ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    A Tranquilizer for your Christmas Eve : ยากล่อมใจในคืนฝัน

    ลำดับตอนที่ #5 : จิตติกับเหล่าหญิงสาวรอบตัว -2-

    • อัปเดตล่าสุด 23 ก.ค. 53


    เขาไปถึงที่ทำงานสาย 20 นาที แต่ในเมื่อที่นี่คือประเทศไทย การสายยี่สิบนาทีก็แทบจะไม่มีผล เมื่อเขาไปถถึงก็พบว่านักบำบัดการพูดอยู่ในห้องทดสอบก่อนแล้ว เขาคิดว่าการตรวจนั้นควรจะยืนยันสภาพการพูดได้ของทัตตวา ก่อนจะคำนึงถึงเรื่องเกี่ยวกับจิตเวช จึงนัดนักบำบัดการพูดให้พบทัตตวาวันนี้ การตรวจเกิดขึ้นในห้องที่มีกระจกกลสองด้าน เขาสามารถสังเกตทัตตวาจากอีกห้องได้โดยเธอมองไม่เห็นเขา

    ทัตตวายังสวมเสื้อฟุตบอลทีมชาติเยอรมันตัวเดิม ยิ่งจิตติเพ่งพินิจเท่าไร ทัตตวาก็ยิ่งดูเป็นเด็กชายมากขึ้นเท่านั้น เขาสงสัยว่าเสียงของเธอจะเป็นอย่างไร เหมือนเด็กชายหรือเด็กสาว ทัตตวาไม่ยอมพูดอะไรออกมาสักคำ และดูเหมือนว่านักบำบัดการพูดจะเสียเวลาเปล่าไปกับการพูดซ้ำๆอยู่คนเดียว

    นักบำบัดยกภาพสิ่งของต่างๆและถามว่า เธอพูดอะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้หรือเปล่า นั่นคือวิธีการฝึกพูดของเด็กและจิตติไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์โภชผลอันใดขึ้นได้ จิตติเหม่อลอยไปในภวังค์ความคิด ควงปากกาจ่ออยู่ใกล้ปากเหมือนกับกำลังสูบบุหรี่ (เขาเคยสูบอย่างหนักสมัยยังเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องเลิกไปเมื่อตรวจพบอาการขั้นต้นของหอบหืด ทำให้เขาติดนิสัยคีบแท่งเล็กๆทรงกระบอกด้วยสองนิ้วมาจนถึงปัจจุบัน) เขาเอียงหน้าเข้าแนบกระจก จ้องมองที่ทัตตวาราวกับจะหาจุดด่างดำที่เกาะติดอยู่กับตัวเธอที่ไหนสักแห่ง เมื่อนักบำบัดการพูดถามคำถามง่ายๆ อย่าง “รู้ไหมคะว่านี่คืออะไร” แล้วชี้ไปที่รูปรถยนต์ ทัตตวาพยักหน้ารับ แต่เมื่อเปลี่ยนคำถามเป็น “แล้วหนูชอบรถแบบไหนคะ” ทัตตวากลับไม่พูดหรือแสดงท่าทีอะไรออกมา ตอนนี้เขารู้แล้วว่า เธอตอบคำถามได้ผ่านการแสดงท่าทาง พยักหน้า และส่ายหน้าเพียงเท่านั้น

     “ทำไมไม่ยอมพูดอะไรเลย” จิตติพึมพำกับตัวเอง รู้สึกสงสารนักบำบัดการพูดขึ้นมาครามครัน  เธอคงหัวปั่นและเครียดไม่น้อย

    การทดสอบจบสิ้นลงอย่างไร้ผล จิตติรู้สึกว่าตนเองต้องเข้าไปขอโทษนักบำบัด และก็เป็นอีกครั้งที่ทัตตวาเดินผ่านเขาไปโดยไม่แสดงท่าทางทักทายเช่นเดียวกับครั้งสุดท้ายที่พวกเขาเจอกัน ชั่วขณะที่เขามองไปที่เธอ เขาคิดว่าเธอจงใจเมินเฉยอละทำให้เขารู้สึกไม่ชอบถึงขึ้นมาชั่วแปลบหนึ่ง ฉันเป็นหมอ “งี่เง่า” ชองเธอและเธอก็ “ต้องการ” ความช่วยเหลือจากฉันนะ เขาพะวงอยู่ชั่วครู่ก่อนจะปัดความคิดนั้นทิ้งไป เพราะผู้ใหญ่ไม่ควรโกรธเด็กด้วยเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้ ถึงแม้ว่ามันจะน่าโกรธน้อยอยู่เสียเมื่อไรก็เถิด ถ้าคนปกติเอ่ยถามอะไรขึ้น เขาย้อมคาดหวังคำตอบ หรืออย่างน้อยถ้าไม่ได้คำตอบก็ควรได้ท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธ มิใช่การนิ่งเฉยเหมือนพูดอยู่กับกำแพงแบบที่ทัตตวากำลังทำอยู่

    เด็กสาวเดินลงไปที่รับซึ่งรอรับเธออยู่ จิตติไม่เห็นยายของเธออยู่ด้วย และรถคนนั้นก็พุ่งฉิวออกจากโรงพยาบาลไปลับสายตาอย่างรวดเร็ว

    “เด็กผู้ชายคนนั้นพิลึกดีนะคะ ไม่สิ ถ้าว่ากันทางกายภาพเธอก็ไม่ใช่ผู้ชาย แต่ว่าทุกวันนี้ นุ้ยจะเรียกคนตามเพศหรือเพศสภาพดี” เสียงคุ้นหูแทรกสู่โสตประสาท เขาเหลียวหลังกลับไป เห็นแพทย์สาวคนหนึ่งในชุดชุดกาวน์สั้น รวบผมขึ้นสูงไปข้างหลังจนเห็นหน้าผากเต็มส่วน จิตติจำเธอได้ในทันที

    “นุ้ย”

    “ไม่ได้เจอกันนานเลยนะคะ”

    “ผมไม่รู้ว่าคุณกลับมาจากเชียงรายแล้ว”

    “พ่อนุ้ยไม่สบาย เลยถูกเรียกตัวกลับมากรุงเทพ ว่าแต่ว่า พี่เป็นไงบ้างนี่คะ หกปีแล้วสินะที่เราไม่ได้เจอกันเลย”

    “ใช่ มันก็นานพอดู แล้ววันนี้คุณมาทำอะไรที่นี่ล่ะ”

    “อ๊ะ นี่พี่ไม่รู้หรือคะ ว่านุ้ยเป็นหมอประจำตัวของทัตตวาเค้า”

    จิตติอ่านรายงานของแพทย์ประจำตัวแล้ว แต่เขาไม่รู้ว่านุ้ยเป็นคนเขียน เขารู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อยที่จำชื่อจริงของเธอไม่ได้

    กว่า 6 ปี แล้วที่ทั้งคู่ไม่ได้พบกัน นุ้ยเป็นรุ่นน้องที่คณะแพทยศาสตร์ แม้ว่ารูปหน้าจะเปลี่ยนไปตามวัยบ้าง ต้นแขนจะท้วมขึ้นนิดหน่อย แต่เธอก็ยังเป็นคนๆเดียวกับที่เขาคบเมื่อ 6 ปีก่อน เป็นสาวสะพรั่งพร้อมรอยยิ้มเดิมๆกระจ่างบนใบหน้า

    “ถ้างั้น คุณคิดว่าเคสนี้เป็นไงบ้าง”

    นุ้ยเริ่มสาธยายเรื่องราวเหมือนกับที่รายงานเขียนไว้ ทัตตวามิได้อยู่ในสภาพไร้เพศแต่ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นหมัน เธออายุ 17 ปีแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งนั่นจะอธิบายถึงความขาดแคลนสัญชาตญาณของเพศหญิงได้

    “นุ้ยคิดว่าการเลี้ยงดูส่งผลต่อน้องเค้าในทุกๆเรื่องเลยค่ะ ทั้งร่างกายแล้วก็จิตใจ ว่ากันสั้นๆคือ ครอบครัวต้องเลี้ยงดูเค้ามาแบบผิดๆแน่ นุ้ยว่านะ เด็กผู้หญิงที่ใส่ชุดผู้ชายน่ะไม่แปลกเท่าไรหรอก แต่ที่เค้าไม่มีประจำเดือนกับไม่ยอมพูดอะไรเนี่ย สัญชาตญานของผู้หญิงกับความเป็นหมอบอกนุ้ยว่าอย่างนั้น” เธอเล่าต่อ

    “แต่ยายของทัตตวาสาบานได้เลยว่าไม่เคยทำอะไรไม่ดีกับหลานนี่”

    “อ๊ะ ก็ใครจะไปรู้ได้ล่ะคะ พี่ คนแก่ก็โกหกเป็นเหมือนกันล่ะน่า ตอนนี้นุ้ยจ้องเข้าไปในแววตาของเค้า นุ้ยเห็นแต่ความว่างเปล่าโหวงเหวง นุ้ยเป็นหมอเด็กนะคะ แววตาว่างเปล่าแบบนั้นจะมีก็แต่ในเด็กที่ครอบครัวแตกแยกเท่านั้น พวกเด็กที่โตมาโดยขาดแคลนความรักไงคะ”

    “ขาดความรัก?”

    “นุ้ยไม่คิดหรอกนะคะว่า นุ้ยจำเป็นต้องบอกเรื่องที่พี่รู้ดีอยู่แล้ว ประเภทที่หาได้จากบันทึกสถิติทางราชการน่ะค่ะ”

    จิตติแย้มขัน ผู้หญิงคนนี้ช่างมีปฏิภาณไหวพริบดีเหมือนเคย

    “นี่ทำไมเราไม่ไปหาที่นั่งจิบกาแฟกันสักหน่อยคะพี่ เป็นทำตัวเป็นจระเข้ขวางทางคนทั้งโรงพยาบาลอยู่ตั้งนานแล้วนะคะ” เธอปัดปอยผมให้เข้าที่ขณะเอ่ยปากชวน

    พวกเขาไปนั่งที่ร้านกาแฟของโรงอาหารโรงพยาบาล จิตติเลี้ยงกาแฟนุ้ยแก้วหนึ่ง

    “แสดงว่าพี่ยังดื่มแต่กาแฟดำขมปี๋ นอนแค่วันละสี่ชั่วโมงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนสินะคะ” นุ้ยเย้าเมื่อเห็นถ้วยกาแฟของจิตติ กาแฟร้อนดำสนิทกลิ่นเหมือนเมล็ดกาแฟสด จิตติไม่เคยเติมสิ่งใดลงในกาแฟ สามารถเคยลองดื่มแบบเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งก่อนที่จะสาดกาแฟทั้งแก้วทิ้งในทันที เขาถ่มน้ำลายรสกาแฟก่อนจะไปบ้วนปากล้างมันออก แล้วสบถว่ารสเหมือนเบียร์มากกว่ากาแฟเป็นไหนๆ

    “คงงั้น” จิตติยักไหล่ ยอมรับว่าเขายังมีอาการอดนอนและกาแฟเป็นยากระตุ้นประสาทที่ดีที่สุด บางวันเขาทำงานหรือเล่น “วิเคราะห์ตนเอง”จนค่อนรุ่งจนไม่ได้หลับได้นอน และต้องออกไปทำงานต่อ น่าแปลกพอดูที่เขาไม่มีอาการผลกระทบใดๆจากการขาดการพักผ่อน ร่างกายของเขาคงมีภูมิต้านทานความเหนื่อยล้า

    “ว่าแต่ว่า ทำไมพี่มารับเคสนี้ไปทั้งๆที่ไม่ได้อยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องล่ะคะ?”

    “ผมว่าเคสนี้น่าสนใจมาก ผมไม่ค่อยเจอกรณีแบบนี้บ่อยนัก เราพบเด็กสาวที่รู้วิธีพูดแต่ไม่ยอมพูด มีหลายอย่างทีเดียวที่ผมยังไม่เข้าใจ”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×