คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : รบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ ปีระกา พ.ศ.2128
สงครามคราวนี้ที่แท้เป็นเรื่องเบื้องต้นของสงครามครั้งที่ ๘ ที่ต่อกันไป แต่เพราะรบพุ่งกันเป็นตอนหนึ่งต่างหาก แล้วหยุดกันไปเสียคราวหนึ่ง จึงได้นับว่าเป็นสงครามคราวหนึ่งต่างหาก เริ่มเรื่องตั้งแต่พระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่มาเสียทีไทยต้องล่าทัพกลับไปเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ ดังบรรยายมาแล้ว พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ ว่าพระเจ้าเชียงใหม่เฉื่อยช้าเสียยกลงมาไม่ทันกำหนด พระยาพสิมจึงเสียที จึงมีรับสั่งให้พระยาอภัยคามินีกับซักแซกยอถ่างและสมิงโยคราชเป็นข้าหลวงเข้ามากำกับกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งยับยั้ง อยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร ให้ลงมาทำการแก้ตัวใหม่ ยังมิให้กลับคืนไปบ้านเมือง พระเจ้าเชียงใหม่กลัวพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพกลับลงมาตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ในเดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น
ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทรงพระดำริว่า ที่คาดว่าไทยจะไม่สู้รบได้แข็งแรงอย่างแต่ก่อนนั้นผิดไปเสียแล้ว จำจะต้องยกกองทัพใหญ่เข้ามาเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง จึงจะตีเอากรุงศรีอยุธยาได้ เวลานั้นความทราบถึงกรุงหงสาวดีว่าไทยทิ้งหัวเมืองเหนือเสียหมด รวบรวมเอาากำลังลงมาตั้งรักษาแต่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว พระเจ้าหงสาวดีจึงดำรัสสั่งให้ระมหาอุปราชาคุมกองทัพมีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรแต่เดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘ ให้ไพร่พลทำนาในท้องที่หัวเมืองเหนือตระเตรียมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพใหญ่ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีจะเสด็จยกมาเองในฤดูแล้งข้างปลายปีระกา ให้พระเจ้าเชียงใหม่ลงมาตั้งขขัดตาทัพถึงหัวเมืองต่อแขวงจังหวัดกรุงฯ คอยรบกวนอย่าให้ไทยเป็นอันทำไร่ไถนาได้ในปีนั้น โดยประสงค์จะให้เสบียงอาหารข้างกรุงศรีอยุธยาเบาบาง เวลามาล้อมพระนครจะได้เกิดอดอยากโดยเร็ว พระเจ้าเชียงใหม่จึงยกกองทัพบก ทัพเรือรวมจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ให้พระยาเชียงแสนเป็นนายทัพหน้า พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองทัพหลวงลงมาจากเมืองนครสวรรค์[1]
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพเชียงใหม่สมทบกับกองทัพเมืองหงสาวดียกลงมาทางข้างเหนือ แต่แรกสมเด็จพระนเรศวรทรงสำคัญว่า ข้าศึกหมายจะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาในต้นปีระกานั้น ทรงพระดำริว่าข้าศึกยกมาพร้อมกันเป็นทัพใหญ่รี้พลมากนัก จะออกไปต่อตีกลางทางเห็นจะไม่ถนัด จึงให้ต้อนผู้คนเข้ามาไว้ในกรุงฯ เตรียมการรักษาพระนครเป็นสามารถ พระเจ้าเชียงใหม่เห็นผู้คนตามหัวเมืองในมณฑลราชธานีเบาบางไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็ยกกองทัพล่วงเลยมาตั้งถึงบ้านสระเกศในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (อยู่ใต้บ้านไชโยหน่อยหหนึ่ง) แล้วแต่งกองอาสาให้แยกย้ายลงไปเที่ยวไล่ขับจับกุมราษฎรตามแขวงจังหวัดกรุงฯ เพื่อจะมิให้ทำไร่ไถนาได้ เจ้าเมืองเพยาคุมกองทัพม้ากองอาสาล่วงเข้ามาเผาบ้านเรือนราษฎรจนถึงสะพานเผาข้าวในเขตกรุงฯ สมเด็จพระเนรศวรได้ทรงทราบก็รีบคุมกองทหารออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ารบพุ่งข้าศึกถึงตะลุมบอน เจ้าเมืองเพยาตายในที่รบ พวกไพร่พลที่เหลืออยู่ก็พากันแตกหนีไป ทำนองสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบความจากคำให้การของพวกเชลยที่จับได้ในคราวนี้ ว่าความคิดของข้าศึกจะทำสงครามเป็นการแรมปีดังกล่าวมา ทรงพระดำริเห็นว่าจะต้องตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ให้ถอยไปเสียทีจึงจะไม่เสียเปรียบข้าศึก จึงทูลความแก่สมเด็จพระราชบิดาทรงเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ให้จัดกองทัพบก ทัพเรือมีจำนวนพล ๘๐,๐๐๐ ให้ไปตั้งประชุมพลที่ทุ่งลุมพลี
ในเวลาเมื่อกำลังรวบรวมไพร่พลจัดกองทัพอยู่นั้น ได้ข่าวลงมาถึงสมเด็จพระนเรศวรว่า มีพวกกองอาสาเชียงใหม่ยกลงมาเที่ยวไล่ขับจับคนจนถึงบ้านป่าโมกอีกทางหนึ่ง พอได้ทรงทราบก็รีบเสด็จโดยกระบวนเรือเร็วไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถปละข้าราชการที่รักษาพระองค์ในทันใดนั้น พอเสด็จไปถึงตำบลป่าโมกน้อยก็พบกองทัพสะเรนันทสู ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้คุมพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงรับสั่งให้เทียบเรือเข้าข้างฝั่ง สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นยกพลเข้าโจมตีทัพข้าศึกรบพุ่งกันเป็นสามารถ ครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนถูกนายทัพเชียงใหม่ตายคน ๑ ข้าศึกต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีกลับขึ้นไปข้างเหนือ พวกพลอาสาต่างแล่นไล่ติดตามขึ้นไป จนปะทะกองทัพพระยาเชียงแสนทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งยกตามลงมาก็รบพุ่งกัน พวกกองอาสาน้อยกว่าต้านทานไม่ไหวต้องล่าถอยพวกเชียงใหม่ก็ไล่ติดตามลงมา สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่าข้าศึกไล่ประชิดกองอาสามา เกรงจะกลับลงเรือไม่ทันจึงให้เลื่อนเรือพระที่นั่งกับเรือที่มีอยู่ในกระบวนเสโจขึ้นไปรายลำอยู่ข้างหนือปากคลองป่าโมกน้อย พอข้าศึกไล่กองอาสามาถึงนั่นก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกขึ้นไปจากเรือ ฝ่ายข้าศึกเห็นทัพเรือไทยขึ้นไปช่วยกันก็ละพวกอาสารบพุ่งกับทัพเรือ ข้าศึกตั้งรายบนตลิ่งยิงปืนตอบโต้กับทัพเรือ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างทรงพระแสงปืนนกสับยิงข้าศึกไปแต่เรือพระที่นั่งกับด้วยพลทหารทั้งปวง และครั้งนั้นรบกันใกล้ ๆ ผู้คนถูกปืนเจ็บป่วยล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถหาได้ต้องอาวุธข้าศึกไม่ รบกันอยู่จนกองทัพบกซึ่งยกไปจากกรุงฯ ตามขึ้นไปถึงเข้าช่วยรบพุ่งกองทัพพระยาเชียงแสนกก็ถอยหนีกลับขึ้นไปข้างเหนือ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้รวบรวมกองทัพทั้งปวง ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมกนั้น
ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่บ้านสระเกศ ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปตีกองสะเรนันทสูแตก และรบพุ่งกองทัพพระยาเชียงแสนต้องถอยหนีไป คาดว่าสมเด็จพระนเรศวรคงจะยกกองทัพตามขึ้นไป จึงปรึกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกกำลังเป็นกองทัพใหญ่ชิงลงมาตีเมืองไทยเสียก่อน อย่าให้ทันยกขึ้นไปบุรุกจึงจะได้เปรียบในเชิงสงคราม พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จจัดกองทัพให้พระยาเชียงแสนกับพระยาสะเรนันทสูททำการแก้ตัวเป็นทัพหน้าคุมพล ๑๕,๐๐๐ กองทัพหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ กำหนดฤกษ์จะยกลงมาในเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เตรียมทัพจะยกลงมานั้น กองทัพสมเด็จพระนเรศวรประชุมพร้อมกันอยู่ที่ป่าโมมก ทรงพระดำริว่ากองทัพพระยาเชียงแสนเป็นแต่ถอยหนีไปมิได้แตกยับเยิน น่าจะไปหากำลังเพิ่มเติมยกลงมาอีก แต่เหตุไฉนหายไปหลายวันไม่ยยกลงมา ดีร้ายพระเจ้าเชียงใหม่จะคิดอุบายการศึกสักอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกขึ้นไปตรวจตระเวนดูว่าข้าศึกจะทำอย่างไร แล้วสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงเป็นกระบวนทัพบกมีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ตามขึ้นไป
กองทัพพระราชมนูยกขึ้นไปถึงบางแก้วปะทะกับทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่ยกลงมาก็รบพุ่งกัน ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห ได้ยินเสียงปืนใหญ่น้อยหนาขึ้นทุกทีก็ทรงทราบว่าพระราชมนู ขึ้นไปพบกองทัพเชียงใหม่ที่หมายจะลงมาตีกองทัพไทย จึงทรงพระดำริเป็นกลอุบายกระบวนรบให้หยุดกองทัพหลวงไม่ให้ตามขึ้นไปช่วยพระราชมนู แล้วแปรกระบวนทัพหลวงไปซุ่มอยู่ที่ป่าจิกป่ากระทุ่มข้างฝั่งตะวันตก แล้วดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ลาดถอยลงมา ฝ่ายพระราชมนูทำนองจะเห็นว่ากำลังรี้พลไล่เลี่ยกับกองทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่รบพุ่งกันอยู่ พอจะต่อสู้รอกองทัพหลวงให้ขึ้นไปถึงได้ก็ไม่ถอยลงมา สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาเป็นข้าหลวงขึ้นไปเร่งให้ถอยอีก พระราชมนูก็สั่งให้มากราบทูลว่ารบพุ่งกับข้าศึกติดพันกันอยู่แล้ว ถ้าถอยเกรงจะเลยแตกพ่ายเอาไว้ไม่อยู่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาคุมทหารม้าเร็วรีบกลับขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ถอย ถ้าไม่ถอยก็ให้ตัดศรีษะพระราชมนูมาถวาย พระราชมนูแจ้งกระแสรับสั่งก็ตกใจ ให้โบกธงบอกสัญญาสั่งให้ถอยทัพ นายทัพนายกองทั้งปวงเห็นธงสัญญาต่างก็พากันล่าถอย ขณะนั้นพอกองทัพหลวงพระเจ้าเชียงใหม่ยกหนุนลงมาถึง พวกเชียงใหม่สำคัญว่ากองทัพไทยแตกก็ดีใจ พากันโห่ร้องรุกไล่ลงมา เห็นไทยเอาแต่หนีก็ยิ่งชิงกันไล่ ด้วยอยากได้ช้างม้าข้าเชลยเป็นอาณาประโยชน์ติดตามมามิได้เป็นกระบวนศึก จนถึงที่พระนรเศวรซุ่มกองทัพอยู่ ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกเสียกลสมประสงค์ ฏ็ให้ยิงปืนโบกธงสัญญายกกองทัพหลวงเข้ายอกลางกองทัพข้าศึก ฝ่ายพระราชมนูเห็นกองทัพหลวงเข้าตีโอบดังนั้น ก็โบกธงสัญญาให้กองทัพกลับตีกระหนาบเข้าไปอีกด้านหนึ่ง ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน กองทัพเชียงใหม่เสียทีก็แตกพ่ายทั้งทัพหน้าทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรเห็นได้ทีก็เร่งกองทัพให้ติดตามตีข้าศึกจนแตกฉานยับเยินคุมกันไม่ติด ที่ถูกฆ่าฟันตายก็เสียมาก ตัวนายตายในที่รบครั้งนั้นท้าวพระยาเชียงใหม่ ๕ คน คือ พระยาลอ ๑ พระยากาว ๑ พระยานคร ๑ พระยาเชียงราย ๑ พระยางิบ ๑ พระยามอญที่มากำกับทัพ คือ สมิงโยคราชกับสะเรนันทสูเจ้าเมืองเตรินก็ตายในที่รบด้วย และกองทัพไทยได้ช้างใหญ่ ๒๐ เชือก ม้า ๑๐๐ เศษ กับเครื่องศัสตราวุธอีกเป็นอันมาก
สมเด็จพระนรเศวรทรงพระดำริว่า ข้าศึกเสียทัพกำลังตื่นตกใจเป็นโอกาสที่จะทำซ้ำเติมอย่าให้ตั้งตัวได้ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามข้าศึกขึ้นไปในวันนั้นจนเวลาพลบค่ำ เห็นว่ารี้พลเหน็ดเหนื่อยจึงประทับแรมที่บ้านชะไว และสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้เตรียมไปแต่เพลาดึก ให้ถึงบ้านสระเกศเข้าตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่แต่เช้าตรู่ให้พร้อมกัน ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่หนีกลับขึ้นไปถึงบ้านสระเกศ ทราบว่ากองทัพไทยยกติดตามขึ้นไปก็เลยหนีต่อไปแต่ในเพลากลางคืน ครั้นกองทัพไทยขึ้นไปถึงบ้านสระเกศเมื่อเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า เห็นแต่พวกข้าศึกกำลังอลหม่านไม่มีผู้ใดต่อสู้ กองทัพไทยก็ได้ค่ายพระเจ้าเชียงใหม่โดยง่ายจับได้พระยาเชียงแสน นายทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่และรี้พลนายไพร่เป็นเชลยรวมหมื่นเศษ กับช้าง ๑๒๐ เชือก ม้า ๑๐๐ เศษ เรือรบและเรือเสบียงรวม ๔๐๐ ลำ ได้ทั้งเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์เสบียงอาหารอีกเป็นอันมาก แม้จนเครื่องราชูโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ได้ไว้หลายอย่าง
เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จติดตามข้าศึกขึ้นไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ แต่เห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่หนีไปสมทบกับกองทัพพระมหาอุปราชาแล้ว จะติดตามต่อไปไม่ได้อีกจึงได้ยกกองทัพกลับ และครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงพระวิตกเกรงว่าพระมหาอุปราชาจะยกกองทัพหนุนพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอีกทัพหนึ่ง จึงให้จัดกองทัพหลวงเสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ยกหนุนสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปถึงปากน้ำบางพุทรา สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จกลับลงมา จึงได้กราบทูลการที่ได้รบพุ่งมีชัยชนะข้าศึกให้สมเด็จพระราชบิดาทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็มีรับสั่งให้เลิกกองทัพทั้งปวงกลับคืนมายังพระนคร
ความคิดเห็น