ตอนที่แล้ว ผมขาดตกขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการผลิตหนังสือไป นั่นคือ "การเข้าเล่ม" ท่านอาจจะเคยพบว่าหนังสือบางเล่มหลุดลุ่ยออกมาเป็นแผ่นๆ หรือมีกาวเหนียวเหนอะหนะติดเป็นก้อนๆบนสันดูไม่สวยงาม นั้นก็เพราะโรงพิมพ์ไม่มีฝีมือในการเข้าเล่ม หรือใช้กาวด้อยคุณภาพ
การเข้าเล่มในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นั้นมี 4 แบบ ได้แก่1. การเย็บมุงหลังคา - คือการแม็กเย็บกระดาษพับครึ่งลงไปที่กึ่งกลางกระดาษ มักใช้กับนิตยสารที่มีจำนวนหน้าน้อยๆ หรือจุลสาร เช่น คู่สร้างคู่สม, ชีวิตรัก, และหนังสือเรื่องย่อละคร เป็นวิธีเข้าเล่มที่ง่ายและรวดเร็วแต่ไม่คงทนเท่าใด
2. การเข้าเล่มไสกาว - คือการอัดกาวเข้าที่สันของยกหน้ากระดาษ โดยเป็นกาวเม็ดอีพ็อกซี่(Epoxy - polymer ของพลาสติกชนิดหนึ่ง) ใช้เครื่องอัดสันกาวเฉพาะเพื่อยึดหน้ากระดาษให้ติดกัน ในขั้นตอนนี้หากโรงพิมพ์ใช้กาวด้อยคุณภาพหรือตัดขอบหน้าไม่ดี จะทำให้หนังสือพังไว อีกทั้งการเข้าเล่มแบบนี้จะเปิดหน้าหนังสือกว้างมากไม่ได้ มิฉะนั้นสันจะแตก หรือหลุดออกมา
3. การเข้าเล่มเย็บกี่ เป็นการใช้ด้ายไนล่อนร้อยเข้ากับกระดาษอย่างแน่นหนา เปิดอ่านได้ทุกองศาการพลิก หลุดร่อนยาก และมีราคาสูง โดยมากมักจะไสกาวเข้าเพิ่มอีกเพื่อให้ด้ายและกระดาษไม่ขาดจากกัน
4. เข้าเล่มสันห่วง คือการใช้ห่วงพลาสติกหรือโลหะร้อยเข้าที่ช่องรูหนังสือ/สมุด มักใช้ในไดอารี, สมุดบันทึก, หนังสือที่ระลึก, หรือรายงาน พอร์ทโฟลิโอ เพราะดูหรูหราสวยงามและพลิกดูได้ง่าย
เมื่อกระบวนการพิมพ์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โรงพิมพ์ก็จะโทรแจ้งให้สำนักพิมพ์ทราบว่า พิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการขนส่งสู่ร้านค้า แผงหนังสือ ต่อไป
ปัจจุบันโรงพิมพ์ใหญ่ๆที่สำนักพิมพ์ใช้บริการ มักตั้งอยู่บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ ทำให้การจัดส่งไปสู่สายส่งเป็นไปได้โดยง่าย เดิมธุรกิจหนังสือไทยนั้นรวมกันอยู่แถบวังบูรพา-เวิ้งนาครเขษม ก่อนที่จะขยับขยายย้ายมาสู่ย่านสยาม และสะพานผ่านฟ้าในที่สุด ซึ่งสายส่งย่านผ่านฟ้าในปัจจุบันเป็นเพียงสำนักงานติดต่อแล้วเท่านั้น เนื่องจากศูนย์กระจายหนังสือได้ย้ายไปรวมกับแถบพุทธมณฑลสาย 2 และย่านแคราย เพื่อความสะดวกของรถบรรทุกในการเดินทางโดยถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและทางด่วน รอบนอก
ภาพข้างบนเป็นร้านหนังสือศึกษิตสยาม ของเครือข่ายสายส่งเคล็ดไทย หนึ่งในสายส่งวรรณกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สายส่งแบบดั้งเดิมอื่นๆเช่น สายส่งเอกผ่านฟ้า สายส่งสายฟ้า ก็ยังดำเนินการอยู่ โดยสายส่งกลุ่มนี้จะอาศัยรถบรรทุกสินค้าฝากหนังสือติดไปด้วย หรือหากหนังสือมากก็จะส่งเพียงหนังสือ ผ่านไปยังแผงหนังสือตามสถานีรถไฟ, บขส., เพื่อกระจายของสู่แผงหนังสือรายย่อยที่จะมารับอีกต่อหนึ่ง เรียกว่าเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สี่ปั๊ว โหงวปั๊ว ตามลำดับ
สายส่งอีกรูปแบบหนึ่งคือสายส่งรถหนังสือพิมพ์ เนื่องจากหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆมียอดขายสูงและต้องส่งหนังสือเป็นประจำ จึงทำธุรกิจสายส่งไปด้วยเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ในระหว่างการขนส่ง เช่น สายส่งไทยรัฐ เดลินิวส์ ที่เราจะเห็นรถสีเขียวบ้าง สีบานเย็นบ้าง ติดตราหนังสือพิมพ์ตัวใหญ่วิ่งระหว่างจังหวัดตอนดึกๆเพื่อให้ทันส่งหนังสือ พิมพ์ในตอนเช้า ด้วยเหตุนี้เอง หนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดจึงต้องลงวันที่ล่วงหน้าให้เราได้อ่านข่าวในอนาคต ทุกวัน
และในยุคธุรกิจสมัยใหม่ มีสายส่งอีกรูปแบบเข้ามาครองตลาดหลักแทนที่สายส่งหนังสือพิมพ์ นั่นคือสายส่งร้านหนังสือแฟรนไชส์ ในอดีตสายส่งแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างร้านดอกหญ้าได้เปิดให้วงการหนังสือ รู้ถึงอานุภาพของการบริหารลอจิสติกส์ ที่สำนักพิมพ์ ขนส่ง และขายอย่างครบวงจร ทำให้ยอดกำไรสุทธิสูงขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายต่อหลายทอด ทำให้ซีเอ็ด และอมรินทร์ เข้ามาร่วมในวงการขนส่งหนังสือหลังจากดอกหญ้าล้มละลายในปี 2540 ซึ่งปัจจุบันสายส่งซีเอ็ดถือว่าเป็นสายส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปริมาณหนังสือหมุนเวียนแต่ละวันมากกว่าหนึ่งแสนเล่ม และมีระบบห่วงโซ่อุปทานที่บ่งชี้ได้ว่าสาขาใดขายหนังสือแนวไหนดี ก็จะเน้นนำเข้าหนังสือแนวนั้นไปที่สาขานั้นๆ รวมถึงการประเมินตลาดจากยอดขายเพื่อแจ้งให้วงการหนังสือโดยรวมทราบว่า หนังสือแนวไหนเป็นที่นิยมในแต่ละปี ซึ่งผมเคยได้สรุปภาพรวมของปี 2552 ไปแล้ว
สายส่งแฟรนไชส์ที่กำลังมาแรงอย่างนายอินทร์ ก็เข้ามาตีตลาดซีเอ็ด ตามด้วยการร่วมวงไพบูลย์ธุรกิจหนังสือของ CPAll หรือเซเว่นอีเลฟเว่นด้วยการทุ่มตลาดลดราคาหนังสือขายพ่วงในร้านสะดวกซื้อเซ เว่นอีเลฟเว่น หรือแม้แต่การย่อหนังสือหนาๆให้บางลงแล้วขายในราคาถูก ทำให้ธุรกิจสายส่งดำเนินไปอย่างดุเดือด
สายส่งเป็นเหมือนตัวกลางจากผู้ผลิตไปหาผู้บริโภค ถ้าล้อรถบรรทุกของสายส่งหยุดหมุนเพียงหนึ่งวัน หนังสือก็จะค้างอยู่ที่โรงพิมพ์ คนอ่านก็จะไม่มีหนังสืออ่าน ร้านค้าก็ขาดทุน สายส่งจึงคิดค่าดำเนินการสูงมาก ถึง 40-50% ของราคาปก! โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ยิ่งทำให้การขนส่งแพงขึ้น ทำให้หนังสือราคาแพงขึ้นไปด้วยตามกลไกของการตั้งราคาหนังสือที่ผมได้กล่าวไป แล้วนั่นเอง
ตอนต่อไปผมจะกล่าวถึงธุรกิจหนังสือในรูปแบบใหม่, ร้านค้าออนไลน์ และดิจิตอลบุ๊ค รวมถึง การเดินทางของหนังสือเมื่อมัน
"ขายไม่ออก" ครับ
ความคิดเห็น