดวก ต่างจากวิธีการเล่าแบบบุคคลที่หนึ่ง ที่ต้องเล่าผ่านปากของตัวละครที่ดำเนินอยู่ในเรื่อง ซึ่งถ้าจัดการไม่ดีจะเป็นการยัดคำพูดอวดรู้ใส่ปากตัวละครได้ โดยเซนทาเรียมีจุดที่เพิ่มเติมเรื่องต่างๆ ค่อนข้างมาก เช่นเรื่อกไฟกรีก เรื่องการค้า เงินตรา เหรียญ เรื่องรัฐชาติและแผนที่ ใช้วิธีให้ตัวละครพูด แล้วปราชญ์ผู้เล่าเล่าเสริมแทรกลงไปในรายละเอียด โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจในศัพท์เฉพาะของการเล่าหลายประเด็นซึ่งจะอภิปรายต่อไป
วิธีการเล่าดังกล่าวชวนเชิญให้เราตั้งคำถามว่า ความจริงของการเล่านั้นมาจากไหน และเป็นอยู่อย่างไร เรารับสารจากความจริงที่ถูกเรียบเรียงแล้วในประวัติศาสตร์มาโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า และการเล่าที่เป็นที่นิยม อาจถูกกล่าวขานนับถือกันมากกว่าความเป็นจริงตามหลักฐานได้ ดังจะปรากฏในตอนจบของเรื่องที่เรื่องเล่าตามบันทึกของลูกา (หน้า 297) ที่เร้าอารมณ์มากกว่าเรื่องตามหลักฐานอันน่าเชื่อถือ และปิดลงด้วยการเปิดปลายด้วยน้ำเสียงของปราชญ์ว่า "ตำนานของเลโอ เดอ ดานาโร ได้เริ่มขึ้นแล้ว" เหมือนว่าจะมีตอนต่อไปทิ้งไว้ให้คนอ่านรออ่านอีก
เลขานุการแมว : อำนาจของการเลือกสรรศัพท์และภาษา
ข้อสังเกตของภาษาที่ใช้ในเซนทาเรีย มีการใช้ภาษาที่แตกต่างและเป็นข้อบังคับเฉพาะหลายจุด เช่น "จ้าว" แทนที่จะใช้คำว่า "เจ้า" จ้าวหญิง ไม่ใช่ เจ้าหญิง (แม้ว่าจะมีการใช้คำว่าเจ้าหญิงในบางตอน ซึ่งกล่าวถึงบริบทต่างกันไป) แมวใช้ภาษาถิ่นอีสาน การเรียกผู้อยู่อาศัยในดินแดนว่าเป็น "พสกนิกร" กับ "ไพร่ฟ้า" ไม่ได้ใช้ พลเมือง ประชาชน หรือราษฎร ที่จริงแล้วอาจเป็นข้อพิสูจน์ถึงความละเอียดในการใช้คำเชิงรัฐศาสตร์
จ้าว นั้นหมายความถึง Lord Suzerain หรือผู้ครองแคว้นในระบบศักดินา จ้าวหญิง คือจ้าวครองแคว้นที่มีเพศหญิง ส่วนเจ้าชาย และเจ้าหญิงนั้นเป็นฐานันดรยศ Prince และ Princess ซึ่งอาจมิได้ครองแคว้น
พสกนิกร(Commons) หมายความถึง เป็นคำใช้เรียกผู้อยู่อาศัย (Inhabitant) ในเชิงเมตตาของผู้ปกครอง ส่วนไพร่ (Serfs) ให้ความหมายเชิงว่าผู้อยู่อาศัยเป็นผู้รับใช้ของผู้ปกครองในเขตนั้นๆ เห็นได้ว่าคำพูดที่ใช้เรียกต่างกันของจ้าวหญิงแคทเธอรีนกับรุยส์ (หน้า 72) แสดงถึงความคิดในจิตใจที่มองผู้คนใต้ปกครองต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ทั้งพสกนิกรและไพร่ฟ้า ต่างก็เป็นคำเรียกผู้อยู่อาศัยในระบบราชาธิปไตยซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองมีอำนาจเหนือ มิได้เป็นประชาชน (People) พลเมือง (Citizen) หรือราษฎร (subject) ที่มีความเท่าเทียมกันตามแบบของประชาธิปไตยเสรีนิยมสมัยใหม่แต่อย่างใด
ภาษาถิ่นอีสานของแมว แสดงถึงความไม่กลมกลืนกันของภาษาในประเทศเดียวกัน ทั้งๆที่ความจริงแล้วเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน แต่ก็มีสำเนียง(Dialect) ที่แตกต่างไป จนคนในประเทศเดียวกันก็อาจไม่เข้าใจกันก็ได้ และความไม่เข้าใจกันนั้นอาจรวมถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปจนเป็นคนละแบบ แม้ว่าจะถูกบังคับใช้อำนาจปกครองแบบเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างนั้นย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากขณะที่ปฐมกษัตริย์ชาร์ลส์ให้พ่อมดผนึกเวทมนตร์แห่งผืนดิน มิได้หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อยู่บนผืนดินนั้นด้วย เช่นเดียวกับการขีดเส้นแบ่งอำนาจปกครองบนแผนที่ ที่อาจรวมเอาชนเผ่าซึ่งไม่ยอมรับ หรือไม่รับรู้ อำนาจปกครองของรัฐนั้นๆ เข้ามาอยู่ในเขตชาติรัฐของตนเอง ตัวอย่างเช่นกรณีชาวมอแกน ชาวอูรักลาโว้ย(ผีตองเหลือง) ชาวซาไก(เงาะป่า)ของรัฐไทย, ชนเผ่าต่างๆในป่าบอร์เนียวของอินโดนีเซีย เป็นต้น
มังกร, แมว, และแม่มด : อำนาจของปรัชญาการเมือง
มังกรผู้เป็นใหญ่แห่งป่าปีศาจ เลอไวธาน(Leviathan) แสดงถึงพลังอำนาจทางกายภาพอย่างถึงที่สุด จากพระคัมภีร์ของศาสนายิว บทโยบ : 41 ได้บรรยายภาพของเลอไวธานว่าเป็นงูยักษ์ (Giant Wyrm) ที่สามารถทำลายได้ทุกสรรพสิ่งบนโลก ในคัมภีร์ไบเบิลบทวิวรณ์ กล่าวถึงภาพมังกรยักษ์ว่าเป็นตัวแทนของซาตาน รวมถึงความเห็นของนักบุญโธมัส อควินัส ก็ให้เลอไวธานเป็นหนึ่งในเจ็ดปีศาจแห่งบาปซึ่งปกครองความริษยา และจะใช้กำลังของตนเข้าแย่งชิง
แต่เลอไวธานที่ปรากฏในเซนทาเรีย น่าจะมีที่มาจากหนังสือปรัชญาการเมืองของโธมัส ฮ็อบส์ (Leviathan, : Thomas Hobbes, 1651) คำอภิปรายของจ่าฝูงมังกรเลอไวธาน(หน้า129 – 130) ได้ชี้ประเด็นการปกครองของมนุษย์ในทัศนะของฮ็อบส์ขึ้นมาอย่างเต็มที่ ฮ็อบส์และเลอไวธานในเซนทาเรียนั้นกล่าวว่ามนุษย์นั้นอ่อนแอ ยากจน โหดร้ายทารุณ และโง่เขลา จึงยอมอุทิศเสรีภาพและความอิสระของตนให้กับผู้ที่อ่อนแอกว่าเป็นราชาปกครองตนเอง เพื่อที่จะมิเกิดความระแวงสงสัยและอยู่เป็นสังคม เป็นสัญญาประชาคมรูปแบบหนึ่งแต่การกระทำดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดสันติภาพและความสงบ มีเพียงการมอบอำนาจให้ผู้แข็งแกร่งอย่างแท้จริงที่มีพละกำลังพอจะกำราบทุกคนได้ต่างหากจึงถูกต้อง เช่นเดียวกับเจ้ามังกรเลอไวธานกับฝูงมังกร
ความคิดดังกล่าวของฮ็อบส์เกิดขึ้นในยุคสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ซึ่งอาณาประชาราษฎร์ประสบภาวะเดือดร้อนยากเข็ญอย่างต่อเนื่องจากสงครามของกษัตริย์และเหล่าเจ้าศักดินา ฮ็อบส์สนับสนุนการยึดอำนาจของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แห่งรัฐสภาคอมมอนเวลธ์ เพื่อให้ครอมเวลล์กำจัดอำนาจกษัตริย์และเจ้าศักดินาออกไป เป็นปีศาจร้ายอสุรกายผู้เผด็จการที่ทุกคนกลัวเพียงผู้เดียวและทำให้สังคมสงบราบคาบลงต่อหน้า
ในขณะที่ปรัชญาของแมวนั้นเป็นคนละขั้วกับมังกรอย่างสิ้นเชิง ชุมชนแมวไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีกฎ ไม่มีผู้ปกครองใดๆ ทั้งสิ้น ดำเนินชีวิตไปตามวิถีแบบแมวๆ หิวก็กิน ง่วงก็นอน ใช้อะไรก็ใช้ แนวคิดของแมวดังกล่าวน่าจะมาจากทัศนะในลัทธิเต๋า ที่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถี และคล้ายคลึงกับลัทธิอนาธิปไตย ซึ่งเซนทาเรียได้นำข้อความในคัมภีร์เต๋ามาใช้หลายจุด เช่น "ความคิดของเด็กอ่อนเยาว์ขาดประสบการณ์ ความเห็นผู้เฒ่าจืดชืดคร่ำครึ" (เต้าเต๋อจิง อ้างในเซนทาเรียหน้า 187:17) หรือ เมื่อรุยส์สงสัยว่า ถ้าของหายไปจะลงโทษอย่างไรหากไม่มีกฎหมายบ้านเมือง ปราชญ์เฒ่าของแมวก็ตอบมาว่า "ถ้าของถูกหยิบไปจากถนนก็เป็นแมวหยิบไปใช้นำกัน แล้วเฮาสิหวงมันเฮ็ดหยัง" (หน้า 193 : 25-26) นั้นเป็นเรื่องเล่าที่ปรากฏในคัมภีร์เต๋าของจวงจื๊อ ที่เล่าไว้ว่า
มีคนขโมยของในแคว้นจ้าว ขงจื๊อตัดสินคดีว่า คนแคว้นจ้าวขโมยของในแคว้นจ้าว ของก็ยังอยู่เป็นของคนแคว้นจ้าวเหมือนเดิม จึงไม่ผิด แต่เล่าจื๊อแทรกการตัดสินคดีว่า ที่ขงจื๊อตัดสินนั้นชอบแล้ว แต่มีคำเกินไปคำหนึ่ง ขอแก้ไขเป็น คนขโมยของคน ก็เป็นคนเหมือนกันนำไปใช้ ย่อมไม่มีความผิด
ปรัชญาของแมวดังกล่าวดูเป็นอุดมคติสำหรับคณะเดินทางมากเกินไปจึงไม่เข้าใจ แมวเฒ่าจึงบอกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าใจ คนก็อยู่ส่วนคน แมวก็อยู่ส่วนแมว ไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องปกติ แล้วปล่อยคณะเดินทางไป แต่ปราชญ์ผู้เล่าเรื่องกลับแทรกข้อคิดเห็นส่วนตัวมาว่า มนุษย์ได้ก้าวมาไกลเกินกว่าจะกลับไปอยู่ในรูปแบบชุมชนบรรพกาลแบบแมวเสียแล้ว หากจะย้อนกลับไปเช่นนั้นคงจะเกิดหายนะตามขั้นตอนที่ปราชญ์ผู้เล่าว่าไว้ หายนะดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลก เมื่อกองกำลังผู้เชื่อในลัทธิอนาธิปไตยเข้ายึดเมืองอารากอนในสเปนได้ในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. 1936 ก็เกิดจลาจลเนื่องจากไม่มีการจัดระบบ ไม่มีกฎหมาย และไม่มีผู้ปกครองใดๆที่จะบังคับใช้กัน ซึ่งจอร์จ ออร์เวล เขียนไว้ในบันทึกชีวประวัติเรื่อง "แด่คาตาโลเนีย" (Homage to Catalonia)
ในส่วนของแม่มดซึ่งอำนาจปกครองแห่งแหวนไม่สามารถครอบงำสั่งการได้นั้น แม่มดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีที่มาจากมนุษย์แต่ใช้การถ่ายโอนความทรงจำของตนเองเข้าสู่เด็กสาวรุ่นใหม่สืบเนื่องต่อไปเรื่อยๆ จึงหยั่งรู้โครงสร้างการใช้อำนาจเวทมนตร์ของอัญมณี และปฏิเสธอำนาจนั้นได้อย่างสิ้นเชิง การรับรู้ที่มาที่ไปของอำนาจในอัญมณีและถอดรื้อมันออกมาเพื่อปฏิเสธ เป็นแนวคิดของปรัชญาสำนักโครงสร้างนิยม(Structuralism) และหลังโครงสร้างนิยม(Post-Structuralism) รวมถึงวิธีคิดที่ใช้ตัวเองเป็นผู้สังเกตการณ์และมีความเป็นอยู่แบบอัตถิภาวะนิยมที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและตัวตน (existentialism) ราชินีแม่มดมาโจริก้า ผู้ปกครองซาเวีย เหมือนภาพแทนของซิโมน เดอ โบวัวร์(Simone de Beauvoir, 1908-1986) นักปรัชญาหญิงชาวฝรั่งเศส ผู้ขับเคลื่อนแนวคิดเชิงสตรีนิยม(Feminism) และปฏิเสธการครอบงำจากรัฐบาลฝรั่งเศสในกฎหมายหลายอย่าง และร่วมต่อต้านสงครามกับกลุ่มนักคิด นักเขียน และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอื่นๆ และก็ถูกนักวิฃาการหัวอนุรักษ์นิยมในฝรั่งเศสค่อนขอดเรียกว่า "แม่มด" เพราะแนวคิดที่ต่อต้านระเบียบสังคมของรัฐบาลเช่นกัน
เมืองท่าแห่งบรูกซ์, ไร่นาแห่งชามบาลา และสภาขุนนาง : อำนาจของเงินตราในยามศึกและยามสงบ
"ทหารของเรากินเสบียงราวกับฝูงตั๊กแตน ผลาญทรัพยากรของประเทศดั่งข้าศึกเผาทำลาย" เป็นคำพูดของซุนวู ที่กล่าวไว้ในพิชัยสงคราม ซึ่งเซนทาเรียนำมาอ้างในบทจ้าวหญิงกับขุนนาง (หน้า 84:10-11) เห็นได้ว่าขุนนางทุกคนในสภาของฟรานซ์ แม้ว่าจะกระหายสงครามเพียงไรก็ไม่มีใครอยากออกเงินลงทุนเพื่อก่อสงคราม แต่อยากได้ผลประโยชน์จากสงครามกันทุกคน เงินตราที่ได้มาจากโลหะมีค่า การค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากร จำเป็นต้องนำมาเลี้ยงกองทัพไว้เพื่อป้องกันตนเองจากการรุกรานของจ้าวครองแคว้นผู้อื่น โดยใช้วิธีแตกต่างกันไป จ้าวแคว้นปิแอร์แห่งเมืองท่าการค้าบรูกซ์ที่ร่ำรวยใช้ทหารรับจ้าง ส่วนเมืองเกษตรกรรมอย่างชามบาลา ดังตองผู้เป็นจ้าวใช้วิธีฝึกทหารไพร่พลจากราษฎรของตนเนื่องจากมีอาหารเสบียงเพียงพอ แต่ทั้งสองเมืองก็ต้องใช้เงินซื้ออาวุธ จ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารทั้งสิ้น รุยส์กล่าวกับเรย์ในระหว่างพักแรมคืนหนึ่งว่า จ้าวที่ไม่เก็บภาษีไปสร้างกองทัพ จะเป็นแคว้นที่อ่อนแอและทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากสงครามยิ่งไปเสียกว่าจ้าวที่ขูดรีดภาษีไปบำรุงทหารเสียอีก ความในตอนนี้มาจากตำราว่าด้วยการปกครองของเหล่าเจ้าผู้ปกครอง ของนิคโคโล มาเคียเวลลี่(The Prince : Niccolo Machiavelli, 1513) ที่บรรยายถึงการเก็บภาษีเพื่อบำรุงกองทัพของเหล่าเจ้าผู้ปกครองบนคาบสมุทรอิตาลี ว่าผู้ครองแคว้นที่มีเมตตาใจดีนั้น จะเป็นผู้ครองแคว้นที่เลวร้ายที่สุดเพราะยอมให้กองทัพต่างชาติย่ำยีราษฎรของตนเอง
เราสามารถอนุมานท้องเรื่องของเซนทาเรียได้ว่า เป็นฉากโลกแฟนตาซีที่มีรากฐานมาจากยุโรปต้นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ(Renaissance) ซึ่งการค้า การค้นคว้า และสงคราม ได้แพร่หลายไปทั่วทั้งพื้นทวีป ฟรานซ์คือดินแดนฝรั่งเศสปลายยุคศักดินา บรูกซ์เป็นเมืองท่าทางใต้ที่มาร์กแซยส์ ชามบาลาคือเขตเกษตรกรรมที่ตูลูส ส่วนไรม์ที่อยู่ติดกับชายแดนป่าปีศาจ ก็คือเมืองลียง ซาเวียเป็นรัฐเล็กๆชายแดนใกล้ภูเขาเขตสวิส ส่วนจักรวรรดิอัสลานก็มิใช่อื่นใดนอกจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเยอรมัน ในยุคดังกล่าว เงินตราได้ทวีค่าขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักยิ่งไปเสียกว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรี พ่อค้าเริ่มต่อรองและมีอำนาจไขว่คว้าหาตำแหน่งขึ้นด้วยเงินตรา เช่นเดียวกับปิแอร์แห่งบรูกซ์ ในเซนทาเรีย เรย์ผู้เป็นหัวขโมย รุยส์ และลอเรนซ์นักเดินเรือเหาะอดีตโจรสลัด ต่างก็เห็นค่าของเงินตราว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการไขว่คว้าได้มาซึ่งอำนาจทั้งสิ้น แม้ว่ามังกร แมว และแม่มด จะไม่สนใจเงินตราเพราะปรัชญาที่แตกต่าง แต่ในการเมืองของมนุษย์ต่างมีเงินตราเข้ามาขับเคลื่อน การที่กองทัพขุนนางฟรานซ์และไรม์ เหยียบเข้าสู่ดินแดนซาเวียก็ด้วยเงินสนับสนุนของบรูกซ์และเสบียงชองชามบาลา ซึ่งจ้าวผู้ครองแคว้นทั้งสองย่อมแสวงหาประโยชน์จากสงครามเช่นกัน ไม่ต่างไปจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาในอิรัก หรือแม้กระทั่งการประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบียในโลกปัจจุบัน
อัญมณีและมงกุฎ : อำนาจปกครองของระบบศักดินา
การปกครองของเซนทาเรีย ถือกำเนิดขึ้นจากตำนานของกษัตริย์ชาร์ลผู้ยิ่งใหญ่บัญชาให้พ่อมดผนึกเวทมนตร์แห่งผืนดินลงในอัญมณี และประดับไว้กับมงกุฎ เมื่อกษัตริย์สิ้นลง อัญมณีก็ถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง และมีอำนาจครอบครองเวทมนตร์เหนือผืนดินเป็นส่วนๆ โดยอัญมณีอาจจะถูกแบ่งเล็กจนเท่าแหวน ทำให้เกิดแคว้นเล็กๆ เป็นร้อยๆแคว้น ดินแดนเป็นร้อยๆ ดินแดน ถูกใช้เป็นสินสมรส เดิมพันพนัน และของขวัญแก่กัน ซึ่งในเซนทาเรีย เปรียบเทียบการปกครองแบบนี้ว่าเหมือนแก๊งมาเฟียแก๊งใหญ่และแก๊งเล็ก ช่วงชิงอำนาจกันในดินแดน
จะเห็นได้ว่า อัญมณีดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจปกครองของเจ้าผู้ครองแคว้นในระบบศักดินาสวามิภักดิ์(Feudalism) นั่นเอง ระบบศักดินาของยุโรปเกิดขึ้นจากลัทธิการถือผู้อุปถัมภ์ (Patronage) ของจักรวรรดิโรมันซึ่งคนเถื่อนเผ่าแฟรงค์ กอล และกอธ รับมือใช้คู่กับแนวคิดนายและบ่าวของชนเผ่า อัญมณีของกษัตริย์ชาร์ลผู้ยิ่งใหญ่อาจเปรียบเทียบได้กับดินแดนแห่งจักรวรรดิคาโรแลงเจียนของพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ซึ่งถูกแบ่งออกครั้งแรกเป็นสามส่วนตามสนธิสัญญาแวร์เดิง (Treaty of Verdun : 842 A.D) หลังจากนั้นกษัตริย์ผู้ครองแคว้นใหญ่ก็ได้พระราชทานดินแดนต่างๆ ในครอบครองของตนเอง เพื่อเป็นเครื่องจูงใจให้นักรบ ขุนนาง เข้ามาสวามิภักดิ์ จนสุดท้ายกลายเป็นว่ามีผู้ครองแคว้นย่อยๆ อยู่เป็นจำนวนมาก โดยอำนาจปกครองสูงสุดตามทฤษฎีอยู่กับกษัตริย์ในฐานะเจ้าผู้ปกครองสูงสุด (Lord) บังคับบัญชาผู้ปกครองแคว้นในฐานะข้ารับใช้ (Vassal) และเจ้าครองแคว้นเหล่านั้นก็ปกครองพสกนิกรในแคว้น (Fief) อีกทอดหนึ่ง เซนทาเรียใช้อัญมณีเพื่อแสดงถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือดินแดนหนึ่งๆ ของจ้าวครองแคว้นให้เห็นได้ชัด
เมื่ออัญมณีหลักถูกแบ่งย่อยออกเป็นส่วนๆ ทำให้กษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินประเทศ หมดอำนาจควบคุมแคว้นย่อยๆ ลง ขุนนางผู้ครอบครองอัญมณี หรืออำนาจปกครองแคว้นใหญ่ที่มีทรัพยากร ก็จะเข้ามาช่วงชิงอำนาจกันเองจนอาจเกิดสงครามภายใน เช่นประเด็นสงครามระหว่างบรูกซ์กับแชมบาลา ส่วนขุนนางที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ก็จะได้รับอำนาจมากกว่าแคว้นอื่นไม่มากนัก แต่จะได้ความชอบธรรมสูงเช่นกรณีของฟรานซ์กับไรม์ ซึ่งการช่วงชิงอำนาจกันเองนี้ก็เป็นกลไกหนึ่งที่กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศใช้คานอำนาจขุนนางมิให้เหิมเกริมมายึดราชบัลลังก์ แม้ว่ากษัตริย์จะอ่อนแออยู่
บัลลังก์แห่งฟรานซ์ : อำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประวัติศาสตร์ของการรวมชาติ
เมื่อเรื่องดำเนินไปใกล้ถึงจุดจบ ก็ได้เปิดเผยขึ้นว่าการกบฏของซาเวีย การส่งทูตและลอบสังหารทูต เป็นแผนการของดังตองที่จะรัฐประหารราชบัลลังก์ของกษัตริย์ฟรานซ์ โดยปิแอร์เป็นผู้ถูกเชิดใช้งานด้วยความโลภของตัวเอง แต่ทั้งคู่ก็ถูกโต้กลับด้วยแผนลับเหนือชั้นของรุยส์ ราชินีแห่งฟรานซ์ทั้งมวล ที่ได้ตกลงกับราชินีแม่มดมาโจริก้า ยึดอำนาจมงกุฏแห่งไรม์สั่งการกองทัพผสม และปลดอำนาจอัญมณีอื่นๆ เพื่อรวมอัญมณีให้เป็นหนึ่งมาประดับบนมงกุฎแห่งฟรานซ์เพียงมงกุฏเดียว
ท่านผู้อ่านที่พอรู้ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสมาบ้าง คงจะเห็นขันไม่น้อยที่เซนทาเรียเล่าเรื่องคล้ายกับว่ากษัตริย์หลุยส์ได้แก้แค้นแผนการของดังตอง(Danton) และโรเบสปิแอร์ (Robesquepierre) สองนักปฏิวัติในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสผู้อภิปรายให้สภาประชาชนลงมติประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วยกิโยตีน การรวมอัญมณีของรุยส์นั้นคือการรวบอำนาจของจ้าวครองแคว้น หรือขุนนางผู้รับใช้ในระบบศักดินาเข้าสู่ตนเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ขึ้นในแผ่นดิน มิให้มีการขัดแย้งกันระหว่างจ้าวแคว้นต่างๆอีกต่อไป เพราะกษัตริย์ผู้ครองอำนาจสมบูรณ์จะเป็นเจ้าเหนือหัวคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือผู้อาศัยบนแผ่นดินมิได้เป็น "ไพร่" สังกัดจ้าวแคว้นคนใด แต่เป็น "อาณาประชาราษฎร" ของเจ้าเหนือหัวเพียงผู้เดียว รวมถึงอำนาจทางการค้า การทหาร การแต่งตั้งข้าราชการที่เป็นไปตามพระราชประสงค์ของราชินีรุยส์ทั้งหมด
การรวมชาติของรุยส์เป็นแผนที่ซ้อนแผนของดังตอง แม้ปัจจัยของเรย์และเลโอจะเป็นเหตุการณ์แทรกซ้อนเข้ามา แต่รุยส์ก็ใช้ประโยชน์จนสำเร็จเป้าหมายที่ตนเองวางไว้ในที่สุด ทำให้การรวมชาติของราชินีรุยส์ดูไม่คล้ายคลึงกับวิธีการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้เป็นต้นแบบเท่าใดนัก แต่ทำให้หวนนึกไปถึงแผนการลึกล้ำของเชซาเร่ บอร์เจีย ผู้นำทัพสันตะปาปารวมชาติอิตาลี ซึ่งมาเคียเวลลี่ได้กล่าวยกย่องไว้ในหนังสือเจ้าผู้ปกครองของเขาเสียมากกว่า
สงครามระหว่างเจ้าศักดินาผู้ครองอัญมณี ทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นภายในฟรานซ์ ทั้งเด็กกำพร้าอย่างเรย์ และการฉวยขึ้นมามีอำนาจของผู้แสวงหาผลประโยชน์อย่างปิแอร์ ทำให้ตัวละครหลักทั้งสองคนในเรื่อง คือเลโอ กับรุยส์ ต้องหาวิธีเปลี่ยนแปลงระบบอัญมณีและมงกุฏนี้ในแบบที่ต่างกัน โดยเลโอมีปณิธานที่จะเลี่ยงการหลั่งเลือดในทุกกรณีเพราะได้ตกลงกับแม่มดแห่งซาเวียไว้ "ข้าขอแลกพรุ่งนี้ที่ไม่มีใครหลั่งเลือดกับมงกุฎ"(หน้า 269:13) ส่วนรุยส์ใช้อำนาจสูงสุดก่อสงครามเพื่อยุติสงคราม ความไม่ลงรอยดังกล่าวทำให้ทั้งสองต้องแยกออกจากกันด้วยความอาลัย หากจะเชื่อนิยายน้ำเน่าของลูกา ทั้งคู่ก็ดูน่าสงสารที่ต้องสละความรักของตนเพราะหน้าที่และอุดมการณ์แตกต่างกัน
ทูตแห่งเซนทาเรีย : นิยายแฟนตาซีปรัชญาการเมือง
เมื่ออ่านและขบคิดเนื้อหาในทูตแห่งเซนทาเรียจนครบถ้วนแล้ว ทำให้นึกถึงนิยายที่อ้างถึงปรัชญาการเมืองต่างๆเข้ามาเรียบเรียงให้ดูสนุกสนาน อย่างเรื่องโลกของโซฟี (Sofies Verden : Jostein Gaarder, 1991) หรือการิทัตผจญภัย (The Curious Enlightenment of Professor Caritat : Steven Lukes, 1995) ซึ่งถ้าอ่านเพื่อความสนุกก็อ่านได้สนุก แต่หากจะอ่านเอาความรู้เพื่อค้นคว้าก็ยิ่งสนุกมากขึ้น ผู้วิจารณ์เองก็อยากเห็นนักอ่านที่สามารถต่อยอดความคิดจากนิยายให้กว้างไกลไปมากกว่าตัวผู้วิจารณ์เพื่อมาถกเถียงกัน และที่สำคัญ อยากอ่านความเป็นไปในตอนต่อของเลโอ เดอ ดานาโร ว่าเขาจะสร้างตำนานเช่นไรต่อไป
ความคิดเห็น