คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : CARTOON INSIDE : GURU TALKS (1) / การ์ตูนการเมือง : นัยแห่งความรุนแรง
GURU TALKS (1)
สำหรับบทวิจารณ์การ์ตูน ดังที่จะได้นำเสนอใน GURU TALKS ตอนที่ 1 นี้
เป็นบทความวิจารณ์การ์ตูนการเมืองที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากตอนที่ได้เซฟไว้
ผมไม่ได้คัดลอกไฟล์รูปมาด้วย เนื่องจากคิดว่าตัวเองนั้นไม่ได้ใช้ จึงทำให้ข้อมูลในครั้งนี้ไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก
ครั้นจะกลับไปหาจากเว็บไซต์หลักก็ปรากฏว่าข้อมูลถูกลบออกไปแล้ว จึงต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่านด้วยนะครับ
และสำหรับผู้ที่สนใจใคร่รู้ความเป็นมาของการ์ตูนการเมืองของไทย สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์ที่ให้ไว้นี้ได้เลยครับ
http://www.lib.ru.ac.th/journal/cartoon.html
การ์ตูนการเมือง : นัยแห่งความรุนแรง
นายเชษฐา ทรัพย์เย็น
โครงการวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"อะไรเอ่ยเพียงสองเดือนมีฉายาว่าหมาขี้เรื้อนและหนูเน่า"
"แทบจะไม่เชื่อ คุณสมัครกลายเป็นหมา"
"ถ้าคุณไม่ทำตัวแบบนี้ : ทำเป็นควายไม่รู้ร้อนรู้หนาว,เ(หี้)ย"
"ระวังกรรมตามสนอง สามหาวกัดชาวบ้านไปทั่ว"
"ไร้สาระทั้งแก๊งค์ การงานไม่ทำ บ้างก็มีแต่เห่าหอน, บ้างก็โชว์แต่ไอคิว28"
"เราทนมานานแล้ว ที่ยอมอยู่ใต้อุ้งตีนของคนระยำที่เราอุตสาห์เลือกมาแต่กลับเนรคุณเรา"
"เมืองนี้มีแปลกๆ คนปัญญาอ่อนได้เป็นรัฐมนตรี, คนสามหาว ยะโสโอหังได้เป็นรัฐบาลแทบทุกครั้ง"
"รัฐบาลจิ๋วแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการไล่งับไล่กัด, ด้วยการเห่าด้วยการหอน"
"เห็นท่านเหนาะ ก็คิดถึงคนขับสิบล้อไอคิวแค่28 ก็คิดถึงมนุษย์ถ้ำดึกดำบรรพ์เมื่อหลายพันล้านปี ก็คิดถึงนักเลงบ้านนอกเชยๆ ก็คิดถึงตลกโปกฮาตามคาเฟ่ทั่วไป ก็คิดถึงนักพนันที่หากินอยู่ในกาสิโน"
"จิ๋วหมดสภาพ เขาว่าจิ๋วติงต๊องไม่อยู่กับร่องกับรอยแถมยังเจ้าเล่ห์อีกด้วย"
"เกียรติภูมิของรัฐบาลชวลิต:จัดฉากสร้างม็อบเลียตีนประกาศไม่ออกไม่ยุบไม่ว่าประเทศจะฉิบหายเพียงไร คร่ำครึโบราณปัญญาอ่อนอวดชาวโลกเชื่อภูติผีปีศาจราหูอมจันทร์เกียรติภูมิไม่เหลือหลอ"
"ตั้งแต่เกิดมาก็พึ่งเห็น จิตใจที่อุบาทว์ชาติชั่วของนักการเมืองที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อความทุกข์ยากของประชาชน"
"รัฐบาลเอี้ยๆ กุ๊ย กักขฬะ หน้าด้าน ทำตัวเยี่ยงโจร เยี่ยงสัตว์ป่า"
"สภาพเช่นนี้คงจะไม่มีในรัฐบาลชวน:ทำตัวเป็นโรคกลัวน้ำ(หมายถึงคุณสมัคร),มัวแต่เสนอไอเดียปัญญาอ่อน"
"เมื่อพวกตัวตลกอกหัก ไอ้น้องเปรมกลายเป็นเด็ก"ป๋าหมาก"ที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง หมักเพี้ยนจัดกลายเป็นชาวนาบ้าคลั่งจะกินงูเห่าลูกเดียว เหนาะยังโบราณเหมือนเดิม จิ๋วถูกคนทั้งประเทศสาปส่งและลืมไปเลย"
ข้อความต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทางด้านการเมืองในคอลัมภ์ "การ์ตูนการเมือง" การใช้ภาษาโดยทั่ว ๆ ไปตามความรู้สึกของผู้อ่านค่อนข้างมีความเผ็ดร้อนรุนแรงและบางประโยคถึงกับให้ความ "สะใจ" แก่ผู้อ่านหลาย ๆ คน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม จะมีผู้อ่านสักกี่คนที่มีความเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังอ่านอย่างได้อรรถรสอยู่นั้น มีลักษณะของความรุนแรงแฝงอยู่ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงทางการเมือง?
คนในสังคมโดยทั่วไปอาจมีความเข้าใจว่าความรุนแรงที่แสดงออกในทางการเมืองนั้น จะต้องแสดงออกมาในลักษณะที่เห็นได้อย่างชัดเจนเสมอ และนำมาสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน การบาดเจ็บ หรือกระทั่งถึงแก่ชีวิต ทำให้ในมโนภาพของคนโดยทั่วไปที่นึกถึงความรุนแรงทางการเมือง จะเป็นภาพในลักษณะของการปะทะกัน การกระทบกระทั่งกัน ตัวอย่างเช่น การปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 การปะทะกันทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยคือฝ่ายทหารกับฝ่ายสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงประมาณปี 2516 ถึงปี 2523 การปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีตที่ผ่านมา การปะทะกันระหว่างกลุ่มประท้วง 2 กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญกับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนกันยายน 2540 ที่ผ่านมา เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง ขอบเขตของความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้อยู่ในลักษณะของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางกายภาพเสมอไปดังตัวอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การสูญเสียทางกายภาพในลักษณะดังกล่าวเป็น "การสูญเสียที่มองเห็นด้วยตาได้ชัดเจน" เช่น ทรัพย์สินถูกทำลาย การบาดเจ็บล้มตาย ฯลฯ แต่ความรุนแรงทางการเมืองมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่า ครอบคลุมกิจกรรมที่หลากหลายกว่า ความรุนแรงทางการเมืองครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านกายภาพและการสูญเสียทางด้านจิตใจ จิตสำนึก ความคิด ฯลฯ เป็นการสูญเสียที่ "อาจจะมองเห็นด้วยตาไม่ชัดเจน" หรือ "อาจจะมองไม่เห็นด้วยตา" เลยก็ตาม นับว่าเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น เรียกความรุนแรงแบบนี้ว่าความรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา(psychological) บางส่วนของความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านจิตใจ จิตสำนึก ความคิด ฯลฯ นั้น มักจะหลบซ่อนและแฝงตัวอยู่ในกิจกรรมทางการเมืองบางประเภทที่คนทั่วไปมองเห็นว่าไม่น่าจะเป็น พาหะ ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ พาหะ ดังกล่าว คือ "การ์ตูนล้อเลียนการเมือง"
การ์ตูนการเมืองมีการใช้ภาษาและรูปภาพที่ค่อนข้างก้าวร้าวรุนแรงแอบแฝงอยู่ การใช้คำพูดบางคำพูดจะออกมาในลักษณะเสียดสี ถากถาง คำด่าว่า คำหยาบ รูปภาพที่วาดก็มีบางภาพสื่อออกมาในลักษณะวาดคนที่ตกเป็นเป้าหมายให้เป็นภาพสัตว์บางประเภทที่คนทั่วไปดูหมิ่น หรือวาดคนที่ตกเป็นเป้าหมายให้น่าเกลียดที่สุดเกินกว่าลักษณะของการวาดภาพ Caricature โดยทั่วไป
เพราะฉะนั้น "การ์ตูนการเมือง" จึงเป็นกิจกรรมทางการเมืองประเภทหนึ่งที่ซ่อนเร้นความรุนแรง ซึ่งเป็นความรุนแรงที่อาจจะทำให้บุคคลที่ถูกนำมาวาดเป็นภาพการ์ตูนและถูกเสียดสีถากถางนั้น ต้องตกเป็นเป้าสายตาในทางลบของผู้อื่น บุคลิกภาพที่เป็นจริงของเขาในมุมมองและความคิดของผู้อื่นอาจถูกบิดเบือนไป เกิดการสูญเสียทางด้านจิตใจ จิตสำนึก ความคิด ความรู้สึกของตัวเขาเอง จนนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง สูญเสียความมั่นใจในการดำเนินชีวิตในสังคม มีความวิตกกังวล ฯลฯ และอาจนำมาสู่ผลที่เกิดขึ้นในทางลบต่อตนเองและต่อสังคม
หากเหตุการณ์เป็นดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงรูปแบบนี้ทำให้เกิดการสูญเสียที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางกายภาพเลย อาจจะมีจุดจบของความรุนแรงร่วมกันคือการสูญเสียชีวิตก็เป็นได้ ความรุนแรงที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงชีวิตเป็นความรุนแรงที่สังคมไม่ยอมรับ จนต้องมีมาตรการมาจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งมาตรการในการป้องกันและปราบปราม เช่น การออกกฎหมายลงโทษ การจำคุก การประหารชีวิต ฯลฯ เป็นความรุนแรงที่มิอาจมี พื้นที่ ให้อยู่ในสังคมไทย แต่ความรุนแรงในรูปลักษณ์ที่แฝงเร้นอยู่ใน"การ์ตูนการเมือง" นั้น มีพื้นที่อยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด คนทั่วไปในสังคมยอมรับได้ และอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นความรุนแรงด้วยซ้ำไป ไม่มีแม้แต่มาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในปัจจุบันที่จะมาจัดการ ทั้งที่ผลที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลร้ายแรงอย่างมิอาจคาดคิดได้ ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่คำถามหลักในการศึกษา "ทำไมความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมือง ถึงมีพื้นที่อยู่ในสังคมไทยได้มาโดยตลอด?" และยังมีแนวโน้มว่า "การ์ตูนการเมือง:นัยแห่งความรุนแรง" จะยังคงอยู่ในสังคมไทยไปได้ตราบนานเท่านาน
ผู้เขียนได้ทำการสำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และได้ข้อสรุปที่สำคัญ ๆ บางประการที่สามารถนำมาเสริมงานศึกษาค้นคว้าหัวข้อ "การ์ตูนการเมือง:นัยแห่งความรุนแรง" ได้เป็นอย่างดี ข้อสรุปมีดังนี้
1.ในเรื่องของ "วาจา" การใช้คำพูดที่ไม่ดี ใช้คำพูดในทางที่ผิด กล่าวร้าย เสียดสี ประชดประชัน ฯลฯ ที่แสดงออกมาทางสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ นับได้ว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง
2.การใช้ภาษาของการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนประเภทใด ๆ ก็ตาม จะมีคำพูดบางคำพูดที่อยู่ในข่ายของการใช้ภาษาที่รุนแรงแฝงอยู่ด้วย เช่น คำพูดในลักษณะโจมตี เสียดสี ประชดประชัน ด่าว่า ฯลฯ
3.งานวิจัยที่เกี่ยวกับการ์ตูนหลาย ๆ ชิ้น ปรากฏผลออกมาว่ามักจะมีเนื้อหาความรุนแรงในลักษณะการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งเป็นความรุนแรงทางตรง (direct violence)
4.ความรุนแรงที่ปรากฏในการ์ตูนนั้น นอกจากเป็นความรุนแรงทางตรงแล้ว ยังเป็นความรุนแรงที่ส่งผลต่อจิตใจ เรียกว่าความรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา (psychological)
5.สื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ให้ความสำคัญกับข่าวที่เกี่ยวกับความรุนแรง (ซึ่งการ์ตูนการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสื่อหนังสือพิมพ์ อาจจะได้รับอิทธิพลเรื่องความรุนแรง เพียงแต่แสดงออกในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น ไม่ได้แสดงออกในรูปของคอลัมภ์ข่าวหรือบทความ แต่แสดงออกในรูปของรูปภาพการ์ตูนและคำพูดที่ประกอบไปด้วยความตลกขบขัน)
6.ผู้วิจัยท่านหนึ่งได้สรุปว่าการ์ตูนการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมการเมืองมาช้านานและยังคงมีต่อไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นการยืนยันว่าการ์ตูนการเมือง:นัยแห่งความรุนแรงมีพื้นที่อยู่ในสังคมมาโดยตลอด โดยไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?)
ความหมายของการ์ตูนการเมือง
ที่มาของ "การ์ตูนการเมือง (political cartoons)" มาจากคำว่า "caricature" caricature หมายถึง ภาพล้อบุคคลหรือวัตถุที่ทำให้ขันโดยการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่างให้เกินความเป็นจริง แต่ไม่มีประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นจุดสำคัญ เช่น รูปร่างดูสูงเก้งก้าง หรือหัวโตตัวเล็ก ฯลฯ แต่สามารถดูออกทันทีว่าเป็นใคร หรืออะไร เพราะผู้วาดยังคงลักษณะเดิมไว้ caricature พบมากในหนังสือพิมพ์ คือมักใช้วาดประชดประชันสังคม โดยเฉพาะทางด้านการเมือง
การ์ตูนการเมืองจึงเป็นการ์ตูนที่มุ่งเน้นล้อเลียน เสียดสี ประชดประชันบุคคลหรือเหตุการณ์ทางการเมือง เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคิดเห็นใหม่ ๆ ลักษณะของการ์ตูนการเมืองอาจมีคำบรรยายหรือไม่มีก็ได้ หรืออาจมีช่องเดียวหรือหลายช่องก็ได้
ประวัติความเป็นมาของการ์ตูนการเมืองในต่างประเทศ
caricature มีประวัติความเป็นมายาวนาน เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอิตาลี ประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยพี่น้องตระกูล Caracci และบรรดาลูกศิษย์ของเขา พี่น้องตระกูลนี้มักจะเล่นเกมวาดภาพที่น่าขบขันของเพื่อน ๆ ของเขา เขาเรียกภาพวาดแบบนี้ว่า caricature ซึ่งมาจากคำในภาษาอิตาเลียนหมายความว่า "บรรทุก" คือ การบรรจุภาพวาดด้วยรายละเอียดที่เกินความเป็นจริง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาพเขียนแบบ caricature ก็ได้แพร่หลายไปในยุโรป เริ่มตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ และต่อมาก็ได้แพร่หลายติดตามผู้อพยพที่ไปยังอเมริกาด้วย
นักเขียนภาพ caricature ในยุคแรก ๆ คือ William Hogart และ Thomas Rowlandson ทั้งสองคนนี้เป็นชาวอังกฤษ และมีผลงานภาพล้อเลียนเสียดสีสังคมและคนร่วมสมัย ส่วนนักเขียนการ์ตูนภาพล้อของอังกฤษที่นับว่ามีอิทธิพลต่อพัฒนาการของภาพล้อมาเป็นการ์ตูนการเมืองที่แท้จริง คือ James Gillray ผลงานของเขาสามารถทำให้ราชวงศ์อังกฤษในสมัยของพระเจ้าจอร์จที่สามสั่นสะเทือน ส่วนนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่สำคัญอีกคนหนึ่งในยุคนั้น คือ Honor
นักเขียนภาพล้อการเมืองในยุคต่อมาได้แก่ธัญญะ อุทธกานนท์ หรือ "ธัญญ" เขียนในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เกราะเหล็ก, เฉลิม วุฒิโฆสิต หรือ "เฉลิมวุฒิ" เขียนงานในหนังสือพิมพ์หลักเมือง, จำนงค์ รอดอริ เขียนในหนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ต่อมานักเขียนการ์ตูนเรื่องยาวก็ได้หันมาเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ซึ่งเป็นที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับในสังคมในเวลาต่อมาก็คือ ประยูร จรรยาวงษ์ ใช้นามปากกาว่า "จรรย์" งานของเขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ต่อมาเมื่อเขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารสยามสมัย เขาก็เขียนภาพล้อการเมืองและสังคมประกอบ และเขียนให้กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐและสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในยุคนี้ก็ยังมีนักเขียนภาพล้อคนอื่น ๆ อีกเช่น สงบ แจ่มพัฒน์ หรือ "แจ่ม", อาคม คเชนทร์ หรือ "โทน", ทองเติม เสมรสุต หรือ "บันทัม" และแจ่ม พัฒนสกุล หรือ "นายงอแง"
ต่อมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 บรรยากาศการเมืองในประเทศไทยมีเสรีภาพมาก นักเขียนการ์ตูนการเมืองเกิดขึ้นมากมายในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เช่น อรรถศาสตร์ ตุลารักษ์ หรือ "อรรถ" และสุชีพ ณ สงขลา หรือ "วัตต์" ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย, อรุณ วัชระสวัสดิ์ หรือ "หนุ่ย",พิจารณ์ ตังคไพศาล หรือ "กระป๋อง" ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ, ประยูร จรรยาวงษ์ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, "วีรชน" ในหนังสือพิมพ์เดลิไทม์, สมชัย กตัญญุตานันท์หรือ"ชัย ราชวัตร" และจุลินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือ "อู๊ดด้า" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, "พัฒน์" ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์, ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช หรือ "ตั้ม" ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ แต่ต่อมาถูกขอร้องให้เลิกเขียนเนื่องจากมีอาชีพประจำเป็นข้าราชการกรมศิลปากร จึงไม่เหมาะสมที่จะเขียนเรื่องการเมือง
ต่อมาสมัยรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด โดยการประกาศใช้ "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42" นักเขียนการ์ตูนการเมืองหลายคนจึงเลิกเขียนไป แต่หลังจากหมดยุคของรัฐบาลนายธานินทร์ และรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศยกเลิกคำสั่งปร.42แล้ว นักเขียนการ์ตูนการเมืองก็เริ่มกลับมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกครั้ง "ชัย ราชวัตร" ย้ายมาเขียนที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมีชื่อเสียงในการ์ตูนชุด "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน", อรรณพ กิติชัยวรรณ หรือ "แอ๊ด เดลินิวส์" เขียนการ์ตูนชุด "ปลัดเกลี้ยงคนเก่ง" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, หนังสือพิมพ์สยามรัฐ มติชน ก็เปิดโอกาสให้นักเขียนการ์ตูนการเมืองใหม่ๆ เข้ามา เช่น การ์ตูน "ม้าหิน-จอมปลวก" "กะปิ-กระป๋อง" และนอกจากนี้ยังมี "เซีย" "ปู" "ขุนพล" "เตรียม" "ธานี" "ทอนส์" "หมื่น" "บัญชา-คามิน" ฯลฯ จนในที่สุดการ์ตูนการเมืองก็ได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวางจวบจนกระทั่งปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าการ์ตูนการเมืองอยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอดและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสื่อสิ่งพิมพ์ไทย
องค์ประกอบของการ์ตูนการเมือง
การ์ตูนการเมืองมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ
1.ส่วนที่เป็นภาพของความเป็นจริง ซึ่งนักเขียนการ์ตูนจะแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงสิ่งที่เขาคิดว่า ดีหรือไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นกับสังคมและชุมชนนั้น
2.ส่วนที่เป็นตัวสาร ซึ่งแสดงโดยภาพลายเส้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาคิดว่าน่าจะต้องทำ (หรือปฏิกิริยาที่ควรกระทำ)
3.ส่วนที่นักเขียนการ์ตูนจะใช้ศิลปะและเทคนิคของการ์ตูนและจินตนาการเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามว่าเขาควรจะรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ขบขัน เศร้าใจ ขุ่นข้องหงุดหงิด ฯลฯ
รูปแบบของการ์ตูนการเมือง
รูปแบบของการ์ตูนการเมืองแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
1.The Descriptive การ์ตูนแบบอธิบายเหตุการณ์ เป็นการ์ตูนเชิงอธิบายเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปที่เกิดขึ้นทางการเมืองตามที่ผู้เขียนเข้าใจ มีจุดประสงค์ให้ความบันเทิงเป็นหลัก
2.The Laughing Satirical การ์ตูนเสียดสีเชิงขบขัน เป็นการ์ตูนเสียดสีการเมืองเชิงขบขัน ซึ่งเป็นลักษณะของการ์ตูนการเมืองในสังคมประชาธิปไตยส่วนใหญ่ การ์ตูนมุ่งที่จะให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงระบบการปกครองมากกว่าจะต้องการล้มล้างทำลาย โดยเป็นการกระตุ้นให้นักการเมืองทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยการกระเซ้าเย้าแหย่มากกว่าจะมุ่งโจมตี
3.The Glorifying การ์ตูนแบบยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ลักษณะการ์ตูนแบบนี้จะพบได้ในสมัยที่มีการเลือกตั้งผู้นำประเทศหรือประธานาธิบดีครั้งสำคัญ ๆ เช่น Theodore Roosevelt เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
4.The Destructive Satirical การ์ตูนเสียดสีเชิงมุ่งทำลาย เป็นการจงใจให้เกิดความเจ็บปวด ทรมาน เช่น การกล่าวว่าเลวกว่าสัตว์ หรือไม่ใช่มนุษย์และการกระทำของบุคคลผู้นั้นไม่อาจให้อภัยได้ (การ์ตูนการเมืองในลักษณะนี้เป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา (psychological))
ความรุนแรงแฝงในการ์ตูนการเมือง
จะเห็นได้ว่าความรุนแรงได้แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง ซึ่งแม้แต่นักเขียนการ์ตูนการเมืองยังยอมรับว่าในบางครั้งมีการใช้ภาษาที่รุนแรงและการสื่ออารมณ์ที่รุนแรงไปสู่ผู้อ่าน ผู้อ่านหลายคนอาจติดใจในมุขตลกของผู้เขียน สะใจกับคำพูดเจ็บ ๆ ของตัวการ์ตูน ทัศนะของนักเขียนการ์ตูนการเมืองไทยจึงค่อนข้างสื่อออกมาด้วยความรุนแรง
ชัย ราชวัตร : "สมัยเขียนการ์ตูนการเมืองใหม่ ๆ ค่อนข้างรุนแรง ยุค 14 ตุลา มันจะแบ่งเป็นขั้วชัดเจน คุณจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน นายทุนหรือชาวนา ทหารหรือนิสิต การนำเสนอก็ออกมาในรูปที่รุนแรง", "ยุคอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์เป็นนายกฯหนังสือพิมพ์ด่าว่ารุนแรงชนิดจิกหัวด่า"
แอ๊ด มติชน : ตัวเขายอมรับว่าระยะหลัง ๆ ความรุนแรงในเนื้อหาของงานลดไปจากเมื่อก่อนมาก เพราะการที่อายุมากขึ้น มีประสบการณ์ มีการเรียนรู้มากขึ้น "สังคมมันก็แค่นั้น เกิดขึ้น ดำรงอยู่ พัฒนา ดับสลาย จะเอาอะไรกันหนักหนา แต่เมื่อเด็ก ๆ มันยังปลงไม่ได้ก็รุนแรงไป" , "งานของผมที่ออกมาคราวนี้ ดุเดือด มากกว่างานประจำวันเยอะเลย ไม่ใช่ด้านเนื้อหา แต่เป็นอารมณ์ของผมเอง"
อรุณ วัชระสวัสดิ์ : "... คนไทยไม่เคยมีปัญหา เขาเห็นเป็นเรื่องตลกไปหมด บางทีเขียนว่านักการเมืองบางคนแรง ๆ...", "มีแต่ความสนุก อยากจะเขียนอัดเต็มๆ โดยไม่คำนึงถึงอะไร", "อย่างช่วงที่ทหารปกครองผมก็อัดแหลก สมัยนี้เอางานเก่า ๆ มาเปิดดู ยังรู้สึกว่าทำไมตัวเองจึงกล้าเขียนถึงขนาดนั้น"
ชูชาติ หมื่นอินกุล : "ทุกคนต้องระวังโดยสัญชาตญาณของตัวเองอยู่แล้ว มันติดอยู่กับวัฒนธรรมไทย เราไม่จาบจ้วงผู้ใหญ่เกินไปจนดูเป็นเรื่องเสียหายมากมาย...(มีนัยว่ายังจาบจ้วงอยู่บ้าง)"
บัญชา-คามิน: การ์ตูนของบัญชา-คามินได้เคยนำไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นโดยเขานำงานที่เขียนในช่วงพฤษภาทมิฬไปแสดงซึ่งค่อนข้างช็อกนักเขียนการ์ตูนต่างชาติในความรุนแรงของเนื้อหา "ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังพฤษภาทมิฬไม่นานนัก ผมเลือกงานชุดนี้ไปแสดงเพราะข่าวเรื่องนี้มันดังไปทั่ว เขามองว่าเรารุนแรงมาก ซึ่งทำให้เราภูมิใจตรงจุดนี้"
"... ที่ค่อนข้างแรงก็เป็นการ์ตูนส่งท้ายปีที่แล้ว เราตั้งหัวข้อ ลาทีปีหมา ... เราก็ยอมรับว่าเขียนแรงไปจริง"
ทัศนะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นของนักเขียนการ์ตูนการเมืองส่วนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าการเขียนการ์ตูนนั้นมีความรุนแรงแฝงอยู่ ถึงแม้บางคนจะลดระดับความรุนแรงลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีความรุนแรงอยู่
ตัวอย่างจากงานวิจัยของนฤมล เรืองณรงค์ เรื่อง "การ์ตูนการเมืองในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519" ผู้วิจัยก็ยังได้กล่าวถึงลักษณะของการ์ตูนการเมืองในมุมหนึ่งที่เป็นความรุนแรงว่า "เป็นการเสียดสี การประชดประชันสังคม"
ตัวอย่างจากงานวิจัยของเจียมศักดิ์ กอวัฒนสกุล เรื่อง "การ์ตูนการเมืองในยุครัฐบาลเผด็จการ:ศึกษาเฉพาะการ์ตูนการเมืองช่วงระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถึง 9 ธันวาคม 2534" ผู้วิจัยกล่าวถึงลักษณะการเขียนการ์ตูนการเมืองว่ามีความรุนแรง "ได้มีการเขียนโจมตีหรือแสดงความคิดเห็นไปในทางลบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง"
จากตัวอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงหรืองานวิจัยที่เกี่ยวกับการ์ตูนการเมืองต่างก็สนับสนุนเหตุผลที่ว่าการ์ตูนการเมืองแฝงไปด้วยความรุนแรง
ประเภทของความรุนแรง
"ความรุนแรง" แบ่งเป็น 3 ประเภท (แนวคิดจากโยฮัน กัลตุง นักวิชาการผู้บุกเบิกงานวิจัยสันติภาพยุคใหม่ (peace research))
1.ความรุนแรงทางตรง (direct violence) เป็นความรุนแรงชนิดที่มาจากบุคคล และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ การทำให้ศักยภาพของมนุษย์สะดุดหยุดลงโดยยังไม่ถึงกาลอันสมควร ผลของความรุนแรงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ที่มาของความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่มักเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะมีตัวผู้กระทำชัดเจน กล่าวโดยสรุปคือความรุนแรงทางตรงนั้นเป็นความรุนแรงที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายและมีผู้กระทำเป็นที่มาของความรุนแรง บางครั้งจึงเรียกความรุนแรงชนิดนี้ว่าเป็นความรุนแรงส่วนบุคคล ทั้งนี้อาจแยกพิจารณาความรุนแรงทางตรงให้เป็นระเบียบได้ในลักษณะต่อไปนี้
1.1 ให้ความสนใจกับตัวผู้ก่อความรุนแรงนั้น โดยพิจารณาว่าความรุนแรงนั้นก่อโดยใครอาจจะเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลแล้วขยายไปสู่กลุ่มบุคคล ไปสู่ฝูงชน จากนั้นก็พิจารณาจากระดับการจัดองค์กรประกอบด้วย
1.2 ให้ความสนใจไปที่เครื่องมือที่ใช้ในการก่อความรุนแรงที่อาจจะเริ่มต้นที่ร่างกายของมนุษย์ และขั้นต่อไปก็คือการใช้อาวุธ
1.3 ให้ความสนใจกับผลที่บังเกิดต่อร่างกายของมนุษย์
1.3.1) ผลของความรุนแรงลักษณะที่ 1 แบ่งเป็น ผลในเชิงทำลายร่างกาย (anatomy) และผลในการขัดขวางการทำงานของร่างกาย (physiology)
1.3.2) ผลของความรุนแรงลักษณะที่ 2 แบ่งเป็น ผลในเชิงกายภาพ (physical) และผลในเชิงจิตวิทยา (psychological)
2.ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) หมายถึง อะไรก็ตามที่มาทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) โดยเฉพาะเมื่อ "อะไรก็ตาม" ไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นระบบหรือโครงสร้าง ลักษณะเด่นของความรุนแรงเชิงโครงสร้างประการหนึ่งคือ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดดเด่น เมื่อปรากฎขึ้นแล้วก็หายไปดังเช่นความรุนแรงทางตรง หากแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในช่วงเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ธรรมชาติของความรุนแรงเชิงโครงสร้างอยู่ในรูปกระบวนการมากกว่าจะเป็นเหตุการณ์จำเพาะเจาะจง
3.ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) หมายถึง ส่วนเสี้ยวของปริมณฑลเชิงสัญลักษณ์ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ทำหน้าที่สนับสนุนรองรับความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นชนิดทางตรงหรือเชิงโครงสร้างก็ตาม ส่วนเสี้ยวของวัฒนธรรมที่ทำให้ความรุนแรงทั้งสองประเภทใหญ่กลายเป็น หรือทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงอะไร เป็นการพิจารณารูปแบบวิธีการที่ความรุนแรงนานาชนิดกลายเป็นเรื่องชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับในสังคมโดยรวม
โยฮัน กัลตุงได้เสนอภาพลักษณ์ "สามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง" ที่เป็นประโยชน์ในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงทั้งสาม กล่าวคือ สร้างภาพสามเหลี่ยมที่ให้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอยู่ด้านบน และความรุนแรงทางตรงกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นฐานของสามเหลี่ยม ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะทำหน้าที่เป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงอีกสองแบบที่เหลือ และหากวางภาพ "สามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง" ในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ให้ความรุนแรงทางตรงเป็นยอดสามเหลี่ยม ดังนั้นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจึงกลายเป็นฐานซึ่งเป็น "ที่มา" ของความรุนแรงทางตรงดังกล่าว
การ์ตูนการเมืองเป็นความรุนแรงทางตรง
เมื่อนำแนวคิดเรื่องความรุนแรงมาพิจารณาการ์ตูนการเมือง จะเห็นได้ว่า "การ์ตูนการเมือง" จัดอยู่ในประเภท "ความรุนแรงทางตรง" ในแง่มุมของผลที่บังเกิดต่อร่างกายมนุษย์ในเชิงจิตวิทยา (psychological) ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านจิตใจ จิตสำนึก ความคิด ฯลฯ เป็นการสูญเสียที่ "อาจจะมองเห็นด้วยตาไม่ชัดเจน" หรือ "อาจจะมองไม่เห็นด้วยตา" ตัวอย่างคำพูดของการ์ตูนการเมืองที่สื่อออกมาด้วยความรุนแรง
"แทบจะไม่เชื่อ คุณสมัครกลายเป็นหมา"
"ระวังกรรมตามสนอง สามหาวกัดชาวบ้านไปทั่ว"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการต่อว่าคุณสมัครโดยการเสียดสีเปรียบเปรยอย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากคุณสมัครมักจะขัดแย้งกับสื่อมวลชนและม็อบต่าง ๆ เสมอ โดยเปรียบเทียบคุณสมัครกับสัตว์ประเภทหนึ่งที่คนให้การดูถูก และทำให้สัตว์ประเภทนี้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวของคุณสมัครเสมอ
"เห็นท่านเหนาะ ก็คิดถึงคนขับสิบล้อไอคิวแค่28 ก็คิดถึงมนุษย์ถ้ำดึกดำบรรพ์เมื่อหลายพันล้านปี ก็คิดถึงนักเลงบ้านนอกเชย ๆ ก็คิดถึงตลกโปกฮาตามคาเฟ่ทั่วไป ก็คิดถึงนักพนันที่หากินอยู่ในกาสิโน"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการต่อว่าคุณเสนาะในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าออกนโยบายที่ไม่เป็นสาระและทำตัวต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสื่อภาพผ่านคำพูดที่ดูถูกเหยียดหยาม ประชดประชัน ในทำนองที่ว่าให้บุคลิกภาพของคุณเสนาะเปรียบเหมือนคนที่ไร้การศึกษา ไม่มีความทันสมัย ไม่มีความคิด ต่อต้านความก้าวหน้า ฯลฯ
"ไร้สาระทั้งแก๊งค์ การงานไม่ทำ บ้างก็มีแต่เห่าหอน(หมายถึงคุณสมัคร), บ้างก็โชว์แต่ไอคิว28" (หมายถึงคุณเสนาะ)
"เมืองนี้มีแปลก ๆ คนปัญญาอ่อนได้เป็นรัฐมนตรี(หมายถึงคุณเสนาะ),คนสามหาวยะโสโอหังได้เป็นรัฐบาลแทบทุกครั้ง" (หมายถึงคุณสมัคร)
"สภาพเช่นนี้คงจะไม่มีในรัฐบาลชวน:ทำตัวเป็นโรคกลัวน้ำ(หมายถึงคุณสมัคร), มัวแต่เสนอไอเดียปัญญาอ่อน" (หมายถึงคุณเสนาะ)
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการต่อว่าคุณสมัครและคุณเสนาะในแง่มุมที่ว่าคุณเสนาะไร้สติปัญญาและคุณสมัครพูดจาชวนทะเลาะ ไร้สาระ เป็นการสร้างภาพลักษณ์เฉพาะในมุมลบให้ติดตัวสองคนนี้ไปตลอด โดยการใช้คำพูดที่เสียดสีอย่างรุนแรง
"รัฐบาลจิ๋วแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการไล่งับไล่กัด(หมายถึงคุณสมัคร), ด้วยการเห่าด้วยการหอน" (หมายถึงคุณเปรมศักดิ์)
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการต่อว่าด้วยการเปรียบเปรยประชดประชันคุณสมัครและคุณเปรมศักดิ์ในแง่มุมที่คล้าย ๆ กัน โดยเปรียบเทียบเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่คนให้การดูหมิ่น แต่มีจุดเน้นต่างกัน คือ ให้คุณสมัครมีบุคลิกภาพที่ชวนทะเลาะ แต่ให้คุณเปรมศักดิ์มีบุคลิกภาพที่ไร้สาระ
"เมื่อพวกตัวตลกอกหัก ไอ้น้องเปรมกลายเป็นเด็ก"ป๋าหมาก"ที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง (เป็นคำผวนของคำว่า"ปากหมา") หมักเพี้ยนจัดกลายเป็นชาวนาบ้าคลั่งจะกินงูเห่าลูกเดียว เหนาะยังโบราณเหมือนเดิม จิ๋วถูกคนทั้งประเทศสาปส่งและลืมไปเลย"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการสื่อภาพความผิดหวังของคนกลุ่มนี้ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วยการใช้ภาษาที่ก้าวร้าวประชดประชันอย่างรุนแรง เปรียบเทียบเป็นพวกคณะเล่นตลก โดย
สื่อบุคลิกภาพของคุณเปรมศักดิ์ว่าไม่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ เพราะปีนเกลียวคุณสนั่น ดูถูกว่าคุณสนั่นมีการศึกษาต่ำ ทั้ง ๆ ที่คุณสนั่นเป็นผู่หลักผู้ใหญ่ในวงการเมือง โดยเปรียบเทียบว่าปากของคุณเปรมศักดิ์เปรียบเสมือนปากของสัตว์ประเภทหนึ่งที่คนดูหมิ่น
สื่อบุคลิกภาพของคุณสมัครว่า เปรียบเสมือนคนบ้า คลุ้มคลั่งมาก เพราะมีสมาชิกในพรรคกลุ่มหนึ่งไปเข้าร่วมกับฝ่ายตรงข้าม หนังสือพิมพ์ให้ฉายากลุ่มนี้ว่า "กลุ่มงูเห่า"
สื่อบุคลิกภาพของคุณเสนาะว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไร คุณเสนาะก็ยังไม่มีความคิดความอ่าน ยังมีความคิดล้าหลังเหมือนเดิม
สื่อบุคลิกภาพของคุณชวลิตว่าเลวร้ายเป็นอย่างมากในสายตาของประชาชน จนประชาชนทนไม่ไหวถึงกับต้องขับไล่ไสส่งและไม่อยากจดจำบุคคลนี้อีกเลย
"จิ๋วหมดสภาพ เขาว่าจิ๋วติงต๊องไม่อยู่กับร่องกับรอยแถมยังเจ้าเล่ห์อีกด้วย"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการสื่อถึงตัวนายกรัฐมนตรีฯพณฯพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ว่าไร้ความสามารถในการบริหารประเทศโดยสิ้นเชิง ไม่มีบุคลิกผู้นำ มีปัญหาทางสมอง อาการทางประสาทไม่ปกติ และยังเป็นบุคคลที่คบไม่ได้ มีความเจ้าเล่ห์เพทุบาย โดยการใช้ภาษาเสียดสีประชดประชันที่ทำให้เห็นภาพในมุมลบอย่างที่สุด
"เกียรติภูมิของรัฐบาลชวลิต:จัดฉากสร้างม็อบเลียตีนประกาศไม่ออกไม่ยุบไม่ว่าประเทศจะฉิบหายเพียงไร คร่ำครึโบราณปัญญาอ่อนอวดชาวโลกเชื่อภูติผีปีศาจราหูอมจันทร์เกียรติภูมิไม่เหลือหลอ"
"อะไรเอ่ยเพียงสองเดือนมีฉายาว่าหมาขี้เรื้อนและหนูเน่า" (หมายถึงคณะรัฐมนตรี)
"รัฐบาลเอี้ยๆ กุ๊ย กักขฬะ หน้าด้าน ทำตัวเยี่ยงโจร เยี่ยงสัตว์ป่า"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาลว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน หลอกลวงประชาชน ไร้การศึกษา และยังต่อว่ารัฐบาลด้วยคำพูดที่รุนแรง ประชดประชัน ก้าวร้าว เสียดสีต่าง ๆ นานา เปรียบรัฐบาลเหมือนกับสภาพของสัตว์ที่คนรังเกียจที่สุด เช่น หมาขี้เรื้อน หนูเน่า เป็นต้น
"ตั้งแต่เกิดมาก็พึ่งเห็น จิตใจที่อุบาทว์ชาติชั่วของนักการเมืองที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อความทุกข์ยากของประชาชน"
"เราทนมานานแล้ว ที่ยอมอยู่ใต้อุ้งตีนของคนระยำที่เราอุตสาห์เลือกมาแต่กลับเนรคุณเรา" (หมายถึง ส.ส.)
"ถ้าคุณไม่ทำตัวแบบนี้ : ทำเป็นควายไม่รู้ร้อนรู้หนาว,เ(หี้)ย"
เนื้อหาข้อความในตอนนี้เป็นการต่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่ามีความชั่วร้ายที่สุด ด้วยคำพูดที่รุนแรงที่สุด เช่น อุบาทว์ชาติชั่ว อุ้งตีน คนระยำ ควาย เ(หี้)ย
ผลกระทบของความรุนแรงจากการ์ตูนการเมือง
จะเห็นได้ว่าการใช้ภาษาที่ใช้ในการเขียนการ์ตูนการเมืองนั้น มีลักษณะเสียดสี ประชดประชัน ก้าวร้าวอย่างรุนแรง จนทำให้บุคลิกภาพในมุมลบเช่นนี้ติดตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายอย่างแนบสนิท แยกแยะไม่ได้ และปรากฏสู่สายตาของคนในสังคม จนคนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะบุคลิกภาพที่แท้จริงของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายออกจากบุคลิกภาพที่ถูกสร้างในเชิงลบจากสื่อมวลชนได้ คนทั่วไปจะมองสองบุคลิกภาพที่คู่ขนานนี้รวมกันเป็นบุคลิกภาพเดียว มองว่ามี "เอกภาพทางบุคลิกภาพ" โดยมองบุคลิกภาพที่สร้างโดยสื่อมวลชนนั้นเป็นบุคลิกภาพที่แท้จริงของบุคคลนั้น เนื่องจากว่าในความเป็นจริงคนในสังคมทั่ว ๆ ไปไม่รู้จักบุคลิกภาพของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายโดยส่วนตัว ผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้บุคลิกภาพของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายในสายตาของคนโดยทั่วไปเป็นบุคลิกภาพที่สร้างโดยสื่อมวลชนมากกว่าบุคลิกภาพที่บุคคลนั้นเป็นจริง ๆ
เมื่อเป็นดังที่กล่าวมานี้ก็จะทำให้บุคลิกภาพที่แท้จริงของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายบิดเบือนไปหรือถูกลืมไปในสายตาของคนในสังคม ภาพของบุคลิกภาพที่ปรากฎสู่สายตาของคนในสังคมจึงเป็นภาพที่ถูก "ปรุงแต่ง" มาแล้วจากสื่อมวลชน และเมื่อสื่อมวลชนปรุงแต่งบุคลิกภาพของบุคคลเหล่านี้ในเชิงลบ บุคลิกภาพในเชิงลบก็จะแปรเปลี่ยนเป็นบุคลิกภาพที่เป็นจริงของบุคคลนั้นในสายตาของคนในสังคมโดยปริยาย
ผลที่ตามมาอาจทำให้บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายในการปรุงแต่งภาพของบุคลิกภาพโดยสื่อมวลชนนั้น ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างลำบากมากยิ่งขึ้น อาจถูกเสียดสี ต่อว่าจากสังคมอย่างรุนแรงกว่าความเป็นจริง ต้องตกเป็นเป้าสายตาในทางลบของผู้อื่นเสมอ อาจก่อให้เกิดการสูญเสียต่อภาวะจิตใจ จิตสำนึก สูญเสียความรู้สึกในตัวเองจนอาจนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม พบปะผู้คน อาจกลายเป็นคนที่วิตกกังวล หวาดระแวงในภาพพจน์ของตัวเองตลอดเวลา ฯลฯ และที่ร้ายแรงกว่านั้นอาจนำมาสู่การสูญเสียความมั่นใจในการดำเนินชีวิต ถูกประณามจากสังคมในที่สุด ผลของความรุนแรงนี้อาจส่งผลในวงกว้างทำให้เกิดการสูญเสียที่ร้ายแรงต่อตนเอง ครอบครัวและต่อสังคม
การ์ตูนการเมืองยังคงอยู่ในสังคมไทย
จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางจิตวิทยา (psychological) รูปแบบนี้ที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองทำให้เกิดการสูญเสียที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียเชิงกายภาพเลย (physical) ความรุนแรงที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงชีวิตเป็นความรุนแรงที่สังคมไม่ยอมรับ จนต้องมีมาตรการบางอย่างมาจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น การออกกฎหมายลงโทษ การจำคุก การประหารชีวิต ฯลฯ เป็นความรุนแรงที่มิอาจคงอยู่ได้ในสังคมไทย แต่ความรุนแรงในรูปลักษณ์ที่แฝงเร้นอยู่ใน "การ์ตูนการเมือง" นั้น สามารถคงอยู่ได้ในสังคมไทยมาโดยตลอด คนทั่วไปในสังคมอาจไม่รู้สึกว่าเป็นความรุนแรง จึงทำให้สามารถยอมรับได้ ไม่มีแม้แต่มาตรการที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบันที่จะมาจัดการ ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลร้ายแรงต่อสังคมเป็นอย่างมาก ดังทัศนะของนฤมล เรืองณรงค์ ที่สรุปไว้ว่า "การ์ตูนการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมการเมืองมาช้านาน จากอดีตจนถึงปัจจุบันและจะยังคงมีต่อไปอย่างไม่จบสิ้น" เพราะฉะนั้นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า "ทำไมความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมือง ถึงมีพื้นที่อยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด?" คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวนี้มีอยู่ 2 ประเด็นที่สำคัญ ที่จะอธิบายว่าความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ในการ์ตูนการเมืองสามารถคงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเป็นปกติสุข
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม : สร้างความชอบธรรมให้กับการ์ตูนการเมือง
1.ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) เป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือ ส่วนเสี้ยวของปริมณฑลเชิงสัญลักษณ์ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ทำหน้าที่สนับสนุนรองรับความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นชนิดทางตรงหรือเชิงโครงสร้างก็ตาม ส่วนเสี้ยวของวัฒนธรรมที่ยอมให้ความรุนแรงอยู่ได้นี้ ได้ทำให้ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงอะไร ทำให้ความรุนแรงรูปแบบนี้กลายเป็นเรื่องชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับในสังคมโดยรวม
หากพิจารณาจากภาพของ "สามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง" โดยสร้างภาพสามเหลี่ยมให้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอยู่ด้านบน และความรุนแรงทางตรงในที่นี้ก็คือความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นฐานของสามเหลี่ยม (ดังรูปภาพที่ 1) จะทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของความรุนแรงสองประเภทแรกได้ว่า ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง และเมื่อวางภาพของ "สามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง" โดยให้ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองเป็นยอดของสามเหลี่ยม ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเป็นฐานของสามเหลี่ยม จะทำให้ทราบว่าความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองมี "ที่มา" ส่วนหนึ่งจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (พิจารณาเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงทางตรงกับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเท่านั้น)
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมคือความรุนแรงในการใช้ภาษา
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่มารองรับความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง คือ "ความรุนแรงในการใช้ภาษา" การใช้ภาษาในสังคมไทยถ้าแบ่งอย่างหยาบ ๆ อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) ภาษาที่สุภาพ ค่อนข้างมีลักษณะเป็นทางการ เช่น ประโยคที่ว่า "กระผมจะขออนุญาติรับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคารข้างนอกได้หรือไม่ครับ?" หรือ "ฉันจะไปทานอาหารที่ร้านอาหารนอกบ้านค่ะ" เมื่อคนทั่วไปฟังแล้วจะรู้สึกได้ทันทีว่ามีความสุภาพอยู่ และ 2) ภาษาที่ไม่ได้จัดอยู่ในภาษาที่สุภาพ อาจมีลักษณะความเป็นส่วนตัวอยู่มาก เช่น ประโยคที่ว่า "ข้าจะไปกินข้าวเย็นข้างนอก" หรือ "กูจะไปหาอะไรยัดปากที่ร้านตาแป๊ะหน้าปากซอยหน่อย" หรือ "ไอ้ห่า!กูหิวมากแล้ว มึงไปหาอะไรแดกที่ร้านไอ้แป๊ะเป็นเพื่อนกูหน่อยซิวะ" เป็นต้น
เมื่อพิจารณาการแบ่งภาษาโดยใช้สองแง่มุมนี้ ผลที่ตามมาจะทำให้เกิด "ชนชั้นทางภาษา" ซึ่งแบ่งเป็นสองชนชั้น ได้แก่ ภาษาที่สุภาพจะถูกจัดให้เป็นภาษาระดับสูง และภาษาที่ไม่ได้จัดให้อยู่ในภาษาที่สุภาพจะถูกจัดให้เป็นภาษาในระดับต่ำ กล่าวคือ ภาษาที่สุภาพจะถูกมองว่าเป็นภาษาที่น่าภิรมย์ จรรโลงใจ เป็นภาษาที่เหมาะสมในการสื่อสารในสังคม มีลักษณะของความนอบน้อม สุภาพ เรียบร้อย น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้สื่อสารในสังคมโดยรวม มีลักษณะเป็นทางการ หรือเรียกว่ามีความเป็นสากล
ส่วนภาษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้จัดให้อยู่ในภาษาที่สุภาพซึ่งประกอบด้วย 1) ภาษาที่ฟังแล้วมีความรู้สึกธรรมดา และ 2) ภาษาที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง "ภาษาที่ฟังแล้วมีความรู้สึกที่ธรรมดา" จะให้ความรู้สึกว่าอรรถรสของภาษาอยู่กึ่งกลางระหว่างภาษาที่สุภาพกับภาษาที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง ไม่สุภาพ ส่วนผสมของภาษาสองลักษณะดังกล่าวทำให้ได้ "ภาษาที่ฟังแล้วมีความรู้สึกว่าธรรมดา" ตัวอย่างเช่น คำว่า "กิน" จัดอยู่ในภาษาประเภทนี้ ถ้าเป็นภาษาที่สุภาพจะใช้คำว่า "รับประทาน" หรือ "ทาน" ถ้าเป็นภาษาที่ไม่สุภาพจะใช้คำว่า "แดก" "ยัด" ฯลฯ (แต่ภาษาประเภทนี้จะไม่นำมาพิจารณาในงานชิ้นนี้)
ภาษาที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกหยาบคาย ก้าวร้าว ไม่สุภาพ เป็นภาษาที่ฟังแล้วจะสัมผัสถึงความรุนแรงอยู่ในตัวเอง ตัวอย่างเช่น คำว่า "แดก" "ยัด" "สวาปาม" เป็นต้น ดังที่ Murry ได้กล่าวว่า "ความรุนแรงทางวาจา(การใช้ภาษา) คือ การใช้คำพูดที่ไม่ดี ใช้คำพูดในทางที่ผิด การกล่าวร้าย" การใช้คำพูดที่หยาบคาย ก้าวร้าว ไม่สุภาพถือว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่ดีในความหมายดังกล่าว เพราะฉะนั้นการใช้ภาษาในลักษณะนี้จึงเป็นการใช้ภาษาที่มีความรุนแรง การใช้ภาษาเช่นนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับให้ถูกใช้สื่อสารในสังคมอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การใช้ภาษาเช่นนี้จะไม่ได้รับการยอมรับให้ถูกใช้สื่อสารในสังคมอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกนำมาใช้เลย ในความเป็นจริงจะเห็นได้อยู่เสมอว่าภาษารูปแบบนี้ถูกนำมาใช้กันตลอดเวลาในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ประชาชนโดยส่วนใหญ่นำมาใช้สื่อสารกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท เพียงแต่มีลักษณะพิเศษคือจะนำมาใช้กันภายในกลุ่มของตนเองเป็นหลัก เพราะมีลักษณะความสัมพันธ์ภายในกลุ่มแบบเป็นกันเอง ถ้าข้ามกลุ่มโดยเฉพาะเมื่อเป็นกลุ่มที่แปลกหน้าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะไม่ถูกนำมาใช้เลยหรือโอกาสที่ถูกนำมาใช้มีน้อย เนื่องจากความสัมพันธ์จะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทางการมากขึ้น ความสนิทสนมมีน้อยลง แต่ในภาพรวมนั้นก็มีกลุ่มจำนวนมากมายที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย
โอกาสในการนำมาใช้และขอบเขต (sphere) ในการใช้จะกว้างขวางเพียงใด ถูกกำหนดโดย "คุณภาพความสัมพันธ์" ของคนภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม หมายถึงว่า ถ้าคุณภาพความสัมพันธ์ของคนกลุ่มหนึ่งมีความเข้มข้น รู้จักกันดี มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น หรือคบหาติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน สนิทสนมกันเป็นอย่างดี เช่น กลุ่มเพื่อนสนิทตั้งแต่ในวัยเรียน พี่น้องในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนในสถานที่ทำงานที่ร่วมงานด้วยกันมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นต้น โอกาสที่จะนำภาษารูปแบบนี้มาใช้ย่อมมีโอกาสที่สูง และขอบเขตในการใช้ภาษาก็ย่อมกว้างขวางตามไปด้วย แต่ถ้าคุณภาพความสัมพันธ์ของคนภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มไม่เข้มข้น ห่างเหิน ไม่ค่อยรู้จักกัน ฯลฯ โอกาสที่จะนำภาษาไม่สุภาพมาใช้ย่อมมีโอกาสน้อย และขอบเขตในการใช้ภาษาก็จำกัดอยู่ในวงแคบ
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ภาษาที่ไม่สุภาพยังมีพื้นที่ในการนำมาใช้สื่อสารในสังคม อาจเป็นเพราะว่าภาษาที่รุนแรงไม่สุภาพนี้ ตัวอย่างเช่น "กู" "มึง" "ไอ้ควาย" "ไอ้โง่" "ระยำ" "อุ้งตีน" "ไอ้ขี้เรื้อน" "ไอ้ปัญญาอ่อน" "ไอ้คนสามหาว" "ไอ้คนเจ้าเล่ห์" "เลียตีน" "อุบาทว์ชาติชั่ว" "กักขฬะ" "ไอ้ปากหมา" ฯลฯ (คำเหล่านี้ปรากฎอยู่ในการ์ตูนการเมือง) มีใช้ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า "ภาษาสุภาพ" และ "ภาษาไม่สุภาพ" คำว่า "ภาษาสุภาพ" อาจเพิ่งถูกบัญญัติขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้หลังจากมีการนำเข้าความทันสมัยมาจากประเทศตะวันตก เพราะฉะนั้นในอดีตศัพท์คำว่า "ภาษาไม่สุภาพ" (ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) อาจมีความหมายว่า "ภาษาสุภาพ" ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน เห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า"พระเจ้าเสือ" ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ขุนนาง พระ ชาวบ้าน ฯลฯ เป็นภาษาที่ในสังคมปัจจุบันเรียกว่าภาษาไม่สุภาพทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพมีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน หรือภาษาที่ปรากฎในหลักศิลาจารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็มีการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพปรากฎอยู่
เพราะฉะนั้นภาษาที่ไม่สุภาพในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในสังคม แต่ก็ยังถูกนำมาใช้ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาษาที่ไม่สุภาพนั้นก็ยังมีช่องทางในการใช้ มีพื้นที่อยู่ในสังคม และไม่ใช่พื้นที่ที่มีจำนวนน้อย แต่เป็นพื้นที่ที่กว้างขวางอีกด้วย การ์ตูนการเมืองจึงยังคงอยู่ได้เพราะความชอบธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับโดยความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในการใช้ภาษา
กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม : การแปรเปลี่ยนภาพลักษณ์ของความรุนแรง
2.กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของการ์ตูนการเมือง ทำให้สังคมมองการ์ตูนการเมืองเป็นความไม่รุนแรง นอกจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมืองให้คงอยู่ได้ในสังคมไทย แต่ก็ยังมีอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลให้การ์ตูนการเมืองยังมีพื้นที่อยู่ได้ในสังคมไทยตลอดมา นั่นคือ กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของการ์ตูนการเมือง (socialization)
กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของการ์ตูนการเมือง ทำให้เกิดการถ่ายทอดความเข้าใจในสังคมที่ว่าการ์ตูนการเมืองเป็นการ์ตูนประเภทหนึ่ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกให้เกิดความตลกขบขันล้อเลียนบุคคลหรือเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างสนุกสนานเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดความรื่นรมย์ใจ ผ่อนคลายความเครียด ฯลฯ การถ่ายทอดจะมีลักษณะถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ
กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในลักษณะข้างต้นนี้ ทำให้คนในสังคมรุ่นต่อมาที่ได้รับการถ่ายทอดโดยสมบูรณ์แล้วนั้น มองไม่เห็นความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง กระบวนการถ่ายทอดทางสังคมนี้เป็นการแปรสภาพความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองจนกลายเป็นความไม่รุนแรง โดยในช่วงแรก ๆ คนในสังคมอาจจะสัมผัสถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง เพราะอาจจะรู้สึกว่ามีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เสียดสี ถากถาง ด่าว่า ประชดประชัน หยาบคาย และรุนแรงปรากฏอยู่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานเข้าอาจทำให้ความรู้สึกที่เคยสัมผัสได้ว่ารุนแรงกลับกลายเป็น ความเคยชินในความรุนแรง ความเคยชินในความรุนแรงที่เกิดขึ้นของการ์ตูนการเมืองนี้จึงทำให้ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองดูไม่รุนแรง และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความรุนแรงประเภทอื่น ๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย การปลิดชีวิต ฯลฯ ความรุนแรงประเภทหลังนี้เห็นได้ชัดเจนกว่า จึงถูกมองว่ารุนแรงกว่าความรุนแรงประเภทแรก ความรุนแรงประเภทแรกจึงขาดน้ำหนักของความรุนแรงไปจนในที่สุดความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมืองก็ถูกทำให้มองว่าไม่ใช่ความรุนแรง กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่าการเสียดสีถากถางก็ต้องอยู่คู่กับการ์ตูนการเมืองเสมอ และยังรู้สึกชื่นชมกับการ์ตูนการเมืองอีกด้วย คนทั่วไปจึงมองไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรง (ตามแผนภาพ)
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของการ์ตูนการเมือง เป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งในการทำให้ความรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมือง ถูกมองว่าไม่ใช่ความรุนแรงหรือมองไม่เห็นว่ามีความรุนแรงอยู่ในการ์ตูนการเมือง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยทางด้านความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ดังเช่นบัญชา-คามิน นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงได้กล่าวไว้ว่า "การศึกษาในสังคมทำให้ปลูกฝังว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ เมื่อนำมาใช้กับเรื่อง serious อย่างการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องตลกไป"
จากคำอธิบายที่กล่าวมาข้างต้นก็คือคำตอบของข้อสงสัยในคำถามที่ว่า "ทำไมความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมือง ถึงมีพื้นที่อยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด?" และยังมีแนวโน้มว่า ความรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ในการ์ตูนการเมืองจะยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อไปตราบนานเท่านาน
กล่าวโดยสรุป คำตอบที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าได้แสวงหาและเป็นคำตอบที่มีหลักเกณฑ์มีความน่าเชื่อถือที่นำมาใช้ในการตอบคำถามที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นคือ
1.ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) ในการใช้ภาษาเป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการ์ตูนการเมือง และ
2.กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของการ์ตูนการเมืองที่ทำให้คนในสังคมมองการ์ตูนการเมืองเป็นความไม่รุนแรง
ทั้งความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและการกล่อมเกลาทางสังคมจะต้องดำเนินไปด้วยกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างแยกกันไม่ออก ทั้งสองปัจจัยมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้งทำหน้าที่เสริมกันและกัน ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมต้องอาศัยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในการถ่ายทอดสู่คนรุ่นถัดไป ต้องร่วมมือกันในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง "การ์ตูนการเมือง : นัยแห่งความรุนแรง" ให้คงอยู่ได้ในสังคมตราบนานเท่านาน
บรรณานุกรม
Herbert A.Otto. Sex and Violence on the American Newsstand. Violence and the Mass Media.
Otto N.Jarsen. Violence and the Mass Media.
กรรณิกา ศรีเจริญ. วิเคราะห์คุณธรรมในหนังสือการ์ตูนเล่มละบาท. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2525.
จุฑามาศ สุกิจจานนท์. จริยธรรมที่ปรากฏในภาพยนตร์การ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการสื่อสารมวลชน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
เจียมศักดิ์ กอวัฒนสกุล. การ์ตูนการเมืองในยุครัฐบาลเผด็จการ:ศึกษาเฉพาะการ์ตูนการเมืองช่วงระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถึง 9 ธันวาคม 2534. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการเมืองการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. รวมบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2533.
เบญจา ศิริชัยเอกวัฒน์. วิเคราะห์คุณธรรมในหนังสือการ์ตูนที่ได้เค้าโครงจากต่างประเทศ ราคาเล่มละ 3-10 บาท. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2525.
พรพนิต พ่วงภิญโญ. บทบาทของการ์ตูนเรื่องที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531.
พิมพ์พร ยิ่งยง. ข่าวและภาพเกี่ยวกับเพศและความรุนแรงในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวัน:วิเคราะห์เปรียบเทียบข่าวสดกับมติชน. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาวารสารสนเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
รัชนี ศิริชัยเอกวัฒน์. จริยธรรมที่เด็กได้รับจากหนังสือแบบเรียนภาษาไทยและหนังสือการ์ตูน กรณีศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมฤดี สมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการสื่อสารมวลชน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.
เรืองศิริ นิชรัตน์. ทรรศนะของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล เขตกรุงเทพมหานครต่อนิตยสารการ์ตูน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
สุรางค์ รุ่งเรือง. วิเคราะห์คุณธรรมในหนังสือการ์ตูนไทยเล่มละ 3-10 บาท. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2525.
อุราเพ็ญ ตรียางค์กูล. จริยธรรมของผู้ผลิตข่าวอาชญากรรมทางโทรทัศน์ต่อการเสนอข่าวความรุนแรง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
เอมจิตร กิตติวัฒน์. การวิเคราะห์เนื้อหาความรุนแรงในข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.
ที่มา http://www.meechaithailand.com นำกลับมาจาก 20 มี.ค.2004 23:20:0
สืบค้นวันที่ 7 มกราคม 2547
ภาพประกอบที่ 2 จากเว็บ www.elib-online.com/
che
ery
ความคิดเห็น