ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กว่าจะเป็นหนังสือ

    ลำดับตอนที่ #5 : 5. สุดปลายทางของหนังสือ

    • อัปเดตล่าสุด 5 ม.ค. 54


    ลิงค์บทความตอนที่ 1-4
    http://writer.dek-d.com/serapheter/writer/view.php?id=673938

    จากป่าสนในสวีเดนมาจนถึงแผงหนังสือ ชีวิตของหนังสือยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
    หลังจากนักอ่านเลือกหยิบ เลือกซื้อหนังสือที่ตนเองพึงพอใจไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นกันล่ะ?

    "กว่าจะเป็นหนังสือ" ตอนนี้ จะพาท่านผู้อ่านติดตามเข้าสู่ซอกหลืบและมุมมืดของวงการหนังสือที่ไม่ค่อยมี คนรู้จัก เมื่อหนังสือถูกเลหลัง ละทิ้ง ขายไม่ออก และกลายเป็นเชื้อเพลิงให้กระบวนการอื่นๆในการผลิตหนังสือดำเนินต่อไปอย่าง ไม่สิ้นสุด

    เมื่อร้านหนังสือปิดยอดขายในแต่ละเดือน เจ้าของร้านจะต้องส่งยอดขายที่ขายได้ให้กับสายส่ง พร้อมทั้งโอนเงินค่าหนังสือที่ขายได้ หักเปอร์เซ็นต์ส่วนลดของร้านค้าปลีกเป็นกำไร พร้อมทั้งห่อหนังสือที่ขายไม่ออกไว้รอให้สายส่งมารับกลับไป ส่วนหนังสือบางประเภทที่สายส่งไม่รับกลับ เช่น หนังสือที่ร้านค้าสั่งมาเพิ่มเป็นพิเศษ แต่กลับขายไม่ออก อาจจะเพราะลุกค้าไม่มารับหนังสือที่สั่งไว้ ก็เป็นการจมทุนของผู้ขาย ดังนั้นหากคุณไปสั่งหนังสือไว้ที่ร้านไหน ควรไปรับหนังสือด้วย มิฉะนั้นถือเป็นการทำร้ายตัวร้านค้าที่คุณรักเอง

    ในส่วนของร้านหนังสือแฟรนไชส์ที่มีสายส่งของตัวเอง ระบบห่วงโซ่อุปทานลอจิสติกส์จะลื่นไหลอย่างรวดเร็วกว่าแผงหรือร้านหนังสือ ธรรมดา เมื่อเครื่องสแกนเนอร์ยิงบาร์โค้ดของหนังสือแต่ละเล่ม ยอดขายจะถูกรายงานไปที่ศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้ากลาง เพื่อประมวลผลว่าสาขาใดขายหนังสือชนิดใดได้มากเท่าใด และหากมีการสั่งซื้อหนังสือเฉพาะจากลูกค้า รถขนส่งสินค้าก็จะรับคำสั่งซื้อแล้วเลือกหนังสือที่ว่าขึ้นรถไปส่งยังสาขาใน ที่สุด

    และในท้ายสุด เมื่อหนังสือ "ขายไม่ออก" ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น สามเดือน หกเดือน ตามที่สายส่งได้สัญญาเครดิตกับสำนักพิมพ์ไว้ รถสายส่งที่มาส่งหนังสือ ก็จะรับหนังสือที่ไม่มีใครเหลียวแลนั้นออกจากชั้นไป หนังสือแต่ละชนิดมีอายุการวางแผง(Shelf-life)ต่างๆกัน หนังสือเบสต์เซลเลอร์ขายดีอาจจะไม่ต้องส่งคืนแม้จะยังขายไม่ออกครึ่งปี แต่ถ้าเป็นหนังสือเฉพาะเทศกาล หรือหนังสือเฉพาะกิจที่ออกมาเกาะกระแสข่าว อย่างหนังสือการเมือง หนังสือบุคคลสำคัญที่เสียชีวิต อาจจะมีอายุสั้นเพียงหนึ่งหรือสองเดือนก็ต้องเก็บกลับคืน ในกรณีหนังสือนิยาย อายุการวางแผงอาจจะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและยอดขายในอดีตของสำนักพิมพ์ ว่าที่ผ่านมาผลงานของสำนักพิมพ์นั้นๆขายได้หรือไม่ในร้าน ถ้าขายได้ก็คุ้มค่าการเสี่ยงที่ยังทู่ซี้วางแผงต่อไป แม้อาจจะเปลี่ยนจากการวางโชวป์ปกเป็นวางตะแคงเอาสันปกออกเพื่อลดพื้นที่ แต่หากว่าเป็นสำนักพิมพ์ใหม่แล้วยังขายไม่ดี หนังสือเล่มนั้นก็จะถูกตีกลับไปกองที่สำนักพิมพ์ให้ขาดทุนเล่น



    หนังสือที่ถูกตีกลับและสายส่งเก็บกลับมาแล้ว ก็จะถูกคำนวณยอดขายทั้งหมดหักค่าสายส่งตามที่ทำสัญญาไว้ ก่อนที่จะส่งเงินกำไรให้สำนักพิมพ์ หรือเรียกเก็บเงินเพิ่มจากสำนักพิมพ์หากยอดขายไม่ถึงเป้า และส่งหนังสือที่เหลือค้างกลับไปที่สำนักพิมพ์ บางครั้งสำนักพิมพ์ที่ตกลงทำสัญญากับสายส่งว่า หากยอดขายไม่พอชำระค่าสายส่ง ให้นำหนังสือนั้นออกขายทอดตลาดได้ หรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์ที่เจ๊ง หนีหนี้ไปก่อนที่จะเคลียร์บิลในรอบบิลนั้นๆ หนังสือที่น่าสงสารก็จะอยู่กับตัวสายส่ง พร้อมที่จะถูกเลหลังลงกะบะราคาถูกแสนจะถูก เพียงเพื่อให้ได้ต้นทุนค่าพิมพ์ที่แท้จริง (ราว 10% ของราคาปก) กลับคืนมาบ้าง



    และหนังสือที่แม้แต่เมื่ออยู่ในกะบะลดราคายังไม่ถูกเหลียวแล จะถูกเก็บไว้เร่ขายเหมาให้แก่ร้านค้าเร่เพื่อเดินทางไปตามงานประเพณีเทศกาล ต่างๆ ชนิดที่ว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย หนังสือชั้นหายากหลายเล่มก็ถูกพบฝุ่นจับตามแผงเร่เหล่านี้

    หากแต่สุดสายปลายทางของหนังสือที่ไม่มีคนแลเอาเสียจริงๆ จะมาบรรจบกับหนังสือที่ผ่านมือผู้คนมาจนเปื่อยยุ่ยที่ "ร้านรับซื้อของเก่า"



    อย่างน้อยหนังสือก็ผลิตขึ้นมาจาก "กระดาษ" ในที่สุดเมื่อ "เนื้อหา" ภายใน ซึ่งเป็นสิ่งสมมติเพิ่มมูลค่าให้กระดาษราคาไม่กี่สตางค์นั้นไม่มีผู้เห็นคุณ ค่า กระดาษก็กลับมามีค่าเท่ากับกระดาษธรรมดาเท่านั้นเอง ผู้เขียนบทความเติบโตมาในร้านรับซื้อของเก่า เห็นหนังสือปริมาณมหาศาลย้อนคืนสู่สภาพสามัญคือเยื่อกระดาษอีกครั้งมาแล้ว เป็นพันๆหมื่นๆตัน รถซาเล้งหรือแม้แต่รถกะบะรับซื้อของเก่าจะรับซื้อเอาหนังสือที่สิ้นสภาพ เหล่านี้มารวมกับที่ร้านของเก่า ขั้นตอนการรีไซเคิลหนังสือจะเป็นไปดังนี้

    1. คัดแยกสีและสภาพของกระดาษ ถ้าหนังสือที่ใช้กระดาษปอนด์สีขาวจะถูกฉีกปกออกแล้วตีมูลค่าเป็นกระดาษขาวดำ ซึ่งมีราคาดีกว่ากระดาษเศษทั่วไปหลายบาทต่อกิโลกรัม

    2. ฉีกปก เลาะกาว ใส่กระสอบแยกประเภท กระดาษแข็ง กระดาษขาวดำ กระดาษสี กระดาษลูกฟูก กระดาษลัง มีราคาแตกต่างกันไป ในฤดูฝนราคากระดาษจะลดลงเพราะต้องถ่วงน้ำหนักความชื้น

    3. ร้านขายของเก่าส่งกระดาษใส่รถบรรทุกไปยังโรงงานผลิตกระดาษรีไซเคิล

    4. โรงงานกระดาษรีไซเคิลเริ่มฉีดน้ำใส่กระดาษที่แยกประเภทแล้ว เติมกรด ปั่นแยกเยื่อกระดาษ และผลิตเป็นกระดาษใหม่ในที่สุด

    กระดาษรีไซเคิลที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันที่เห็นกันบ่อยครั้ง คือกระดาษลังสีน้ำตาลใส่เหล้าเบียร์ และกระดาษสีชมพูที่ใช้เช็ดจานในร้านอาหารนั่นเอง เป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ที่สุดท้ายแล้วหนังสือที่เราอ่าน อาจจะแปรรูปกลายมาเป็นกระดาษเช็ดปากเช็ดจานในร้านอาหารที่เราไปกินได้

    ปัจจุบันมีบริษัทผลิตกระดาษหลายแห่งใช้กรรมวิธีฟอกสีใหม่เพื่อให้ได้กระดาษคุณภาพใช้ ในสำนักงานจากกระดาษรีไซเคิลโดยอ้างว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม หากแต่กระบวนการฟอกสีดังกล่าวต้องใช้สารเคมีมากมายเช่นกัน ผู้ใช้กระดาษต้องพิจารณาว่าเป็นเพียงกลยุทธการตลาดหรือเป็นการทำเพื่อสิ่ง แวดล้อมโดยแท้จริง

    ส่วนหนังสือที่ไม่ผ่านกระบวนการเก็บ แยก รีไซเคิลล่ะ จะไปที่ไหน?
    หนังสือเองก็เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ขยะประเภทกระดาษที่ไม่นำไปรีไซเคิลมักจะถูกนำไปเผาทำลายตามเตาเผาขยะ มีเพียงส่วนน้อยที่จะถูกนำไปฝังตามพื้นที่ฝังกลบขยะ กลายเป็นดินธรรมดาเหมือนเช่นเดิม

    สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้หนังสือแตก ต่างจากกระดาษคือ "เนื้อหา" หากเนื้อหาในหนังสือไม่มีคุณค่า กระดาษก็ย่อมเป็นเพียงกระดาษธรรมดา กระบวนการผลิตหนังสือที่ไร้คุณภาพ เนื้อหาที่ไร้ประโยชน์ ไม่มีความสนุก ขาดอรรถรส ย่อมเป็นการทำให้กระดาษดีๆที่ทำจากป่าไม้ แร่โลหะที่นำมาทำหมึก น้ำมันที่ใช้ขนส่งหนังสือทุกขั้นตอน สูญสิ้นไปอย่างน่าเสียดาย

    นักเขียนและบรรณาธิการ หรือแม้กระทั่งนักอ่าน พึงตระหนักรู้ไว้เถิดว่า ในหนังสือเพียงเล่มเดียวที่อยู่ต่อหน้าคุณ มีการสอดประสานงานร่วมกันของคนทั้งโลกย่นย่ออยู่ในมือ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×