ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ราชธรรมนูญ:ฝันจริงของ'ชาวน้ำเงินแท้'

    ลำดับตอนที่ #1 : ความรู้สึกแห่งยุคสมัยที่ราวกับมีคำตอบ

    • อัปเดตล่าสุด 30 พ.ค. 53


     อย่างน้อยสำหรับข้าพเจ้าและอีกหลายท่านที่ฉงนฉงายต่อการหายไปของพลังของความหมายและความทรงจำที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พบว่า เป็นเรื่องประหลาดที่การปฏิวัติครั้งนั้นถูกทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับเรา 

    หลายสิ่งหลายอย่างถูกเกลื่อนกลืน มีการโยกย้ายความหมายและความทรงจำ และมีการให้คำอธิบายว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ รวมทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย สามารถสืบย้อนหลังไปได้ว่าล้วนมีผู้ทำไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองในอดีต

    สำหรับในอาณาจักรของชาว "น้ำเงินแท้" แล้ว ไม่มีอะไรในประเทศนี้ที่ไม่เคยถูกทำมาก่อน หรือเป็นสิ่งใหม่ แม้แต่สิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในประเทศหรืออาจหมายรวมถึงในโลกนี้ คือการสร้างคำอธิบายว่าไทยมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือว่าผู้ปกครองในระบอบเก่ามีพระราชประสงค์จะมอบ "เดโมคราซี" หรือ "คอนสติติวชั่น" ให้มหาชนชาวสยาม จนดูประหนึ่งว่าการวางหลักไมล์ของจุดเริ่มต้นมิอาจเกิดขึ้นจากบุคคลชั้นธรรมดาในประเทศของเรา

    ความฉงนฉงายเหล่านั้น ดลใจให้ข้าพเจ้าศึกษาและค้นคว้ามากขึ้น และพบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงการสร้างคำอธิบายใหม่ที่ถอยลงไปในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมบางอย่างที่สำคัญให้กับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เป็นปรปักษ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ด้วย "การรื้อสร้าง" การปฏิวัติ และพร้อมกันนั้นก็สร้างคำอธิบายใหม่ให้กับระบอบเก่าที่สอดคล้องกับโครงเรื่องในมโนสำนึก

    สำหรับชาว "น้ำเงินแท้" แล้วอาจไม่มีปรากฏการณ์ใดที่จะ "เสียหน้า" และสูญเสียอำนาจ อันนำมาซึ่งความเจ็บช้ำ โหยหาวันก่อนคืนเก่าของพวกเขา ได้เท่ากับการเกิดขึ้นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ความทรงจำที่ปวดร้าวมีผลให้การเล่าถึงการปฏิวัตินั้นว่า เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยก ไม่เป็น "ประชาธิปไตย" ในความหมายของพวกเขา รวมตลอดจนการปฏิบัติของพวกเขาต่อสิ่งก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ เช่น หมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก็ถูกมองในฐานะสิ่งแปลกปลอมและถูกปล่อยปละละเลยปราศจากการสงวนรักษาในฐานะที่เป็นจุดประกาศการก้าวสู่ระบอบใหม่ การพยายามลดทอนความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลงเป็นเพียงกองซีเมนต์ใหญ่ที่กีดขวางถนนหนทาง ตลอดจนการสร้างคำอธิบายว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเพื่อลบล้างพลังของการปฏิวัติ รวมถึงการผลิตซ้ำเรื่องเล่า เรื่องเล่านี้ถูกนำมาเล่าตอกย้ำ ว่ายวน โดยเฉพาะในประเด็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" ของการปฏิวัติครั้งนั้น

    คณะราษฎรบางคนเงียบนิ่งต่อพลังการรื้อสร้างที่ดำเนินไป แต่หลายคนยังคงยืนหยัดโต้การรื้อสร้างเหล่านั้น ท้ายสุดกระบวนการรื้อสร้างนี้ก็กลายเป็นอภิมหาอรรถกถาครอบจักรวาลที่ดูดกลืนทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในอดีต

    หาก "อดีต" เป็นภาชนะที่ห่อหุ้ม "ปัจจุบัน" เอาไว้แล้วไซร้ กระบวนการอธิบายหรือให้ความหมายย้อนหลังก็คือการสร้าง "อดีต" ไว้ใน "ปัจจุบัน" นั่นเอง ปฏิบัติการของเขาเหล่านี้เปรียบประหนึ่งกับการ "รื้อ" ความหมายเก่า และ "สร้าง" ความหมายใหม่ โดยทำให้ความหมายเก่าอ่อนตัวลง หรือทำลายความชอบธรรมของปรากฏการณ์ คำ วัตถุ และความทรงจำ พร้อมๆ ไปกับการประกอบสร้างหรือสวมกลืนความหมายใหม่ที่ต้องการเข้าไปแทนที่

    หากใครสามารถครอบครองความหมายในอดีตได้ฉันใด ผู้นั้นก็มีอำนาจยึดกุมปัจจุบันได้ฉันนั้น

    การศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนใช้หลักฐานจากงานเขียน บันทึกความทรงจำ ชีวประวัติ สารคดีการเมือง นิยายของบรรดาอดีตนักโทษทางการเมือง และกลุ่มพันธมิตรแนวร่วม เช่น นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ที่เขียนเกี่ยวกับกรณีกบฏบวรเดชและการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เพื่อพิจารณาถึงวิธีการเล่าเรื่อง ความรู้สึกนึกคิด ด้วยการเฝ้ามองและชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลกับปฏิบัติการ "รื้อสร้าง" ความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านงานเขียนของเขาเหล่านั้น รวมถึงปฏิบัติการลดทอนพลังความหมาย ตลอดจนการประกอบสร้างความหมายใหม่ที่ยังประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน รวมทั้งผลกระทบของการรื้อสร้างจากงานเขียนของชาว "น้ำเงินแท้" ในอดีตว่ามีผลสืบเนื่องอย่างไรต่อความรู้สึกนึกคิด และระบอบการปกครองของไทยในระยะต่อมาจนปัจจุบัน

    หากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือการรูดม่านระบอบเก่าแล้ว การรัฐประหาร ๒๔๙๐ นั้น ถือได้ว่าเป็น "อรุณรุ่งแห่งแสงเงินแสงทองของวันใหม่" สำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นการบรรจบกันหรือการปรากฏตัวขึ้นใหม่ของอุดมการณ์ในระบอบเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่กบฏบวรเดช ๒๔๗๖ ที่เคยพ่ายแพ้ ถูกกักขัง จองจำ หลบซ่อน จนได้ออกมาเผยตัวอย่างแจ้งชัดในเวลาต่อมา

    ปฏิบัติการรื้อถอนความชอบธรรมของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พร้อมๆ ไปกับการเชิดชูและสร้างความหมายใหม่ให้กับระบอบเก่าของกลุ่มคนเหล่านี้นำไปสู่การเข้าร่วมการรัฐประหารโค่นล้มคณะราษฎรเพื่อสานฝันของชาวคณะ "น้ำเงินแท้" ให้เป็นจริง การรัฐประหาร ๒๔๙๐ จึงเป็นจุดหมุนพลิกที่สำคัญในประเด็นอำนาจและอุดมการณ์
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×