คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : ตามรอย รหัสลับดาร์วินชี่
กลางเดือนพฤษภาคมนี้มีภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งเข้ามาให้ได้ ทัศนากันอย่างตื่นตาตื่นใจ เป็นหนังที่สร้างจากนวนิยายอาชญากรรม ซ่อนเงื่อนที่โด่งดังติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดของโลก นั่นก็คือ THE DAVINCI CODE หรือในพากษ์ไทยว่า “รหัสลับระทึกโลก” จากฝีมือการประพันธ์ของ แดน บราวน์
นิยายเรื่องนี้ ผูกพันกับรหัสและสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แฝงอยู่ในภาพเขียนของลีโอนาร์โด ดาวินชี ยอดศิลปินในอดีตของอิตาลี นอกจากนี้ก็ยังยกเอาสถานที่สำคัญๆ ขึ้นมาอ้างไว้หลายแห่ง ดังนั้น การจะดูภาพยนตร์ เรื่องนี้ให้เข้าใจและสนุกสนานอย่างสมบูรณ์ แบบจึงควร “รู้จัก” เบื้องหลังของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงในเรื่องไว้บ้าง ในวันนี้เราจึงขอนำเอาแบ็กกราวนด์ดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง
แต่ก่อนอื่น เรามาอ่านเรื่องย่อของ “The davinci code รหัสลับระทึกโลก” กันเป็นการปูพื้นกันก่อน
“ฌาคส์ โซนิแยร์” ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ลูฟร์, ปารีส ได้ถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับภายในพิพิธภัณฑ์ที่ตนดูแล แต่ก่อนตายเขาได้ทิ้งรหัสลับบางอย่างไว้ ทางการฝรั่งเศส จึงได้ขอให้ “โรเบิร์ต แลงดอน” ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนวิทยาสัญลักษณ์ กับ “โซฟี เนอเวอ” เจ้าหน้าที่หญิงแห่ง กองถอดรหัสของฝรั่งเศสมาช่วยไขปริศนาคลี่ คลายคดี
ทั้งสองได้ พยายามถอดรหัสลับซึ่ง ส่วนใหญ่อ้างถึงผลงานจิตรกรรมของลีโอนาร์โด ดาวินชี อันโด่งดัง จนในที่สุดก็ได้พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับ สององค์กรลับทางศาสนาที่มีมาช้านานตั้งแต่หลังคริสตกาล องค์กรหนึ่งทำหน้าที่พิทักษ์ ปกป้องทายาทของพระเยซูคริสต์!? ในขณะที่อีกองค์กรหนึ่งตามพิฆาตเพื่อดำรงความศรัทธาของคริสต์ศาสนิกชน ที่เชื่อมั่นในความเป็นเทพขององค์พระเยซู ผลสุดท้ายเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องติดตามดูจากหนัง เพื่อความตื่นเต้นเร้าใจใคร่รู้ ที่ดำเนินอยู่ตลอดเรื่อง
ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับสถานที่และศิลปกรรมที่มีการเอ่ยอ้างถึงในหนังเรื่องนี้ดีไหม
สถานที่แรก แน่นอน พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (LOUVRE) แห่งกรุงปารีส, ฝรั่งเศส
ลูฟร์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้ เป็นที่รวบรวมผลงานที่แสดงถึงวัฒนธรรม พื้นฐานของโลกตะวันตก พิพิธภัณฑ์ นี้เดิมเคยเป็นป้อมและวังหลวง สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 สำหรับกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ลักษณะส่วนใหญ่ของอาคารเป็นสถาปัตยกรรม สมัยเรอเนอซองซ์ และหลังจากนั้นก็มีการรวบรวมศิลปวัตถุจากแหล่งต่างๆ ไว้มากมาย กระทั่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติเป็นหนแรกในปี ค.ศ. 1793 ครั้งนั้นมีงานแสดงหลักเป็นโบราณวัตถุที่พระเจ้านโปเลียนทรงรวบรวมมาจากอียิปต์
ในปี ค.ศ. 1984 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ให้ทันสมัย และสิ่งใหม่ที่น่าตื่นใจก็คือ พีระมิดแก้วกลางลานอันเป็นทางเข้าหลักของลูฟร์ ซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1989 พีระมิดแก้วนี้ออกแบบโดย ไอ.เอ็ม.เปย. สถาปนิกอเมริกันเชื้อสายจีน
สำหรับศิลปกรรมชิ้นสำคัญของลูฟร์มี อาทิ “วีนัสแห่งไมโล” กับ “ชัยชนะแห่งซาโมเธรซ” ซึ่งเป็นประติมากรรมโบราณ แต่ที่ลือลั่น ที่สุดก็คือจิตรกรรม “โมนา ลิซ่า” ของลีโอนาร์โด ดาวินชี จิตรกรรมล้ำค่าชิ้นนี้ตั้งแสดงอยู่กลางแกรนด์แกลเลอรี่ อันเป็นจุดที่ภัณฑารักษ์โซนิแยร์ ถูกสังหาร(ในเรื่อง)
นับว่าโชคดีสำหรับผู้ดูภาพยนตร์ ที่จะได้เห็นฉากสำคัญนี้จากสถานที่จริง เพราะรัฐบาลฝรั่งเศส อนุญาตให้ทีมงานสร้างเข้าไปถ่ายทำได้เพียงเรื่องเดียว แต่ก็ภายในเวลาจำกัด ที่สำคัญต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะภาพเหล่านี้มีค่ามาก และเสียหายง่ายไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากแสงไฟหรือแม้แต่ ความชื้นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย!
สำหรับภาพสำคัญ “โมนา ลิซ่า” นี้ อย่าคาดหวังว่าเป็นภาพใหญ่ เพราะมีขนาดเพียงแค่ 30.25 นิ้ว x 21 นิ้วเท่านั้นเอง เขียนด้วยสีน้ำมันบนไม้ เมื่อราว ค.ศ. 1503 เธอมีรอยยิ้มที่แฝงเลศนัยจน แดน บราวน์ นำเอา มาตีความหมายในนิยาย เรื่องนี้
มีอยู่ภาพหนึ่งของดาวินชีที่ไม่ได้อยู่ ลูฟร์ แต่เป็นรหัสซ่อนเงื่อนซึ่ง โซนิแยร์ได้นำมาใช้วางท่าการตายของ เขา นั่นคือ “เดอะ วิทรู-เวียน แมน” เป็นรูปชายเปลือยกางแขนขาอยู่ภายในวงกลม ดาวินชีเป็นจิตรกรที่ชำนาญในเรื่องสัดส่วน สรีระร่างกายมนุษย์และเขียนภาพนี้ขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าของเขาเอง
คนที่สำคัญที่สุดที่เป็นต้นเหตุของนิยาย เรายังไม่ได้เอ่ยถึงประวัติ ของเขาเลย
ลีโอนาร์โด ดาวินชี มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1452-1519 เป็นศิลปิน อิตาเลียนในยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (เรอเนอซองซ์) เขาเป็นอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ เพราะเก่งทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นนักประดิษฐ์ วิศวกร สถาปนิก ประติมากร จิตรกร นักเขียน และนักดนตรี แต่ว่ากันว่า อัจฉริยะผู้นี้มีพฤติกรรมเป็นนักรักร่วมเพศ
ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของดาวินชีคือ ภาพเขียน “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” (THE LAST SUPPER) เป็นภาพปูนเปียกที่ผนังโบสถ์ ซานตา มาเรีย, นครมิลาน แต่เนื่องจากเทคนิคการเขียนยังไม่สมบูรณ์ พอถึงกลางศตวรรษที่ 16 สีก็หลุดล่อนทำให้ภาพเสียหายอย่างน่าเสียดาย
และภาพนี้เอง ที่แดน บราวน์ ได้อ้างถึงของสำคัญชิ้นหนึ่ง แห่งวงการคริสต์ศาสนา นั่นคือ “จอกศักดิ์สิทธิ์” หรือ “โฮลี่เกรล” ที่เล่าลือกันว่าเป็นถ้วยน้ำที่พระเยซู ทรงใช้ดื่มในพระกระยาหารมื้อสุดท้าย โดยผู้ประพันธ์ ได้ระบุว่าในภาพเขียน “เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์” นี้ไม่ปรากฏว่ามีจอกอยู่เบื้องหน้าของพระเยซูคริสต์ แล้วก็สันนิษฐานว่า แท้ที่จริง “โฮลี่เกรล” ก็คือกุญแจที่จะนำไปไขสู่ความลับทั้งปวงอันจะสร้างความตะลึงงัน และสั่นสะเทือนต่อคริสตจักร
ต่อจากนั้น พระเอกกับนางเอกก็สืบเสาะตามแหล่งต่างๆ ที่อาจเก็บซ่อน “โฮลี่เกรล” ไว้ ซึ่งแห่งหนึ่งนั้นศาสนสถาน ได้แก่ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอ็บบี้ ในกรุงลอนดอน วิหารที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1245 แล้วมาต่อเติมหอคอยคู่สูงตระหง่านในศตวรรษที่ 18 ต่อมาได้ใช้สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษ เป็นสุสานทหารหาญนิรนาม รวมทั้งมี มุมอนุสรณ์ของกวีและนักประพันธ์ที่โด่งดังของอังกฤษหลายคน
ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ได้พยายามเก็บภาพจากสถานที่จริง เพื่อให้ตรงตามคำบรรยายในท้องเรื่อง แม้จะมีอุปสรรคจากนักอนุรักษ์ และทางราชการ ก็นับเป็นโอกาสดีของผู้ชม ที่จะได้เห็นของจริงจะจะยิ่งกว่าจินตนาการจากตัวหนังสือ
และ “โฮลี่เกรล” นั้น แท้จริงคืออะไร แอบซ่อนอยู่ในสถานที่แห่งไหนก็ต้อง ติดตามดูจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้
เครดิตจาก
น.ส.พ.ไทยรัฐ
ความคิดเห็น