คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : พระมหาอุปราายกทัพครั้งแรก ปีขาล พศ.2133
ตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเลิกทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไทยว่างการสงครามกับพม่าอยู่ ๓ ปี ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวร เสด็จสวรรคตเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรพระชนมายุได้ ๓๕ ปี เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชพระเอกาทศรถ ให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีเกียรติยศสูงเสมออย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ ๓ เดือน ก็เกิดศึกหงสาวดีอีก
เหตุที่จะเกิดสงครามคราวนี้ ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้าหงสาวดีปรึกษาเสนาบดีถึงการที่จะปราบปราม มีเสนาบดีคน ๑ ชื่อสิริชัยนรธาทูลว่า ที่เมืองคังกำเริบขึ้นก็เพราะเห็นว่าปราบไทยไม่ลง จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างไทยบ้าง ถ้ายังปราบไทยไม่ลงอยู่ตราบใด ถึงปราบเมืองคังได้แล้วก็คงมีเมืองอื่นเอาอย่างไทยต่อไปอีก ต้องปราบเมืองไทยอันเป็นต้นเหตุให้ราบคาบเสียให้ได้ด้วย จึงจะเรียบร้อยเป็นปรกติได้ทั่วทั้งพระราชอาณาเขต พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วยและทำนองจะได้ข่าวออกไปว่ากรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ประมาณว่าการภายในบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไม่เป็นปรกติ เป็นโอกาสด้วยอีกอย่าง ๑ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้จัดกองทัพ ๒ ทัพ ให้ราชบุตรองค์ ๑ ซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่คุมกองทัพจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองคังทาง ๑ ให้พระยาพสิม พระยาภุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงคุมกองทัพรวมจำนวนพล ๒๐๐,๐๐๐ ยกมาตีเมืองไทยอีกทาง ๑
พระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ เดินกองทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หาเดินทางด่านแม่ละเมาดังคราวก่อนไม่ ความข้อนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพหงสาวดียกมาครั้งนี้ หมายจะจู่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ทันตระเตรียมป้องกันได้พรักพร้อม เพราะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตั้งแต่เข้าแดนไทยต้องเดินทางกว่าเดือนกองทัพจึงจะลงมาถึงกรุงฯ และยังต้องสั่งให้เตรียมเสบียงอาหารล่วงหน้าให้ไทยรู้ตัวมีเวลาตระเตรียมนาน ถ้ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ข้ามแดนมาเพียง ๑๕ วันก็ถึงกรุงฯ ทางใกล้กว่า สันนิษฐานว่าเพราะเหตุนี้พระมหาอุปราชาจึงยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ เพราะรู้ตัวเร็ววันก็เห็นจะมีความลำบากอยู่ ด้วยการที่ต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อน ๆ ไม่ทัน แต่วิสัยสมเด็จพระนเรศวรว่องไวในเชิงศึก เมื่อเห็นว่าจะตั้งคอยต่อสู้อยู่ที่กรุงฯ จะไม่ได้เปรียบข้าศึกเหมือนหนหลัง ก็ทรงพระราชดำริกระบวนรบเป็นอย่างอื่น รีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปในเดือนยี่ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ซุ่มทัพหลวงไว้ (เข้าใจว่าที่ลำน้ำบ้านคอย) แต่งกองทัพน้อยทำนองเหมือนกับที่จะให้ไปรักษาเมืองกาญจนบุรียกไปล่อข้าศึก ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นไม่มีผู้ใดต่อสู้ สำคัญว่าไทยจะตั้งมั่นคอยต่อสู้อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอย่างคราวก่อน ก็ยกเข้ามาด้วยความประมาท ครั้นมาพบพวกกองทัพล่อของสมเด็จพระนเรศวร เห็นเป็นกองทัพเล็กน้อย ทัพหน้าของพระมหาอุปราชาเข้ารบพุ่ง กองทัพล่อต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่งแล้วแกล้งถอยหนี พวกกองทัพหงสาวดีเห็นได้ทีก็ไล่ติดตามมา เข้าไปในที่ซุ่มทัพของสมเด็จพระนเรศวร ๆ ให้กองทัพออกระดมตีได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน กองทัพหงสาวดีเสียทีก็แตกพ่าย ถูกไทยฆ่าฟันตายเสียเป็นอันมาก พระยาภุกามนายทัพหน้าก็ตายในที่รบ รี้พลที่เหลือพากันแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพสิมนายทัพหน้าได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคน ๑ กองทัพหน้าของพระมหาอุปราชากำลังแตกหนีอลหม่าน ไทยไล่ติดตามไปปะทะทัพหลวง ๆ ก็เลยแตกด้วย ในพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นไทยเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ ด้วยกองทัพพม่าแตกยับเยินและเสียผู้คนช้างม้าเครื่องศัสตราวุธแก่ไทยเป็นอันมาก พระมหาอุปราชาหนีไปพ้นแล้ว ก็ให้รวบรวมรี้พลที่เหลืออยู่กลับไปถึงเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง ให้ลงพระราชอาญาแก่นายทัพนายกอง แต่พระมหาอุปราชานั้นให้ภาคทัณฑ์ไว้จะให้ทำการแก้ตัวใหม่ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า
ความคิดเห็น