ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์ชาติไทย

    ลำดับตอนที่ #8 : คราวพระเจ้าหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยา ปีจอ พ.ศ.2129

    • อัปเดตล่าสุด 18 ม.ค. 58


    สงครามครั้งนี้เป็นการรู้ล่วงหน้ามานานเหมือนคราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือก เพราะกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาตั้งทำนาแต่ปีระกาดังกล่าวมาแล้ว ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ยกกองทัพหลวงมา เวลานั้นไทยทิ้งหัวเมืองเหนือให้แก่ข้าศึก พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กองทัพทั้งปวงเข้ามาประชุมกันที่เมืองกำแพงเพชร เป็นจำนวนพลเบ็ดเสร็จ ๒๕๐,๐๐๐ ให้จัดเป็นทัพกษัตริย์ ๓ ทัพ คือ ทัพพระเจ้าหงสาวดีทัพหนึ่ง ทัพพระมหาอุปราชาทัพหนึ่ง ทัพพระเจ้าตองอูทัพหนึ่ง แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้นพระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองว่ามาแพ้ไทย จึงให้เป็นแต่พนักงานสำหรับขนเสบียงอาหาร ครั้นจัดพร้อมแล้วก็เดินทัพลงมา เมื่อถึงเมืองนครสวรรค์ ให้กองทัพพระมหาอุปราชายกแยกมาทางเมืองลพบุรี เมืองสระบุรี แล้วมาบรรจบทัพหลวงที่พระนครศรีอยุธยา ส่วนกองทัพพระเจ้าตองอูให้ยกลงมาทางริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก กองทัพพระเจ้าหงสาวดีนั้นยกลงมาทางฝั่งตะวันตก ทั้ง ๒ ทัพนี้ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ตั้งค่ายรายกันอยู่ทางทิศเหนือกับทิศตะวันออกแต่ ๒ ด้าน ด้วยเป็น ทางที่จะเข้าตีพระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น กองทัพพระเจ้าหงสาวดีอยู่ด้านเหนือตั้งค่ายหลวงที่ขนอนปากคู ให้กองมังมอดราชบุตรกับพระยาพระยาพระราม ตั้งที่ตำบลมะขามหย่อง ให้กองพระยานครตั้งที่ตำบลพุทธเลา ให้กองนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง กองทัพพระเจ้าตองอูให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออก ครั้นกองทัพพระมหาอุปราชามาถึงให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองด้านตะวันออก ต่อกองทัพพระเจ้าตองอูลงมาทางบางมะนาวข้างใต้

    ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา ได้มีเวลาเตรียมรักษาพระนครหลายเดือน เพราะรู้ตัวดังกล่าวมาแล้ว การตระเตรียมครั้งนี้มีรายการปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารหลายอย่างคือ

    (๑) ตั้งแต่เข้าฤดูฝน ให้เกณฑ์คนออกตั้งทำนาทุกทำเลนาในจังหวัดกรุงฯ และให้ทหารกองอาสาออกไปคอยตรวจตราป้องกันมิให้พวกข้าศึกมาทำร้ายได้ เมื่อได้ข่าวว่าข้าศึกยกกองทัพใหญ่ลงมาเวลานั้นข้าวกำลังออกรวง ก็ให้รีบเกี่ยวเก็บขนเอาเข้ามาในกรุงฯ ที่จะเอามามิได้ทันก็ให้ทำลายเสียมิให้ได้เป็นประโยชน์แก่ข้าศึก

    (๒) ให้ระดมคนทั้งในจังหวัดกรุงฯ และหัวเมืองขึ้นชั้นในเข้ามาประจำรักษาพระนครเหมือนทุกคราว แต่คราวนี้เอาความรู้การที่เคยปรากฏว่า เมื่อต้อนคนเข้าพระนครแต่ก่อนมาผู้คนที่อยู่แขวงห่างไกลมักเที่ยวหลบซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง ไม่ได้ตัวมาเสียเป็นอันมากทุกคราว คราวนี้จึงเลือกพวกทหารที่ชำนาญป่าตั้งเป็นนายกองอาสา ให้แยกย้ายกันเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนที่กระจัดพลัดพรายรวมเข้าเป็นกองโจร คอยเที่ยวตีตัดลำเลียงข้าศึก ทำลายเสีย อย่าให้ส่งเสบียงอาหารและเครื่องยุทธภัณฑ์มาถึงกันได้สะดวก

    (๓) การที่ตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกนั้น ระวังรักษาแต่ที่พระนครกับทางที่จะไปมาข้างใต้ให้ใช้เรือใหญ่ไปมาทางทะเลได้สะดวก ส่วนทางข้างเหนือตั้งแต่เมืองวิเศษไชยชาญขึ้นไป ปล่อยให้ข้าศึกทำตามชอบใจ ไม่คิดรักษาให้เปลืองผู้คนทีเดียว แต่ในชานพระนครนั้นเตรียมทั้งปืนใหญ่ และกระบวนทัพบกทัพเรือไว้คอยป้องกันเป็นสามารถมิให้ข้าศึกเข้ามาตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในกรุงฯ ได้

    ขณะเมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงกรุงฯ เมื่อต้นเดือนยี่นั้น ข้าวในท้องนาทุ่งหันตราข้างนอกกรุงฯ ด้านตะวันออกยังเกี่ยวไม่เสร็จ ครั้นกองทัพข้าศึกมาใกล้ จึงโปรดให้เจ้าพระยากำแพงเพชรซึ่งได้ว่าที่สมุหกลาโหม คุมกองทัพออกไปตั้งป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวข้าว พอพระมหาอุปราชายกกองทัพมาถึง ให้กองทัพม้าตีกองทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพิโรธ ด้วยรบกันมาในชั้นนี้ไทยยังไม่เคยแตกพ่ายข้าศึกเลย เจ้าพระยากำแพงเพชรไปทำเสียการ จะให้ไพร่พลกลับเกรงกลัวข้าศึกเสียจึงมีรับสั่งให้รีบจัดกองทัพ แล้วสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จลงทรงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันยกออกไปในทันที ได้รบพุ่งกับข้าศึกที่ทุ่งชายเคืองเป็นสามารถ สมเด็จพระเอกาทศรถถูกกระสุนปืน ฉลองพระองค์ขาดตลอดพระกร แต่หาต้องพระองค์ไม่ รบกันอยู่จนเวลาพลบค่ำข้าศึกถอยไปจากค่ายเจ้าพระยากำแพงเพชรที่ตีได้นั้นแล้ว จึงเสด็จกลับเข้าพระนครดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่สมเด็จพระราชบิดาดำรัสขอชีวิตไว้จึงเป็นแต่ให้ถอดออกจากตำแหน่งมิให้ว่าการกลาโหมต่อไป พวกข้าราชการทั้งปวงก็พากันเกรงพระราชอาญาตั้งหน้ารบพุ่งทั่วกันแต่นั้นมา

    ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาแล้ว ให้กองทัพเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งก็เข้าไม่ได้ ด้วยไทยต่อสู้แข็งแรงกว่าครั้งก่อน ๆ พม่ายกเข้ามาคราวใดไทยก็ตีเอาต้องกลับถอยคืนไปค่ายที่เดิมทุกคราว แต่พระเจ้าหงสาวดีตีพระนครอยู่กว่าเดือนก็ไม่ประชิดเข้ามาได้ ในระหว่างนั้นพวกกองโจรซึ่งสมเด็จพระนเรศวรให้ไปรวบรวมคนจัดขึ้นตามหัวเมือง มีหลายหมวดหลายกองพากันเที่ยวตีตัดลำเลียง เสบียงอาหารของข้าศึกส่งมาถึงกันไม่ได้สะดวกก็เกิดอัตคัด แล้วเลยมีความไข้เจ็บเกิดขึ้นในกองทัพที่ตั้งล้อมพระนคร พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าเกิดความไข้เจ็บในกองทัพข้าศึก เห็นได้ทีก็ให้ออกตีปล้นค่ายข้าศึกทั้งกลางวันกลางคืนมิให้อยู่เป็นปรกติได้ ในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีรายการเฉพาะแต่คราวที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปรบเองหลายคราวคือ

    เมื่อเดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลา ๕ นาฬิกา เสด็จออกปล้นค่ายพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา (ทำนองข้าศึกกองนี้จะอ่อนกว่ากองอื่น) ข้าศึกแตกหนีได้ค่ายพระยานคร (ให้เผาค่ายข้าศึกเสีย) แล้วเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร

    เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลากลางคืนเสด็จออกไปปล้นค่ายทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี ข้าศึกไม่รู้ตัวแตกพ่าย ได้ค่ายนั้นแล้วไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารขึ้นปีนระเนียด จะเข้าค่ายพระเจ้าหงสาวดี ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ ขณะนั้นพอข้าศึกกรูกันมามากก็เสด็จกลับคืนเข้าพระนคร พระแสงดาบซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงในวันนั้น จึงปรากฏนามว่า“ พระแสงดาบคาบค่าย ” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

    การที่สมเด็จพระนเรศวรไปปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีครั้งนี้ มีเนื้อความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบ ตรัสแก่เสนาบดีว่า ซึ่งพระนเรศวรออกมาทำการเป็นอย่างพลทหารดังนี้ เหมือนเอาพิมเสนมาแลกเกลือ นี่พระราชบิดาจะรู้หรือไม่ เสนาบดีกราบทูลว่า พระราชบิดาเห็นจะไม่ทรงทราบ ถ้าทราบคงจะไม่ยอมให้มาทำอย่างนั้น พระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าพระนเรศวรนี้ทำศึกอาจหาญนัก ถ้าออกมาอีกทีจะเสียทหารสักเท่าใดก็ตาม จะแลกเอาตัวพระนรเศวรให้จงได้ จึงให้ลักไวทำมู ซึ่งเป็นนายทหารมีฝีมือเลือกทหาร ๑๐,๐๐๐ ไปรักษาค่ายกองหน้ารับสั่งกำชับไปว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรออกมาอีกให้คิดอ่านจับเป็นให้จงได้

    ครั้นเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่ทุ่งลุมพลี หมายจะเข้าปล้นค่ายระเจ้าหงสาวดีอีก และครั้งนี้ทำนองลักไวทำมู ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีให้คอยจับสมเด็จพระนเรศวร เห็นจะคอยสอดแนมรู้ว่าเสด็จออกไปอีกจึงให้ทหารทศคุมพลกอง ๑ ยกมารบ สมเด็จพระนเรศวรเห็นข้าศึกน้อยก็เสด็จเข้ารบพุ่งแต่ด้วยลำพังกระบวนม้า พวกพม่าสู้พลางหนีพลางล่อให้ไล่ไปจนถึงที่ลักไวทำมูคุมกองทหารซุ่มอยู่ก็กรูกันออกห้อมล้อม สมเด็จพระนเรศวรทรงต่อสู้ข้าศึกเป็นสามารถ ลักไวทำมูขับม้าเข้ามาจะจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมูตาย ทหารทศเข้ามาแก้ลักไวทำมูทรงฟันด้วยพระแสงดาบตายอีกคน ๑ แต่พวกพม่าเห็นไทยน้อยคนก็ห้อมล้อมไว้รบสู้กันอยู่กว่าชั่วโมง พวกกองทัพไทยจึงตามไปทันเข้าแก้ไขสมเด็จพระนเรศวรออกจากที่ล้อมกลับคืนมาพระนครได้

    ถึงเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยกระบวนเรือไปตีทัพมหาอุปราชา ซึ่งตั้งอยู่ ณ ขนอนบางตะนาวแตกพ่ายถอยลงไปตั้งอยู่ที่บางกระดาน

    พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงฯ มาแต่เดือนยี่ ปีจอ จนเดือน ๖ ปีกุน พ.ศ. ๒๑๓๐ ถึงเดือน ๕ ตีไม่ได้กรุงศรีอยุธยา เห็นไพร่พลป่วยเจ็บล้มตายร่อยหรอลงทุกทีก็ท้อพระหฤทัย ดำรัสปรึกษานายทัพนายกองทั้งปวง เสนาบดีผู้ใหญ่จึงทูลว่ากรุงศรีอยุธยานี้ภูมิฐานมั่นคงนัก จะตีเอาโดยเร็วนั้นไม่ได้ บัดนี้ก็เขาฤดูฝนจะตั้งทำการต่อไปไพร่พลก็จะลำบากยิ่งขึ้นทุกที ควรจะถอยทัพกลับไปทำนุบำรุงรี้พลเสียสักคราว ๑ แต่ฤดูแล้งหน้าจึงค่อยยกมาตีใหม่ ถึงพระนเรศวรกล้าหาญในการศึกรี้พลก็มีน้อย รบขับเคี่ยวกันไปหลายคราวเข้าก็คงหมดกำลังที่จะต่อสู้ พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้เตรียมถอยทัพ ให้กองทัพพระมหาอุปราชาซึ่งลงมาตั้งอยู่ที่สุดแนวข้างใต้ถอยกลับไปก่อน ให้กองทัพพระเจ้าตองอูยกกลับเป็นกองหลัง


    ถึงเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพเรือลงไปที่บางกระดาน หมายจะตีกองทัพพระมหาอุปราชาอีก เห็นพระมหาอุปราชากำลังถอยทัพกลับไป ได้รบพุ่งแต่กับกองหลังของพระมหาอุปราชาก็ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีจะถอยทัพ จึงเสด็จกลับคืนเข้าพระนครรีบทรงจัดกองทัพยกไปตั้งที่วัดเดช[1]เมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ให้เอาปืนขนาดใหญ่ลงในเรือสำเภาขันฉ้อตามขึ้นไปหลายลำ พอเตรียมพร้อมเสร็จถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ ก็ให้เอาปืนใหญ่ระดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี ถูกผู้คนช้างม้าล้มตาย พระเจ้าหงสาวดีทนอยู่ไม่ได้ก็ต้องรีบถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งอยู่ที่ป่าโมก เมื่อกองทัพหงสาวดีถอยกลับไปครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้กองทัพบกยกติดตามตีข้าศึกไปจนทะเลมหาราชทาง ๑ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จโดยกระบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีขึ้นไปจนถึงป่าโมกอีกทาง ๑ แต่ข้าศึกมากกว่ามากนักตีไม่แตกฉานไปได้ก็เสด็จกลับคืนมายังพระนคร ทางโน้นพระเจ้าหงสาวดีก็ให้เลิกทัพกลับไปยังบ้านเมือง

    เรื่องสงครามต่อครั้งนี้ไป หนังสือพงศาวดารเถียงกันอยู่ ในพระราชพงศาวดารและพงศาวดารรามัญว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปลายปีกุน พ.ศ. ๒๑๓๐ อีกครั้ง ๑ ตั้งล้อมอยู่ตีไม่ได้พระนคร ต้องเลิกทัพกลับไปเหมือนครั้งก่อน แต่พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ครั้งที่กล่าวมาแล้ว ครั้งเดียวเท่านั้น ฝ่ายพระราชพงศาวดารและพงศาวดารรามัญที่ว่ายกมา ก็ไม่มีรายการรบพุ่งอย่างใดให้เห็นเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตามพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ในสงครามครั้งที่ ๘ ตอนนี้ครั้งเดียว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×