คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : ตราบฝัน : ตราบไม่ตื่นจากฝัน
ตราบฝัน : ตราบไม่ตื่นจากฝัน
การประกวดนิยายรางวัล นักเขียนหน้าใสของสำนักพิมพ์แจ่มใสก็ได้ล่วงเข้ามาถึงปีที่ ๓ แล้ว ซึ่งดูว่าจะคึกคักและเป็นที่จับตามองของเหล่าหนุ่มสาวนักเขียนหน้าใสมากหน้าหลายตาที่จะเข้าร่วมชิงชัยตามความฝันที่จะได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ทั้งฝ่ายนิยายรักวัยรุ่น และนิยายแฟนตาซี ซึ่งผู้ชนะของปีนี้ก็ได้ประกาศแล้วตามหน้าเว็บไซต์ คำถามมีอยู่ว่า เมื่อตอนแข่งขันนั้นนักเขียนแต่ละคนต้องพยายามเขียนให้ดึงดูดใจไปในแต่ละตอน แต่เมื่อมารวมเล่มล่ะ จะทำให้ความน่าสนใจต่อเนื่อง อ่านสนุกจนจบเล่มหรือเปล่า ผู้วิจารณ์จึงนำเสนอบทวิจารณ์หนังสือนิยายแฟนตาซี รางวัลชนะเลิศ “นักเขียนหน้าใส” ครั้งที่ ๒ สายแฟนตาซี ของ Caje เพื่อนในบอร์ดนักเขียนเด็กดีของเรานี่เอง
กล่องชิงโชค : โชคชะตาไร้ที่มา
“ตราบฝัน” มีโครงเรื่องหลักคือการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆของตัวเอกทั้งสอง ซาจินา และเวทาล โดยมีตัวละครรองคือ อรัน คอยสนับสนุน ซึ่งที่มาที่ไปของตัวละครเอกเกือบทั้งหมดจะเปิดเผยในตอนปลายเรื่อง ซึ่งทำให้ความน่าติดตามในต้นเรื่องขาดช่วงไป การเปิดเรื่องที่ทำได้น่าสนใจด้วยการเข้าครอบครองร้านขายของสารพัดอย่างและกลายเป็นร้านรับจ้างจึงลดลงจนเกือบจืด แม้ว่าการเฉลยเรื่องราวในตอนปลายจะกระตุ้นความตื่นเต้นได้บ้าง แต่ว่าก็ทำให้แกนเรื่องดูสับสนมากขึ้นไปอีก ตัวละครส่วนใหญ่มีมิติน้อยและค่อนช้างจะแบน มีแต่จุดเด่นขาดจุดด้อย
ซาจินา : นาม รูป และภาษา
สิ่งที่ต้องชมเชยเป็นอย่างยิ่งในเรื่อง “ตราบฝัน” นี้คือการใช้คำและภาษา Caje สามารถเล่นกับคำและภาษาอย่างรื่นไหล บทบรรยายที่สวยงาม จินตนาการตามได้เด่นชัดทั้งภาพและเสียง เช่น “ริมฝีปากได้รูปฮัมเพลงคลอไปอย่างเริงรื่น ชายกระโปรงสีขาวจีบพลิ้วยาวประมาณเข่าสะบัดไปมา รองเท้าหนังสีน้ำตาลเข้มแตะพื้นและยกขึ้นเป็นจังหวะ ห่วงทองสองห่วงที่คล้องอยู่ที่ข้อมือแต่ละข้างช่วยขับเน้นผิวเนียนเรียบสีงาช้างให้โดดเด่นขึ้นมา และยามกระทบกันก็ส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งไพเราะไปตลอดทาง” (หน้า 13 : 3) แสดงให้เห็นถึงภูมิความรู้ในการสรรคำของผู้เขียนว่ายอดเยี่ยม อย่าไรก็ดี ผู้เขียนยังไม่แก้ไขลักษณะเฉพาะบางประการที่เคยเป็นมาในเรื่องก่อนๆ การใช้กริยาและคำขยายซ้อนเกินความจำเป็น เช่น “เมื่อสาแก่ใจ หมายมั่นว่าปีศาจได้ตายสนิทแล้ว”(หน้า 17:12) หรือ “นัยน์ตาสีฟ้าไร้แววของเด็กหญิงเคลื่อนคล้อยมามองคนตรงหน้าช้าๆ” (หน้า 75:1) ซึ่งปรากฏในเนื้อเรื่องเป็นระยะๆ รวมถึงการใช้สรรพนาม วิธีพูดของตัวละครที่ราบเรียบใช้คำสุภาพเรียบร้อยแทบไม่แตกต่างกันในแต่ละคน ทำให้จังหวะของภาษาในเรื่องเนิบนาบอืดอาดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนด้านการสะกดคำและพิสูจน์อักษรนั้นไม่มีจุดผิดพลาดสมควรยกย่อง
ปีศาจในป่าใหญ่ : รายละเอียดที่ล้นเกิน
“ตราบฝัน” นั้น หาข้อติทางภาษาได้ยาก แต่การที่ไร้ข้อติกลับกลายเป็นจุดบกพร่องใหญ่ของเรื่องเอง การบรรยายรายละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นภาพ ทำให้เมื่ออ่านแล้วความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องถูกดึงให้ตะกุกตะกักตกลงไปตามช่วงของการบรรยายนั้นๆ แทนที่ฉากตื่นเต้นตกใจจะตัดฉากได้ต่อเนื่องฉับไวกลับต้องมาอ่านคำบรรยายสถานการณ์ของตัวละครเสียก่อน เช่นในบทที่ ๑๙ ฉากประมือระหว่างซาจินา เวทาล และทราวิซ ซึ่งควรจะมีสภาพการเคลื่อนไหวต่อเนื่องเร้าใจ กลับเต็มไปด้วยบทสนทนาโต้ตอบและบรรยายรายละเอียดของจิตใจมากกว่าสภาพการต่อสู้ หรือในบทที่ ๒๒ ก่อนจบเรื่องที่ขมวดเรื่องราวทั้งหมดลงสั้นๆห้วนๆ ด้วยการคุยกันทั้งที่มีช่องว่างให้สอดแทรกเนื้อเรื่องที่จำเป็นลงไปได้อีก
อัญมณีต้องสาป : คำสาปของความสัมพันธ์
ข้อขัดแย้งหลักของเรื่อง “ตราบฝัน” ที่กินเนื้อหามากกว่าครึ่งหนึ่งของเล่ม มาจากอัญมณีสีดำ หรือ “นิลรัตน์” แต่ในเนื้อเรื่องนั้นมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับตัวละครและสถานที่มากล้นจนต้องยัดทั้งหมดเข้าไปใน ๒๑๐ หน้า ซึ่งผู้เขียนอาจตัดทอนเหตุการณ์บางเหตุการณ์ อย่างการตามหากิ้งก่าออก หรือโยนตัวละครที่เกินจำเป็นอย่างนักเวทต่างแคว้นทิ้งไปเพื่อแจกบทให้ตัวละครหลักสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันได้มากขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ของตัวละครเอก คือซาจินาและเวทาลเอง ดูแนบชิดเกินปกติเพียงแค่ผ่านเหตุการณ์ไม่กี่ครั้ง อีกทั้งการใส่เรื่องราวมากเกินไป ทำให้ผู้อ่านขาดความผูกพันกับตัวละครเอก ตัวซาจินาและเวทาลเองขาดแรงดึงดูดใจให้เชื่อและเอาใจช่วยตามหลักของนิยายแฟนตาซีลงไปหลายส่วน และการแก้ไขปัญหาของอัญมณีสีดำเองสุดท้ายแล้วก็ตัดฉากรวบรัดให้แก้ไขได้ในทันที ไม่มีการหักมุม สร้างความแปลกใจ หรือกระตุ้นให้ติดตามต่อ แล้วจู่ๆก็เปลี่ยนเรื่องจบไปเลย
ตราบอยู่ในห้วงฝัน : อ่านแล้วหลับฝัน
ความดึงดูดใจหลังของนิยายแฟนตาซีนั้นคือ “ทำให้เชื่อว่าเรื่องราวนั้นเหมือนจริง” และทำให้ผู้อ่าน “คอยเอาใจช่วย” ตัวละครของนิยายอย่างใจจดใจจ่อ แต่ด้วยปัจจัยดังกล่าวไปข้างต้น “ตราบฝัน” ทิ้งโอกาสสร้างความผูกพันกับตัวละคร ไปกระจายรายละเอียดใส่ตัวประกอบรองต่างๆ ฉากที่สวยงาม และบทสนทนาคมคาย ซึ่งทั้งหมดนั้นประกอบเป็นนิยายที่ดีได้ แต่กลับขาดความ “สนุกสนานน่าติดตาม” ลงอย่างน่าเสียดาย ผู้วิจารณ์อ่าน “ตราบฝัน” แล้วก็พลอยทำให้หลับฝันไปด้วยถึงสองงีบกว่าจะอ่านจบทั้งเล่ม ผู้เขียน “ตราบฝัน” รู้จักการ “เติม” ดีแล้ว แต่ขาดทักษะในการ “ตัด” ส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากเรื่องของตน เพื่อให้เนื้อเรื่องกระชับและดึงดูดในแบบแฟนตาซี และควรแก้ไขในส่วนของการแก้ปัญหา, ปริศนา หรือการต่อสู้ให้เด่นขึ้นเหนือฉากที่ละเอียดงดงาม เพื่อไม่ให้ปมประเด็นหลักของเรื่องถูกกลืนลงไปอยู่ในท้องทะเลของรายละเอียดปลีกย่อย
“ตราบฝัน” อาจจะเป็นนิยายแฟนตาซีที่ดีได้มากกว่านี้ ถ้าขยายความยาวเรื่องออกอีกสักเท่าตัว และให้ตัวละครรองต่างๆเข้ามามีบทบาทสนับสนุน มีชีวิตจิตใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ผู้วิจารณ์ขอเป็นกำลังใจให้ Caje ผู้เขียน “ตราบฝัน” พัฒนาการเขียนในแนวแฟนตาซีต่อไป เพื่อให้ความฝันนั้นตื่นขึ้นมาเป็นความจริง
ความคิดเห็น