คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : คู่มือการเป็นราชาปีศาจฉบับ(เขาว่ามาว่ามัน)สมบูรณ์
ห่างหายจากการวิจารณ์เต็มรูปแบบมานานครับ แต่เมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติใกล้เข้ามา ก็ได้เวลามาวิจารณ์(ช่วยขายของ)หนังสือกับผมตามปกติ คู่มือการเป็นราชาปีศาจฉบับ(ที่เขาว่ามาว่ามัน) สมบูรณ์ เป็น Book of The Month ของเว็บไซต์เด็กดีประจำเดือนมีนาคม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ผ่านการชนะเลิศงานประกวดนักเขียนหน้าใสสายแฟนตาซีประจำปี 2553 บทวิจารณ์นี้จะเปิดเผยเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดของหนังสือโดยใช้หลักการวิจารณ์เชิงลึกลงในเนื้อหาและตีความประเด็นต่างๆ หากผู้ใดไม่ต้องการรู้เรื่องก่อนจะอ่านเล่มจริงจบ ไม่ควรอ่านบทวิจารณ์นี้
บันทึกของราชาปีศาจ : รูปแบบการเล่าที่สนุกสนาน
คู่มือการเป็นราชาปีศาจฉบับ(ที่เขาว่ามาว่ามัน) สมบูรณ์ ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้นๆว่า คู่มือฯ เล่าเรื่องโดยการเปลี่ยนมุมมองเรื่องแนวแฟนตาซีทั่วไปจากมุมมองของผู้กล้าซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายดี(Protagonist) มาเป็นมุมมองของราชาปีศาจหรือเป็นตัวร้าย(Antagonist) การเล่าเรื่องมุมกลับดังกล่าวเป็นที่นิยมมากขึ้นในนิยาย/อนิเมชันญี่ปุ่นร่วมสมัยเมื่อไม่นานมานี้ เช่น "ผมนั่นหรือคือราชาปีศาจ : Kyoukara Maoh" (ลิขสิทธิ์โดยบงกช) หรือ "จอมมารหลังห้อง : Ichiban Uchirou no Daimaou" (ลิขสิทธิ์โดย Dexpress) เป็นต้น โดย Penguin Lord ผู้เขียน ใช้รูปแบบการเล่าผ่านตัวละครอาเชอร์ ทีล เดอะ เกรต เดมอน คิง จอมปีศาจรุ่นที่สิบสองสมมติว่าเขียนลงในบันทึกที่จะส่งต่อให้จอมปีศาจรุ่นต่อไป ลักษณะการเล่าดังกล่าวเป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมสูง เนื่องจากทำให้ผู้อ่านรู้สึกเข้าไปมีบทบาทร่วมกับตัวละครเอกเอง หรือเหมือนได้รับฟังคำพูด การสนทนา กับตัวเอกคล้ายคลึงกับการเล่นเกมสวมบทมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person RPG) ตัวอย่างของนิยายที่ใช้การเล่ารูปแบบนี้ซึ่งกำลังติดตลาดคืองานของ Yu Wo นักเขียนชาวไต้หวัน หรืองานแนวเกมออนไลน์ต่างๆ แต่ penguin Lord ผู้เขียน ได้สอดแทรกเนื้อหาด้านลึกลงไปมากกว่านิยายไต้หวันซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เอาแนวคิดมาแทรกลงไปได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวละครขึ้นธรรมาสน์เทศนาให้ผู้อ่านฟัง
ราชาปีศาจชาวไร่ : ความฝันของสามัญชน
อาเชอร์ ทีล ผู้จับพลัดจับผลูได้ครองบัลลังก์ราชาปีศาจเริ่มต้นจากการเป็นชาวไร่หัวผักกาดธรรมดาในหมู่บ้านเล็กๆ กลางทุ่ง ทำให้คิดถึงกษัตริย์ไกลส์แห่งแฮมจากเรื่อง "กษัตริย์ชาวไร่" ของ J.R.R. Tolkien และเมื่อเรื่องถึงจุดจบ เขาก็ขอพรจากเทพธิดาอีกทีหนึ่งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนดิน (หน้า 207:19-20) ซึ่งทำให้นึกถึงพรของแซม แกมจี ที่เขาร้องขอต่อเลดี้กาลาดริเอลหลังจากออกจากป่าลอธลอริเอนใน Lord of the Ringความฝันในรูปแบบสามัญชนคนชาวไร่ของอาเชอร์ สะท้อนถึงพื้นฐานความคิดธรรมดาๆ ของเขาอย่างต่อเนื่อง อาเชอร์มองปัญหาอย่างไม่ซับซ้อน ไม่วางแผนหลายขั้นตอน ปฏิเสธความรับผิดชอบที่ใหญ่เกินตัว และไหลไปตามโชคชะตาคอยฉวยคว้าเหตุการณ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้ บางครั้งก็ทำได้แค่รับฟังคำสั่งและคำเสนอแนะของเหล่าเสนาอำมาตย์ที่รายล้อม แต่ความเป็นสามัญชนของเขาก็ทำให้วิกฤตการณ์ต่างๆคลี่คลายลงด้วยการประนีประนอมยอมความ ทำตามโดยไม่อิดออด ซึ่งหากเป็นราชาปีศาจผู้วางแผนซับซ้อนทะเยอทะยาน ผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นคงเลวร้ายยิ่งกว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอาเชอร์เป็นคนโง่เขลา ที่จริงแล้วเขาเองเป็นผู้ที่เห็นใจและเข้าใจคนรอบข้างอยู่เสมอ ด้วยมุมมองของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ติดกับพื้นดิน มิใช่ผู้เกิดมาในฐานันดรสูงส่งพร้อมกับหน้าที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่แรก อาเชอร์คิดถึงความเหนื่อยยากของลูกสมุนปีศาจที่ต้องออกไปให้ผู้กล้าสังหาร นึกถึงเสนาอำมาตย์ต้องต้องคอยคิดแผนให้ราชาปีศาจมายาวนานเป็นพันๆ ปี (หน้า 254-255) แล้วจึงตัดสินใจให้เรื่องราวเป็นไปอย่างสามัญตามแบบแผนที่เคยเป็นมา
สมาคมของในตำนาน : การเล่าประวัติศาสตร์, การสร้างตำนาน, และการบิดเบือนความจริง
ปกติการเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่สามแบบพระเจ้า หรือเล่าเรื่องแบบพงศาวดาร จะอ้างอิงบันทึก ตำนาน ประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกเอาไว้เหมือนกับว่าเป็นความจริงเที่ยงแท้ไม่อาจละเมิดได้ หรือหลายเรื่องก็จะกล่าวถึงความผิดเพี้ยนและการทับซ้อนของเรื่องเล่าต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน ในเรื่องคู่มือฯ นี้ ใช้วิธีการทำให้ตลกขบขันเป็นวิธีอธิบายข้อสงสัยในการสร้างตำนานและประวัติศาสตร์ เนื่องจากบันทึกคู่มือฯ นี้อ้างการเล่าผ่านสายตาของราชาปีศาจอาเชอร์ เขาจึงเปรียบเทียบข้อเท็จจริงซึ่งประสบมา กับตำนานที่ถูกเขียนขึ้นในภายหลังด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ เช่น "จากนั้นข้าก็ถูกบันทึกว่าเป็นราชาปีศาจองค์แรกที่เจ้าหญิงยอมรับอย่างเต็มใจ" (หน้า 33:16) ซึ่งความจริงแล้วเจ้าหญิงอลิเซียต่างหากที่บุกมาบีบบังคับให้อาเชอร์จับนางเป็นตัวประกัน หรือเรื่องที่เกี่ยวกับภัยพิบัติภูตวารีในทะเลเบอร์ราล "เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสิบภัยพิบัติแดนปีศาจที่น่ากลัวที่สุด แต่สำหรับมนุษย์เป็นเพียงแผนร้ายของราชาปีศาจ" (หน้า 196:8)
กรณีการบิดเบือนความทรงจำตัวเองของราชาปีศาจองค์ที่สาม มาริส ก็เป็นจุดหนึ่งที่พึงระวัง ผู้เขียนแสดงความไม่แน่นอนในความทรงคำส่วนบุคคลว่าอาจบิดเบือนไปได้เมื่อไม่ต้องการจดจำความผิดหรือเรื่องที่เจ็บปวด จนอาจก่อเหตุร้ายแรงขึ้นเพื่อลบล้างความทรงจำแห่งความผิดให้เข้าข้างตัวเอง หรือแม้กระทั่งความยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามชั่วรุ่นต่างๆ จนหลงลืมความผิดพลาดในครั้งอดีตและคิดจะละเมิดคำสั่งของปฐมราชินี คู่มือฯ ได้ชี้มุมมองที่ทำให้เราต้องทบทวนความคิดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และความทรงจำในอดีต การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวนั้นควรคิดต่อเนื่องว่า ไม่เพียงแค่ในตำนาน ประวัติศาสตร์ในนิยายเท่านั้นที่ถูกบิดเบือน แท้จริงแล้วเรื่องราวที่เราเรียนและจดจำกันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงย่อมถูกบิดเบือนไปตามปลายปากกาของผู้นิพนธ์ประวัติศาสตร์ การยกเอาเรื่องแต่งซึ่งถูกบิดเบือนมาสร้างความขัดแย้งเข้าห้ำหั่นทำลายชีวิตทรัพย์สินนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ
เจ้าหญิงสายเลือดแม่มดและคำถามจากเจ้ามังกร : เจตจำนงอิสระและการตัดสินคุณค่าสรรพสิ่งที่ถูกกำหนดมา
ตัวละครสำคัญหนึ่งในเรื่องคู่มือฯ ที่ขับเคลื่อนให้เรื่องก้าวต่อไป คือเจ้าหญิงอลิเซียแห่งโรซาลินด์ นางเอก(?) ผู้ทะยานออกจากปราสาทมาสู่แผ่นดินปีศาจ เพื่อสร้างโอกาสให้ท่านพี่ผู้กล้านิรนามได้เดินทางมาสังหารราชาปีศาจ บทของเจ้าหญิงโรซาลินด์นั้นดูเป็นผู้มีเจตจำนงอิสระที่จะไขว่คว้าอนาคตของตัวเองโดยไม่ยอมรับการหมั้นและการแต่งงานที่ราชวงศ์กำหนด แม้กระทั่งผู้กล้าหลายร้อยลำดับที่อยู่ในรายชื่อก่อนหน้าท่านพี่ผู้กล้า อลิเซียก็ได้หาทางกำจัดออกไป รวมถึงการวางแผนจัดการผู้ร่วมเดินทางของผู้กล้าตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไรก็ตาม การกระทำของอลิเซียนั้นเข้าทางแผนของอเล็กซิส ราชาปีศาจองค์ก่อน ซึ่งก็วิ่งวนอยู่ในแผนการของสัตยาบันระหว่างมนุษย์กับปีศาจทั้งสิ้น เหมือนซุนหงอคงที่วิ่งไปจนสุดขอบจักรวาลแล้วพบว่าตัวเองวิ่งวนอยู่บนพระหัตถ์ขององค์ยูไล แต่เมื่อสุดท้ายผลลัพธ์ของอลิเซียออกมาเป็นที่พอใจ คือได้สมรสกับผู้กล้า มีคนเห็นความสำคัญเป็นดวงดาวของตน การดิ้นรนที่แม้จะอยู่ในแผนการของคนอื่นก็คงไม่ใช่สิ่งไร้ค่า
เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดเปิดเผยขึ้นว่าเป็นแผนของราชาปีศาจองค์ก่อน อเล็กซิส ที่ต้องการจะลบล้างสัตยาบันดั้งเดิมของปฐมราชาปีศาจและปฐมราชินี เพื่อเปิดศึกกับมนุษย์ที่เขาคิดว่าโหดร้าย ทำลายธรรมชาติและไว้ใจไม่ได้ อาเชอร์ จึงตอบคำถาม "มนุษย์มีคุณค่ามากเพียงไรที่จะให้ปีศาจต้องเสียสละ" ที่อเล็กซิสเคยถามในครั้งแรกที่พบกันว่า "มีด้วยหรือไง คนที่สามารถตัดสินคุณค่าของคนอื่น" (หน้า 246:13) คำตอบของอาเชอร์ดูจะเป็นอุดมคติ แต่ก็ชวนให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมิอาจตัดสินคุณค่าได้โดยง่าย และยิ่งถ้าการตัดสินนั้นจะไปกระทบกระเทือนต่อชีวิตคนอื่นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ก็ยิ่งไม่ควรตัดสินคุณค่านั้นมากขึ้น ปัญหานี้ถูกขับเน้นซ้ำในกรณีของหุ่นตุ๊กตากลอย่างลูเช่ ที่ถูกปิดผนึกไว้เพราะใช้งานไม่ได้และเป็นอันตรายเกินไป แต่อาเชอร์กลับนำออกมาใช้ได้ และเรื่องของนครที่ต้องล่มสลายลงเมื่อพระราชาตีค่าเทวรูปทองคำไว้มากกว่าธิดาของตน
ผู้กล้ากับราชาปีศาจ : ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของหน้าที่
ประโยคเปิดเรื่อง "เพราะมีราชาปีศาจจึงมีผู้กล้า หรือเพราะมีผู้กล้าจึงได้มีราชาปีศาจ" (หน้า 7:1) เป็นประโยคที่ชี้ประเด็นหลักของเรื่องคู่มือฯ นี้ ผู้เขียนพยายามตั้งคำถามว่าเหตุใดโลกจึงเป็นไปในแบบที่มันเป็น และการกำหนดหน้าที่ให้ทุกคนสวมบทบาทนั้นถูกต้องอย่างไร แต่ผู้เขียนก็ให้คำตอบแบบค่อนข้างกำปั้นทุบดินว่า การทำหน้าที่ที่ถูกกำหนดมาจากเจตจำนงที่สูงส่งกว่าเพื่อผลประโยชน์อันสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งสมควร ผู้ที่ล่วงละเมิดการปฏิบัติตามกฎและหน้าที่จะต้องถูกลงโทษ เช่น การก่อกบฏต่อต้านสัตยาบันของราชาเสือดำ ก็จะถูกสายฟ้าผ่าทุกรุ่น ส่วนการสร้างจักรกลสงครามคันเดย์ซีของศาสนจักร ก็ถูกเวทมนตร์ของปฐมราชินีโรซาลินด์ลงโทษ (หน้า 258) ราชาปีศาจรุ่นที่สาม มาริสที่ล่วงละเมิดสัตยาบันก็พบจุดจบอันทรมาน ส่วนราชาปีศาจอเล็กซิสที่กังขาในข้อบังคับและพยายามแก้ไขกฎของสัตยาบันก็ต้องประสบความล้มเหลว
แม้ว่าจะมีการปูเหตุผลของการทำลายล้างโลก แม่มดผู้อ่านดวงดาว และสัญญาระหว่างปฐมราชาปีศาจกับปฐมราชินีโรซาลินด์ ผู้วิจารณ์ก็อดจะคิดไม่ได้ว่า เผ่าปีศาจถูกเอาเปรียบจากมนุษย์โดยสัตยาบันนี้ ในเมื่อมนุษย์นั้นมาจากเอสเทล ดาวอีกดวงที่ตัวเองได้ทำลายลงกับมือ มาขอพึ่งพิงอาศัยบนแอสทรายังไม่พอ ยังเข้ารบและทำลายล้างเผ่าปีศาจที่รักสันติ แล้วจู่ๆ เมื่อเผ่าปีศาจมีปฐมราชาซึ่งสามารถสู้รบตบมือและทำลายมนุษย์คืนได้ กลับมาขอคืนดีสร้างสัตยาบันไม่รุกรานกันเสียดื้อๆ ถ้าลบฉากแฟนตาซีออก แล้วคิดว่า ประเทศหนึ่งมีผู้อพยพเข้ามาอยู่แล้วตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นครองอำนาจไล่ฆ่าประชาชนผู้อาศัยเดิม ต่อมาเมื่อชนเผ่าเดิมในประเทศมีผู้นำเข้มแข็ง จะก่อปฏิวัติล้มล้างชนชั้นปกครองที่อพยพเข้ามา แต่กลุ่มคนอพยพกลับมาขอคืนดีและตั้งสัญญาที่ผูกพันไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยฝ่ายชนเผ่าเดิมต้องเสียปัจจัย ทรัพยากร หรือแม้แต่ชีวิตในการต่อสัญญาแต่ละครั้ง โดยบังคับให้ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นก็จะมีโทษตาย ฟังดูแล้วไม่ค่อยจะเป็นธรรมสักเท่าไรนักหรือไม่? คู่มือฯ นั้นยกประเด็นปัญหาขึ้นมาเพื่อเริ่มได้ดี แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป ประเด็นอื่นๆที่เข้ามาแทรกซ้อนกลับบิดเบนปมเรื่องในเบื้องแรกให้กลายเป็นกรอบระเบียบธรรมดาๆ ไม่แตกต่างจากการที่ผู้ใหญ่สั่งเด็กว่า "อย่าทำ" เพราะมัน "อันตราย" ในสายตาผู้ใหญ่ คำถามที่ว่า "เพราะมีราชาปีศาจจึงมีผู้กล้า หรือเพราะมีผู้กล้าจึงได้มีราชาปีศาจ" จึงถูกตอบง่ายๆ ว่า "ก็เพราะสัญญากันไว้เช่นนั้น" เหมือนจะสร้างความคิดกบฏแล้วกล่อมเกลาให้สยบยอมต่อแบบแผนดั้งเดิม แกนเรื่องหลักจึงดูขัดแย้งกันในตัวเองอยู่ไม่น้อย
(เขาว่ามาว่ามัน)สมบูรณ์ : สนุกแต่ยังไม่สมบูรณ์
ด้วยความประณีตในภาษาที่สอดแทรกเข้ามาในหลายช่วง อาจประเมินได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องที่สามารถปรับวิธีเล่าให้เข้ากับรูปแบบและบรรยากาศที่ต้องการได้อย่างชาญฉลาดทั้งในมุมมองพล่ามพ่นโวยวายของตัวละครเอก และการถ่ายทอดฉากเหตุการณ์ที่งดงามจนบางครั้งดูจะเกินความสามารถของราชาปีศาจผู้บันทึกไป ผู้เขียนได้ผสมผสานเอาองค์ประกอบที่เคยมีคนเขียนมาแล้วหลายประเด็นให้ออกมาอ่านสนุกอย่างน่ามหัศจรรย์ ผู้วิจารณ์เองใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงอ่านจบรวดเดียวไม่มีพัก ซึ่งนานแล้วที่ไม่มีนิยายแฟนตาซีไทยเรื่องไหนทำได้อย่างนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เล่าในคู่มือฯ นั้นแตกย่อยหลากหลาย บางครั้งกลบแก่นใหญ่ใจความที่ต้องการสื่อ รวมถึงความไม่แน่นอนในการนำเสนอปมปัญหาที่ขัดแย้งกันในตัวเอง จึงทำให้คู่มือฯ มีจุดบกพร่องจนยังไม่สมบูรณ์ในบางส่วน รวมถึงบทส่งท้ายของบทส่งท้าย และบทแทรก บทแทรกของบทแทรก ที่เติมเข้ามาในตอนจบซึ่งล้นเกินในเรื่องที่อาจผสานรวมเข้าไปในเนื้อเรื่องได้เลย เช่น การเล่าย้อนไปถึงยุคบรรพกาลในการฝังวงเวทอาคมลงสัตยาบัน ทำให้รู้สึกเหมือนกินอาหารชุดใหญ่แล้วกลับมีของหวานแถมปิดท้ายหลายจานจนกินไม่หมด ผู้วิจารณ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้อ่านผลงานเล่มต่อไปของ Penguin Lord ที่รวบยอดความคิดได้ลงตัวสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอเขาว่ามาว่ามันสมบูรณ์อีกต่อไป
ความคิดเห็น