ลำดับตอนที่ #3
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : วังวรดิศ
ด้วยเพียงก้าวแรกที่ผ่านเข้าประตูวังมายังสถานที่สำคัญของชาติแห่งนี้ ก็ได้พบกับอาคารหลังใหญ่สูงตระหง่านงามสง่าท่ามกลางความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ที่ปลูกอยู่รายรอบพื้นที่กว่าสิบไร่ ผสานกับความเงียบสงบซึ่งแตกต่างจากโลกภายนอกใจกลางกรุงเทพมหานครเสียโดยสิ้นเชิง ณ วังวรดิศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วังซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์บุคคลสำคัญของชาติและของโลกซึ่งพระองค์ท่านทรงได้รับการถวายสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี และ พระบิดาของกระทรวงมหาดไทย" ด้วยพระปรีชาสามารถและผลงานที่ทรงไว้บังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติในหลากหลายด้านเป็นอเนกอนันต์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา การทหาร การปกครอง การต่างประเทศ การสาธารณสุข ฯลฯ จนกระทั่งได้รับการขนานพระนามว่าทรงเป็น "เพชรประดับพระมหามงกุฎ" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช กับอีกเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ได้ถวายสดุดีให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็น"บุคคลสำคัญของโลก" อีกทั้งยูเนสโกยังได้ยกย่องวังวรดิศถึงการเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ถึงความเป็น "แบบอย่างของคนดี" แก่สังคมของ คนในชาติ ซึ่งพระองค์ทรงมีอัตลักษณ์ประการนี้อยู่อย่างครบถ้วน เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญูกตเวทิตา ความสัตย์ซื่อสุจริต และความนอบน้อมถ่อมตน อันล้วนเป็นเอกลักษณ์อันดีงามที่สืบสานการดำรงอยู่ของชนชาติไทยมาช้านาน และใคร่ขอรำลึกถึงคุณความดีของ พลตรี ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล อดีตเสรีไทย และอดีตเอกอัครราชทูตฯ หลานชายใหญ่ของสมเด็จฯ บิดาผู้ล่วงลับและเป็นที่รักยิ่งของประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบัน (ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล) พลตรี ม.ร.ว. สังขดิศฯ ได้สามารถดำรงรักษาวังวรดิศมาด้วยน้ำพักน้ำแรง จนกระทั่งปรากฏเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของประเทศชาติและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในทุกวันนี้ได้ "ที่ดินตำหนักใหญ่วังวรดิศเดิมเป็นของท่านเจ้าจอมมารดาชุ่ม เจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่รอบ ๆ วังเพิ่มขึ้นอีกเป็นรางวัลในการที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง สำหรับค่าก่อสร้างตัวตำหนักนั้นสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระราชทาน สถาปนิกเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบพระราชวังบ้านปืนจังหวัดเพชรบุรี และ วังบางขุนพรหม คือ นาย KARL DOHRING ชาวเยอรมัน วังได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2454 อันนับเป็นวังเจ้านายไทยพระองค์สำคัญที่ดำรงสถิตสถาพรมาถึงห้าแผ่นดินแล้ว ความภาคภูมิใจของประชาชนผู้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมวังวรดิศ ซึ่งปัจจุบันเปิดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลโดยทายาทผู้สืบตระกูล คือความรู้สึกรักหวงแหนในมรดกของชาติยิ่งขึ้นอีก และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตราบจนทุกวันนี้ | |
ตำหนักใหญ่วังวรดิศมีสองชั้น จากห้องโถงทางเข้าชั้นล่างเป็นห้องรับแขกตกแต่งแบบจีนซึ่งแยกเป็นสัดส่วนกับห้องเสวย ห้องจีนนี้ทรงจัดไว้เพื่อการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมเปรียบเทียบ สายสัมพันธ์ไทยและจีน ที่จะไม่มีความแตกแยกในสยามประเทศ ชุดรับแขกจีนนี้พระองค์ทรงได้รับพระราชทานมาจากพระพุทธเจ้าหลวง ซี่งมีความงดงามมาก สำหรับห้องเสวยจะไม่ค่อยได้ใช้ในยามปกติ สมเด็จฯ เคยทรงใช้เป็นที่ถวายการรับรองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนวังวรดิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล ตลอดจนพระราชอาคันตุกะ ต่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งทรงใช้เป็นที่ฝึกฝนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงในการศึกษาประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกก่อนจากบ้านเมืองไป โดยทรงเป็นครูฝึกสอนเองเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่โดยปราศจากความยากลำบาก จากห้องเสวยเป็นห้อง STUDY หรือห้องศึกษาวิทยาการแตกฉาน ซึ่งมีการจัดแต่งภายในเสมือนบ้านโบราณในยุโรป ทรงประทานความหมายว่า "ตราบใดบุคคลมีลมหายใจ ต้องหมั่นขวนขวายศึกษากันไม่รู้จบ" ส่วนระเบียงหลังตำหนักซึ่งสมเด็จฯ โปรดใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์แบบไทย คือ ประทับกับพื้น เช่น เป็นที่เสวยกระยาหารกับพระโอรสพระธิดา รับสั่งสนทนาหรือประทานเล่าเรื่องราวความรู้นานาเป็นวิทยาทานแก่ผู้มาเฝ้า เช่น เรื่องการเสด็จประพาสต้นที่สมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี ฯลฯ เรื่องสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย เรื่องพระโอวาทที่เมืองปัตตานี เรื่องเอกลักษณ์ของคนไทยว่าด้วยความนอบน้อมถ่อมตนที่จะยิ่งทำให้ตนเองสูงขึ้นในสายตาผู้อื่น นอกจากคนโง่เขล่าที่ดูไม่ออก เป็นต้น ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นห้องโถงบันไดเวียนชึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนของตัวตำหนักใหญ่ | |
ขึ้นสู่ชั้นบน จะแลเห็นห้องเกียรติสถิต (HALL OF FAME) ประดับรูปภาพ ของบุคคลในราชสกุลดิศกุลที่ประกอบคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติ อาทิ ม.จ. จงจิตรถนอม ดิศกุล ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ม.จ. มารยาตรกัญญา ดิศกุล พลเรือเอก ม.จ. กาฬวรรณดิศ ดิศกุล พลโท ม.จ. พิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล เป็นต้น ณ ห้องทรงพระอักษร ได้อ่านบทพระนิพนธ์อันสุดแสนไพเราะของสมเด็จฯ ที่ว่า "ยามเยาว์เห็นโลกล้วนแสนสนุก เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุขค่ำเช้า กลางคนเริ่มเห็นทุกข์ สุขคู่ กันนอ ตกแก่จึงรู้เค้าว่าล้วนอนิจจัง | |
และยังได้เรียนรู้ตามพระโอวาทของสมเด็จฯ อีกด้วยว่า "จะพัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรืองได้ต้องเริ่มจากให้คนไทยรักชาติเป็นเสียก่อน มีความจริงใจให้กัน อีกทั้งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถ้าไม่รู้ว่าตนเองเป็นใครแล้ว จะรักชาติเป็น อย่างไรกัน" และ "ข้าราชการมิใช่อภิสิทธิ์ชน หากแต่จะต้องบำเพ็ญตนให้เป็นแบบอย่างของคนดีแก่สังคม" เดินถัดจากนั้นมาเป็นห้องแต่งพระองค์ มีชุดนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ของพระองค์ท่านและทายาทหลายชั่วคน สัมพันธ์ถึงความหมายของนักปกครองและนักการทหารอาชีพที่จะต้องเป็นหลักแห่งความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมือง และห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวัง คือ ห้องพระบรมอัฐิ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 | |
"ในอดีต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสิ่งศักดิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวัน ๆ รับสั่งให้ดำรงรักษาไว้ให้จงได้ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งผู้ที่เคยเคารพบูชา มักได้รับผลตอบแทน คือ ความสุขความเจริญเหมือนกัน ซึ่งภายหลังจากที่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้อัญเชิญพระอัฐิของพระองค์ท่านมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วย" ปัจจุบันวังวรดิศยังมีหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวัง ซึ่งเป็นที่รวบรวมสรรพตำราและพระนิพนธ์อันล้ำค่ามากมายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และทายาท ไว้ได้โดยครบถ้วนอีกด้วย เมื่อได้มาเยี่ยมชมวังวรดิศแล้ว เสมือนได้มีโอกาสเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกครั้งหนึ่งดุจกับพระองค์ท่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่กับเรา และมิได้เสด็จจากไปไหน มีความซาบซึ้งใจสุดพรรณนาและเข้าใจได้อย่างถ่องแท้แล้วว่า ทรงเป็นเจ้านายที่มีความรักหวงแหนชาติและประชาชน และทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งตลอดพระชนม์ชีพ สมควรที่เราคนไทยทุกคนจักได้ศึกษาในพระจริยวัตรไว้เป็นแบบอย่างในการธำรงรักษาประเทศชาติ และรำลึกถึงพระองค์ท่านตลอดไป |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น