ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เฮฮาประสาสามก๊ก

    ลำดับตอนที่ #59 : ดอกไม้เหล็กสมัยสามก๊ก--1

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.21K
      6
      18 พ.ย. 55

    ดอกไม้เหล็กสมัยสามก๊ก--1

    เมื่อพูดถึงผู้หญิง เราอาจจะไม่สามารถสืบเสาะอะไรได้มาก บางครั้งยังมีคนถามกลับด้วยซ้ำว่า "มีจริงๆ เหรอ" เพราะจีนในสมัยโบราณค่อนข้างจะเหยียดหยามสตรีเพศอยู่มาก หากไม่มีความสำคัญพอจะไม่ถูกบันทึกไว้ เผลอๆ แม้บันทึกไว้แล้วก็ยังสืบอะไรได้ไม่มากอีก(ผมจึงไม่ประหลาดใจหากนามที่ผมยกมาจะไม่เป็นที่รู้จักหรือได้รับการเชื่อถือจากคนอ่าน) ยกตัวอย่างเช่น "ไซซี" เธอก็ได้รับการบันทึกไว้แค่ว่า "ไซซี" ซึ่งตามเสียงจีนก็คือ "ซีซื่อ" แปลเป็นไทยว่า "แม่นางซี" หรือ แม่นางที่แซ่ "ซี" แต่ชื่ออะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเราอาจจะตีความได้ว่าในความเป็นจริงแล้วไซซีคงไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากมาย แต่ที่ดังจนกลายเป็นหนึ่งในสี่ยอดหญิงงามแห่งแผ่นดินจีนเพราะนิทานที่ซี้ซั้วเล่าไปเรื่อยทั้งนั้น


    ส่วนที่ดังในสมัยสามก๊กก็คือ "เตียวเสี้ยน" ที่ความจริงแล้วเป็นใครก็ไม่รู้ ที่ยอมรับได้ในตอนนี้คือ "เตียวเสี้ยนเป็นนามแฝงของพระนางฮกเฮา" ในสมัยที่ยังเป็นสามัญชนและชุมนุมอยู่ในแวดวงบัณฑิตซึ่งมีในสมัยนั้นบัณฑิตหญิงเป็นอะไรที่หายากมาก ส่วนอีกข้อสันนิฐานคือ เป็นนางรำที่ตั๋งโต๊ะบังคับให้โจโฉนำมามอบให้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อใดในสองข้อนี้ เตียวเสี้ยนก็ได้กลายเป็นสนมพระเจ้าเหี้ยนเต้ทั้งสิ้นตามที่บันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์ และวีรกรรมเหลือเชื่อทั้งสิ้นทั้งปวงของเจ้าหล่อนในนิยายก็ไม่ได้เป็นความจริงแม้แต่น้อย ทว่า.. หลอกว้านจงร่ายพู่กันได้มันมากจน "เตียวเสี้ยน(ตัวไหม)" โด่งดังเกินหน้าหญิงที่มีจริงในประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากผมไม่ได้คิดที่จะพูดถึงเตียวเสี้ยนในแง่นิยาย(รวมทั้งตัวจริงที่เคยวิเคราะห์ไปแล้ว) ผมจึงขอให้เวลาของผมในคราวนี้แก่บรรดาหญิงที่ถูกลืม และเนื่องจากหัวเรื่องคราวนี้คือ "ดอกไม้เหล็ก" ผมจึงขอมุ่งประเด็นไปยังผู้หญิงที่ควรค่าแก่คำว่าดอกไม้เหล็กจริงๆ


    หวนฮูหยิน-ต้วนจง เป็นสตรีคนแรกที่ควรค่ากับคำนี้... เคยผมต้องอุทิศให้กับเธอหนึ่งตอนเต็มๆ ในฐานะนักรบหญิงที่ได้รับเกียรติเป็นถึงผู้บัญชาการพลธนู แต่เรื่องราวของเธอกลับได้รับการบันทึกแบบไม่เป็นทางการเนื่องจากวุ่ยและจิ้นไม่มีนโยบายเชิดชูสตรี ส่วนใหญ่จะทราบแต่ว่าเธอเป็นแม่โจฉอง แม้แต่โจโฉที่ค่อนข้างหัวขบถก็ยังไม่อาจจะหักธรรมเนียมแบบหยูที่ห้ามผู้หญิงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตรงๆ ได้  ยังดีที่แก่ยังอุส่าห์แถจนสีข้างถลอกว่า "แม้ไม่มีนโยบายให้ผู้หญิงยุ่งเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่ลังเลที่จะเลือกผู้หญิงมาทำงานหากมีความสามารถ" จึงยังพอมีเรื่องเธอบ้างในบันทึกร่วมสมัย เล่าชวนหัวตั้งข้อสังเกตไว้ใน "ลอยเรือชมจิวยี่" ว่าที่เธอมีตำแหน่งสูงปานนั้นเพราะเธอกิ๊กกับโจโฉ แถมเรียกแบบขำๆ ว่า "ผู้กองจิ๊บ(ยังไม่นับ "Cao Cao, Where are you?" ด้วย) แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะโจโฉนั้นหากไม่มีความสามารถต่อให้เป็นคนในครอบครัวก็ไม่เลือกแน่นอน และเมื่ออยู่ในที่ทำงานก็ต้องปฏิบัติตามกฎดังที่เคยบอกกับโจเจียงว่า "ที่บ้านเราเป็นพ่อกับลูก ที่ทำงานเราเป็นนายกับบ่าว หากเจ้าทำผิดพ่อก็ต้องลงโทษ" ฉะนั้นแม้ต้วนจงจะเป็นได้แค่แม่ทัพในสนามรบ(ตามกฎอัยการศึก)แต่การที่เธอมีตำแหน่งในกองพลธนูรองจากแฮหัวเอียนแค่คนเดียวแถมไม่ต้องรับคำสั่งจากแฮหัวเอียนก็พอจะการันตีความสามารถของสตรีนางได้นี้แล้ว หากยังจะมีใครยืนกรานว่าเธอมีตำแหน่งใหญ่โตเพราะเส้นอีกผมสงสัยว่าคนๆ นั้นค่อนข้างอคติกับผู้หญิงแล้วล่ะครับ


    ไล่เอ็งยี(นางนกขมิ้น) เป็นสตรีที่ต้องจดจำแม้เธอจะมีชู้ แต่การที่เธอกล้าหาญชาญชัยที่จะยอมรับกับผัว-โดยพฤตินัยว่าตัวเองมีชู้จริงๆ แล้วผัวก็ใจนักเลง-ยอมฟังคำขอร้องสารพัดซึ่งหากเป็นสมัยนี้คงฆ่าทิ้งทั้งเมียทั้งชู้แล้ว หรืออย่าเบาะก็แตะปากแตกทั้งสอง แต่เนื่องจากเธอทำให้จอมคนโลกไม่กล้าทรยศต้องหลั่งน้ำตาด้วยความสงสารทั้งๆ ที่โดนหยามแบบนี้เรื่องราวของเธอจึงต้องถูกจารึก เธออาจคู่ควรกับคำว่าดอกไม้เหล็กเนื่องจากความใจเด็ด แต่หากมองอีกมุมผมว่ามัน "สิ้นคิด" มากกว่า เพราะเธอพึ่งจะรู้จักมักจี้กับชายชู้แค่ไม่กี่เดือนแล้วก็ถึงขนาดยอมตายเพื่อเขา มันต่างอะไรกับเด็กสมัยนี้ที่ฆ่าตัวตายตามดาราในดวงใจกันเล่า?

    หากเทียบกับหมอโชที่ติดตามโจโฉไปทุกๆ สมรภูมิในฐานะแพทย์ประจำตัวแล้ว ผมว่าหมอโชใจเด็ดกว่าไล่เอ็งยีหลายเท่า จะมีผู้หญิงซักกี่คนกันที่ทนเห็นสามีบาดเจ็บปางตายอยู่บ่อยๆ แถมบ่อยครั้งชีวิตโจโฉยังขึ้นอยู่กับฝีมือในการรักษาของเธอด้วย แล้วไม่ได้มีแค่โจโฉแต่ยังรวมถึงแม่ทัพคนสำคัญอย่าง แฮหัวตุ้น เคาทู งักจิ้น ฯลฯ ล้วนผ่านมือเธอมาแล้วทั้งนั้น บ้างก็ตาย บ้างก็รอด ใครจะทนแรงกดดันที่มหาศาลขนาดนี้ได้ แน่นอนว่าตอนที่โจโฉกลับจากศึกเตียวสิ้วในสภาพแทบรับไม่ได้ เธอนี่แหละคืนคนที่รักษาโจโฉ! จากหัวจรดโจโฉเท้าไม่มีอะไรที่เป็นความลับสำหรับเธอ!? เธออดทนต่อสภาพสงครามและต้องพบเจอกับภาพคนที่บาดเจ็บล้มตายเสมอๆ นับว่าเธอเหนือกว่าภรรยาของผู้นำสามก๊กทั้งหลายรวมภรรยาเกือบทั้งหมดที่โจโฉมีด้วย เนื่องจากเธอได้มายืนในตำแหน่งที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนสามารถมายืนได้ในยุคนั้น และแน่นอนว่าด้วยตำแหน่งแพทย์ประจำกองทัพที่หมิ่นเหม่ยิ่งกว่าตำแหน่งแม่ทัพเฉพาะกิจของต้วนจงทำให้เธอไม่สามารถขึ้นตำแหน่งสนมเอกของวุ่ยอ๋องได้ เพราะหากเธอเป็นสนมเอกย่อมต้องออกจากการเป็นแพทย์ประจำกองทัพ(ใครจะบังอาจให้รักษา) แต่เนื่องจากโจโฉก็ไม่สามารถหาหมอที่เก่งกว่าเธอได้รวมถึงไม่ไว้ใจคนอื่นด้วยเธอจึงต้องเป็นหมอต่อไป


    ความจริงในกองทัพโจโฉยังมีวีรชนหญิงอีกมากมาย พวกเธอเหล่านั้นไม่เหมือนไล่เอ็งยีและเตียวเสี้ยนที่เป็นได้แค่นักร้องหรือนางบำเรอ ผมไม่ได้ตำหนิที่ไล่เอ็งยีหรือคนอื่นหรอกครับเพราะพวกเธอก็เป็นเพียงหญิงสาวตัวเล็กๆ ที่พยายามใช้ความสามารถของเธอให้เกิดประโยชน์ เพียงแต่เมื่อเทียบกันแล้วผมกลับรู้สึกว่ายังไม่พอสำหรับการจดบันทึกอย่างให้เกียรติ... ทหารหญิงในกองทัพโจโฉมีมากมายที่เป็นเคยนางคณิกาและโสเภณี พวกเธอถูกเหยียดหยามและย่ำยีอย่างหนักในยุคแห่งความวุ่นวาย แต่แล้วโจโฉก็ประกาศทางเลือกสำหรับพวกเธอที่สงคมมองว่าทำอะไรก็ไม่ได้โดยการเปิดโอกาสให้เป็นทหารได้ มีรับรางวัลและบำเน็จต่างๆ หลังสงครามเหมือนทหารที่เป็นผู้ชายรวมทั้งสิทธิพิเศษด้วย ซ้ำยังได้รับการปกป้องจากกฎอัยการศึก "ทหารชายจะมีความสัมพันธ์กับทหารหญิงต้องได้รับการยินยอมจากนาง หากฝ่าฝืนจะถูกตัดศีรษะ" ระหว่างสงครามพวกเธอได้รับอนุญาตให้แบกเฉพาะสัมภาระตนได้ เว้นจากการทำงานหนักได้หากกำลังมีรอบเดือน(พอหายแล้วก็ห้ามบ่ายเบียงหน้าที่เหมือนกัน)เพราะนายของพวกเธอเข้าใจดีว่าร่างกายพวกเธอนั้นมีปัญหามากและไม่มีทางเทียบผู้ชายได้จึงไม่ได้เคี่ยวเข็นขนาดนั้น ในช่วงเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ ปี ค.ศ. 197 มีทหารหญิงแค่ยี่สิบคนเองครับ จากนั้นก็เริ่มขยายตัวจนปี ค.ศ. มีจำนวนมากกว่าหมื่นคน และในหมื่นคนนี้มาในศึกผาแดงกว่าห้าพันคน จนปีค.ศ. 222 ก็สลายตัวไปตามคำสั่งของโจผีซึ่งได้มีการตรากฎหมายเรื่องห้ามผู้หญิงยุ่งเรื่องการเมืองออกมาจริงๆ จัง ไม่ทราบว่าเป็นอคติของเฉินโซ่วด้วยหรือไม่(หรือเพราะสุมาเอี๋ยน)จึงแทบไม่บันทึกเรื่องทหารหญิงในพงศาวดารหลวงยิ่งแม่ทัพสาวๆ ยิ่งไม่กล่าวไว้เลย

    ความจริงเรื่องทหารหญิงก็ไม่ได้เป็นอะไรแปลกใหม่ปานนั้น  เพราะเมื่อเล่าปี่เป็นพันธมิตรกับซุนกวน เจ้าเมืองอ่อนโลกก็ยกน้องสาวให้เป็นภรรยาเสือเฒ่าอย่างเล่าปี่ ซุนฮูหยินนั้นมีชื่อที่แปลตรงๆ ว่า "เสือน้อย" เธอชื่นชอบการรำอาวุธและฝึกวิทยายุทธ ในเรื่องสามก๊กโดยทั่วๆ ไปมักกล่าวว่าเธอถูกตามใจมากเกินไป ความจริงแล้วเป็นซุนเกี๋ยนต่างหากที่มองการไกล เขานี่ล่ะเป็นคนเริ่มแนวคิดเรื่องทหารหญิง(แต่คนทำสำเร็จเป็นโจโฉ)เพราะเห็นว่าทหารหญิงจะมีอะไรบางอย่างที่เหนือกว่าทหารทั่วไปและวางแผนฝึกฝนลูกสาวทุกคนให้เป็นนางพยัคฆ์เพื่อจะได้กลายเป็นแม่ทัพทหารหญิงเหล่านั้น เพียงแต่เมื่อซุนเกี๋ยนตายความคิดเช่นนี้ก็ตายตาม มีเพียงซุนฮูหยินเท่านั้นที่ยังทำตามเจตนารมณ์พ่อ ทว่าด้วยความคิดแบบหยูที่ฝังรากในสังคมทำให้ข้าราชการง่อส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แนวคิดซุนเกี๋ยนจึงไม่ถูกสานต่อให้สำเร็จในง่อ... ซุนฮูหยินในประวัติศาสตร์ออกจะต่างกับในนิยาย เธอแต่งงานกับเล่าปี่เพราะเธอเห็นว่าเล่าปี่คงจะยิ่งใหญ่เหมือนกับพ่อเธอ และเธอก็ตัดสินใจไปจากเล่าปี่เพราะเห็นว่าเล่าปี่ยังมีฝันที่ต้องสาน ซึ่งหากยังอยู่กับเล่าปี่ต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีทั้งกับพี่และสามีที่ยังต้องต่อสู้กันไปอีกนานจนกว่าจะรู้แพ้รู้ชนะ คือไม่ว่าใจเธอจะเป็นเช่นไรเธอก็ยังมองทะลุลงไปถึงสภาพการเมืองและตัดสินใจได้ว่าควรทำอะไรกันแน่นับว่าเธอฉลาดแท้ น่าเสียดายที่เฉินโซ่วบันทึกถึงเธอน้อยเกินไป


    ซัวบุ้นกี้เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในสมัยสามก๊กที่ได้รับการยกย่องอย่างเต็มภาคภูมิให้เป็น "บัณฑิตหญิง" โจโฉได้ไถ่ตัวเธอออกจากนอกด่านจนกลายเป็นตำนาน "ทองคำพันชั่ง" ที่โด่งดังจนมีคำนำไปจินตนาการว่าเธอเป็นคนรักเก่าโจโฉและบางท่านก็เอาไปเขียนนิยายเรื่อง "ชีวิตรักของโจโฉ" ออกมาให้เราได้อ่านกัน ทั้งนี้เนื่องจากฐานะของสตรีที่ต่ำต้อยขนาดนั้นในสมัยสามก๊ก แล้วไฉนโจโฉจึงกล้าทุ่มเงินทองมากมายเพื่อไถ่ตัวเธอคืนมาก ซัวบุ้นกี้นับว่าเป็นดอกไม้เหล็กอย่างแท้จริง แม้เธอจะไม่ได้ต่อสู้บู้แหลกเหมือนอย่างหลายท่านที่กล่าวมา แต่เธอเป็นดอกไม้เหล็กเพราะจิตใจที่แข็งแกร่งเหมือนอย่างหมอโช หลังจากตั๋งโต๊ะล่มสลายและซัวหยงพ่อเธอโดนตัดหัว ซัวบุ้นกี้ก็ต้องซัดเซพเนจรไป เธอถูกพวกคนต่างด้าวที่ยกทัพมาลากไส้คนจีนในตอนที่บ้านเมืองวุ่นวายและพบตัว เธอโดนย่ำยีข่มขื่นเช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคนและโดนกวาดต้อนไปราวกับสัตว์ ระหว่างเส้นทางที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปนั้นเธอกลายเป็นของกลางที่ต้องโดนเปลี่ยนมือจากชายหนึ่งสู่อีกชายหนึ่งตลอด แต่บัณฑิตหญิงคนนี้ไม่เคยคิดเลือกความตายเป็นทางออก แต่เธอกลับจดจำเรื่องราวที่เกิดแล้วบอกเล่าเรื่องราวสมัยสามก๊กให้คนรุ่นหลังได้รับทราบนับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาก เธอคอยปลอบและให้กำลังใจเพื่อนหญิงที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เธอไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาเพราะเธอเชื่อว่าความตายไม่เคยเป็นทางออกที่ดีที่สุด จนในที่สุดเมื่อเธอได้กลับประเทศ เธอได้กลายเป็นหัวหอกสำคัญในการปลดปล่อยชาวฮั่นจากการเป็นทาสในต่างแดนและเธอยังฟื้นฟูทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ ตำนาน พงศาวดารและเอกสารที่หายไป เนื่องจากเธอสามารถท่องจำหนังสือที่บิดารวบรวมไว้ได้กว่าสี่ร้อยเล่มจากทั้งหมดพันเล่ม

    โจโฉมีลูกสาวหลายคน คนโตที่เกิดจากนางแซ่เล่าก็คือชิงเหอ คนรองไม่ทราบนาม สองคนนี้มีปัญหาด้านการแต่งงานเพราะคนรองบวชเป็นภิกษุณี ส่วนชิงเหอกว่าจะแต่งได้ก็อายุปาเข้าสามสิบห้าปี ด้วยเธอมีความมุ่งมั่นที่จะแต่งงานกับคนที่สามารถไขปริศนาในบทกวีของเธอได้เท่านั้น จนกระทั่งเตงหงีสามารถทำสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แต่งกับเตงหงีเพราะโจผีเกลียดน้ำหน้า ในที่สุดเธอก็ได้แต่งกับแฮหัวเหมา(ลูกแฮหัวตุ้น)แทน แล้วเจ้าแฮหัวเหมาก็ซี้ซั่ว คิดจะเอาดีในทางราชการโดยอาศัยบารมีพ่อ ส่วนลูกสาวโจโฉที่เหลือๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความสำคัญจากสายตานักประวัติศาสตร์มาก ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่ออะไร กระนั้นก็ยังมีถึงสามคนที่ระบุนามและบทบาทพอควร เพียงแต่ในสามคนนั้น(พูดให้โดนคือในบรรดาลูกสาวทั้งหมดที่มี) มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีบันทึกทั้งปีเกิดและปีตาย---(แก้ไขแล้วครับ)

    แต่ผมต้องปิดปากไว้ก่อนเพราะคิดว่าจะเอาเรื่องสามนางนี้มาต่อในคราวหน้า... ปล. พอกล่าวเรื่องดอกไม้เหล็กแล้ว พึ่งสังเกตเห็นว่า แค่เซ็ตแรกวุ่ยก็มีมากกว่าเพื่อนแล้วแฮะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×