ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ...รวมบทความธรรมะดีๆ...

    ลำดับตอนที่ #10 : นิทานเซน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.65K
      6
      31 ต.ค. 52





    ชาล้นถ้วย

    นันอินเป็นอาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่น มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์เมจิ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๕ )คราวหนึ่งได้ต้อนรับศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ผู้ไปสอบถามเกี่ยวกับลัทธิเซ็น
    อาจารย์นันอินเลี้ยงน้ำชาอาคันตุกะผู้นี้ด้วยตนเอง ท่านรินน้ำชาใส่ถ้วยจนล้นถ้วย แล้วยังรินต่ออยู่อย่างนั้นไม่หยุด ท่านศาสตราจารย์มองดูอดรนทนไม่ได้ จึงร้องขึ้นว่า
    "มันล้น แล้วครับท่าน รินต่อไปอีกไม่ได้แล้ว"
    อาจารย์นันอินตอบว่า
    "เช่นเดียวกันแหละ เจริญพร ท่านเองก็เต็มไปด้วยทฤษฎีต่างๆ อาตมาจะสอนเซ็นให้ท่านได้อย่างไร ถ้าท่านไม่ทำให้ถ้วยของท่านว่างเปล่าเสียก่อน"



    คุณยังไม่วางอีกหรือ

    วันหนึ่ง อาจารย์ตันซาน กับอาจารย์เอกิโด เดินทางไปตามถนนเฉอะแฉะด้วยโคลนสายหนึ่งขณะฝนกำลังตกหนัก พอเดินมาถึงหัวเลี้ยวแห่งหนึ่ง พบหญิงสาวสวยคนหนึ่งแต่งชุดกิโมโนมีพู่ห้อยยาว รีรอจะข้ามถนนอยู่
    "มานี่หนู" ตันซานเรียก แล้วตรงรี่เข้าอุ้มเธอข้ามโคลนไป
    เอกิโดตกใจมาก แต่ไม่กล้าปริปาก จนทั้งสองเดินทางมาถึงสำนักในตอนกลางคืน เอกิโดอดรนทนไม่ได้จึงพูดกับตันซานว่า
    "พระเราแตะต้องผู้หญิงไม่ได้ โดยเฉพาะสาวสวยเช่นนั้นยิ่งอันตราย ทำไมท่านกล้าทำถึงขนาดนั้น"
    ตันซานตอบว่า
    "ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งนานแล้ว คุณยังอุ้มเธออยู่หรือนี่"



    ยังงั้นรึ

    พระอาจารย์เซ็นชื่อฮะกูอิน ได้รับยกย่องจากชาวบ้านว่าเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างบริสุทธิ์ ณ ที่ใกล้วัดของท่าน มีร้านขายของชำอยู่ร้านหนึ่ง เจ้าของร้านมีลูกสาวสวยอยู่คนหนึ่ง จู่ๆ พ่อแม่ของหญิงสาวได้พบว่า ลูกสาวของตนได้ตั้งท้องขึ้นโดยไม่รู้เบาะแสมาก่อน
    เหตุการณ์นี้ทำให้เขาทั้งสองโกรธมาก จึงพยายามเค้นเอาความจริง ลูกสาวใจเด็ดไม่ยอมปริปากบอกว่าใครเป็นพ่อของเด็กในท้อง แต่ในที่สุด เมื่อถูกบังคับขู่เข็ญนักเข้า จึงหลุดปากออกมาว่า พ่อของเด็กคือท่านอาจารย์ฮะกูอิน
    สองตายายจึงวิ่งแจ้นไปด่าว่าอาจารย์ฮะกูอินด้วยความโกรธจัด ท่านอาจารย์ย้อนถามว่า"ยังงั้นรึ"
    เมื่อเด็กเกิดมาแล้ว พ่อแม่ของหญิงสาวได้นำเด็กไปให้อาจารย์ฮะกูอินเลี้ยง มาถึงตอนนี้ชื่อเสียงของท่านได้เสื่อมไปหมดแล้ว แต่ท่านก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร เอาใจใส่เลี้ยงดูเด็กอย่างดี โดยซื้อนมและอาหารที่จำเป็นสำหรับเจ้าหนูน้อยจากชาวบ้านข้างเคียง
    หนึ่งปีให้หลัง แม่ของเด็กสุดที่จะทนดูเหตุการณ์ต่อไปได้ จึงสารภาพความจริงกับพ่อแม่ว่า พ่อที่แท้จริงของเด็กนั้นคือ เจ้าหนุ่มที่ตลาดขายปลา หาใช่ท่านอาจารย์ฮะกูอินไม่
    สองตายายได้ฟังดังนั้นจึงรีบไปหาท่านอาจารย์ฮะกูอิน ขอโทษขอโพยในความผิดของตนอย่างยืดยาวและขอรับเด็กกลับ
    ท่านอาจารย์ฮะกูอินย้อนถามเช่นเดิมว่า"ยังงั้นรึ" แล้วนำเด็กมามอบให้



    ความเจริญสุขที่แท้จริง

    เศรษฐีคนหนึ่ง ขอให้อาจารย์เซ็นไกเขียนคาถาอวยพรให้ครอบครัวของเขามีความเจริญรุ่งเรืองและร่ำรวยตลอดกาลนาน อาจารย์เซ็นไกหากระดาษแผ่นใหญ่มาแผ่นหนึ่งแล้วเขียนลงไปว่า
    "ขอให้พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย"
    "ผมบอกให้ท่านเขียนคำอวยพรให้ครอบครัว ของผมมีความสุข ทำไมท่านจึงมาเขียนเรื่องอัปมงคลเช่นนี้" อาจารย์อธิบายว่า
    "ไม่ใช่เรื่องอัปมงคล ถ้าลูกโยมตายก่อนโยมโยมย่อมจะเศร้าโศกเสียใจมาก ถ้าหลานโยมตายก่อนโยมและลูก ทั้งโยมและลูกย่อมจะเศร้าโศกปิ่มว่าสายใจจะขาด ที่นี้ถ้าแต่ละคนตายไปตามลำดับ ดังที่อาตมาเขียนไว้นี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมดาของชีวิต สิ่งนี้แหละอาตมาว่าเป็นความเจริญที่แท้จริง"



    ผิดกับถูก

    เวลาที่อาจารย์บันไกจัดสัปดาห์แห่งการปฏิบัติกรรมฐาน มีศิษย์อยู่ปฏิบัติจากส่วนต่างๆของประเทศญี่ปุนเป็นจำนวนมาก คราวหนึ่งศิษย์คนหนึ่งโดนจับด้วยข้อหาลักทรัพย์ พวกเขาจึงรายงานให้อาจารย์บันไกทราบ พร้อมเสนอให้เนรเทศเจ้าขโมยคนนั้น แต่อาจารย์บันไกก็เฉยเสีย
    ต่อมา ศิษย์คนนั้นโดนจับด้วยความผิดเช่นเดียวกัน อาจารย์บันไกก็เฉยเสียอีก เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ศิษย์คนอื่นๆ ไม่พอใจ จึงยื่นข้อเสนอให้อาจารย์ขับเจ้าหัวขโมยคนนั้นออกให้ได้ หาไม่พวกเขาจะพากันออกไปหมด
    เมื่ออ่านข้อเสนอ อาจารย์บันไกเรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด กล่าวว่า "พวกเธอเป็นคนฉลาด รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก พวกเธอจะไปที่ไหนก็ไปเถิด แต่ศิษย์ผู้น่าสงสารคนนี้ ไม่รู้กระทั่งว่าอะไรผิดอะไรถูก ถ้าฉันไม่สอนเขา แล้วใครเล่าจะสอน ฉันจะต้องให้เขาอยู่ที่นี่แหละ แม้ว่าพวกเธอจะจากฉันไปทั้งหมดก็ตาม"
    น้ำตาได้ไหลอาบแก้มเจ้าศิษย์ขี้ขโมย เขาตัดสินใจเลิกขโมยแต่นั้นมา



    บทความจาก : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=5&t=23092&sid=f998c959834a3a4eb54e260cfbda6a74
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×