คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ทีนอส : ฟ้าผ่ากลางคืนหนาว แฟนตาซีที่ก้าวไกลพอ
ระวัง! บทวิจารณ์นี้เปิดเผยเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ หากท่านไม่ต้องการทราบเนื้อเรื่องก่อนกรุณาไปซื้อมาอ่านให้จบ
ซื้อนิยายเรื่องนี้มาก็ค้างไว้ได้หลายเดือนตั้งแต่งานหนังสือเมื่อตุลาที่แล้วไม่ได้ลงมืออ่ารนเสียทีด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ นึกครึ้มอกครึ้มใจมาอ่านรวดเดียวจบก็ได้เวลาทำตามสัญญาที่ว่าจะเขียนวิจารณ์กึ่งรีวิวผลงานชิ้นแรกของคุณแจกันสีฟ้า(หรือชัยยา)เสียที ก่อนที่จะถูกว่าที่”ท่าน” ฟ้องเอาด้วยข้อหาผิดสัญญาต่างตอบแทนไปก่อน
“ทีนอส” ชื่อเรื่องที่พาดหัวปกอาจทำให้คุณนึกถึงนิยายแฟนตาซีมาตรฐานตามสูตรที่จั่วหัวเรื่องด้วยชื่อดินแดนหรือตำนานอะไร แต่ภาพปกสีน้ำเงินหม่นอมดำกับร่างจิ๋วที่ดูยังไงก็เป็นตัวร้ายแน่ๆอาจจะขู่คนที่คิดจะซื้อให้ถอยห่างไปคิดก่อนสักสิบห้านาที ใช่ครับ นิยายเรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นนิยายแฟนตาซีมาตรฐานตามสูตรสำเร็จที่อ่านจับจุดบางจุดก็รู้ตอนจบได้ แต่องค์ประกอบปลีกย่อยที่ก้าวออกมาพ้นขอบเขตของวรรณกรรมแฟนตาซีทั่วไปนั้นเป็นที่น่ายกย่องไม่น้อยเลย
เปิดประตู : ความหดหู่ของตัวละครสไตล์สตีเฟน คิง
คุณแจกันสีฟ้าเปิดเผยตัวเองอย่างเต็มที่ว่าเป็นสาวกของสตีเฟน คิง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ลักษณะการบรรยายชอง “ทีนอส” มาในแนวของสตีเฟน คิงแบบพากย์ไทยโดยสุวิทย์ ขาวปลอดเต็มที่ ทั้งการดำเนินเรื่องที่ฉับไวตัดต่อไปมาพร้อมจะทำเป็นภาพยนตร์ การบรรยายซากศพและความสยดสยองสุดฝีมือปลายปากกา ชนิดที่ว่าหากแปลเป็นภาษาอังกฤษได้คงไม่หนีจากถ้อยคำของคิงเองเสียเท่าไร ดังจะยกตัวอย่างเช่น“หนังศีรษะฉีกออกเป็นแผ่นพร้อมปอยผมชุ่มเลือด ไขสมองที่เคยอัดเป็นก้อนไหลเละออกมากองปนกับเศษเนื้อข้างนอก” (ทีนอส 27 : 21-22) ข้อดีของวิธีการนี้คือ “ทีนอส” สามารถอ่านได้ไหลลื่นตลอดไม่สะดุดติดขัดส่วนใดนัก ทั้งยังดึงดูดและตรึงความคิดผู้อ่านที่นิยมชมชอบรูปแบบการเขียนนี้ได้อย่างยิ่งยวด แต่ข้อเสียที่เป็นเหมือนคมด้านที่สองของดาบคือเป็นการผลักไสผู้อ่านที่ไม่ถูกจริตส่วนนี้ไปสุดขั้วอีกข้างเช่นเดียวกันกับงานของคิง
ตัวละครที่โผล่พรวดเข้าสู่เนื้อเรื่องทันที่แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แล้วค่อยตัดฉากจากเหตุการณ์ในโลกแฟนตาซีกลับสู่โลกที่ตัวละครจากมา ฉายภาพผู้อยู่รอบข้างและผลกระทบอันเกิดจากการหายตัวไปของตัวละครเอกทั้งสามนับว่าเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะไม่ต้องใช้บทสนทนาที่ยืดยาวเยิ่นเย้อยัดใส่ปากตัวละครให้เล่าออกมาจนคนอ่านเบื่อฟัง แต่จุดอ่อนของ “ทีนอส” เมื่อใช้วิธีนี้คือการทิ้งปมไว้ให้คนอ่านสงสัยโดยไม่ยอมไขออกในตอนจบ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อของตี๋ หรือช่วงเวลาที่ควรแสดงขับเน้นความเป็นไปของฟากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างตอน ที่ภรรยาของชัยคลอดลูกที่น่าจะเอามาบรรยายเพื่อบีบคั้นหัวใจของผู้อ่านได้ ตามสไตล์คิงกลับหายไป
อย่าง ไรก็ตาม ตัวละครแต่ละตัวที่ข้ามไปสู่อาคิเดนจากโลกแห่งความเป็นจริงนั้นก็มีรากฐาน และที่มาสมจริงสมจังเสียจนทำให้ตัวละครที่ควรจะเด่นในโลกแฟนตาซีกลับไม่เด่น เท่าที่ควรเสียเลย
ป่าอาถรรพ์ : ความน่ากลัวที่แตกต่างและโดดเด่น
โลกแฟนตาซีที่มืดหม่นแบบดาร์คแฟนตาซีคือจุดเด่นที่แตกต่างไปจากนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นในท้องตลาด สำหรับคนที่หวังว่าจะมีเศวตนครหรือมหาอาณาจักรอันรุ่งเรืองและงดงามรอคอยหลังจากฝ่าฟันออกจากป่าอาถรรพ์และทะเลทรายสูบเลือด “ทีนอส” ไม่มีให้ท่าน แม้ว่าหลายๆฉากของการผจญภัยจะชวนให้ประหวัดนึกถึงป่าโลกล้านปีและกองหินทะเล ทรายกับกระบองเพชรพิษก่อนจะขึ้นขุนเขาพระศิวะจากเพชรพระอุมา(ซึ่งก็เอามาจาก สมบัติพระศุลีอีกที)บ้าง แต่ก็ไม่เป็นจุดด้อยเพราะผู้เขียนสามารถสร้างความแตกต่างผ่านการใช้ภาษาที่ มีลักษณะเฉพาะได้ น่าเสียดายอยู่หน่อยหนึ่งที่ความน่ากลัวและการบีบคั้นทางจิตใจจากมหันตภัยในป่าและทะเลทรายนั้นสั้นกว่าที่คาดไว้ หากเหยาะเพิ่มมนตร์ดำจากตัวร้ายอีกนิด สัตว์ประหลาดอีกหน่อย หรือแม้แต่ขยายความเรื่องต้นไม้มีชีวิตและมีจิตมุ่งร้ายเข้าไปอีกสักหนึ่งหน้า ความสยองขวัญที่จะเกาะกุมจิตใจของผู้อ่านคงจะทำให้หลายๆคนสะพรึงจนเก็บเอาไปฝันให้สะดุ้งตื่นด้วยความตกใจไปอีกหลายคืน
อาคิเดน : นครสีขาวในอาภรณ์หม่นเศร้าสีเทาตุ่น
แดนศักดิ์สิทธิ์อาคิเดนและการรบกับกองกำลังผีดิบของ “ทีนอส” ดูจืดจางลงเมื่อสารพัดเรื่องราวภายในใจของตัวละครรุมเร้าจากทุกทาง ผู้เขียนเล่าเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวให้รายละเอียดและมีปมเตรียมจะขยาย ได้ชนิดว่าถ้าจะเขียนเป็นเรื่องยาวยี่สิบสี่เล่มจบสองภาคก็น่าจะทำได้ แต่ความเป็นแฟนตาซีกับเรื่องราวพื้นหลังที่ปูให้อาคิเดนดูไม่แน่นหนักและ สร้างอารมณ์ร่วมได้มากพอ อาจเป็นเพราะการเรียงลำดับเนื้อความแต่ละบท เช่นการยกทัพไปสกัดปีศาจในบทต้นๆทำให้ภารกิจที่ดูหนักหนาไม่เด่น ส่วนบทที่สิบสี่ทั้งบทที่อุทิศให้ภาพอดีตก่อนการล่มสลายของโลกอันรุ่งเรือง ดูอยู่ผิดที่ผิดทางประหลาดๆ หากจะสลับเอาการท้ารบหน้าประตูสลับกับบทย้อนอดีตน่าจะทำให้เรื่องลื่นไหลและ สร้างอารมณ์ร่วมได้ดีขึ้น เมื่อรวมกับปรัชญาที่คล้ายกับว่าผู้เขียนต้องการจะถ่ายทอดบางอย่างแต่ขยัก ไว้ไม่ตกผลึกถึงที่สุดแล้ว เงาของโลกแฟนตาซีใน “ทีนอส” จึงเลือนรางกลายเป็นภาพลวงตาบนผืนทะเลทรายที่ชัดเจนเป็นช่วงๆและเมื่อจะจับ คว้าก็สลายเป็นไอแดด อย่างไรก็ดีการคลี่คลายเนื้อเรื่องช่วงหลังเป็นไปอย่างราบรื่นและสมเหตุสมผล การเปิดเผยคำทำนายและเนื้อเรื่องหลังจากนั้นกระชับฉับไวทันใจไม่เสียเวลา พรรณนาอะไรให้ยืดยาดและสรุปผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละคนได้ดีเยี่ยม
สงคราม ณ หอบังคับการบิน : เมื่อหวังสูง พยายามสูง ผลลัพธ์ย่อมสูงส่ง
การ ต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างชาวอาคิเดนกับทีนอสเป็นจุดที่ควรยกย่องอย่างยิ่ง ผู้อ่านจะไม่พลาดจุดเล็กน้อยในความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละฝ่าย ผู้เขียนสามารถเกลี่ยบทตัวละครแต่ละตัวได้เท่าเทียมโดยไม่เสียอรรถรสของฉาก ต่อสู้เลย ฉากดรามาของพ่อลูกและสหายร่วมรบนอกกำแพงนคร ตัดสลับกับเหตุการณ์แก้ปริศนาและการต่อสู้กับทีนอสบนหอบังคับการบินปิดฉากลง อย่างงดงามชนิดหักมุมเหนือความคาดหมายของผู้อ่านทั่วไปได้ ความสมจริงอื่นๆที่ปูพื้นมาตั้งแต่เริ่มเรื่องส่งผลให้บทบาทตัวละครหลังจาก นั้นเป็นไปตามแนวทางของนิยายแฟนตาซีชั้นดีจนหาข้อตำหนิได้ยาก
ฟ้าผ่า คืนหนาว กลับบ้าน : บทสรุปที่เป็นเหมือนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ
(ไม่ควรอ่านหากท่านต้องการความตื่นเต้นในตอนจบ)
บทจบของทีนอสอาจเข้าตำรา “ลางเนื้อชอบลางยา” ใครที่ชอบนิยายหักมุมตามสไตล์ของคิงอาจจะโปรดปรานแนวทางนำเสนอแบบนี้ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่น่าจะเหนือความคาดหมายเท่าใด แต่การแต่งเติมอะไรหลายๆอย่างเพื่อบีบคั้นจิตใจตัวเอกในตอนจบแบบ The Mist อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดและพาลไม่ชอบนิยายทั้งเรื่องได้เลย
ทีนอส : แฟนตาซีไทยเริ่มก้าวไกล แร่เหล็กน้ำพี้ที่รอการตีเป็นศาสตรา
แม้ว่า “ทีนอส” อาจจะมีส่วนขาดตกบกพร่องไปบ้างในเชิงโครงสร้าง คือวางปมใหญ่และตัวละครตัวกลมไว้มากเกินกว่าจะไขปริศนาได้หมด แต่ด้านภาษานั้นแทบเรียกได้ว่าไม่มีที่ติ การพิสูจน์อักษรผิดซ้ำที่เดิมหลายครั้งเช่น “มโหราฬ” “พิศดาร” ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่การอ่านมากมายจนต้องตำหนิ การเรียงประโยคเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน พรรณนาโวหารละเอียดชัดเจนสรรคำได้เหมาะสม ปริศนาไม่ยาก ไม่ง่าย ชวนให้คิดตามและคาดคะเนเนื้อเรื่องไปด้วยได้ ทำให้อ่านรวดเดียวจนจบได้โดยไม่เบื่อปิดเล่มหนังสือลงไปเสียก่อน
ความคิดเห็น