ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณกรรมวิจารณ์ของเทราสเฟียร์

    ลำดับตอนที่ #6 : สามเรื่องสั้น เรื่องหมาๆ : เรื่องหมาไม่ใช่เรื่องหมูๆ

    • อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 54


     เนื่องจากคุณ Thet ได้ให้เกียรติผม เทราสเฟียร์ มาเป็นกรรมการวิจารณ์งานเรื่องสั้นเดือนตุลาคม "เรื่องหมาๆ" นี้ 
    แม้ว่าผู้ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวด จะมีจำนวนไม่มากนัก อาจจะเนื่องด้วยกำหนดการที่ฉุกละหุก หรือภัยธรรมชาติที่กระหน่ำซ้ำเติมประเทศไทยหลายพื้นที่จนไม่สามารถส่งเรื่องเข้าร่วมสนุกได้ก็ตาม แต่ผมก็จะวิจารณ์เพื่อให้นักเขียนที่ใฝ่ใจส่งเรื่องสั้นเข้าร่วมประกวด พัฒนาฝีมือ รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนต่อไปครับ

    เรื่องแรก 2553 หมาครองเมือง - Prisma Dominatus

    ไม่ใช่เรื่องสั้น! นี่เป็นความเรียงชนิดหนึ่ง

    เรื่องสั้นคือเรื่องเล่าที่มีพล็อตและตัวละครเอก ดำเนินเรื่องตามพล็อตที่ตั้งไว้ครับ

    การเล่าเรื่องของ 2553 หมาครองเมือง เป็นการเรียงลำดับความคิดถ่ายทอดออกมาโดยใช้โวหารเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่มีการกำหนดตัวละครเอก (Protagonist) ให้เกิดขึ้น และไม่มีการดำเนินเรื่องในลำดับต่างๆแต่อย่างใด อาจจะตีความให้จ่าฝูงของสุนัขฝ่ายเหนือเป็นตัวละครเอกดำเนินเรื่อง แต่สภาพการดำเนินเรื่องก็ไม่ได้ขับเน้นให้เกิดข้อขัดแย้ง(Conflict) ในท้องเรื่องมากไปกว่าชะตาชีวิตของจ่าฝูงตัวดังกล่าวที่ถูกจับไปขังแล้วปล่อย แล้วก็เล่าเรื่องต่อไป

    ภาษาที่ใช้เรียบเรียงอยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐาน มีการใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบสภาพการณ์ขึ้นมาเด่น คือ "พฤติกรรมล่าหาง" ผู้วิจารณ์ตีความ "หมา" ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ว่าหมายถึงนักเลงหัวไม้เกกมะเหรกเกเรตีกัน จำพวกสถาบันช่างกลทั้งหลายที่ไล่ล่าศัตรูคู่อริด้วยข้อหาผิดสีผิดกลิ่นต่างสถาบัน แต่เมื่อปิดเรื่องกลับโยนคำถามใส่หน้าผู้อ่านว่าอาจเป็นเหยื่อของพฤติกรรมล่าหางต่อไป ทั้งๆที่เล่าเรื่องของหมาอยู่ อาจทำให้คนอ่านเข้าใจไปว่าถูกด่าว่าเป็นหมา ตรงนี้สำคัญมากนะครับ การเขียนพึงประเมินความรู้สึกของคนอ่านด้วย

    การเปรียบเทียบช่วงหลัง ดูจะไม่แนบเนียนเสียเท่าไรในเรื่องการฝึกหมาทหารรักชาติ, การฉีดยาหมา ซึ่งค่อนข้างตรงไปเสียหน่อย ถ้าจะใช้ลีลาวรรณศิลป์ในการประชดประเทียดเปรียบเปรย อาจจะเปรียบว่า "หมาพวกนี้จะเอาไปอยู่ในหน่วยหมาทหาร เสียก็ลำบาก เมื่อฝึกแล้วมันก็เอาทักษะดมกลิ่นจากค่ายฝึกที่ ฯลฯ มาใช้ไล่ล่าฆ่าฟันกันต่อไป" มีช่องว่างให้เติมได้อีกพอสมควรครับ

    แกนเรื่องหลักไม่แน่นนัก ไม่ทราบว่าต้องการจะสื่ออะไรเป็นหลักระหว่างพฤติการณ์ล่าหาง, สภาพของหมาที่เที่ยวอาละวาด, หรือความไม่ใส่ใจของมนุษย์ การเขียนเรื่องสั้นที่ดีพึงกำหนดประเด็นหลักไว้แล้วแตกแขนงขยายจากประเด็นหลักนั้นมากกว่าจะเขียนเรี่ยรายทางตามความคิด แต่ถ้าหากพิจารณาในแง่ความเรียงแล้วถือว่าเป็นความเรียงที่ใช้ได้ในระดับ หนึ่ง

    ถ้าให้คะแนน คงให้ 0 ครับ เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องสั้น มันเป็นความเรียง 


    เรื่องที่สอง เสาไฟฟ้า - เดี๋ยวนะ...ขอนึกก่อน

    การเมืองชัดๆ! 

    การเริ่มเรื่องทำได้ดีครับ กำหนดตัวละครชัดเจน ตัวละครหลักและสภาพการดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างราบรื่น ขอติงนิดหน่อยในเรื่องการใช้คำบางจุดที่ใช้คำบรรยายเป็นแบบ "คน" มากกว่าแบบ "หมา" เช่น "เราเป็นคนเถื่อน" ถ้าปรับคำเป็น "เราเป็นหมาจรจัด" และ "เผ่าอนารยะ", "เผ่าที่ซื้อแผ่นดิน" เป็น "ฝูงหมาจรจัด", "ฝูงหมาเลี้ยง" จะเข้ากับโทนเรื่องมากกว่า

    จุดบกพร่องอยู่ที่การกำหนดโทนเรื่องที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ให้ภาพการต่อสู้ของฝูงสุนัขเลย ถ้าบรรยายเพิ่มสภาพการต่อสู้อย่าง "ฝูงหมาต่างกัดกันเสียงดังโหยหวยไปทั่วถนน อุ้งเล็บต่อเล็บเข้าตะปบ เขี้ยวต่อเขี้ยวกัดเข้าที่คอ สันหลัง และ ฯลฯ" เป็นต้น จะดูดีกว่าปล่อยให้เสียงปราศรัยกลบสภาพสู้รบที่แท้จริง และการแบ่งวรรคตอนระหว่างคำพูดของแต่ละฝ่ายดูสับสน น่าจะมีการเสริมเติมแต่งฉากเพื่อให้เห็นสภาพของแต่ละฝ่ายในขณะที่ผู้นำพูดเพิ่มเติมอีก

    การปิดเรื่องค่อนข้างไม่ชัดเจน ถ้าจะหักมุมตามสไตล์เรื่องสั้นก็น่าจะให้หางดาบถูกเทศกิจอุ้มไป หรือเสาไฟฟ้าที่ตั้งดินแดนที่แย่งชิงกันโค่นลงทับหางดาบเสียเลย การจบเรื่องจะมีประเด็นให้คิดต่อมากขึ้น โดยไม่ต้องมีประโยควรรคสุดท้ายชี้นำ

    ตัดคะแนนให้ 4/10 เนื่องจากความไม่ชัดเจนของบทสรุป และการใช้คำในท้องเรื่องทีี่ไม่ทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องของหมา ครับ 


    เรื่องที่สาม เรื่องหมาๆ - R@kia


    "เรื่องหมาๆ" ของ R@kia เป็นเรื่องสั้น "เรื่องหมาๆ"  ที่ได้ทั้งนัยยะเชิงความจริง คือเป็นเรื่องของหมา(Canis lupus.) และเป็น "เรื่องหมาๆ" ในนัยยะเชิงสำนวนเปรียบเทียบ ไปควบคู่กัน โดยใช้คนดำเนินเรื่องเล่าเรื่องของหมาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคน ทำให้คนในชุมชนกลายเป็น "หมา" มีพฤติกรรม "หมาๆ" ไม่ต่างจากหมาที่พวกเขาเลี้ยง

    การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในตำบลของตัวละครเอก "เกตน์" อันเกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงหมาของลุงสินกับป้าใจ เป็นพฤติกรรมจิตวิทยาหมู่ของบุคคล เราอาจจะตีความหมาของแต่ละฝ่ายเป็นได้ทั้ง พรรคการเมือง, ทีมฟุตบอล หรือแม้กระทั่ง ศาสนา R@kia ดูจะมีนวความคิดเชิงมนุษยนิยมว่า คนเราถ้าไม่มีเรื่องมาทำให้แบ่งแยกฝ่าย ก็จะอยู่กันอย่างสงบสุขได้เหมือนเพลง imagine ของจอห์น เลนนอน

    แต่ผู้วิจารณ์เองขอตั้งขอสังเกตในมุมที่แตกต่างบ้าง คือสภาพการณ์ทั้งหมดจะว่าเกิดจากหมาเป็นส่วนเดียวไม่ได้ ถ้าลุงสินยอมฟังป้าใจบ้าง ไม่รักไม่หวงเจ้าอ้วนเกินไปจนเผื่อแผ่ถึงสมุนของมัน, ถ้าป้าใจไม่ดื้อรั้นถือทิฐิกับของที่หายจนหาหมามาเลี้ยงไว้สู้กัน ปัญหาก็ไม่เกิด เพราะหมาย่อมรักนายของมัน เมื่อนายของมันไม่ถูกกันก็ต้องระดมพลมาต่อสู้กันเป็นธรรมดา ด้วยนิสัยชอบเลี้ยงสัตว์จรจัดของลุงสิน  ถึงไม่มีปัญหาหมาในวันนี้ ก็จะมีปัญหาแมว นก หรือแม้กระทั่งงู ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

    และบท สำคัญของเกตน์ ตัวละครเอกเอง ที่ปล่อยปละละเลยไม่ยอมบอกเรื่องที่เจ้าอ้วนคุกคามเป็นอันตรายต่อตนเองก่อน ที่เรื่องจะบานปลาย อาจแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยของเหล่าผู้ "รู้ทุกอย่าง" แต่ไม่ลงมือทำอะไรนอกจากการคิดหวาดกลัวและระแวงไว้ก่อนเท่านั้น

    โดยรวมแล้ว เขียนได้ดีหมดทั้งเรื่องมาเสียที่การปิดเรื่องด้วยความฝันตอนท้ายที่ทำให้เรื่องดูเบาไปนิดหน่อย ซึ่งอาจจะแล้วแต่คนชอบนะครับ แต่ถ้าตัดเอาสองบรรทัดสุดท้ายออก แล้วเปลี่ยนมุมมองให้เห็นเกตน์เดินลงบันไดมาแล้วทิ้งให้คิดเลยโดยไม่ต้องใช้ ประโยคนำจะดีกว่ารึเปล่า?

    รวมถึงการฝันว่าให้มีวีรบุรุษเป็นชายคนเดียวมาเรียกเอาหมาทั้งฝูงทั้งหมดไป ก็เป็นความฝันที่เหนือจริงไปหน่อยจากความเป็นปกติของเรื่องที่ดำเนินมาจนจบ หากว่าเปลี่ยนเป็นหมาทั้งสองฝูงกัดกันจนตาย, มีเทศกิจมาจับไปหมด, หรือแม้กระทั่งหมาหนีออกจากตำบลไปเนื่องจากอาหารไม่พอ ก็จะดูสมจริงในความฝันมากขึ้น แต่อาจจะตีความว่าเป็นนัยเปรียบของเกตน์ที่ต้องการฮีโร่สักคนมาแก้ปัญหานี้ ตามประสาเด็กๆ ก็น่าจะแทรกแฟนตาซีมากกว่านี้ได้

    ตัดคะแนนให้ 8/10 หักที่ตอนจบครับ ถือว่าเป็นเรื่องสั้นชั้นดีพอที่จะส่งขายหัวเราะได้


    เห็นได้ว่า "เรื่องหมาๆ ไม่ใช่ "เรื่องหมูๆ" เลย (ก็แน่นอนอ่ะสิ)
    การเขียนเรื่องสั้นที่ดีจำเป็นต้องมีจุดเด่นสำคัญที่เป็นแกนหลักของเรื่อง และยึดจุดนั้นๆไว้อย่างเด่นชัดที่สุด
    มิฉะนั้นรสของเรื่องสั้นก็จะจืดลงกลายเป็นเรื่องเศร้าของนักเขียนไปโดยปริยาย

    ขอให้นักเขียนทุกท่านมีกำลังใจเขียนผลงานดีๆอีกต่อไปครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×