คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : รบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ.2127
สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพของเมืองไทย เมื่อ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ ดังได้บรรยายมาแล้ว ในปีนั้นเองต่อมาอีก ๗ เดือน กองทัพหงสาวดีก็ยกเข้ามาตีเมืองไทย เรื่องราวการสงครามคราวนี้ปรากฏว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกกองทัพกลับจากเมืองอังวะมาถึงกรุงหงสาวดี ได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปกวาดต้อนเอาครัวไทยกลับมา แล้วรบพุ่งขับไล่นันทสูราชสังครำออกไปจากเมืองไทย เห็นว่าไทยตั้งแข็งเมืองเป็นแน่แล้ว ก็ให้เกณฑ์กองทัพจะให้มาตีกรุงศรีอยุธยา
เวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีทรงพระดำริว่า ไทยเสียบ้านเมืองมาไม่ช้านัก ผู้คนพลเมืองที่จะเป็นกำลังต่อสู้มีน้อยกว่าแต่ก่อน ไม่จำเป็นจะต้องยกกองทัพใหญ่เข้ามามากมายหลายทัพ เหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็คงจะพอตีกรุงศรีอยุธยาได้จึงคิดจัดกระบวนทัพให้ยกเข้ามาเป็น ๒ ทางพร้อมกัน ประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ ในครั้งนั้นให้พระยาพสิมผู้เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าหงสาวดีคุมกองทัพมีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง ให้พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อราชอนุชายกกองทัพบก ทัพเรือเมืองเชียงใหม่ จำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ลงมาทางข้างเหนืออีกทางหนึ่ง ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยาให้จงได้
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้นทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น ๒ ทางจึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จักพลอาสาหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นทัพบกทัพ ๑ มีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาในกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพหนึ่ง ให้พระยาจักรีเป็นนายทัพ พระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร ทั้งสองทัพนี้เตรียมไว้สำหรับจะให้ไปรบพุ่งข้าศึกถึงที่อื่นได้โดยเร็ว และสั่งให้ขนย้ายทำลายเสบียงอาหารในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียทั้งสองทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าพระนครเตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ
กองทัพหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้ จะเป็นด้วยคิดประมาทไทยหรือเป็นด้วยพระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่ ฝ่ายใดทำผิดนัดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ ในเดือนอ้ายกองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรไได้ทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้นน้ำลดยังไม่ถึงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียก จะเดินกองทัพยังไม่สะดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรีต้านทานข้าศึกไว้พลาง กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิง ทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั้น ครั้นถึงเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ[1] อันเป็นที่ประชุมพล โปรดให้เจ้าพระยาสุโขทัยคุมกองทัพบกเมืองเหนือยกเป็นกองหน้า ไปตีกองทัพพระยาพสิมซึ่งตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมน แล้วเสด็จกองทัพหลวงตามไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามขนอน แขวงเมืองสุพรรณบุรี เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปถึงเขาพระยาแมนได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าพระยาพสิม ตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ฝ่ายพระยาพสิมเวลานั้นเข้ามายึดเมืองไม่ได้สมหมาย ต้องออกไปตั้งอยู่กลางดอนขัดสนเสบียงอาหาร ฟังข่าวทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ความทำนอง ออกจะรวนเรอยู่แล้ว พอรู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ไม่ได้คิดจะต่อสู้ รีบถอยหนีกลับไป เจ้าพระยาสุโขทัยได้ทีก้รีบติดตามตีพม่าไปจนปลายแดนเมืองกาญจนบุรี จับได้ (นายกองชื่อ) ฉางชวี และช้างม้ามาถวายเป็นอันมาก
กองทัพพระยาพสิมหนีไปได้สัก ๑๕ วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงเมืองชัยนาทในแรมเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้วไม่มีผู้ใดต่อสู้ กองทัพเมืองเชียงใหม่ก็ยกลงมาโดยสะดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท ไม่ทราบว่ากองทัพพระยาพสิมถอยหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยยะกยอสูและนันทกยอทางยกกองทัพหน้าจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรม ให้มาสอบสวนคิดอ่านนัดกำหนดกับพระยาพสิมที่จะยกเข้ามาตีกรุงฯ ให้พร้อมกัน
สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตร คุมกองทัพหน้ามีจำนวนทหารม้า ๒๐๐ พลราบ ๓,๐๐๐ ยกขึ้นไปตีกองทัพหน้าของข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึง เห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรเที่ยวคอยฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดหาเสบียงอาหาร และคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกมาตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสียด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก ครั้นเห็นข้าศึกเผลอก็ยกเข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เป็นปรกติได้ นายทัพหน้าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ก็ต้องถอยทัพกลับไปเมืองชัยนาท พอพระเจ้าเชียงใหม่ได้ข่าวว่ากองทัพพระยาพสิมซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เสียทีไทยถอยหนีกลับไปแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่เห็นจะทำการต่อไปไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป
ความคิดเห็น