ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณกรรมวิจารณ์ของเทราสเฟียร์

    ลำดับตอนที่ #10 : ล่าขุมทรัพย์เราจัดให้ : ขุมทรัพย์ข้อมูลและอารมณ์ขันแบบจัดเต็ม

    • อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 54


     

     

    The Artifact Hunter ล่าขุมทรัพย์เราจัดให้ ตอน หน้ากากแห่งฟาโรห์ เป็นอีกหนึ่งในนิยายชุด Sataporn New Blood Fantasia เขียนโดย Anithin ซึ่งนำมาวิจารณ์เป็นเล่มที่สองของชุด บทวิจารณ์นี้จะเปิดเผยเนื้อเรื่องทั้งหมด หากผู้ใดยังไม่อ่านตัวเรื่อง และไม่อยากทราบรายละเอียดก่อน ไม่ควรอ่านบทวิจารณ์นี้ต่อ

     

     

    อาร์ติแฟคต์ฮันเตอร์ : ไพรัชนิยายแฟนตาซี

     

    โลกของเรื่องล่าขุมทรัพย์เราจัดให้ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่า AH) ใช้ฉากที่มีพื้นฐานมาจากโลกแห่งความเป็นจริง โดยแผลงชื่อประเทศ อารยธรรม ชนชาติ ภาษา ให้ดูแตกต่างออกไป ดังที่ผู้เขียนได้หมายเหตุแนบท้ายหลังเล่มไว้แล้ว เป็นนิยายที่ใช้ฉากต่างแดน วัฒนธรรมต่างถิ่น AH ใช้พื้นที่เกือบครึ่งเล่มในเรื่องเพื่อใช้บรรยาย อธิบาย สิ่งของ สถานที่ ผู้คน ทำให้ผู้อ่านตื่นตาตื่นใจกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นๆ อาจจะจัดได้ว่า AH เป็นนิยายแฟนตาซีประเภทไพรัชนิยายได้

     

    ในขณะเดียวกัน Anithin ผู้เขียน สามารถผสานการเล่าเรื่องแบบไพรัชนิยายที่เน้นความตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกับการเล่าเรื่องที่แยกส่วนระหว่างคาร์เตอร์ ฮาวล์ และฟาโรห์ปโตเลเมียสที่ 13 ได้ดี โดยเฉพาะการสลับภาษาโบราณเพื่อบรรยายความคิดและคำพูดขององค์ฟาโรห์ กับภาษาปกติที่ใช้กันทั่วไป ทำให้นอกจากจะเป็นการตื่นตาตื่นใจ (exotic) กับดินแดนที่แตกต่างทางภูมิศาสตร์ สายตาที่ผ่านกาลเวลาสองพันปีของฟาโรห์ ยังเกิดความตื่นตาตื่นใจของเทคโนโลยีและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ดังปรากฏในนิยายหรือภาพยนตร์ประเภทคนโบราณข้ามเวลามาสู่ปัจจุบัน เช่น เมื่อเห็นรถไฟ ฟาโรห์ปโตเลเมียสก็นึกว่าเป็นพญางูอาเป็ป(หน้า 91) ผู้อ่านเมื่ออ่านแล้วก็พลอยนึกเห็นขันไปกับฟาโรห์ด้วย

     

    และเมื่อเข้าสู่ส่วนของคาร์เตอร์ผู้เป็นอาร์ติแฟ็คต์ฮันเตอร์ ก็เป็นส่วนของการค้นพบและไขปริศนา ผจญภัยและเผชิญหน้ากับศัตรู เช่นเดียวกับนิยายประเภทผจญภัยอื่นๆ ซึ่งก็เขียนออกมาได้ดีตามมาตรฐาน ละเอียดละออถี่ถ้วนและเก็บรายละเอียดได้เรียบร้อย รวมทั้งฉากเผชิญศัตรูและฉากต่อสู้ที่ลงตัวพอดี เน้นการใช้กลยุทธ์และวิธีการมากกว่าจะอาศัยกำลังหรือวิชายุทธ สมกับเป็นนิยายแนวผจญภัย

     

    สุสานกษัตริย์ : ขุมทรัพย์ของข้อมูล

     

    พื้นฐานของเรื่อง AH นั้น มีหลักข้อมูลอ้างอิงที่แน่น และใช้หน้ากระดาษไปกับการบรรยายข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างมาก เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มสุสานกษัตริย์ ผู้ที่ชอบเรื่องราวที่อ้างอิงฐานข้อมูล และชื่อเฉพาะต่างๆ อ่านแล้วก็คงจะชอบ AH มาก เช่นเดียวกับผู้วิจารณ์ที่ชอบศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงสนุกสนานเป็นอย่างยิ่งกับการรื้อฟื้นความทรงจำและคาดเดาว่า ชื่อที่ผู้เขียนอ้างอิงอยู่ในเรื่องนั้นมาจากชื่อใด และกล่าวถึงเรื่องราวใดในโลกแห่งความเป็นจริง เหมือนเล่นปริศนาคำทาย โดยมีเฉลยรออยู่ท้ายเล่ม 

     

    ในทางกลับกัน หากนักอ่านผู้ใด ความจำสั้น ขี้เกียจจดจำเรื่องราวปลีกย่อยเยอะแยะ และต้องการความกระชับฉับไวในเนื้อเรื่อง คงจะเบื่อได้ แม้ว่า Anithin ได้แบ่งซอยการนำเสนอเนื้อหาอ้างอิงต่างๆ ค่อนข้างลงตัวแล้วก็ตาม

     

    ปริมาณข้อมูลที่มากมายดังกล่าว จึงอาจเป็นดาบสองคมไปด้วยในตัว

     

    จารึกแผ่นดินเหนียว : อำนาจของการรู้ภาษา

     

    อาจไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า เรื่องราวทั้งหมดใน AH เล่มแรกนี้ เกี่ยวพันกับการรู้ภาษาและไม่รู้ภาษา คาร์เตอร์คงระมัดระวังและป้องกันตัวเองมากกว่านี้เมื่อเขาพยายามเปิดหีบศพของปโตเลเมียส หากเขาไม่ขี้เกียจเอาดิกชันนารีภาษาเอกีสโบราณออกจากเป้ (หน้า 59) ปโตเลมีสในร่างของคาร์เตอร์ คงเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นหากเขาอ่านจารึกภาษาเอกีสออก(หน้า 19) การที่ทีน่ากับมีน่าเข้าร่วมกลุ่มกับปโตเลเมียสในร่างคาร์เตอร์ได้ เพราะทั้งคู่พูดภาษาเฮลเลนีสได้(หน้า 30) รวมถึงภาษาอัลเบียนผิดๆ ถูกๆ ในจดหมายของฟาดี ซึ่งทำให้คาร์เตอร์รู้ตัวทันว่าฟาดีไม่ได้ถูกลักพาตัวจริงๆ

     

    ผู้เขียนเน้นย้ำความสำคัญของความแตกต่างทางภาษาหลายหน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้แตกต่างจากนิยายแฟนตาซีอื่นที่มักจะไม่ให้ความสำคัญกับภาษาที่แตกต่างระหว่างประเทศเท่าใดนัก

     

    ไอฟอนและไอเพนจากจงกั๋ว : อารมณ์ขันเชิงภาษาปฏิภาณเสียดสี

     

    จากการแผลงชื่อ และการนำเสนอเรื่องแบบโลกคู่ขนานดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนสอดแทรกอารมณ์ขันผ่านบทสนทนาที่ยียวนของคาร์เตอร์ ไม่ว่าจะอยู่ในร่างของตนเองหรือร่างของมัมมี่ได้เป็นระยะ จนพลอยทำให้หัวเราะผ่อนคลายความตึงเครียดของเรื่อง(แม้ว่าเรื่องจะไม่ค่อยเครียด)ได้มาก ซึ่งโดยมากเป็นมุกตลกเชิงปฏิภาณเล่นคำในภาษา และมุกตลกเชิงเสียดสี เช่น "รถม้าเปิดประทุนมันอย่างนี้เอง มิน่าพวกฟาโรห์ถึงชอบแว้นกันนัก" (หน้า 68) หรือ ไอฟอนเจ็ด และไอเพนห้าของปลอมก๊องแก๊งจากจงกั๋ว ซึ่งก็เป็นมุกตลกประเภทที่ต้องใช้พื้นความรู้ดั้งเดิมมาประกอบในระดับหนึ่ง

     

    อารมณ์ขันแกมเกรียนดังกล่าวได้ขับเน้นตัวละครเอกอย่างคาร์เตอร์ให้เด่นขึ้น จนบางครั้งเด่นจนกลบตัวละครที่รายรอบไป แม้ว่าจะใช้วิธีการเล่าแบบบุคคลที่สามที่พยายามกระจายบทให้ทั่วถึงแล้วก็ตาม ฝาแฝดทีน่าและมีน่าดูเลือนลางลงไปในบางขณะเพราะถูกการโวยวายและปล่อยมุกของคาร์เตอร์บดบัง แม้กระทั่งตัวฟาโรห์ปโตเลเมียสซึ่งเป็นอีกตัวเดินเรื่องหนึ่งก็ดูจะไม่มีความเด่นชัดในบุคลิกเท่าใด ซึ่งอาจจะถูกปล่อยไว้เพื่อเติมเต็มใน AH เล่มต่อๆ ไป

     

    บทกวีแห่งโอซิแมนเดียส : ลำนำโศกาของโบราณวัตถุ

     

    อาชีพของคาร์เตอร์คืออาร์ติแฟคต์ฮันเตอร์ ซึ่งฟาดีได้กล่าวหาว่าไม่แตกต่างอะไรกับพวกคนรวย คนมีอำนาจ ที่ทำทุกอย่างเพื่อความร่ำรวย (หน้า 291) และในโลกแห่งความเป็นจริง นักโบราณคดีบางส่วนก็ถูกกล่าวหาจากชนพื้นเมืองด้วยความคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน

     

    ผู้เขียนได้ตอบคำถามนี้ด้วยท่าทีไม่ใส่ใจของคาร์เตอร์ที่ว่า "ของก็ส่วนของ คนก็แค่สร้างมันขึ้นมา แล้วตัวมันผิดตรงไหนวะ" (หน้า 291 ย่อหน้าท้าย) และบอกว่าตนเองก็รักอาร์ติแฟคต์เหล่านี้จึงอยากมาเป็นเอเอชเพื่อดูแลปกป้องและเปิดเผยความลับของโบราณกาลสู่โลกภายนอก

     

    แนวความคิดดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ ถึงการรักษาเจตจำนงดั้งเดิมของบรรพชนผู้สร้างโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่นเมื่อเปิดสุสาน หรือขุดค้นพบซากโครงกระดูกที่ถูกฝังอยู่กับพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อศึกษาเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการฝังกลบคืนให้กลับสู่สภาพดั้งเดิม (repatriated and reburial of human remains) แทนที่จะนำขึ้นมาเข้าพิพิธภัณฑ์ให้คนชม เก็บแค่ข้อมูลและภาพถ่ายไว้ ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้ฝังกลบคืน และฝ่ายที่ยืนยันให้นำมาจัดแสดงเพื่อการค้นคว้าต่อไป

     

    ความขัดแย้งข้างต้นก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับร่างมัมมี่ของฟาโรห์ปโตเลเมียสที่สิบสอง (ซึ่งมีวิญญาณของปโตเลเมียสที่สิบสามอยู่ภายใน) ว่า ควรจะอยู่อย่างไรหลังวิญญาณของคาร์เตอร์กลับคืนสู่ร่างปกติ หากร่างมัมมี่นั้นมิได้ถูกทำให้คืนชีพขึ้นมา มัมมี่คงจะไปตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของซามาริเชียนเป็นแน่ แต่เมื่อมัมมี่ดังกล่าวมีวิญญาณ จึงมีเจตจำนงอิสระที่เลือกจะช่วยงานคาร์เตอร์ต่อไป

     

    แล้วเราควรเคารพเจตจำนงของเหล่ามัมมี่ที่ไม่ได้คืนชีพ โครงกระดูกที่เคยถูกกลบฝัง เครื่องมือเครื่องใช้ที่เหล่าบรรพบุรุษตั้งใจส่งไปให้แก่ผู้ล่วงลับใช้งานหรือไม่ หากเขามิได้คืนชีพขึ้นมา? คงเป็นปัญหาที่ต้องหาคำตอบอีกยาวไกล ไม่ต่างจากการตามหาโอซิแมนเดียสของฟาโรห์ปโตเลเมียสในร่างมัมมี่

     

    แต่คำตอบนั้นอาจจะอยู่ไม่ไกลหากเราทบทวนบทกวีของเพอร์ซี บิส เชลลีย์ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จีรังของอำนาจและโลกใบนี้ ว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าฟาโรห์เมื่อสองพันปีก่อน หรืออารยธรรมของเรา ณ ขณะนี้ ก็จะไม่เหลือสิ่งใดทิ้งไว้ในกาลเวลานอกจากซากปรักหักพัง

     

    ล่าขุมทรัพย์เราจัดให้ : ขุมทรัพย์ข้อมูลและอารมณ์ขันแบบจัดเต็ม

     

    AH ตอน หน้ากากแห่งฟาโรห์นี้ เป็นนิยายแฟนตาซีที่อ่านได้เรื่อยๆ มีข้อมูลชวนคิดและค้นคว้าต่อ หัวเราะตามเป็นระยะอย่างเพลิดเพลิน แม้จะยังมีช่องโหว่ในเนื้อเรื่องอยู่บ้าง เช่น ฟาดีที่เปิดเผยตัวว่าคล่องแคล่วภาษาเอกีสและอาราฟในตอนท้าย ทำไมใช้ภาษาอัลเบียนไม่ได้เรื่อง หรือ ทำไมฟาดีไม่ลากเอาร่างของคาร์เตอร์ไปด้วยเสียเลยในตอนแรก หรือ การปิดท้ายด้วยข้อมูลนอกเหนือเนื้อเรื่องปกติเพื่อทิ้งไว้ให้ติดตามเล่มต่อไปยาวเหยียดจนดูเป็นส่วนเกินเลย แต่ก็อ่านสนุกจนจบได้ในรวดเดียว และน่ารอคอยเล่มต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×