ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Cartoon Inside

    ลำดับตอนที่ #1 : CARTOON INSIDE : The Legend of Cartoon (1)

    • อัปเดตล่าสุด 10 ก.ย. 49




    Cartoon Inside : The Legend of Cartoon (1)



                                           

      


    1.  ความหมายและลักษณะของวรรณกรรมการ์ตูน

                  คำว่า การ์ตูน เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (cartoon) หมายถึง ภาพล้อในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ซึ่งโดยมากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองหรือเหตุการณ์ปัจจุบัน (Oxford Dictionary, 1995. p. 171) The World Encyclopedia (2001. pp. 263-266) ได้อธิบายความหมายของการ์ตูนไว้ว่า รูปวาด-ชุดของรูปวาดที่บอกเล่าเรื่องราวหรือสื่อถึงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ดังนี้

                  1.1  การ์ตูนบรรณาธิการ (editorial cartoon) คือ ภาพแทนสิ่งที่บรรณาธิการต้องการสื่อแทนคำพูด ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านพัฒนาความคิดเห็นเกี่ยวกับบางคนหรือบางสิ่งที่สำคัญในข่าว การ์ตูนบรรณาธิการส่วนใหญ่จะมีเพียงหนึ่งช่องในหน้าเดียวกับบทบรรณาธิการ โดยอาจมีชื่อเรื่องอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ สำหรับลักษณะภาพของการ์ตูนชนิดนี้จะเป็นไปในทางเดียวกับบทบรรณาธิการ หรืออาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญของข่าวในฉบับ นักเขียนการ์ตูนบรรณาธิการส่วนมากจะใช้รูปวาดที่มีขนาดใหญ่เกินจริง หรือที่เรียกว่า ภาพล้อ (caricature) มาใช้ล้อเลียนบุคคลที่มีชื่อเสียง

                  1.2  การ์ตูนช่องเดียว (single panel cartoon) เป็นการ์ตูนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์และหนังสือนิตยสารทั่วไป มีลักษณะคล้ายกับการ์ตูนบรรณาธิการ คือ มีเพียงช่องเดียวแต่จะมีอารมณ์ขันแบบการ์ตูนแก๊ก (gag cartoon) หรือการ์ตูนที่สอดแทรกมุขตลกเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้การ์ตูนช่องเดียวอาจมีคำพูดของตัวการ์ตูนประกอบด้วยก็ได้

                  1.3  การ์ตูนภาพประกอบ (illustration) คือ การ์ตูนที่อยู่ในหนังสือทั่วไปนั่นเอง โดยมากจะอยู่ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก นอกจากนี้อาจนำไปใช้เป็นภาพประกอบเรื่องในหนังสือของผู้ใหญ่ได้ด้วยเป็นบางโอกาส เช่น หนังสือที่เบาสมองอย่างเรื่องตลกขบขัน สมุดคู่มือ หรือสารคดีที่อาจใช้แผนผังที่ประกอบด้วยตัวการ์ตูน ซึ่งสามารถขจัดความน่ารำคาญในรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในรูปถ่ายได้

                  1.4  การ์ตูนโฆษณา (advertising) คือ การ์ตูนที่ใช้สำหรับการโฆษณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การ์ตูนชนิดนี้มักจะใช้ความสามารถของตัวการ์ตูนมาชี้แจงข้อมูลของบริการ หรือผลิตภัณฑ์ที่นำมาขาย โดยบริษัทส่วนใหญ่จะใช้ตัวการ์ตูนที่กำลังได้รับความนิยมมาโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นๆ

                  นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องมาจากการ์ตูนและสามารถแบ่งเป็นประเภทของการ์ตูนได้อีก 3 ชนิด ดังที่ ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์ (2534. หน้า 7-8) ได้รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะของการ์ตูนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

                  1.5  หนังสือการ์ตูน (Comic) หมายถึง รูปวาดที่มีความต่อเนื่องกันเป็นเรื่องราว มีคำบรรยายและบทสนทนาในแต่ละภาพ โดยลักษณะของภาพไม่เน้นความสมจริงทางกายวิภาค (Anatomy)

                  1.4  นิยายภาพ (Illustrated Tale) หมายถึง การเล่าเรื่องราวด้วยภาพ ซึ่งมีลักษณะเป็นจริงตามหลักทางกายวิภาค (Anatomy) กล่าวคือ มีความเหมือนบุคคลจริง นอกจากนี้ยังมีการใช้แสงและเงาในฉากประกอบ อีกทั้งเรื่องราวจะต่อเนื่องกันไปตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเรื่อง

                  1.5  ภาพล้อ (Caricature) หมายถึง ภาพล้อเลียนที่แสดงการเปรียบเปรย เยาะเย้ย ถากถางอย่างมีอารมณ์ขัน หรือมุ่งให้เกิดอารมณ์ขัน โดยภาพวาดจะเน้นส่วนเด่นที่ใบหน้า และบุคลิกของผู้ถูกล้อเลียนในลักษณะที่ต่างไปจากปกติธรรมดา


                         cartoon+thai size= 8,192 bytes cartoon+thai size= 12,288 bytes cartoon+thai size= 8,192 bytes 

              
    สำหรับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2545. หน้า 116) ได้อธิบายความหมายของการ์ตูนไว้ว่า
    "ภาพล้อ ภาพตลก บางทีเขียนเป็นภาพบุคคล บางทีเขียนเป็นภาพแสดงเหตุการณ์ที่ผู้เขียนตั้งใจล้อเลียนจะให้รู้สึกขบขัน,หนังสือเล่าเรื่องด้วยภาพเขียน ซึ่งแบ่งหน้ากระดาษเป็นช่องๆ มีคำบรรยายสั้นๆอ่านง่าย เนื้อเรื่องมักเป็นนิทานหรือนวนิยาย" ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการ ดังนี้

                  ธิดา โมสิกรัตน์ (2541. หน้า 416) ได้กล่าวถึงการ์ตูนว่า เป็นวรรณกรรมสื่ออารมณ์ขันประเภทหนึ่งซึ่งใช้รูปวาดลายเส้นประกอบถ้อยคำ เล่าเรื่องหรือเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องไปตาม ลำดับหรืออาจไม่ใช้ถ้อยคำเลยก็ได้ โดยให้อารมณ์และแนวคิดบางประการแก่ผู้อ่าน

                  สายทิพย์ นุกูลกิจ (2537. หน้า 309) ได้กล่าวถึงลักษณะของวรรณกรรมการ์ตูนว่า เป็นวรรณกรรมสื่ออารมณ์ขันที่ผู้แต่งสร้างความขบขันให้แก่ผู้อ่าน ด้วยวิธีการใช้รูปวาดลายเส้นที่เรียกกันว่า "ตัวการ์ตูน" เป็นตัวเล่าเรื่อง หรือเหตุการณ์ต่างๆให้ต่อเนื่องกันไปตามลำดับ ผู้แต่งอาจใช้ภาพการ์ตูนเพียงภาพเดียวเป็นสื่อในการสร้างอารมณ์ขันหรือใช้หลายภาพ และแต่ละภาพอาจจะรวมกันอยู่อย่างสัมพันธ์ภายในกรอบเดียวหรือแยกกรอบจากกันก็ได้

                  ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์ (2534. หน้า 9) ให้ความหมายของการ์ตูนไว้คือ ภาพวาดในลักษณะง่ายๆ บิดเบี้ยว โย้เย้ ในลักษณะไม่เหมือนภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมีลักษณะเลียนธรรมชาติ เรขาคณิต หรือรูปร่างอิสระที่ลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อความหมายแทนตัวหนังสือ เป็นผู้แสดงแทนในการพูดหรือแสดงออกต่างๆทั้งเป็นภาพประกอบตกแต่งมุ่งให้เกิดความสวยงาม น่าขัน ล้อเลียน เสียดสี ในทางการเมือง สังคม และเป็นสื่อในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ประกอบการเล่าเรื่องในทางบันเทิงคดีและสารคดี  

                  เมื่อพิจารณาจากความหมายต่างๆจะเห็นได้ว่า วรรณกรรมการ์ตูนมีลักษณะเป็นทั้งบันเทิงคดีและสารคดี แล้วแต่ว่าผู้เขียนต้องการนำการ์ตูนไปใช้ในจุดประสงค์ใด จึงทำให้มีการแบ่งชนิดของการ์ตูนออกมาในหลายลักษณะ และเมื่อกล่าวถึง การ์ตูน (cartoon) หรือหนังสือการ์ตูน (comic) ในความหมายของคนไทยโดยทั่วไป มักจะไม่แยกความหมายออกจากกัน กล่าวคือ ใช้คำว่า cartoon ในความหมายของ comic เพราะตามปกติเมื่อนึกถึงตัวการ์ตูนก็จะนึกถึงเรื่องราวของการ์ตูนนั้นๆไปด้วย

                  กล่าวโดยสรุป วรรณกรรมการ์ตูน หมายถึง วรรณกรรมประเภทหนึ่งที่ใช้รูปวาดเป็นตัวนำเสนอแนวคิด เหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ตามจุดประสงค์ของผู้เขียน ทั้งนี้จะมีบทสนทนา หรือข้อความบรรยายภาพหรือไม่ก็ได้


    คุณสมบัติของวรรณกรรมการ์ตูน

                      เนื่องจากวรรณกรรมการ์ตูนมีองค์ประกอบที่คาบเกี่ยวกับศาสตร์หลายแขนง จึงทำให้วรรณกรรมการ์ตูนมีคุณสมบัติหลายลักษณะ ดังที่ ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์ (2534. หน้า 9-10) สรุปไว้ดังนี้

                      1.  คุณสมบัติทางการสื่อสาร วรรณกรรมการ์ตูนเป็นสารที่สื่อไปยังผู้อ่านเช่นเดียวกับวรรณกรรมโดยทั่วไป แต่อาจจะมีประสิทธิภาพหรือจูงใจได้มากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น เพราะมีความสวยงาม อีกทั้งภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย จึงทำให้ผู้รับสารเข้าใจเรื่องราวได้รวดเร็วและไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ

                      2.  คุณสมบัติของศิลปะลายเส้น การวาดภาพการ์ตูนก็เหมือนกับการวาดภาพศิลปะทั่วไปที่ต้องใช้ทักษะฝีมือการวาดภาพลายเส้น ดังนั้นการ์ตูนจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ

                      3.  คุณสมบัติทางวรรณกรรม การ์ตูนและวรรณกรรมเป็นการเล่าเรื่องที่มีเทคนิคไม่ต่างกัน เพียงแต่การ์ตูนนำเสนอด้วยภาพ ส่วนวรรณกรรมดำเนินเรื่องด้วยตัวหนังสือ

                      4.  คุณสมบัติทางการละครและภาพยนตร์ การ์ตูนมีบทพูด มีภาพการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับการแสดงละคร และหากเรื่องราวของการ์ตูนเรื่องนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็อาจนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด และดราก้อนบอล เป็นต้น





    che ery

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×