ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เฮฮาประสาสามก๊ก

    ลำดับตอนที่ #34 : ศึกใหญ่ครั้งที่สาม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.31K
      8
      21 มี.ค. 55

    สงครามยีหลิง-ศึกใหญ่ครั้งที่สาม
     
    ในอีหลิงจริงๆ ไม่มีกวนอูกับเดียวหุนหรอกนะ

    ในสมัยสามก๊กนั้นมีสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่ถูกจัดว่าเป็นศึกใหญ่มีเพียงสามครั้งเท่านั้นเนื่องจากผลของมันส่งผลต่อรูปประวัติศาสตร์อย่างมหาศาล ครั้งแรกคือสงครามกวนตู้ที่โจโฉสามารถพิชิตอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จและนำมาซึ่งการครอบครองสถานะภาพทางการเมืองขั้นสูงสุดไว้ได้  ครั้งที่สองคือศึกผาแดงซึ่งจบลงด้วยไฟที่จิวยี่เผากองทัพเรือของโจโฉ(และโจโฉก็สวมรอยช่วยเผาอย่างสนุกสนาน) ส่งผลให้มีการแบ่งพระเทศจีนตอนล่างออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจนคือซุนกวน เล่าปี่ เล่าเจี้ยงซึ่งภายหลังเสฉวนของเล่าเจี้ยงก็ตกเป็นของเล่าปี่ แม้จะถือว่าโจโฉแพ้โจโฉกลับกุมเสถียรภาพทางการเมืองได้มากขึ้นเพราะเรื่องจริงของศึกผาแดงคือสนธิสัญญาสงบศึกแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่จิวยี่มีชีวิตอยู่เท่านั้นแต่ช่วงเวลาสั้นๆ นี้มากพอที่จะทำให้โจโฉสะสางเรื่องที่ภาคเหนือได้จนหมดก่อนจะย้อนกลับมาทำศึกกับง่ออีกครั้งเพราะโลซกที่ขึ้นแทนจิวยี่ดันประกาศศึกกับโจโฉแล้วหันไปจูบปากกับเล่าปี่แทน

    สำหรับสงครามครั้งที่สามคือสงครามยีหลิงที่แม้ตอนนี้ผมคิดถึงก็ยังใจหายเพราะไม่นึกว่าเล่าปี่ที่โคตรเทพจะปราชัยย่อยยับขนาดนั้นได้แม้จะรู้ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นจากการประมาทเพียงอย่างเดียว การพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อของเล่าปี่นั้นทำให้รัฐชู่ถึงจุดหายนะทันทีเพราะมันหยุดความทะเยอทะยานของข่งเบ้งได้สนิท จะเห็นได้จากความพยายามของข่งเบ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตีรัฐวุ่ยและประสบความล้มเหลวทั้งหกครั้ง  ไม่ว่าจะอ้างว่าข่งเบ้งชนะ หรือถอยด้วยเชิงก็ตาม แต่เราไม่อาจจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ว่าข่งเบ้งล้มเหลวทั้งหกครั้ง  มิเช่นนั้นท่านจงลองเปรียบเทียบชัยชนะของข่งเบ้งกับโจโฉในนิยายดูก็ได้ครับ ท่านจะเห็นว่าแท้จริงแล้วข่งเบ้งไม่เคยชนะศึกเลยแม้หลอกว้านจงหรือพ่อลูกเหมาจะเชิดชูเพียง เพราะผลติดตามของสงครามไม่มีวันโกหกได้ สิ่งที่วัดผลแพ้ชนะคือสภาพการเมืองที่ตามมาไม่ใช่วัดว่าใครฆ่าคนได้มากกว่า... ทุกครั้งที่โจโฉชนะ ศักยภาพทางการเมืองและรบของเค้าจะเพิ่มขึ้นเพราะการได้มาซึ่งหัวเมืองในการปกครอง แต่ข่งเบ้งชนะหมายถึงยกทัพกลับเพราะไม่สามารถยึดเมืองหรือบุกคืนหน้าได้ซ้ำยังประสบความยุ่งยากทางการเมือง มิหนำซ้ำทุกครั้งที่ชนะเราจะพบว่าศักยภาพของฝ่ายวุ่ยเพิ่มแต่จ๊กตกต่ำลง แบบนี้เรียกว่าชนะได้เหรอ?

    เรื่องเกิดขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระอนุชากวนอูถูกซุนกวนประหารได้สิบห้าเดือน ความแค้นของพระเจ้าเล่าปี่ก็ประทุขึ้นจนสุดจะระงับได้!? แต่ก็ยังไม่ทำอะไร รอให้เป็นฮ่องเต้ก่อน พระองค์จึงพร้อมรบ นับว่าเป็นคนที่จิตใจอาฆาตพยาบาทยิ่งนัก เพราะกว่าจะรบเวลาก็ผ่านสามปีแต่ก็ยังไม่คิดจะละวาง มีแต่จะเอาให้ตายไปข้าง  ความจริงแล้วการตายของกวนอู(และเตียวหุยในเวลาต่อมา)เป็นเพียงข้ออ้างที่ทำให้ดูชอบธรรมขึ้น แต่ถ้าดูจากรูปการเล่าปี่วางแผนชัดเจนมากกว่าจะตีง่อให้แตกก่อนแล้วยกพลขึ้นเหนือไปตีวุ่ย เพราะการเอาตัวขึ้นตีวุ่ยก็เหมือนกับเอาตุ๊กตุ๊กชนสิบล้อ  ปลาใหญ่กินปลาเล็กได้สบายอยู่แล้ว ในฐานะปลาเล็กเล่าปี่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสี่ยงชีวิตสู้กับปลาที่ใหญ่กว่า แต่ถ้าพระองค์รวบรวมกำลังปลาเล็กได้ก็อาจจะสามารถพิฆาตปลาที่ใหญ่ได้ในที่สุด  ถ้างั้นทำไมเล่าปี่ไม่ขอกำลังจากซุนกวนในการขึ้นตีรัฐวุ่ยล่ะ?  ถ้าท่านก็คิดเช่นนั้นผมถือว่าท่านกำลังประเมินซุนกวนผิดไปแล้ว เพราะซุนกวนนั้นก็ทั้งด้านและดำไม่แพ้สุมาอี้ ถ้าสามารถตีรัฐวุ่ยได้สำเร็จท่านคิดหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าไม่สำเร็จ อะไรจะตามมาอีก เล่าปี่เคยทำกับพวกเค้ายังไงพวกเค้าก็จดจำและพร้อมจะทำตาม ท่านลืมรึยังว่าพวกเค้าพิฆาตกวนอูได้อย่างไร?
     
    ภาพเล่าปี่รำไห้จากโดจิน(ที่แนะนำในตอน 32) เวลาผ่านไปเท่าไหร่ก็ไม่แก่เลยจริงๆ

    เมื่อประเมินกำลัง ท่านจะพบว่าทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋นของง่อมีน้อยกว่าวุ่ย และทั้งหมดของง่อเล่าปี่ล้วนหลอกกินได้มาหมดแล้ว ผิดกับวุ่ยที่เล่าปี่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะฝ่ายบู๊-บุ๋นของวุ่ยไม่ปล่อยให้เล่าปี่ทำตามใจชอบ  เล่าปี่อยู่ได้เพราะเมตตาของโจโฉคุ้มกะลาหัวไว้ทั้งนั้น แล้วยิ่งตอนนี้โจโฉไม่อยู่แล้วและโจผี ถึงแม้ว่าเล่าปี่จะไม่รู้จักโจผีมากแต่กิติศัพท์ความเหี้ยมหาญของโจผีเป็นที่รู้กันทั่วในศึกกวนตู้แล้ว และสติปัญญาของโจผีก็ใช่คนเดียวซะเมื่อไหร่ ยังมีกาเซี่ยงตัวแสบ เล่าหัว สุมาอี้ เทียหยกซึ่งยังอยู่ ฯลฯ และฝ่ายบู๊ก็มีอีกเป็นร้อยแม้จะไม่เคยถูกกล่าวในนิยายก็ตาม ขนาดโจโฉเหน็บพวกเก่งๆ มาไม่มากเพราะต้องเก็บอีกเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือไว้ป้องกันบ้านเมือง เล่าปี่ก็ยังถูกไล่บี้จนหมดสภาพแล้วถ้ายกทัพไปเหยียบหน้าบ้านเค้าเลยล่ะครับท่าน มันคือศึกหนักอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะบรรดายอดขุนทางทั้งบู๊บุ๋นจะมีมากยิ่งกว่าตอนโจโฉยกมานอกบ้านซะอีก ไม่รู้จะรอดกลับมาได้รึเปล่าเพราะหลายคนที่โน่นล้วนแต่แค้นเล่าปี่ทั้งสิ้น(ต้องจัดหนักแน่นอน) ถ้าสังเกตดีๆ ท่านจะพบว่าการรบเชิงรับของวุ่ยมีประสิทธภาพสูงมากกว่าเชิงรุก(ดูสงครามกวนตู้และเสเหลียง) เพราะไม่รับธรรมดาแต่ยังคืบหน้าต่อจนกินพื้นที่ฝ่ายศัตรูได้จนหมดและขับไล่ข้าศึกไปได้แม้แต่จากแผ่นดินของข้าศึกเอง สงครามเชิงรับของวุ่ยในสมัยที่ข่งเบ้งเจอกับตัวเองจนต้องกระอักเลือดตายด้วยความช้ำใจก็เป็นบทพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน แน่นอนว่าเล่าปี่ต้องรู้นิสัยโจโฉด้วยว่าไม่มีอะไรหยุดการทำงานเค้าได้ง่ายๆ แม้แต่ความตาย เพราะโจโฉสั่งทหารและกุยซือไม่ให้ไว้ทุกข์นานเพราะแผ่นดินยังไม่สงบราบคราบ ถ้าเล่าปี่เสร่อยกทัพขึ้นไปก็ต้องเจอกับการรบเต็มรูปแบบ ใช่ว่าจะอ่อนแอลงไม่
     
    มองผ่านๆ เหมือนวุ่ยมักรุกมากกว่ารับ แต่ความจริงแล้ววุ่ยมีแนวโน้มจะรับศึกอยู่บ่อยๆ เพียงแต่การรับศึกของวุ่ยไม่ใช่การรับศึกในเขตบ้านตน แต่เป็นการยกทัพไปรับศึกที่ชายแดน

    แน่นอนว่าข่งเบ้ง-จูล่งคิดตามไม่ทันแน่เพราะพวกเค้าไม่เคยได้เห็นวุ่ยมาก่อนรวมทั้งไม่ได้รู้จักผู้คนในรัฐวุ่ยเป็นการส่วนตัวเหมือนเล่าปี่จึงไม่ทราบว่าเล่าปี่ตัดสินใจรบกับง่อเพราะอะไร ผิดกับเตียวหุยที่ไปกินไปนอนมาด้วยกัน(คิดแล้วก็เสียดายเตียวหุยที่ฉลาดมีปัญญาแต่รีบร้อนไปหน่อยเลยมาตาย)  จากทั้งหมดนี้เล่าปี่จึงประกาศคุณธรรม ล้างแค้นให้กวนอูแทน  ว่าแล้วก็จัดการเกณชายฉกรรจ์ทั้งแผ่นดินเสฉวนที่สามารถรบได้ไปกับกองทัพ เราไม่รู้ว่าเล่าปี่มีไพร่พลเพียงใด บ้างว่ามีเจ็ดหมื่น(ผู้ชายทั้งเสฉวนเนี่ยนะเจ็ดหมื่น?) ในเวอร์ชั่นเฮียหลอว่ามีตั้งเจ็ดแสน เล่าปี่ตัวจริงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถยิ่งกว่านิยายมากนัก ประวัติการรบโชกชน ฝีมือจริงๆ เหนือกว่าเตียวหุย-กวนอูด้วยซ้ำ(จริงครับ ไม่อิงนิยาย) ขนาดว่าโจโฉยังต้องยอมเลยว่าถ้าสู้กันตัวต่อตัวมีกี่ชีวิตก็ไม่พอ(ถ้าเจอกันโดยไม่มีกองทัพ แม้โจโฉจะมีเก้าชีวิตก็คงถูกฆ่าตายทั้งเก้าครั้ง) ศึกนี้จึงไม่มีใครมองเห็นว่าเล่าปี่จะแพ้ได้อย่างไรเหมือนไม่มีวันที่ผมจะเชื่อว่าบราซิลจะแพ้ลาวในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก

    กำลังเล่าปี่เหนือกำลังของซุนกวนมากและยังไม่นับกำลังเสริมจากสะโมโขด้วย ประสบการณ์ของเล่าปี่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดทั้งลูกเล่นลูกชน เล่าปี่โชว์เทพโดยการวางแผนศึกจัดการทัพแฮหัวตุ้นจนกระเจิงมาแล้วในทุงพกบ๋องและลำน้ำแปะโห  เป็นฝีมือของเล่าปี่ไม่ใช่ซีซีหรือข่งเบ้งอย่างที่วรรณกรรมเชิดชู เล่าปี่คนนี้น่ากลัวจนสามารถจัดคู่ศึกมากมายได้โดยที่แทบไม่ต้องทำอะไร และตอนนี้คู่ศึกของเล่าปี่ก็คือลกซุนที่ถูกดูหมิ่นจากเหล่านักรบว่าเป็นแค่พวกนักวิชาการด้วย!!!  ว่าแล้วเล่าปี่เดินทัพช้าๆ ตั้งแต่เดือนสี่ ปี 221 ถึงเดือนหก ปี 222 ขณะที่โจโฉยกทัพจากเมืองหลวงในเดือนเจ็ดปี 208 ถึงผาแดงในเดือนเก้า ทั้งๆ ที่เส้นทางเดินทัพของโจโฉไกลกว่าเส้นทางเดินทัพของเล่าปี่มากนัก แต่เราคงว่าอะไรไม่ได้มากเพราะโจโฉใจร้อนโผงผางจึงทำอะไรเร็ว ส่วนเล่าปี่ใจเย็นการเดินทัพจึงเหมือนการเดินมาราธอน ซึ่งน่าสงสัยว่าความผูกพันธ์ที่มีต่อกวนอูและเตียวหุยคงล้ำลึกมากท่านจึงเดินทัพไปสะอื้นไปรึเปล่าไม่ทราบ ถึงใช้เวลาการเดินทางมากขนาดนี้... ฮา... ไม่ใช่ครับ ถ้าอ่านอย่างพิเคราะห์ก็จะพบว่าที่บรรยายเล่าปี่เดินทัพอย่างช้าๆ มีการทำนาย่ำกรุงมาตามทางที่ว่านี้หาใช่ไร้สาระไม่ แต่แท้จริงคือการตัดเส้นทางเดินทัพหนีออกจากเมืองและเส้นทางขนส่งเสบียงเข้าสู่ง่อนั่นเอง วิธีการนี้คือวิธีการเดียวกับที่พระเจ้ามังระทรงใช้และทำให้อยุธยาถึงกับแตกเพราะจากเหนือจรดใต้ถูกทำลายหมดจนไม่สามารถขนส่งเสบียงมายังเมืองหลวงได้ ย่อมเป็นการไม่ถูกที่บอกว่าแผนของเล่าปี่ไม่เอาถ่าน
     

    สิ่งที่ตามมาคือซุนกวนร้อนใจจนเหงื่อเต็มมือเพราะเค้ารู้เต็มอกว่ากำลังถูกบังคับให้สู้แบบหมาจนตรอกเพราะไม่สามารถเคลื่อนทัพออกนอกเขตการปกครองได้เสียแล้ว และเสบียงและสินค้าต่างเมืองก็ไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ ถ้าเล่าปี่สามารถล้อมได้ซักครึ่งปีคนต้องอดตายทั้งเมืองแน่ นี่คือประวัติศาสตร์จริงที่นิยายละเลยเพราะมัวเอาเวลาไปชูค่ายกลข่งเบ้ง ซุนกวนรู้ว่าสู้เล่าปี่ไม่ได้จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเจรจากับเล่าปี่ ไม่คิดว่าเล่าปี่จะยกทัพมาทางนี้แทนที่จะยกขึ้นเหนือ ยิ่งโจโฉตายไปแล้วเล่าปี่ยิ่งไม่น่าจะมีอะไรต้องกลัวไม่ใช่รึไง(เล่าปี่บอก ทำไมกลัวต้องกลัวโจโฉด้วยฟะ นั่นน่ะอดีตภรรยานะเฟ้ย) การประชุมเครียดจัดมาก แถมคนเก่งๆ ก็พากันป่วยตายไปจนหมดแล้ว พอดีกำเจ๊กเสนอชื่อลกซุนขึ้นมาโดยยอมเอาศีรษะตนและครอบครัวเป็นประกัน กำเจ๊กเสนอว่า "เล่าปี่นั้นเหมือนเสือที่กำลังประมาท อาจจะไม่ทันคิดด้วยซ้ำว่าตนไม่อาจรู้จักภูมิประเทศดีกว่าเจ้าถิ่น และการยกทัพมาครั้งนี้ต่างกับโจโฉในครั้งนั้นที่มีจุดอ่อนที่เกินทางมาไกลและไม่รู้ภูมิประเทศจึงเตรียมแผนถอนกำลังอย่างฉลาดไว้ แต่ใจเล่าปี่เต็มไปด้วยความกระหายในชัยชนะจึงพร้อมบุกโดยไม่ได้วางแผนถอนกำลัง ถ้าสร้างความตื่นตระหนกให้ได้ซักนิดก็ย่อมเสียการควบคุมแน่นอน" และเนื่องจากง่อกำลังขาดแคลนบุคลากรเพราะบรรดาหัวกระทิทั้งหลายล้วนอายุสั้น เก็บได้ไม่นานเหมือนกระทิกระป๋องจึงจำใจรับลกซุนไว้พิจารณาซึ่งลกซุนก็ใช่จะทำงานได้ทันทีเพราะอายุยังน้อยกว่าจะกล่อมพวกแก่ๆ ก็แทบหมดแรงกันตรงนั้น
     

    ในการทำสงครามย่อยๆ ระหว่างนั้นเล่าปี่ยังสามารถเล่นงานฝ่ายซุนกวนได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งประมาท จัดการปลูกค่ายยาวเหยียดริมน้ำราวกับรีสอท  ในวรรณกรรมตำหนิเล่าปี่ว่าไม่รู้พิชัยสงครามจึงตั้งค่ายแบบนี้ แต่ผมว่าไม่ใช่เพราะประวัติศาตร์ระบุชัดว่าเล่าปี่ตั้งค่ายตามพิชัยสงคราม  และวิธีตั้งค่ายแบบนี้อ้วนเสี้ยวก็ทำและข่มขวัญทหารโจโฉได้ฝ่อทุกรายถ้าไม่ใช่เพราะโจโฉตะบะแข็งก็คงชักน้ำลายฟูมปากแล้วเหมือนกันเพราะเห็นกันจะๆ ว่ากำลังห่างกันหนึ่งต่อสิบ การปลูกค่ายของเล่าปี่จึงเป็นการข่มขวัญลกซุนโดยแท้ แต่สิ่งสำคัญที่เป็นจุดอ่อนของศึกนี้คือความประมาท และข้อที่สองคือทิศทางลมที่ไม่แน่นอนง่อซึ่งเกิดจากภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับของวุ่ย อ้วนเสี้ยวที่ตั้งทัพแบบเดียวกันจึงสร้างปัญหาให้กับโจโฉ ขณะที่ทัพของเล่าปี่ไม่สามารถสร้างปัญหาใดๆ แก่ลกซุนได้ อีกประการ หากเปรียบเทียบกับกวนตู้แล้วเราจะเห็นความแข็งแกร่งของอ้วนเสี้ยวทันทีที่สั่งให้ระดมยิงธนูทั้งวันทั้งคืนจนทหารโจโงหัวไม่ขึ้น ขณะที่ทัพของเล่าปี่เล่นน้ำกันสบาย ฉะนั้นในคืนที่ลมพัดแรงจึงเป็นช่องให้กองทัพเรือของลกซุนเข้าเผาค่ายได้อย่างง่ายดาย(ถ้าอ้วนเสี้ยวมารบเองอาจจะสั่งระดมยิงธนูไฟก็ได้ ใครจะไปรู้) นี่คือตัวอย่างของตำราพิชัยสงครามที่บางครั้งก็ใช้ไม่ได้ในบางสถานการณ์และบางสถานที่
     
    ในตอนที่อ้วนเสี้ยวใช้ยุทธศาสตร์นี้ สามารถปลุกปล้ำโจโฉลงกับพื้นได้และเกือบจะแพ้น๊อค แต่เมื่อเล่าปี่ใช้กลับเป็นอีกแบบทันที ซึ่งนอกจากวิธีการใช้แล้วยังต้องพิจารณาด้านอื่นๆ ประกอบด้วย

    อย่างที่บอกแล้วว่าเล่าปี่เตรียมมาบุกอย่างเดียว ไม่คิดถึงตอนถอย ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมกองทัพขนาดใหญ่ได้เหมือนที่โจโฉควบคุมกำลังเรือนแสนให้ถอยขึ้นเหนืออย่างรวดเร็วและระมัดระวัง ซึ่งเหตุผลก็เพราะโจโฉตั้งทัพถึงสองเดือนโดยไม่รบเนื่องจากห่าลง(ซึ่งไม่ได้ลงแต่กับโจโฉ ฝั่งจิวยี่ก็โดนด้วย)ทำให้มีเวลามากพอที่จะศึกษาเส้นทางการเดินทัพกลับตลอดจนทิศทางลม แต่เล่าปี่ทำลายเส้นทางเดินเสบียงมาตลอดทางย่อมไม่เห็นช่องที่ตัวเองจะต้องถอยหนี เมื่อกองทัพแตกกระเจิงไม่สามารถควบคุมได้ ไพร่พลเรือนแสนของเล่าปี่จึงพังพินาศลง อีกประการคือเพราะความประมาทว่าตนรู้จักภูมิประเทศดีเนื่องจากอยู่มานานจึงลืมไปว่าภูมิประเทศนี้ไม่ใช่ภูมิประเทศที่จะตั้งทัพสบายๆ ได้ แต่การตั้งค่ายต้องมีความรัดกุมสูงมาก เมื่อพิจารณาจากทั้งหมด แล้วย้อนกลับไปคิดถึงศึกผาแดงอีกครั้งก็จะพบว่าที่ว่าโจโฉประมาทนั้นไม่ใช่เลย แต่เพราะไม่รู้ภูมิประเทศโจโฉจึงมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการตั้งค่ายและการวางแผนถอนทัพ ทำให้สามารถนำทหารที่ยกมาจากเมืองหลวงกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยถึงเจ็ดในสิบของทั้งหมด

    ว่าแล้วผมก็ขอพอแค่นี้ เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังเหมือนจะรู้สึกรับไม่ได้กับการพ่ายแพ้อย่างสิ้นสภาพของเล่าปี่ผู้ไร้เทียมทาน แต่ก็จำเป็นต้องเล่าเพราะนี่จะนำมาซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับเส้นทางอำนาจของพระเจ้าเล่าปี่ในตอนต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×