ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Cartoon Inside

    ลำดับตอนที่ #6 : CARTOON INSIDE : GURU TALKS (2) / การ์ตูนไม่ใช่ของเด็ก

    • อัปเดตล่าสุด 10 ก.ย. 49



    GURU TALKS (2) : การ์ตูนไม่ใช่ของเด็ก


    สำหรับบทความวิจารณ์การ์ตูนใน GURU TALKS ครั้งนี้เป็นผลงานของ
    นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์การ์ตูนที่ผมชื่นชมเป็นอย่างมาก
    ทั้งนี้เพราะนอกจากผู้อ่านจะได้เห็นมุมมองทางจิตวิทยาที่คุณหมอนำมาใช้วิจารณ์ตัวละครแล้ว
    ยังได้ข้อคิด และข้อเตือนใจดีๆในการอ่านการ์ตูนอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจงานวิจารณ์การ์ตูน
    เรื่องอื่นๆของคุณหมอ สามารถตามไปอ่านกันได้ที่เว็บของหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ หรือ
    จะคลิกไปดูจากลิงค์ที่ผมให้ไว้ในตอนท้ายของบทความก็ได้ครับผม และขอย้ำอีกครั้งสำหรับ
    การเผยแพร่บทความทุกบทความใน GURU TALKS  ว่า ผมเพียงแค่อยากเผยแพร่ข้อมูลความรู้
    ด้านการ์ตูนเท่านั้น มิได้เจตนาละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนของผู้ใด ฉะนั้นหากมีผู้สนใจจะนำข้อเขียน
    เหล่านี้ไปใช้อ้างอิงในงานวิชาการ กรุณาเขียนอ้างอิงจากเว็บต้นฉบับ(มติชน)ดังที่ให้ไว้ด้วยครับผม




    การ์ตูนที่รัก

    นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

    การ์ตูนไม่ใช่ของเด็ก

    การ์ตูนส่วนใหญ่เป็นของเด็ก เด็กส่วนใหญ่ก็ชอบดูการ์ตูนมากกว่าที่จะดูหนัง เหตุผลคือไวยากรณ์ของการ์ตูนสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของเด็กที่เรียกว่า phenomenalistic causality และ egocentricism

    phenomenalistic causality หมายถึงเด็กจะคิดว่าเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เด็กจึงเรียงลำดับเหตุการณ์ในช่องการ์ตูนได้โดยง่าย

    egocentricism หมายถึงเด็กจะคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เด็กจึงสวมรอยและเลียนแบบตัวเอกในการ์ตูนได้โดยง่าย จากนั้นจึงผจญภัยไปในการ์ตูนโดยมีตนเองเป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมด

    เด็กดูหนังการ์ตูนด้วยกลไกเดียวกันกับการ์ตูนช่อง เพราะฉะนั้น สำหรับเด็กแล้ว ภาพเคลื่อนไหวที่ประดักประเดิดจึงมิใช่ปัญหา เด็กสามารถเชื่อมต่อภาพที่ขาดหายได้ด้วยความสามารถเฉพาะของเด็ก เนื้อหาของการ์ตูนจึงสำคัญกว่าเทคโนโลยีที่ใช้

    ปัจจุบัน การ์ตูนบางเรื่องมิใช่เรื่องของเด็ก หนังการ์ตูนไทยเกือบทั้งหมดเป็นของเด็ก หนังการ์ตูนฝรั่งบางเรื่องมิใช่ การ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องยิ่งมิใช่ การพิจารณาว่าอย่างไรจึงเป็นของเด็กมักจะดูที่เนื้อหา น่ารักน่าชังก็เป็นของเด็ก เซ็กซ์และความตายจึงเป็นของผู้ใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว ไวยากรณ์ของการ์ตูนผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนไปด้วย

    วันนี้การ์ตูนที่รักจะแนะนำการ์ตูนสั้น 2 เรื่องที่ใช้ไวยากรณ์ต่างจากขนบปกติ ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นการ์ตูนผู้ใหญ่ เรื่องแรกชื่อ T.R.A.N.S.I.T. เป็นผลงานเขียนและกำกับของ Piet Kroon ซึ่งชนะการประกวดในเทศกาลการ์ตูนของฮอลแลนด์ปี 1993 เป็นหนึ่งในหนังสั้นคุณภาพที่รวบรวมไว้ใน DVD Magazine SHORT 4 : Seduction จะดูการ์ตูนประกอบดนตรีความยาว 12 นาทีเรื่องนี้ให้สนุกต้องใช้ความสามารถ phenomenalistic causality แบบถอยหลัง ตัวหนังใช้นักวาด 7 คนเล่าเรื่องราว 7 ตอนด้วยลายเส้น 7 แบบย้อนจากหลังไปหน้า

    เปิดฉากแรกบนเรือเดินสมุทร ขณะที่บรรดาผู้ดีกำลังดื่ม กิน และพักผ่อนอย่างสุขสำราญบนดาดฟ้าเรือ พลันปรากฏชายหนุ่มคนหนึ่งมีผ้าพันแผลรอบศีรษะและคล้องแขนซ้ายที่บาดเจ็บ เขาใช้มือขวาถือกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่เดินตัดดาดฟ้าไปที่กราบเรือ เขาโยนกระเป๋าใบนั้นทิ้งลงน้ำไป

    กล้องจับภาพกระเป๋าที่ลอยไปมาตามกระแสคลื่น มีสติ๊กเกอร์หลากสีสันหลายแผ่นติดรอบกระเป๋า บ่งบอกถึงการเดินทางไกลของเจ้าของกระเป๋า

    กล้องเคลื่อนเข้าไปใกล้สติ๊กเกอร์แผ่นหนึ่ง "รถด่วนสายเวนิซ" จากนั้นเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถด่วนระหว่างทางจากเวนิซไปมิลาน หญิงสาวคนหนึ่งโยนปืนออกนอกหน้าต่าง ชายหนุ่มซึ่งมีผ้าพันแผลรอบศีรษะเปื้อนเลือดดักรอหล่อนที่สถานีปารีส เขาขึ้นรถไฟและโปะยาสลบหล่อน ข้างกายหล่อนเป็นกระเป๋าใบนั้น

    กล้องจับภาพสติ๊กเกอร์อีกแผ่นหนึ่ง "โรงแรมแกรนด์เวเนเซีย" หญิงสาวคนเดิมเปลือยกายนั่งชันเข่าสูบบุหรี่อยู่บนเตียงนอน ข้างๆ หล่อนเป็นชายหนุ่มคนนั้นนอนเปลือยเปล่าสภาพห้องยับเยินพอๆ กับใบหน้าของหล่อน ริมฝีปากเจ่อ ขอบตาซ้ายเขียวคล้ำ หล่อนลุกเดินไปหยิบปืนมายิงใส่ชายหนุ่มสองนัด แล้วหิ้วกระเป๋าหนีออกจากโรงแรม

    กล้องจับภาพสติ๊กเกอร์ "โรงแรมไคโร" หญิงสาวท่องเที่ยวในทะเลทรายกับสามีมหาเศรษฐีสูงอายุ ชายหนุ่มคนเดิมซึ่งแฝงกายมาในคราบของมัคคุเทศก์ใช้มีดแทงมหาเศรษฐีถึงตาย หญิงสาวทอดกายลงร่ำไห้ข้างกระเป๋าใบนั้นซึ่งตกอยู่บนพื้นทราย

    กล้องจับภาพที่สติ๊กเกอร์ "โรงแรมเดอลาแมร์" ชายหนุ่มหญิงสาวมาเที่ยวกันสองต่อสองที่ชายฝั่งแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส กระเป๋าเดินทางวางอยู่หลังรถ

    กล้องจับภาพที่สติ๊กเกอร์ "โรงแรมบาเดนบาเดน" หญิงสาวชายหนุ่มในร่างเปลือยเปล่ากำลังเริงรักในห้องพักขณะที่สามีของหล่อนกำลังนอนหลับที่ห้องพักของตน กระเป๋าใบนั้นวางอยู่ในห้อง

    กล้องจับภาพที่สติ๊กเกอร์ "โรงแรมอัมสเตอร์ดัม" หญิงสาวและสามีมหาเศรษฐีขับรถเที่ยวในชนบทของฮอลแลนด์ บังเอิญกระเป๋าพลัดตกจากรถ สามีจอดรถ หญิงสาววิ่งกลับมาเก็บกระเป๋าและได้พบกับชายหนุ่มเป็นครั้งแรก เขาเป็นคนขายเนื้อที่เมียกำลังท้องแก่และมีลูกสาวที่โตแล้ว จากนั้นจึงเป็นตัวหนังสือปิดเรื่องความว่า

    "เอ็มมี่ บักกิ้งแฮม ปาร์กเกอร์หายสาบสูญไปเมื่อปี 1928 มีรายงานว่าพบเธอที่บอมเบย์ปี1929 และที่ไนโรบีปี 1934 ครอบครัวของเธอประกาศการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในปี 1973   ออสการ์ บลี๊ก เริ่มชีวิตใหม่ที่อาร์เจนตินาและตายในปี 1959"

    เรื่องที่สองชื่อ Billy"s Balloon เป็นผลงานของ Don Hertzfeldt ซึ่งชนะการประกวดจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 1999 เป็นหนึ่งในหนังสั้นคุณภาพที่รวบรวมไว้ใน DVD Magazine SHORT 6 : Insanity เรื่องนี้ใช้ลายเส้นก้านไม้ขีด ไม่มีดนตรีประกอบ ไม่มีบทพูด มีแต่เสียงประกอบเหตุการณ์หฤโหด ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กที่นิยม egocentricism แต่เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับเด็กที่สร้างให้ผู้ใหญ่ดูในตำแหน่ง observer คือผู้สังเกตการณ์

    เปิดฉากเป็นเด็กชายตัวน้อยมีผมห้าเส้นคนหนึ่ง คงจะชื่อบิลลี่ บิลลี่นั่งบนสนามหญ้าแห่งหนึ่ง

    เงียบ

    มือขวาถือลูกโป่งสีแดง มือซ้ายเขย่าของเล่นดังกรุ๊งกริ๊ง

    กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง

    ทันใดนั้นลูกโป่งก็ทุบหัวเขาหนึ่งที ปึ้ก !

    บิลลี่นั่งงง ตาโต ปากหวอ

    ปึ้กๆๆๆๆๆๆๆๆ ! เป็นลูกโป่งทุบๆๆๆๆๆๆๆๆ

    ป้อก ! มันต่อยเขาล้มลง

    ปึ้กๆๆๆๆๆๆๆๆ ! มันทุบซ้ำ

    บิลลี่คลานหนีแต่มันก็ยังไล่ทุบ เขานอนหงายมันทุบลงไปบนใบหน้าอีกหลายปึ้ก ขาลุกขึ้นยืนมันก็ทุบไม่หยุด ถึงตอนนี้เขาวิ่งหนีหายไปทางกรอบซ้าย วิ่งหนีกลับมาแล้วหายไปทางกรอบขวา เจ้าลูกโป่งยังไล่ตามอย่างไม่ลดละ

    บิลลี่วิ่งกลับมาทางซ้าย ลูกโป่งไล่มาทันแล้วทุบเข้าด้านหลังจนเขาล้มคะมำ จากนั้นมันเอาสายเชือกรัดคอเขาไว้แล้วดึงไปทางซ้ายสามที ดึงไปทางขวาสามที ดึงกลับไปทางซ้ายอีกสามที เด็กน้อยตาเหลือก

    ถึงตอนนี้มีผู้ใหญ่เดินผ่านมา มันหยุดดึงแล้วคลายเชือกออกจากลำคอ พอผู้ใหญ่เดินผ่านไป มันก็เอาสายเชือกมัดข้อมือเด็กน้อยเอาไว้ แล้วลูกโป่งก็ลอยขึ้นท้องฟ้า เด็กน้อยยิ้มร่าเพราะบินได้ ลูกโป่งพาเขาลอยขึ้นจนพ้นกรอบบนของจอภาพ ลอยผ่านขึ้นไปรวมทั้งหมดห้าจอภาพถึงบริเวณหมู่เมฆ เด็กน้อยไม่ยิ้มแล้วเพราะสูงเกินไป

    เงียบ

    มันปล่อยเชือก

    เงียบ

    ตุ้บ !

    มันลอยลงไปมัดขาบิลลี่ลอยขึ้นไปอีก แล้วปล่อย ตุ้บ !

    มันลอยลงไปมัดคอบิลลี่ลอยขึ้นไปอีก แล้วปล่อย ตุ้บ !

    มันทำแบบนี้รวมทั้งสิ้นห้าครั้ง ในครั้งที่หก ขณะที่ถูกมัดขาห้อยหัวอยู่บนฟ้า บิลลี่มองเห็นเด็กอีกคนหนึ่งถูกลูกโป่งสีเขียวมัดมือลอยขึ้นไปเช่นกัน ทันใดนั้น เครื่องบินลำใหญ่บินผ่านมาและชนเด็กอีกคนนั้นหายไป

    ส่วนเจ้าลูกโป่งสีแดงก็ปล่อยบิลลี่ตกลงมาเป็นครั้งที่หก ตุ้บ !

    ภาพตัดมาที่เด็กหญิงคนหนึ่ง เธอกำลังถูกลูกโป่งแปดเก้าใบหลากสีสันรุมฟาด ปึ้กๆๆๆๆๆๆๆ ภาพถอยออกมาในระยะไกลมากขึ้น มีเด็กอีกสองสามคนกำลังถูกลูกโป่งทำร้าย บางคนถูกตี บางคนถูกรัดคอ บางคนถูกรัดขาลากไปตามพื้น เสียงดังครืดๆๆๆๆ

    ภาพถอยออกมาในระยะไกลมากขึ้นอีก มีลูกโป่งจำนวนมากกำลังไล่ตีไล่ทุบเด็กจำนวนมาก เสียงปึ้กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ดังระงม

    จะเห็นว่าต่อให้เด็กได้ดูก็เอาตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ลง

    ที่มา

    บทความนี้ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1262 หน้า 90

    สืบค้นจาก

    http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?page=1&srctxt=การ์ตูนที่รัก&selday=&allpage=4&search=no&srctag=&srcday=

    che ery

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×