ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กว่าจะเป็นหนังสือ

    ลำดับตอนที่ #7 : ชำแหละโครงสร้างสัญญาพิมพ์หนังสือ(2) สัญญาซื้อขาด, จ้างวาด/เขียน

    • อัปเดตล่าสุด 7 เม.ย. 54


    ผมได้จำแนกองค์ประกอบของสัญญาจัดพิมพ์หนังสือ ชนิดสัญญาเช่าใช้ลิขสิทธิ์แล้ว
    แต่ยังมีสัญญาอีกสองประเภท ที่นักเขียน หรือนักวาด จะเสียกรรมสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ชิ้นนั้นไปเลย คือสัญญาประเภทซื้อขาดลิขสิทธิ์เป็นสิทธิ์ขาด และ สัญญาจ้างทำของ(ผลงานวรรณกรรม/ศิลปกรรม)

    ก. สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ขาด

    ตามพระ ราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 17 กำหนดให้ลิขสิทธิ์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ ดังนั้นจึงเป็นทรัพยสิทธิ์ ทำสัญญาซื้อขายให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453 โดยแบบของสัญญาซื้อขายนั้นคือ ต้องมีคู่สัญญา มีการโอนกรรมสิทธิ์ และมีการตกลงจะใช้ราคาทรัพย์สิน คือลิขสิทธิ์แก่ผู้ขาย

    ดังนั้น สัญญาซื้อลิขสิทธิ์ขาด จึงจะมีเงื่อนไขน้อยกว่าสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ เนื่องจากการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์อย่างเด็ดขาดสู่ผู้ซื้อนี่เอง ทำให้หลังจากซื้อกรรมสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิ์เต็มที่ทุกประการ และผู้ขาย ซึ่งก็คือนักเขียนหรือนักวาด จะไม่มีสิทธิ์ได้รับดอกผล หรือแก้ไขดัดแปลงต่อเติมยุ่งเกี่ยวกับผลงานที่ขายไปแล้วอีกต่อไป

    องค์ประกอบของสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ จะประกอบด้วย (ข้อที่คำอธิบายซ้ำกับกรณีสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ผมจะไม่อธิบายเพิ่มเติมนะครับ)

    1. วันเดือนปีที่ทำสัญญา

    ใน สัญญาซื้อขาย วันเดือนปีที่ทำสัญญาจะสำคัญกว่าสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 458 กำหนดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ขาย เกิดขึ้นเมื่อทำสัญญาซื้อขาย ก็คือเมื่อเซ็นแกร๊กลงไปในสัญญาซื้อขายลงวันที่เท่าใด กรรมสิทธิ์ก็เป็นของสำนักพิมพ์ในวันนั้นทันที และตลอดกาล

    2. คู่สัญญา

    3. ชื่อผลงานที่จะซื้อขายกัน

    4. เงื่อนไขในการทำสัญญา(ถ้ามี)

    เนื่อง จากเป็นสัญญาซื้อขาย เงื่อนไขข้อนี้จึงมักจะกำหนดว่า กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อ(สนพ.) โดยสิ้นเชิง ห้ามนักเขียน/นักวาด นำไปเผยแพร่ซ้ำอีก

    5. ค่าตอบแทน

    การกำหนด ค่าตอบแทนในสัญญาซื้อขาย โดยมากจะกำหนดเป็นเงินก้อนจ่ายแบบเหมาจ่าย แต่ก็มีบางกรณีที่คิดเป็น % คูณราคาปกคูณยอดขาย/พิมพ์ ได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายครั้งเดียวจบกัน

    6. ลายมือชื่อคู่สัญญา(และพยาน)

    เมื่อ ครบองค์ประกอบและคู่สัญญาตกลงลงลายมือชื่อ สัญญาก็เป็นอันสมบูรณ์ นักเขียน/นักวาด รับเงิน และสำนักพิมพ์ก็ได้ลิขสิทธิ์ไปพิมพ์หนังสือจบสิ้นกันเพียงแค่นั้น จะพิมพ์ใหม่กี่ครั้ง นักเขียนก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับอะไรเพิ่มเติม (ยกเว้นจะตกลงกันไว้ในสัญญา) และลิขสิทธิ์ที่ขายไปแล้วก็ไม่เป็นมรดกให้ทายาทด้วยเมื่อตายครับ


    ข. สัญญาจ้างทำของ

    สัญญา จัดพิมพ์หนังสือประเภทสัญญาจ้างทำของ ซึ่งก็คือจ้างเขียนหรือจ้างวาด เป็นสัญญาที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 487 และลิขสิทธิ์จากการจ้างทำงานเขียนหรืองานวาด จะตกเป็นของผู้จ้าง ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 10 ที่กำหนดว่า "งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์โดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้จ้างมีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น เว้นแต่ว่าจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น"

    สัญญา ประเภทนี้พบได้มากในงานภาพประกอบนิยาย ซึ่งสำนักพิมพ์จะจ้างนักวาดให้วาดภาพประกอบเป็นครั้งคราวไปเพื่อให้เข้ากับ แนวเรื่อง และจ่ายเงินค่าจ้างเป็นรายชิ้นงาน หรือจ้างเขียนคอลัมน์และบทความลงในนิตยสาร, วารสาร ต่างๆ ที่เจ้าของนิตยสารมีลิขสิทธิ์ในคอลัมน์และบทความ เราจะเอาออกมาพิมพ์เองตามพลการมิได้เว้นจะตกลงกันไว้ก่อน

    สัญญาจ้าง ประเภทนี้ อาจจะไม่ต้องเซ็นสัญญาทำเป็นหนังสือก็ได้ เพียงบอกกล่าวกันด้วยวาจาก็ถือว่าจ้างกันสำเร็จแล้ว ถ้ามิใช่ผลงานที่มีค่าตอบแทนสูง ก็ไม่นิยมทำสัญญาเป็นหนังสือกัน

    องค์ประกอบของสัญญาจ้างเขียน/วาด ได้แก่

    1. คู่สัญญา
    2. ผลงานที่จ้าง(จ้างเขียนเรื่องอะไร หรือวาดรูปอะไร)
    3. กำหนดเวลาที่ต้องส่งผลงานสำเร็จ

    ราย ได้อันเกิดจากสัญญาประเภทนี้ จะถูกแยกออกจากค่าลิขสิทธิ์ในสัญญาประเภทสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ หรือสัญญาขายลิขสิทธิ์ซึ่งเข้าข่ายประมวลรัษฎากรมาตรา 40(3) แต่หากเป็นรายได้จากการจ้างทำของ จะเข้ามาตรา 40(8) ดังนั้นเวลายื่นแจ้งภาษีต่อกรมสรรพากร ในแบบ ภงด. 90 ต้องดูด้วยว่าสัญญาค่าตอบแทนนั้นเป็นสัญญาประเภทใด มิฉะนั้นจะร้อนถึงกรมสรรพากรต้องมาตรวจสอบไล่เบี้ยเอาจากทั้งสนพ. และเจ้าของผลงาน

    **********************************************************

    การทำสัญญาประเภทเสียลิขสิทธิ์ขาดนี้ต้องระวังให้มาก สัญญาจัดพิมพ์ประเภทเหมาจ่ายครั้งเดียว โดยมากจะเป็นสัญญาสองประเภทนี้ ซึ่งนักเขียนค่อนข้างเสียเปรียบ เนื่องจากลิขสิทธิ์ผลงานจะขาดไปสู่สำนักพิมพ์ตลอดไป วงการหนังสือสมัยก่อนที่ว่ากันว่านักเขียนไส้แห้ง ทั้งๆ ที่หนังสือขายดีก็เป็นเพราะสัญญาประเภทนี้นี่เอง ไม้ เมืองเดิม เขียนขุนศึก, แผลเก่า โด่งดังทั่วประเทศขายกระหน่ำ แต่สุดท้ายก็ต้องนั่งตายหน้าลังไม้ฉำฉา ในกระท่อมซอมซ่อ เพราะนายทุนสำนักพิมพ์เอาต้นฉบับไปพิมพ์แล้วเป็นสิทธิ์ขาดไม่ดูแลนักเขียน ร้อนถึงทายาทลูกหลานต้องไปฟ้องกันวุ่นอินุงตุงนัง การจะขายลิขสิทธิ์ขาดจึงต้องดูให้ดีว่าเราหวงผลงานนั้นแค่ไหน และเป็นผลงานดีขนาดไหน เพราะขืนขายไปแล้วเกิดฮิตถล่มทลายกลายเป็นละคร เราอาจจะต้องนอนร้องไห้เจ็บใจไปจนตายเสียก็ได้

    ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเขียนทุกท่านครับ

    เทราสเฟียร์ เอล เซราฟีเตอร์

    (ด้วยความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากปิยะณัฐ ฉายไสว ทนายความ)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×