ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณกรรมวิจารณ์ของเทราสเฟียร์

    ลำดับตอนที่ #4 : ผมปวดฟัน! หลังจากอ่าน “นักสะสมฟัน”

    • อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 54


     กระทู้เดิม http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1408882



    บ่อยครั้งที่ “นิยาย” ส่งผลสะเทือนต่อ “ร่างกาย” โดยตรง ด้วยว่าจิตใจนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้สึก และนิยายใดที่เขียนดีพอ ย่อมมีผลต่อจิตใจที่บังคับร่างกายนั้นไปด้วย “นักสะสมฟัน” นิยายสยองขวัญเรื่องใหม่ของชัยยา ผู้เขียน “ทีนอส” ก็เป็นนิยายที่มีพลังพอจะบีบคั้นจิตใจให้รู้สึกปวดฟันไปตามภาษาที่เขาใช้ในนิยายได้เช่นกัน 

    ประตูที่ปิดไม่สนิท : นิยายซ้อนนิยายที่เชื่อมเกือบไม่สนิท


    “นักสะสมฟัน” หลอกล่อเราตั้งแต่คำนำผู้เขียน และบทนำที่อ้างว่าเขียนขึ้นโดยฝีมือของ “ท็อป” ตัวเอกของเรื่อง ก่อนที่จะดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างไดอารี่ของท็อป กับเรื่องราวของนักสะสมฟัน ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีวัตถุเด่นที่แตกต่างกันในการเขย่าขวัญคนอ่าน ในภาคไดอารี่ “ปากกา” ที่ท็อปได้มาจากร้านขายของเก่าเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ถ่ายทอดเรื่องราวสยองขวัญออกมาในนิยาย รวมทั้งเรื่องสยองที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ส่วนในนิยายนั้น ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นกับพิมพ์ขวัญซึ่งเป็นตัวละครหลัก มี “ประตู” เป็นจุดดึงความสนใจให้ชวนติดต่อและหวาดผวาว่า “ประตู” นั้นปิดสนิทแน่หรือ การนำเสนอนิยายซ้อนนิยายในรูปแบบนี้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ และชัยยาก็เขียนออกมาได้เข้าขั้นดี เสียดายว่าส่วนท้ายของนิยายที่ชัยยาตัดฉากให้แม่ของท็อปมาอธิบายอาการทางจิตของลูก ว่าเชื่อมโยงกับนิยายและไดอารี่ที่เขาเขียนอย่างไรดูไม่กลมกลืนนัก(หน้า ๒๔๙ - ๒๗๕) และสำนวนการเขียนที่อ้างว่าเป็นของนักกฎหมายเฉพาะก็ไม่ได้แตกต่างจากสำนวนของท็อป(ที่อ้างมาข้างต้น) เท่าที่ควร แม้จะเห็นได้ว่าพยายามแทรกเอาศัพท์กฎหมายและการเขียนเป็นหัวข้อประเด็นมาแทรกแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การแทรกส่วนที่แม่ของท็อปเขียนก็ดูสมเหตุสมผลตามบทตามก่อนจะจบบริบูรณ์ ประตูของการเชื่อมเรื่องนิยายที่ฝืดอยู่จึงได้รับการหยอดน้ำมันลงให้ปิดลงได้สนิทในที่สุด

    เงามืดและแสงเทียนริบหรี่ของร้านขายของเก่า : ฉากพรรณนาชวนสยองขวัญที่ดีกว่าเดิม

    “ชัยยา” ได้พัฒนาการบรรยายฉากให้ดีขึ้นจากนิยายเล่มที่แล้วมาก ประโยคเช่น “เทียนเพียงเล่มเดียวไม่อาจขับไล่ความมืดได้ทั้งหมด แทนที่จะช่วยให้อุ่นใจกลับส่งเงาน่ากลัววูบไหวทาบผนัง”(หน้า ๒๒ : ๒๓-๒๔) ให้ทั้งภาพ สี และแสงออกมาอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อถึงคราวบรรยายความสยดสยองภายในใจ ชัยยาก็ไม่ได้มีฝีมือลดน้อยถอยลงเลย ยิ่งเมื่อเข้าถึงบทถึงเลือดถึงเนื้อ การลดความน่าขยะแขยงจากภายนอกมาเน้นสภาพความกลัวภายในจิตใจนับเป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชม ภาพของพิมพ์ขวัญยิ้มแสยะโดยมีเลือดกบปากทั้งๆที่ฟันคู่หน้าโหว่อยู่เ(หน้า ๑๔๖) ป็นภาพที่นักอ่านอาจจะเก็บไปฝันร้ายเอาได้ง่ายๆ ในช่วงนี้เองที่การวางพล็อตหลักเข้ามามีบทบาทต่อความไม่เท่ากันของบทบรรยาย ชัยยาวางภาพซ้อนอธิบายว่า แต่ละบทที่ท็อปเขียนเรื่องนั้น เขาใช้กลวิธีแตกต่างกันเนื่องจากเพิ่งหัดเขียนเป็นครั้งแรก และเขียนขึ้นมาด้วยพลังอาถรรพ์ จนฉากทั้งหมดกลมกลืนกันได้ภายในความไม่กลมกลืน ซึ่งหากเกิดขึ้นจากความจงใจของชัยยาเองแล้ว ก็นับว่าเป็นวิธีทางการเขียนที่น่าสนใจมากทีเดียว

    บ้านในความมืด : ปัญหาทางจิตของครอบครัวตัวละครซ้อนนิยาย

    ตามขนบของนิยายสยองขวัญสไตล์ สตีเฟน คิง ซึ่งชัยยาได้รับอิทธิพลมามาก มักจะมีปัญหาทางจิตของคนในครอบครัวซ้อนอยู่กับเรื่องราวสยองขวัญด้วย ประเด็นการสร้างตัวละครวิชิตใน “นักสะสมฟัน” ของท็อป ที่เกิดขึ้นจากภาพสมมติของพ่อในชีวิตจริง พิมพ์ขวัญซึ่งจำลองแบบแม่ และฟ้าใสที่เป็นร่างถอดรูปของตัวเอง เป็นรูปแบบสามัญซึ่งไม่ยากเกินกว่าผู้ชื่นชอบนิยายของคิง หรือผู้อ่านนิยายเชิงจิตวิทยามามากจะเดาได้ตั้งแต่กลางๆเรื่อง แต่ใน “นักสะสมฟัน” ตัวละครนักกฎหมายที่อธิบายทุกเรื่องด้วยตรรกะอย่างแม่ของท็อป ได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้อธิบายปมทางจิตของเรื่องนี้ในตอนท้าย ทำให้ความสนุกสนานของการทิ้งให้ตีความต่อหายไป และลดโทนของเรื่องลึกลับลงไปมาก อย่างไรก็ตาม การเน้นความรักของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งในช่วงของ “นักสะสมฟัน” และในชีวิตของท็อป พิมพ์ขวัญนักกฎหมายที่เลี้ยงลูกจนโตเป็นหนุ่มมาได้คนเดียว กับพิมพ์ขวัญแม่บ้านที่เลี้ยงดูฟ้าใสโดยยอมลาออกจากงานประจำที่ทำ ก็เป็นจุดที่โดดเด่นออกมาอย่างน่าประทับใจและชวนให้ตระหนักคิดว่า ครอบครัวที่ขาดความเอาใจใส่จากพ่อ ก็อาจทำให้เกิดปมในใจของทั้งลูกและแม่ได้จนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

    สัญญาต่างตอบแทนของนักสะสมฟัน : ฟันผุของพล็อตเรื่อง


    แม้ว่าชัยยาจะบรรยายความรักระหว่างแม่และลูกได้เป็นอย่างดี และความสยองที่เข้าขั้น แต่แกนเรื่องหลักของนักสะสมฟันกลับลอยอยู่จนจับประเด็นไม่ได้ ชัยยาไม่ได้เล่าถึงความเป็นมาของนักสะสมฟันว่า ทำไมมันถึงถูกผนึกลง ความแค้นของมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือ สัญญาที่มันอ้างว่า “ฟันบนโยนขึ้นฟ้า ฟันล่างโยนลงดิน” เกิดขึ้นด้วยเหตุใด บอกเพียงแต่ว่ามนุษย์ผิดสัญญาแถมไพล่ไปยกเอาตำนานฝรั่งมาเล่าเป็นวรรคเป็นเวรโดยไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่างหาก เมื่อประเด็นหลักของเรื่องไม่ชัดเจน ความแค้นและความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นของนักสะสมฟันก็ดูไม่มีเหตุผลพอให้เกรงกลัว คล้ายกับว่าตัวนักสะสมฟันเป็นฟันผุเสียเองก็ว่าได้ หากชัยยาจะยอมเสียเวลาทรมาน “ท็อป” อีกสักสองสามหน้า เอาที่มาของนักสะสมฟันเขียนลงในนิยาย คงจะเป็นโลหะอะมัลกัมมาอุดฟันผุของพล็อตเรื่องไหว

    พ่อไม่อยู่บ้าน : เหตุจากพิษเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อบ้าน


    ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของ “นักสะสมฟัน” คือการขาดหายไปของ “พ่อ” ไม่ว่าจะเป็นวิชิตในนิยาย หรือ พ่อของท็อปตามเนื้อเรื่อง ซึ่งหากวิเคราะห์ลึกๆแล้ว ทั้งคู่หายไปเพราะพิษเศรษฐกิจ วิชิตในเรื่องต้องทำงานหนักเพื่อพยุงบริษัทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการชุมนุมทางการเมือง ส่วนพ่อของท็อปที่ยิงตัวตาย แม้ไม่บอกมาโดยตรงก็อาจอนุมานได้ว่าเกิดจากพิษเศรษฐกิจเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่นักธุรกิจและนักลงทุนขาดทุนจนต้องคิดสั้นฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ พิมพ์ขวัญในนิยายขาดความมั่นใจจนเปิดช่องว่างให้นักสะสมฟันเข้ามาแทรกแซงจิตใจ ส่วนในโลกของท็อป เขาก็สั่งสมปมทางใจที่เห็นการตายของพ่อผนวกกับภาวะสับสนของความรักและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจนระเบิดออกมาตามนิยายอาถรรพ์เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าโศกนาฏกรรมในครอบครัวอาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของภาพรวมของสังคมมหภาค ที่อาจแผ่ไปถึงบ้านของคุณได้อย่างไม่คาดคิด

    คุณปวดฟันอยู่หรือเปล่า? : ฟันล่างให้โยนขึ้นบน ฟันบนให้ทิ้งลงล่าง


    ผมอ่านนักสะสมฟันจบด้วยอาการปวดฟัน! ไม่ใช่เพราะนักสะสมฟันคืบคลานมาหา แต่เพราะว่าผมปล่อยให้ฟันผุนานเกินไปแล้ว เห็นทีผมคงต้องไปพบทันตแพทย์เสียที แต่ถ้าผมถอนฟันออกมา ผมจะไม่ลืมว่า “ฟันล่างให้โยนขึ้นบน ฟันบนให้ทิ้งลงล่าง” อย่างแน่นอน

    ทางทีดี คุณควรรักษาสุขภาพฟันดีกว่า เวลาอ่านนักสะสมฟันจะได้ไม่ปวดฟันแบบผม 

    วันนี้คุณแปรงฟันแล้วหรือยัง?
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×