คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ หรือจะเป็นรอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว
หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ | เรื่องยาว รักเศร้าๆ | ||
อัพเดท: 2 มี.ค. 51 , เข้าชม :30/2401 , โพส : 124 แฟนพันธ์แท้ : 27 , Rating :4.84616 | |||
คำอธิบาย : เมื่อคืนเราฝัน... ฝันว่ามีความสุข |
[วรรณวิจารณ์] หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ หรือจะเป็นรอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว
ผมลังเลอยู่นานว่าจะวิจารณ์นิยายเรื่องนี้ดีหรือไม่ เนื่องด้วยผู้เขียนเป็นคนใกล้ตัว และได้ช่วยแก้ไขตรวจทานด้านภาษาย้อนหลังก่อนอยู่หลายตอน แต่ในเมื่อเคยสัญญากันไว้ว่าหากหยงเล่อเขียนจบ ผมจะวิจารณ์เต็มรูปแบบสักครั้งเพื่อวิเคราะห์จุดดี จุดด้อย และปมปัญหาต่างๆในเรื่องอย่างละเอียด ก็ต้องทำตามสัญญา
หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ เขียนโดยฟ้าไร้ดาวหรือหยงเล่อ เป็นนิยายแนวแฟนตาซีดราม่ากึ่งไลท์โนเวลที่มียมทูตตามสมัยนิยม แต่การนำเสนอและโครงเรื่องกลับแตกต่างออกไปจากที่นิยมกันไม่น้อย ด้วยการใช้ภาษาดุจบทกวีที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เปล่งออกมาจากใจ ให้กลิ่นไอคล้ายยมทูตสีขาวในบางช่วง หากโครงเรื่องที่ซับซ้อนต่อเนื่องกันผูกปมปัญหาของตัวละครแต่ละตัวสลับทับกันเป็นชั้นๆและคลี่คลายลงอย่างน่าตกตะลึง ถึงแม้ช่วงหลังการบรรยายจะขาดอรรถรสไปบ้างคล้ายว่าจะถ่ายทอดอารมณ์เกินไปจนละทิ้งฉากหลังไปบ้างแต่ความน่าติดตามก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
บทวิจารณ์นี้จะครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ปมปัญหาของตัวละคร และการสื่ออารมณ์ผ่านภาพกิริยาบางส่วนที่ผู้เขียนคือฟ้าไร้ดาวถ่ายทอดออกมาสู่ผู้อ่านด้วย ซึ่งหลายช่วงอาจเผยเนื้อเรื่องสำคัญบางส่วน ผู้ที่อ่านบทวิจารณ์ควรตระหนักว่าการอ่านบทวิจารณ์มิใช่เรื่องจริงทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่า เป็นเพียงทัศนะบางส่วนของผู้วิจารณ์เท่านั้น หากต้องการรับรู้และสัมผัสเนื้อเรื่องอย่างละเอียด ควรอ่านเนื้อเรื่องทั้งหมดด้วยตัวเอง ผู้วิจารณ์ยินดีอย่างยิ่งหากมีผู้อ่านท่านอื่นใดอ่านเนื้อเรื่องแล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน
ชีวิตที่แตกสลาย ความมืด และชุดดำ : ความหมายของการดำรงอยู่
โครงเรื่องหลักของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ คือการถามถึงความหมายในการดำรงอยู่ของชีวิต เหล่าตัวเอกของเรื่องคือพิชญ์ กัลปนา และเทียร์ได้ถามและตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงหน้าที่และความหมายในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ประโยคเปิดเรื่องที่ว่า “คนเราเกิดมาเพื่ออะไรกันนะ” นั้นย้อนส่งไปถึงการปิดเรื่องอย่างงดงาม
ปัญหาการดำรงอยู่ของชีวิตได้ก่อข้อถกเถียงมากมายในระดับอภิปรัชญามาเนิ่นนาน โดยเฉพาะสื่อวัยรุ่นกระแสหลักเมื่อเร็วๆนี้ได้หยิบยกประเด็นการดำรงอยู่(Existance of Life) มาตีความและให้ความหมายใหม่หลายเรื่อง เช่น อนิเมที่ทำจากไลท์โนเวล ซึสึมิยะ ฮารุฮิ(ลิขสิทธิ์ไทย โดย บงกช) ชานะ นักรบเนตรอัคคี(ลิขสิทธิ์โดย เจไลท์บุ้ค) หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำข้ามปัญหาทางอภิปรัชญาดังกล่าวมาสู่คำตอบของการดำรงอยู่อย่างง่ายเรียบแต่เฉียบคม ดังเหมือนผู้เขียนได้ครุ่นคิดและตกผลึกมาระดับหนึ่งแล้วมากกว่าจะเป็นเพียงการหยิบยกชุดคำตอบจากนักปรัชญาตามหนังสือรวมคำคมทั่วไปมายัดใส่ปากตัวละครเพื่อเทศนาเท่านั้น
ภาวะที่พิชญ์คิดว่าตนเองเศร้าโศก หดหู่ และทนไม่ได้จนอยากจะฆ่าตัวตายให้พ้นๆไปจากความทุกข์ทรมานของการไร้ความหมายในการดำรงอยู่ เมื่อมองในสายตาของยมทูตผู้ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานอย่างกัลปนาก็เป็นเพียงแค่ความโง่เง่าและเอาแต่ใจตัวเอง ในทางหนึ่งการทุ่มเทเอาใจใส่น้องชายบุญธรรมอย่างเกินพอดีของเทียร์ก็เป็นการตอบโจทย์เรื่องความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเทียร์เอง เมื่อพิชญ์มีความเข้มแข็งและรู้ความหมายของการดำรงอยู่ เทียร์ก็กลับรู้สึกเหมือนที่ยินของการดำรงอยู่ของเธอพังทลายลงไปด้วย
ภาพที่สะท้อนออกมาจากเรื่องหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำจึงรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ บทบรรยายที่ไร้สีสันอื่นใดนอกจากสีขาวที่ไม่ขาวจัดแต่หม่นหมอง สีเทา และสีดำที่ไม่ดำสนิทเพียงจางลางเลือน สะท้อนถึงภาวะสับสนลังเลในการดำรงอยู่ของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายในเรื่อง สีดำสนิทที่พาดผ่านเรื่องเล่าของฟ้าไร้ดาวล้วนแต่เป็นกิจกรรมของ “ผู้ใหญ่” ที่กระทำต่อเหล่าวัยรุ่นในเรื่อง ทั้งความเย็นชาของพีรติผู้เป็นพ่อ การกระทำตามกฎของพันธนายมทูตผู้ทรงอำนาจเหนือ จวบจนเรื่องราวและปมทั้งหมดดูเหมือนจะคลี่คลายในตอนสุดท้ายเท่านั้น แสงสว่างของสีสันในฟ้าหม่นจึงเหมือนจะเล็ดลอดออกมาให้เห็นได้ผ่านแววตาของพิชญ์ ผู้รับรู้และเข้าใจความหมายในการดำรงอยู่ของตนเอง และเปิดรับตัวตนของผู้อื่นเข้ามาเยียวยาจิตใจทั้งของตนเองและของผู้นั้นไปพร้อมกัน เป็นคำตอบสำคัญของคำถามเรื่องการดำรงอยู่ทั้งหมดในเรื่องที่เปิดเผยมาเองตั้งแต่ต้น คือ “เพื่อใครสักคนที่ต้องการเราล่ะมั้ง”
ท้องฟ้าในฝ่ามือ : เมื่อเปลี่ยนมุมมองคือเปลี่ยนชีวิต
จุดผกผันแนวคิดของพิชญ์เริ่มต้นเมื่อเขายกมือขึ้นทาบท้องฟ้า แล้วยมทูตสาวกัลปนาชี้ให้เห็นว่าแม้เราเอื้อมมือไม่ถึงท้องฟ้า แต่อากาศที่มือสัมผัสอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าเช่นกัน มุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมกระตุ้นให้คนเรารับรู้ในแนวทางที่แตกต่างซึ่งหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำแสดงให้เราเห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบ เรื่องราวของมุมมองและความสุขอาจสรุปทัศนคติของผู้เขียนรวมไว้ในนิทานซ้อนนิยายเรื่องท่านอ๋องผู้แสวงหาความสุขที่กัลปนาเล่าไว้ ผู้เขียนแสดงความเห็นว่าผู้ที่มีความทุกข์เท่านั้นจึงจะมองเห็นความสุข เพราะความสุขนั่นเองที่เป็นอีกด้านของความทุกข์ที่เราเผชิญมา การเปลี่ยนมุมมองง่ายๆจึงส่งผลต่อวิถีชีวิตและโชคชะตาของคนอย่างมากมาย
การนำเสนอเรื่องราวในลักษณะนิทานซ้อนนิยายเพื่อสั่งสอนแนวคิดหรือสาธกโวหาร หากใช้ไม่ดีอาจจะกลายเป็นการนั่งธรรมาสน์เทศนาจนเป็นเหตุให้ผู้อ่านเบื่อหน่ายได้ แต่ฟ้าไร้ดาวเล่าเรื่องผ่านปากของกัลปนาประหนึ่งว่าถ่ายทอดออกมาจากตัวผู้เขียนเอง สำนวนที่เล่าใช้ภาษาเรียบง่ายเป็นกันเองเหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟังเจืออารมณ์หงุดหงิดนิดหน่อยของตัวกัลปนา มุมมองที่คล้ายเป็นการสั่งสอนจึงลื่นไหลต่อเนื่องแม้จะชะงักบ้างบางช่วง เช่นตอนใกล้สรุปจบเรื่องที่หากมีกิริยาของผู้เล่าแทรกเสริมบ้างสักหน่อยจะดูมีชีวิตชีวามากกว่า
บ้าน : ปัญหาครอบครัวที่ส่งผลกระทบถึงจิตใจ
ตัวละครหลักทุกตัวในเรื่องหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ล้วนมีปมปัญหาทางใจเกี่ยวกับครอบครัวที่ไม่สมประกอบ พิชญ์ที่ขาดแม่ตั้งแต่เด็ก และพ่อก็ดูว่าจะไม่ใส่ใจเขาเลยแม้เขาจะพยายามทำดีสักเพียงใด เทียร์ที่ภายนอกดูเหมือนจะทดแทนความอบอุ่นให้พิชญ์ในฐานะพี่สาวบุญธรรม แต่ปมลึกในจิตใจของเธอต่างหากที่เรียกร้องให้เธอทำอย่างนั้นจนถึงขั้นเกินกว่าที่พี่น้องปกติจะยอมทนได้ กัลปนาที่เนื้อเรื่องไม่เปิดเผยอะไรให้เราทราบมากนักจนใกล้จบจึงทราบว่าปัญหาของเธอเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ดูจะสาหัสสากรรจ์กว่าทั้งพิชญ์และเทียร์หลายเท่า และสำคัญที่สุดคือพีรติผู้เป็นพ่อของพิชญ์และเทียร์เก็บกักเอาปมปัญหาส่วนตัวมาลงกับครอบครัวจนทำให้ทั้งสองสะสมความเครียดเข้าสู่จิตสำนึก พิชญ์กลายเป็นคนหดหู่มองโลกในแง่ร้าย เทียร์กลายเป็นหญิงสาวแสนดีดุจนิยายที่จิตใจบิดเพี้ยนไป
บ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ครอบครัวเสมือนที่เกาะกันอย่างหลวมๆของตัวละครเอกมิได้สร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์อย่างที่ครอบครัวปกติสมควรเป็น โดยเฉพาะเมื่อเหล่าเด็กน้อยในบ้านเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นที่สภาพจิตใจอ่อนไหวในความหมายของชีวิต เมื่อความอดทนสิ้นสุดก็จะระเบิดออกมาแบบที่พิชญ์พยายามกรีดข้อมือฆ่าตัวตาย ฟ้าไร้ดาวถ่ายทอดอาการย้ำคิดย้ำทำและความหดหู่ของพิชญ์ออกมาได้ถึงขั้นราวกับเคยคิดจะกระทำเช่นนั้นมาก่อน แต่เมื่อฟ้าไร้ดาวบรรยายความผิดหวังและอาการของเทียร์กลับดูไม่สมจริงนัก จนทำให้น้ำหนักอารมณ์ช่วงปลายเรื่องเบาลงไปมาก แต่การกลับมาสมานแผลใจของตัวละครท้ายเรื่องก็ดูสมจริงไม่กลายเป็นเรื่องดาดๆทั่วไปที่ปรับความเข้าใจกันแล้วครอบครัวก็อบอุ่นมีความสุข พีรติกับพิชญ์ยังรักษาระยะห่างต่อกันไว้ แต่เยื่อใยและกำแพงที่กั้นขวางระหว่างพวกเขาก็ดูบางลง เทียร์และพิชญ์เข้าใจกันและกันและพร้อมที่จะก้าวข้ามปมปัญหาที่เกิดจากมุมมองซึ่งเคยผิดเพี้ยนของพวกเขาไป บ้านกลับมาเป็นบ้านที่ดูน่าอยู่ ถึงจะไม่ใช่บ้านในฝันของนิทานเด็กก็ตาม
กัลปนา : ภาพเลือนลางของราตรี แฟนตาซีที่ขาดๆเกินๆ
มิอาจปฏิเสธได้ว่ายมทูตสาวกัลปนาเป็นตัวละครที่เดินเรื่องให้ลื่นไหล ด้วยสายใยที่เชื่อมต่อกับแม่ของพระเอกและอดีตชาติของเธอ แต่ความลางเลือนของยมทูตในหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ที่เหมือนจะมีบทบาทต่อเนื่องกันแต่กลับตัดฉากสับไปมาจนทำให้ผู้อ่านงุนงงได้ อีกทั้งตัวละครย่อยอย่างสัทธราและพันธนาที่กระจายบทให้เล็กน้อยเหมือนมีความสำคัญแต่กลับตัดทิ้งไปในตอนที่สมควรจะต่อเนื่อง เช่นการเผยตัวของพันธนาครั้งแรก และการเข้ามาเตือนพิชญ์ของสัทธรา ส่งผลให้โครงเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่แล้วเพิ่มปมปัญหาที่ต้องแก้ไปอีกหลายชั้น และเมื่อคลี่คลายออกมาถือว่าฟ้าไร้ดาวทำได้ค่อนข้างดี แต่ความซับซ้อนยุ่งเหยิงนั้นอาจไม่จำเป็นนัก ด้วยหน้าที่แล้วกัลปนาจำต้องสังหารพิชญ์ แต่หากทำมิได้ก็สลายไป หรือลาจากกันไปก็ได้ไม่ต้องเพิ่มบทพันธนา
หรือเรื่องทั้งหมดอาจเกิดขึ้นและจบลง โดยกัลปนาเป็นเพียงนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดชีวิตของพิชญ์ก็ได้ ความเป็นแฟนตาซีในเรื่องนี้จึงคล้ายว่าเป็นส่วนเกินที่ใส่เข้ามาในโครงเรื่องดราม่าดีๆสักเรื่องเท่านั้น หากฟ้าไร้ดาวเพิ่มฉากส่วนของเหล่ายมทูตอีกสักนิด หรือเปลี่ยนการตัดฉากไปมาเป็นภาพขยายเต็มตอนได้อาจจะเติมเต็มความจำเป็นของแฟนตาซีของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำได้ดีมากยิ่งขึ้น
ตุ๊กตาไขลาน : กวีขับขานผ่านทำนองนิยาย
ฟ้าไร้ดาวเรียบเรียงหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำด้วยลีลาภาษาที่เว้นช่วงให้ผู้อ่านคิดต่อ รวมถึงการเว้นบรรทัดค่อนข้างกว้างระหว่างย่อหน้า และใช้ย่อหน้าคั่นตอนมากมาย นอกจากนั้นยังนำเสนอกลอนเปล่าแสดงอารมณ์ภายในแนวจินตนิยม expressionism เพื่อบอกเล่าอารมณ์ของตอนย่อย ตัวอักษรที่กลั่นออกมาเรียงร้อยล้วนแล้วแต่เรียงรายเป็นกลจักรฟันเฟืองในตุ๊กตาไขลานตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ” หาส่วนเติมยาก หากจะตัดก็ลำบากยิ่งกว่า ถือเป็นจุดแข็งของเรื่องอีกจุดหนึ่งที่หาได้ยากยิ่งในนิยายทั่วไป
แต่จุดอ่อนของเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือการเขียนสะกดคำ ผู้วิจารณ์พบการสะกดคำผิดเป็นจำนวนมาก และยังสะกดผิดซ้ำกันบ่อยๆเช่น “ที่นี้” “สำผัส” “ทรมาณ” แต่ไม่เป็นปัญหานักหากเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิกรณ์อย่างเต็มรูปแบบเนื่องจากจะมีหน่วยตรวจทานและพิสูจน์อักษรช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการสะกดคำให้ถูกนั้นเป็นขั้นแรกของผู้ใช้ภาษาศิลป์ ผู้วิจารณ์ขอร้องให้ฟ้าไร้ดาวทบทวนการสะกดคำของตนเองก่อนส่งนิยายขึ้นเผยแพร่ โดยการสอบทานกับพจนานุกรมหรือผู้รู้ทุกครั้ง เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางภาษาแก่ผู้เขียนเอง ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอีกทางหนึ่ง เพราะจะไม่เสียอรรถรสของการอ่านเรื่องราวที่งดงามนั้นเพียงเพราะการสะกดคำผิดพลาด
รอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว : ต้อนรับแสงสุกสกาวกลางฟากฟ้าวรรณกรรม
ฟ้าไร้ดาวอาจเป็นคืนที่ฟ้าหมองหม่นด้วยเมฆฝนทะมึนทึบ แต่ก็อาจหมายถึงท้องฟ้าที่ดวงอาทิตย์ฉายสว่างกลางวันจนแสงดาวต้องหันหน้าหลบแสงไม่กล้าแข่งฉายด้วยเช่นกัน หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำเป็นอีกหนึ่งในนิยายเรื่องงามที่สำเร็จลงจบสมบูรณ์ที่กำเนิดจากไซเบอร์สเปซ ด้วยแนวทางโครงเรื่องและลีลาภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ฟ้าไร้ดาวมีศักยภาพในการพัฒนางานเขียนให้ก้าวหน้าต่อไป ประดุจแสงวับวาวของดาวดวงใหม่ที่กำลังเริ่มส่องฉายขึ้นกลางฟากฟ้าวรรณกรรมอีกดวงหนึ่ง ขออวยพรให้ฟ้าไร้ดาวและหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์ และหวังว่าจะสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาอย่างสม่ำเสมอในอนาคต
ความคิดเห็น