ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Cartoon Inside

    ลำดับตอนที่ #10 : CARTOON INSIDE : GURU TALKS (6) / Final Fantasy

    • อัปเดตล่าสุด 11 ก.ย. 49




    GURU TALKS (5) :

    Final Fantasy, the Spirits Within


    สำหรับบทความวิจารณ์การ์ตูนใน GURU TALKS ครั้งนี้เป็นผลงานของ
    นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์การ์ตูนที่ผมชื่นชมเป็นอย่างมาก
    ทั้งนี้เพราะนอกจากผู้อ่านจะได้เห็นมุมมองทางจิตวิทยาที่คุณหมอนำมาใช้วิจารณ์ตัวละครแล้ว
    ยังได้ข้อคิด และข้อเตือนใจดีๆในการอ่านการ์ตูนอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจงานวิจารณ์การ์ตูน
    เรื่องอื่นๆของคุณหมอ สามารถตามไปอ่านกันได้ที่เว็บของหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ หรือ
    จะคลิกไปดูจากลิงค์ที่ผมให้ไว้ในตอนท้ายของบทความก็ได้ครับผม และขอย้ำอีกครั้งสำหรับ
    การเผยแพร่บทความทุกบทความใน GURU TALKS  ว่า ผมเพียงแค่อยากเผยแพร่ข้อมูลความรู้
    ด้านการ์ตูนเท่านั้น มิได้เจตนาละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนของผู้ใด ฉะนั้นหากมีผู้สนใจจะนำข้อเขียน
    เหล่านี้ไปใช้อ้างอิงในงานวิชาการ กรุณาเขียนอ้างอิงจากเว็บต้นฉบับ(มติชน)ดังที่ให้ไว้ด้วยครับผม


    การ์ตูนที่รัก

    นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

    Final Fantasy, the Spirits Within


    การ์ตูน (หรือหนัง?) เรื่องไฟแนลแฟนตาซี ผลงานของผู้กำกับฯ ฮิโรโนบุ ซากากูชิ เป็นงานสร้างจากคอมพิวเตอร์กราฟิกทั้งหมด นำแสดงโดย อากิ รอสส์ เอ๋ ไม่ใช่ นั่นเป็นชื่อของหล่อนในหนัง เอาใหม่ นำแสดงโดย...

    นั่นน่ะสิ นำแสดงโดยใคร?

    เรื่องย่อมีว่าฝนดาวตกได้นำเอเลี่ยนฝูงใหม่มายังโลกมนุษย์ พวกมันทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์แทบสิ้นซาก ส่วนที่เหลืออยู่ต้องอาศัยในโดมท่ามกลางภูมิประเทศแสนแร้นแค้น ดร.ซิด (เสียงพากย์โดย โดนัล ซูตเทอร์แลนด์ รู้อยู่แล้วจึงรู้สึกว่าหมอนี่มีชีวิตขึ้นมาหน่อย) และ ดร.อากิ รอสส์ (จ๋วย ซึมเศร้าสวยซึ้งตลอดกาลแบบนางเอกมิวสิควิดีโอบ้านเรา) คือความหวังสุดท้ายของมนุษยชาติ

    ดร.ซิดเชื่อว่าโลกมีชีวิต โลกจึงมีวิญญาณของตนเอง ดร.อากิ รอสส์ คือเจ้าของหนึ่งในแปดของจิตวิญญาณนั้น ทั้งสองร่วมมือกันตามหาจิตวิญญาณที่เหลือเพื่อรวมพลังต่อสู้กับฝูงเอเลี่ยนเลือนลางมองไม่ชัด ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตลอดเรื่อง

    เหตุที่มันมองไม่ชัดเพราะพวกมันมิใช่เอเลี่ยนธรรมดา แต่พวกมันเป็นผีเอเลี่ยน (เอาเข้าไป) นัยว่าดาวของพวกมันถูกทำลายย่อยยับ วิญญาณพวกมันตายเหลือก (คือตายตาไม่หลับ) จึงอาศัยฝนดาวตกมายังโลก สงสัยจะมาหาทางไถ่บาป แต่ไม่เจอวิญญาณที่จะทำหน้าที่ไถ่บาปให้ ก็อาละวาดฆ่าคนตายเกือบหมดโลกไปเลย คล้ายๆ นางนากกวาดซะเกลี้ยงพระโขนงนั่นแหละ

    เหตุที่กองทัพผีเอเลี่ยนหาผู้ไถ่บาปไม่เจอคงเป็นเพราะมนุษยชาติไม่เชื่อเรื่องโลกคือสิ่งมีชีวิตอีกแล้ว เมื่อโลกไม่ใช่ชีวิต โลกก็ไม่มีวิญญาณ สงครามระหว่างมนุษยชาติที่หลงใหลไฮเทคกับผีเอเลี่ยนที่ตามหาจิตวิญญาณบริสุทธิ์จึงระเบิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพูดกันคนละภาษานั่นเอง คนหนึ่งไฮเทค อีกตนหนอยกลายเป็นผี ตรงนี้มันนะครับ อย่าว่าแต่มนุษยชาติในหนังจะไม่เชื่อเรื่องจิตวิญญาณเลย คนสร้างหนังยังไม่เชื่อเลยถึงได้ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกล้วนๆ สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา! เคยมีคนบอกว่าถ้าหนังเรื่องนี้สร้างด้วยคนจริงเสียงจริง รับรองมัน ผมอ่านผ่านไปทีแรกก็สงสัยว่าทำไม ตอนนี้รู้แล้ว เพราะแม้แต่เทคนิคสร้างหนังยังไม่ไปกับความเชื่อหลักของเรื่องเลย นั่นคือโลกเป็นสิ่งมีชีวิต

    ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกขั้นสุดยอด ผู้สร้างไม่สามารถทำให้คนดูเชื่อได้ว่าคนที่เห็นเป็นสิ่งมีชีวิต แม้ว่าผู้กำกับฯ จะให้สัมภาษณ์ว่างานยากคือ facial expression การแสดงออกทางสีหน้า แต่เขาก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ดร.อากิ รอสส์ ร้องไห้ไม่เป็นในฉากที่ควรร้องไห้ หล่อนทำได้เพียงสวยซึ้งเศร้าซึมตลอดเรื่อง ผมเห็นสัญญาณของชีวิตจากหนังเรื่องนี้เพียงสองครั้ง ครั้งแรกที่แผงหนังสือเมื่อชายหนุ่มสองคนชี้ชวนกันดู ดร.อากิ รอสส์ ในชุดบิกินี่ขึ้นหน้าปก ESQUIRE ดูเหมือนพวกเขาจะดูสะดือเป็นพิเศษ ถึงแม้จะรู้มาก่อนว่าหล่อนเป็นเพียงนางเอกในความจริงเสมือน

    แต่อีกครั้งหนึ่งน่าสนใจ บ่อยครั้งที่ ดร.อากิ รอสส์ จะใช้มือกุมที่หัวใจ แม้ว่าที่ตรงนั้นคือบริเวณที่แฟนธอมถูกจำกัดบริเวณไว้ตามท้องเรื่อง แต่กิริยาที่ว่าเกิดขึ้นหลายครั้งจนผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าผู้สร้างพยายามที่จะเตือนคนดูว่ากรุณาดูหนังเรื่องนี้ด้วยใจ

    ผมก็ดูหนังเรื่องนี้ด้วยใจจริงๆ นาครับ เอาใจช่วยสุดตัว คาดหวังสูงมาก สนุกและมันตามสมควร มิหนำซ้ำยังเอามาเขียนให้มีสาระอีกต่างหาก ถ้ายังทันไปดูเถอะ หากถามว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร ผมคงตอบได้ว่าเกี่ยวกับมนุษยชาติสู้กับผีอวกาศ สีแดงสู้กับสีฟ้า และโลกคือสิ่งมีชีวิต

    ผมเคยเขียนเกี่ยวกับโลกคือสิ่งมีชีวิตไปแล้วในเรื่อง Evangelion มหาสงครามวันพิพากษา เรื่องมนุษยชาติเขียนไปในเรื่อง มนุษย์พันธุ์ใหม่ รอลงในไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ อันที่จริงเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกทางสีหน้าในเรื่อง Geri"s Game และเขียนเรื่อง Final Fantasy ในฐานะที่เป็นเกมซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อนด้วย ครั้งนี้ขออธิบายแนวคิดเกี่ยวกับมนุษยชาติและโลกคือสิ่งมีชีวิตอีกครั้ง

    โลกทั้งใบคือสิ่งมีชีวิต การหมุนเวียนของน้ำไม่ต่างจากโลหิตในสัตว์ เปลือกโลกและชั้นบรรยากาศทำงานประสานกันกับการหมุนเวียนของน้ำกลายเป็นระบบที่ปรับตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม (กรุณาอ่านรายละเอียดใน Evangelion อีกครั้ง) โลกดูแลตนเองได้เป็นอย่างดีนับตั้งแต่กำเนิดสุริยจักรวาลเป็นต้นมา มนุษย์ในอดีตก็เชื่อเช่นนี้ โลกเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นความเชื่อตามสมมติฐานที่เรียกว่า Gaia Hypothesis ซึ่งจะถูกอ้างอิงถึงบ่อยครั้งในหนัง ความคิดเช่นนี้ถูกลดค่าลงเมื่อมนุษยชาติก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและแยกส่วนทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งตนเองและโลก



    เมื่อมีชีวิต ย่อมต้องมีวิญญาณ วิญญาณย่อมต้องอยู่ภายในตามชื่อเรื่อง แต่ด้วยความที่หนังคอมพิวเตอร์กราฟิกเรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคที่โลกไม่มีชีวิตอีกต่อไปแล้ว มิหนำซ้ำกระบวนการสร้างหนังก็ไร้ชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะเห็นวิญญาณสีฟ้าซ่อนอยู่ใต้โลกแบบ จะจะ รอเวลาที่จะผุดขึ้นมาปะทะกับผีอวกาศสีแดงแบบ ชัดชัด จนได้

    เมื่อพูดถึง Gaia Hypothesis ต้องให้เครดิตกับ James Lovelock นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่พูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนกว่าเพื่อน ความรู้เกี่ยวกับโลกเช่นนี้มักทำให้ผู้คนสบายใจหายห่วงว่าโลกมีบางสิ่งที่คอยดูแลมนุษยชาติเสมอ

    แต่นั่นกลับเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว โลกในฐานะสิ่งมีชีวิตมิได้ดูแลพวกเรา โลกทำหน้าที่ดูแลตนเอง และถ้าจำเป็นโลกก็อาจจะต้องกำจัดมนุษยชาติทิ้งเพื่อให้ตนเองอยู่รอดต่อไป!

    ดังนั้น หนังไฟแนลแฟนตาซีอาจจะไม่ใช่หนังสงครามระหว่างมนุษยชาติและผีอวกาศเสียแล้ว เมื่อหนังอ้างอิง Gaia Hypothesis ตลอดเรื่อง จึงเป็นไปได้ว่ามนุษยชาติไม่ได้ทำสงครามกับผีอวกาศเท่านั้น แต่มนุษยชาติยังต้องป้องกันตนเองมิให้ถูกโลกกำจัดทิ้งอีกต่างหาก

    โลกในจักรวาลของไฟแนลแฟนตาซีแสนบอบช้ำ จิตวิญญาณเพียงหนึ่งดวงก็ยังหาได้แสนยากเข็ญ มนุษยชาติจำเป็นต้องหาจิตวิญญาณทั้งแปดมิใช่เพียงเพื่อใช้ต่อกรกับกองทัพแฟนธอมผีอวกาศ แต่พวกเขาจำต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าควรแก่การมีชีวิตต่อไปบนโลก การต่อสู้ระหว่างสีแดงและสีฟ้าในตอนจบจึงอาจจะไม่ใช่การต่อสู้ที่ยุติธรรมเท่าใดนัก เพราะเบื้องหลังการต่อสู้นั้นโลกคือผู้ตัดสินว่าจะเลือกใครเป็นผู้ชนะ

    ดร.อากิ รอสส์ จึงมิใช่หนึ่งในคู่ต่อสู้ หล่อนเพียงทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการนำพาให้แฟนธอมได้พบกับจิตวิญญาณแห่งโลก พร้อมๆ กับการที่หล่อนได้เก็บสะสมจิตวิญญาณทั้งแปดมารวมกันไว้ให้โลกตัดสินใจเลือก ด้วยบริบทของท้องเรื่องบวกกับเทคนิคการสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ทำให้ ดร.อากิ รอสส์ และพลพรรคเป็นอะไรที่ไม่เหมือนมนุษย์อย่างมาก

    ในบางขณะผมกลับคิดว่ากำลังดูแอนดรอยด์ทำงานสะสมจิตวิญญาณเพื่อรอให้โลกตัดสินใจว่าจะเลือกใครระหว่างจิตวิญญาณที่เคยอาศัยอยู่กับโลกหรือจิตวิญญาณของแฟนธอมผีอวกาศ

    ดร.ไอแซ็ก อาสิมอฟ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้อธิบายความรู้เกี่ยวกับ Gaia Hypothesis ไว้อย่างเป็นระบบในหนังสือ Our Angry Earth ปี 1991 นอกจากนี้ ยังได้อธิบายความหมายและความสำคัญของมนุษยชาติไว้อย่างแยบคายในนิยายวิทยาศาสตร์ชุดนักสืบอีไลจาห์เรื่อยมาจนถึงชุดสถาบันสถาปนารวม 10 เล่ม กินเวลาตั้งแต่ปี 1951 ถึง 1988

    อาสิมอฟเขียน Foundation (สถาบันสถาปนา) ในปี 1951 พูดถึงวิชาอนาคตประวัติศาสตร์ที่ซึ่งคณิตศาสตร์และจิตวิทยาสามารถทำนายอนาคตของมนุษยชาติได้หากกลุ่มตัวอย่างซึ่งก็คือประชากรทั้งหมดของสากลจักรวาลมีจำนวนมากพอ เขาเขียน Foundation and Empire (สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ) ในปีถัดมา ย้ำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เราจะทำนายอนาคตของมนุษยชาติด้วยวิชาจิตวิทยา แต่มิสามารถทำนายอนาคตของปัจเจกได้ดังการปรากฏตัวของ มโนมัย ผู้พิชิตสถาบันสถาปนา

    เขาเขียน Second Foundation (สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง) ในปีถัดมาอีก แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นการขับเคี่ยวระหว่างสถาบันสถาปนาทั้งสองแห่ง แต่ใจความเหมือนจะบอกว่ามีแต่มนุษยชาติเท่านั้นที่สำคัญที่สุด คนจากสถาบันสถาปนาทั้งสองจ้องโค่นล้มอีกฝ่ายเพื่อความอยู่รอดของจักรวรรดิสากลจักรวาล

    อาสิมอฟเขียน The Caves of Steel (โลหะนคร) อันเป็นตอนแรกของชุดนักสืบอีไลจาห์ และหุ่นยนต์ดานีล โอลิวอว์ ในปี 1954 คนอ่านจะสัมผัสได้ถึงความคล้ายคลึงระหว่างโลกและทรานทอร์อันเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิสากลจักรวาลในชุดสถาบันสถาปนาสามเล่มแรก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม แต่ใจความพูดถึงการเริ่มต้นเดินทางสู่ห้วงอวกาศของมนุษยชาติ เขาเขียน The Naked Sun (อาทิตย์เปลือย) อันเป็นตอนที่สองในชุดนักสืบอีไลจาห์เมื่อปี 1957 เนื้อเรื่องยังเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม แต่ใจความพูดถึงความจำเป็นที่มนุษยชาติต้องพิชิตจักรวาล เวลาผ่านไป 25 ปีกว่าที่อาสิมอฟจะเขียนตอนที่สี่ของชุดสถาบันสถาปนาคือ Foundation"s Edge (สถาบันสถาปนาและปฐมภพ) ในปี 1982 เนื้อเรื่องยังเป็นการตามล้างตามล่าระหว่างสถาบันสถาปนาทั้งสองแห่ง ณ เวลาห้าร้อยปีนับจากการล่มสลายของจักรวรรดิสากลจักรวาล แต่ใจความพูดถึงโลกในฐานะปฐมภพแห่งมวลมนุษยชาติ

    เขาเขียน The Robots of Dawn (จักรวาลหุ่นยนต์) ในปี 1983 อันเป็นตอนที่สามของนักสืบอีไลจาห์ ตามติดด้วย Robots and Empire (หุ่นยนต์พิทักษ์โลก) ในปี 1985 อันเป็นตอนที่สี่ เป็นเวลาที่มนุษยชาติก้าวไกลออกไปในอวกาศ จัดตั้งอาณานิคมดวงดาวต่างๆ เสมือนหนึ่งจะวิวัฒน์ไปสู่จักรวรรดิสากลจักรวาลในที่สุด ขณะเดียวกัน เขาได้เพิ่มเติมกฎข้อที่ศูนย์ในกฎสามข้อของหุ่นยนต์ดั้งเดิม นัยว่าหุ่นยนต์ต้องพิทักษ์มนุษยชาติก่อนปัจเจก อาสิมอฟเขียน Foundation and Earth ในปี 1986 เสียดายที่ไม่มีใครแปลไทย จะพบการเชื่อมต่อของนิยายทั้งสองชุดผ่านทางหุ่นยนต์ดานีล โอลิวอว์ จากนั้นจึงเป็น Prelude to the Foundation (กำเนิดสถาบันสถาปนา) ในปี 1988

    ด้วยความรู้ที่อาสิมอฟมอบให้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลก มนุษยชาติและกฎข้อที่ศูนย์ของหุ่นยนต์ บวกกับเนื้อเรื่องที่ได้ ภาพที่เห็นและกระบวนการสร้างหนังการ์ตูนไฟแนลแฟนตาซี ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าที่แท้แล้วนี่คือเรื่องราวของหุ่นอากิ รอสส์ ตามหาจิตวิญญาณทั้งแปดมาให้โลกตัดสินใจว่าจะเลือกเอาใครระหว่างมนุษยชาติกับผีอวกาศ

    ที่มา

    บทความนี้ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ปีที่ 21 ฉบับที่ 1104  หน้า 44

    สืบค้นจาก

    http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?page=1&srctxt=การ์ตูนที่รัก&selday=&allpage=4&search=no&srctag=&srcday=

    che ery

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×